12. จงฟังและมีชีวิต
พระบัญญัติแปดในสิบข้อเริ่มต้นด้วยคำว่า “อย่า” กระนั้นก็ไม่ได้เป็นไปในแง่ลบ เพราะพระบัญญัติทุกข้อสรุปอยู่ในสองข้อใหญ่อันเป็นเชิงบวกว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37, 39) {LBF 36.1}
บ่อยครั้งที่พระบัญญัติของพระเจ้าถูกมองว่าเป็นข้อปฏิบัติที่กำหนดขึ้นมาอย่างไร้กฎเกณฑ์ แท้จริงแล้วพระบัญญัติมีความหมายยิ่งกว่านั้น เพราะมีฤทธิ์อำนาจที่มากกว่าถ้อยคำทั่วไป พระบัญญัติมีฤทธิ์อำนาจแห่งพระวจนะของพระเจ้า และมีชีวิตในตัวเอง พระคริสต์ตรัสว่า “ถ้อยคำที่เรากล่าวกับท่านเป็นวิญญาณ และเป็นชีวิต” (ยอห์น 6:63 TNCV) ฉะนั้นทุกคนที่ฟังพระวจนะของพระองค์ก็รับชีวิต เพราะพระวจนะนั้นเป็นพระวิญญาณแห่งชีวิต {LBF 36.2}
ฤทธานุภาพแห่งพระวจนะของพระเจ้าที่ให้ชีวิต แสดงออกในเรื่องการฟื้นจากความตายของลาซารัสกับลูกสาวของขุนนาง พระคริสต์ตรัสว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า เวลากำหนดนั้นใกล้จะถึงแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อคนตายจะได้ยินเสียงพระบุตรของพระเจ้า และบรรดาคนที่ได้ยินจะมีชีวิต เพราะว่าพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองอย่างไร พระองค์ก็ทรงให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองอย่างนั้น…เพราะใกล้จะถึงเวลาที่ทุกคนที่อยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินเสียงของพระบุตรและจะก้าวออกมา” (ยอห์น 5:25–29) {LBF 36.3}
“ความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระวจนะของพระเจ้า” (โรม 10:17 TKJV) “เพราะท่านเชื่อด้วยใจ” (โรม 10:10 TNCV) ฉะนั้นการที่เราได้ยินได้ฟังด้วยความเชื่อก็เป็นการใส่พระวจนะของพระเจ้าไว้ในใจ “พระคริสต์ประทับในใจของท่านโดยทางความเชื่อ” (ดู เอเฟซัส 3:17) เพราะพระวิญญาณของพระองค์อยู่ในพระวจนะของพระองค์ การฟังด้วยความเชื่อจึงนำเอาชีวิตของพระคริสต์เข้ามาในใจ คือความชอบธรรมนั่นเอง {LBF 36.4}
นี่เป็นการบันทึกพระบัญญัติของพระเจ้าไว้ในใจ เพราะเมื่อโมเสสตักเตือนประชาชนให้ถือรักษาพระบัญญัติ ท่านกล่าวว่า “เพราะว่าพระบัญญัติซึ่งข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้ สำหรับท่านไม่ยากเกินไป และไม่ไกลเกินไปด้วย ไม่ใช่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งท่านจะกล่าวว่า ‘ใครจะขึ้นไปบนสวรรค์แทนเราและนำมาให้เราเพื่อให้เราได้ฟังและประพฤติตาม’ ไม่ใช่อยู่โพ้นทะเล ซึ่งท่านจะกล่าวว่า ‘ใครจะข้ามทะเลไปแทนเราและนำมาให้เรา เพื่อให้เราได้ฟังและประพฤติตาม’ แต่ถ้อยคำนั้นอยู่ใกล้ท่านมาก อยู่ในปากของท่าน และอยู่ในใจของท่าน ฉะนั้นท่านจึงทำตามได้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 30:11–14) {LBF 37.1}
ในโรมบทที่ 10 ก่อนที่จะสรุปว่าความเชื่อเกิดจากการได้ยินพระวจนะ อาจารย์เปาโลได้อ้างข้อความจากเฉลยธรรมบัญญัติข้างต้น และมีการพิสูจน์ว่า พระบัญญัติดังกล่าวหมายถึงพระคริสต์ เพราะพระองค์ทรงเป็นแก่นสารที่แท้จริงของพระบัญญัติที่โมเสสกล่าวถึง ดังที่เห็นได้จากข้อความของเปาโลที่สรุปว่า ถ้อยคำของโมเสสสื่อถึง “ความชอบธรรมที่มาโดยทางความเชื่อ” ยิ่งกว่านั้น โมเสสเองก็กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขออัญเชิญสวรรค์และโลกให้เป็นพยานต่อท่านในวันนี้ว่า ข้าพเจ้าตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ต่อหน้าท่าน เพราะฉะนั้นท่านจงเลือกเอาข้างชีวิตเพื่อท่านและลูกหลานของท่านจะได้มีชีวิตอยู่ ด้วยมีความรักต่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และติดพันอยู่กับพระองค์ กระทำเช่นนั้นจะได้ชีวิตและความยืนนาน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 30:19–20 TH1971) {LBF 37.2}
การถือรักษาพระบัญญัตินำมาซึ่งชีวิต (ดู มัทธิว 19:17; วิวรณ์ 22:14 ฉบับ TKJV) ส่วนพระคริสต์ทรงเป็นชีวิตของพระบัญญัติ และพระองค์สถิตในใจด้วยความเชื่อในพระวจนะของพระองค์ ฉะนั้นพระบัญญัติเป็นความชอบธรรมอันแท้จริงของพระเจ้า และมิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เป็นชีวิตจริงๆ และมีฤทธานุภาพที่จะให้ชีวิต ดาวิดกล่าวว่า “นี่คือการปลอบโยนในความทุกข์ยากของข้าพระองค์ คือพระสัญญาของพระองค์ให้ชีวิตแก่ข้าพระองค์” (สดุดี 119:50) {LBF 37.3}
“โอ คนอิสราเอล จงฟังเถิด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราทั้งหลายเป็นพระเจ้าเดียว พวกท่านจงรักพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดกำลังของท่าน และจงให้ถ้อยคำที่ข้าพเจ้าบัญชาพวกท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4–6 TH1971) พระวจนะของพระเจ้าอยู่ในใจได้ก็โดยทางความเชื่อ แล้วความเชื่อมาจากไหน ก็มาจากการได้ยิน สรุปว่าคนทั้งหลายในทุกวันนี้ที่ได้ยินพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างแท้จริงก็จะรับชีวิตจากพระบัญญัติเหล่านั้น เช่นเดียวกับในยุคสุดท้ายที่คนตายในหลุมฝังศพจะได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าและจะฟื้นขึ้นมา ตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่า “โอ ประชาชนของเราเอ๋ย จงฟัง แล้วเราจะทักท้วงเจ้า โอ อิสราเอลเอ๋ย ถ้าเจ้าจะฟังเรา จะไม่มีพระแปลกๆ ท่ามกลางเจ้าเลย เจ้าจะไม่กราบไหว้พระต่างด้าว” (สดุดี 81:8–9 TKJV) {LBF 37.4}
ถ้าประชากรอิสราเอลเพียงแต่รับฟังพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง พระองค์คงได้รับรองความรอดของพวกเขา ตราบใดที่เขายังคงรับฟังพระองค์ พระองค์คงป้องกันพวกเขาจากการไหว้รูปเคารพและความบาปทุกอย่าง ฉะนั้นเมื่อพระองค์ตรัสสั่งห้ามว่า “อย่า” ในพระบัญญัติ พระองค์ไม่เพียงแต่ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ห้ามไว้เท่านั้น แต่ทรงสัญญาว่าเราจะไม่ทำในสิ่งนั้นถ้าเพียงแต่เราฟังด้วยความเชื่อและเห็นพระองค์อยู่ในพระบัญญัติดังกล่าว {LBF 38.1}
มีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม คือความชอบธรรมที่เรารับโดยการฟังพระวจนะด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ความชอบธรรมเฉยๆ แต่เป็นความชอบธรรมของพระเจ้าที่ขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งเป็นความชอบธรรมประเภทเดียวที่พระบัญญัติสิบประการของพระเจ้ายอมรับได้โดยไม่ให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ถ้าเรารับฟังพระเจ้าเราก็ต้องรับฟังพระวจนะของพระองค์ และพระบัญญัติสิบประการคือพระวจนะที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยพระสุรเสียงของพระองค์เอง พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า ‘วันที่หนึ่งเป็นวันสะบาโตของพระเจ้า’ แต่ตรัสว่า “วันที่เจ็ดนั้นเป็นวันสะบาโตของพระเจ้าของเจ้า” (อพยพ 20:10 TH1971) เนื่องจากว่าพระองค์ไม่เคยตรัสสั่งให้ถือรักษาวันที่หนึ่งของสัปดาห์ เราก็ไม่อาจได้ยินคำนี้จากพระองค์ เพราะพระองค์ไม่เคยตรัส ฉะนั้นเราไม่อาจรับชีวิตหรือความชอบธรรมจากการถือรักษาวันอาทิตย์ได้ {LBF 38.2}
“มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มัทธิว 4:4) “ใครมีหูก็จงฟัง” (วิวรณ์ 2:7 TNCV) แต่ “ท่านทั้งหลายจะฟังอย่างไรก็จงระวังให้ดี” (ลูกา 8:18 TH1940) {LBF 38.3}