27. การมอบพระบัญญัติแก่คนอิสราเอล
โมเสสผู้เป็นสื่อกลาง
ภายหลังการตั้งค่ายที่ภูเขาซีนายไม่นาน พระเจ้าทรงเรียกให้โมเสสขึ้นไปเฝ้าพระองค์บนภูเขา ท่านปีนขึ้นไปตามทางชันและขรุขระเพียงลำพัง เข้าไปใกล้เมฆซึ่งปกคลุมเหนือที่ประทับของพระเยโฮวาห์ ขณะนี้คนอิสราเอลกำลังจะเข้าสู่ความสัมพันธ์กับองค์ผู้สูงสุดอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อรวมตัวกันเป็นชุมนุมชนและชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้า พระดำรัสที่ตรัสผ่านโมเสสไปยังประชาชนมีดังนี้ {PP 303.1}
“พวกเจ้าได้เห็นสิ่งที่เราทำกับคนอียิปต์แล้ว และที่เราชูพวกเจ้าขึ้นดุจดังด้วยปีกนกอินทรี เพื่อนำพวกเจ้ามาถึงเรา ฉะนั้น ถ้าพวกเจ้าฟังเสียงเราจริงๆ และรักษาพันธสัญญาของเราไว้ พวกเจ้าจะเป็นของล้ำค่าของเราที่เราเลือกสรรจากท่ามกลางชนชาติทั้งปวง เพราะแผ่นดินทั้งสิ้นเป็นของเรา พวกเจ้าจะเป็นอาณาจักรปุโรหิต และเป็นชนชาติบริสุทธิ์สำหรับเรา” (อพยพ 19:4–6 THSV) {PP 303.2}
โมเสสกลับลงมายังค่ายที่พัก เรียกบรรดาผู้ใหญ่ของคนอิสราเอลและบอกเล่าพระดำรัสของพระเจ้าให้พวกเขาฟัง เขาทั้งหลายได้ขานรับถ้อยคำเหล่านั้นว่า “เราจะทำทุกสิ่งตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสสั่ง” (อพยพ 19:8 TNCV) พวกเขาจึงเข้าร่วมในพันธสัญญากับพระเจ้า ปฏิญาณว่าจะเทิดทูนพระองค์ให้เป็นผู้ปกครอง จึงเป็นประชากรที่อยู่ใต้การควบคุมดูแลเป็นพิเศษของพระองค์ {PP 303.3}
แล้วโมเสสก็ขึ้นไปบนภูเขาอีกครั้ง และพระเจ้าตรัสแก่ท่านว่า “เราจะมาหาเจ้าในเมฆหนาทึบ เพื่อประชาชนจะได้ยินขณะที่เราพูดกับเจ้า แล้วจะได้เชื่อเจ้าเสมอ” เมื่อใดที่คนอิสราเอลประสบกับปัญหาระหว่างทาง ก็มักจะบ่นต่อว่าโมเสสกับอาโรน และกล่าวหาว่าท่านทั้งสองนำพวกเขาออกจากอียิปต์เพื่อทำลายเสีย แต่พระเจ้าทรงให้เกียรติแก่โมเสสต่อหน้าปวงชน เพื่อพวกเขาจะได้วางใจในคำแนะนำของท่าน {PP 303.4}
พระเจ้ามีพระประสงค์ให้การประกาศพระบัญญัติด้วยพระสุรเสียงของพระองค์เป็นเหตุการณ์ที่น่าเกรงขามสมกับความยิ่งใหญ่ของพระบัญญัตินั้น เพื่อตรึงใจประชาชนให้มีความเคารพยำเกรงต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้า พระองค์ตรัสแก่โมเสสว่า “ไปบอกให้ประชาชนชำระตัวให้บริสุทธิ์ในวันนี้และพรุ่งนี้ ให้เขาซักเสื้อผ้าเสียให้สะอาด เตรียมตัวไว้ให้พร้อมในวันที่สาม เพราะในวันที่สามนั้น พระเจ้าจะเสด็จลงมาบนภูเขาซีนายต่อหน้าประชาชนทั้งปวง” ในช่วงเวลาที่รอคอยนี้ให้ทุกคนตั้งใจใช้เวลาเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระเจ้า ทั้งร่างกายและเสื้อผ้าต้องปราศจากมลทิน และเมื่อโมเสสชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความผิดบาปของตน พวกเขาจะต้องถ่อมใจลง อดอาหาร และอธิษฐาน เพื่อจิตใจจะได้รับการชำระจากมลทินบาป {PP 303.5}
ทุกคนได้เตรียมการตามคำสั่ง แล้วนอกจากนี้โมเสสยังสั่งให้กำหนดเขตไว้รอบภูเขา เพื่อจะได้ไม่มีมนุษย์หรือสัตว์ใดๆ ล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์นั้น หากมีคนหรือสัตว์ล่วงล้ำไปถูกต้องเชิงเขา จะต้องโทษถึงตายในทันที {PP 304.1}
เข้าเฝ้าที่ภูเขาซีนาย
เช้าวันที่สาม ขณะที่สายตาของประชาชนทุกคนจับจ้องไปที่ภูเขา มีเมฆดำปกคลุมยอดเขาซึ่งหนาทึบขึ้นเรื่อยๆ และลอยลงมาจนภูเขาทั้งลูกถูกปกคลุมไปด้วยความมืดอันลึกลับน่ากลัว แล้วประชาชนได้ยินเสียงเหมือนเสียงแตรเรียกให้เข้าเฝ้าพระเจ้า โมเสสได้นำพวกเขาไปยังเชิงเขา มีฟ้าแลบแวบวาบจากเมฆอันหนาทึบ ตามด้วยฟ้าร้องดังกึกก้องไปทั่วขุนเขา “มีควันหนาทึบปกคลุมภูเขาซีนาย เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาโดยไฟ ควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเหมือนควันจากเตาหลอม ทั้งภูเขาสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง” (อพยพ 19:18 TNCV) “พระสิริของพระเจ้าปรากฏ…เหมือนเปลวไฟ ไหม้อยู่บนยอดภูเขา” ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนที่มารวมกัน และ “เมื่อเสียงแตรยิ่งดังขึ้น” สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าพระเจ้าเสด็จมาประทับนั้นน่าหวาดหวั่นพรั่นกลัวกระทั่งคนทั้งปวงต่างพากันกลัวจนตัวสั่นและหมอบลงถึงดินต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้แต่โมเสสยังร้องขึ้นว่า “ข้าพเจ้ากลัวจนตัวสั่น” (ฮีบรู 12:21 TH1971) {PP 304.2}
และแล้วเสียงฟ้าร้องก็หยุดลง ไม่มีเสียงแตร และแผ่นดินก็หยุดไหว เหลือแต่ความเงียบงันให้บรรยากาศที่น่าเกรงขาม แล้วพระเจ้าทรงเปล่งพระสุรเสียงออกจากเมฆหนานั้น พระองค์ทรงยืนอยู่บนยอดภูเขา มีเหล่าทูตสวรรค์รายล้อมเป็นบริวาร แล้วทรงประกาศพระบัญญัติของพระองค์ โมเสสบรรยายภาพที่เห็นนี้ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จจากซีนาย ทรงฉายแสงอรุณเหนือพวกเขาจากเสอีร์ ทรงเปล่งรังสีจากภูเขาปาราน พระองค์เสด็จมากับผู้บริสุทธิ์นับหมื่นแสน จากทิศใต้ จากลาดเขาของพระองค์ แน่นอน พระองค์ทรงรักเหล่าประชากร วิสุทธิชนทั้งปวงอยู่ในพระหัตถ์ พวกเขากราบลงแทบพระบาท และรับการสั่งสอนจากพระองค์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:2–3 TNCV) {PP 304.3}
พระเยโฮวาห์ทรงสำแดงพระองค์ ไม่ใช่ด้วยเดชานุภาพในฐานะผู้พิพากษาและผู้ประทานพระบัญญัติเท่านั้น แต่ด้วยพระเมตตาคุณในฐานะผู้พิทักษ์ประชากรของพระองค์ “เราคือพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์คือจากเรือนทาส” (อพยพ 20:2 TKJV) คนอิสราเอลรู้จักพระเจ้าในฐานะผู้ช่วยกู้และผู้นำทางออกจากอียิปต์ ผู้ทรงสร้างเส้นทางให้พวกเขาฝ่าทะเลข้ามมา และทรงเอาชนะฟาโรห์กับเหล่าทหารของท่าน พระองค์ผู้ทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงเหนือกว่าพระทั้งหลายของอียิปต์ บัดนี้ทรงเป็นผู้ตรัสประกาศพระบัญญัติของพระองค์ {PP 305.1}
มอบพระบัญญัติสิบประการ
พระบัญญัติที่ประทานให้ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สำหรับคนฮีบรูโดยเฉพาะเท่านั้น พระเจ้าทรงให้เกียรติพวกเขาโดยทรงมอบหมายให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาธรรมบัญญัติของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลก พระบัญญัติสิบประการเหมาะสำหรับมนุษย์ทุกคน เพื่อสั่งสอนและบังคับใช้แก่คนทั้งปวง ทั้ง 10 ข้อกะทัดรัด ครอบคลุมหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงมีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยทั้งหมดวางอยู่บนหลักการสำคัญของความรัก “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านอย่างสุดใจ สุดจิต สุดกำลัง และสุดความคิดของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ลูกา 10:27 TNCV) (อ่านเพิ่มเติมใน เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4–5; เลวีนิติ 19:18) พระบัญญัติสิบประการประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการเหล่านี้ ซึ่งใช้ได้จริงในชีวิตของมนุษย์ทุกสภาวะและสถานการณ์ {PP 305.2}
“อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” {PP 305.3}
พระเยโฮวาห์ผู้ทรงดำรงอยู่นิรันดร์ ทรงพระชนม์ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีผู้ใดสร้างพระองค์ ทรงเป็นผู้สร้างชีวิตและเป็นผู้ค้ำจุนสิ่งสารพัด ทรงเป็นผู้เดียวที่ควรแก่การนมัสการและเชิดชูไว้สูงสุด มนุษย์จะต้องไม่เทิดทูนหรือปรนนิบัติสิ่งอื่นใดไว้เหนือพระเจ้า ถ้าเรารักและหวงแหนสิ่งใดจนเป็นเหตุให้รักพระเจ้าน้อยลงหรือขัดขวางการรับใช้พระองค์ เท่ากับว่าเรายกสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นพระเจ้า {PP 305.4}
“อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน หรือบนแผ่นดินเบื้องล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น” {PP 305.5}
พระบัญญัติข้อที่สองกล่าวห้ามไม่ให้ใช้รูปเคารพหรือสัญลักษณ์ในการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ มีชนชาติต่างๆ มากมายที่ไม่รู้จักพระเจ้าแต่กลับอ้างว่ารูปปั้นที่พวกเขากราบไหว้นมัสการนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงประกาศว่าการกราบไหว้สิ่งเหล่านั้นเป็นความบาป การใช้วัตถุเป็นสัญลักษณ์แทนพระเจ้าองค์นิรันดร์ทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์ถูกลดทอนคุณค่าลงในสายตาของมนุษย์ เมื่อความคิดของพวกเขาหันไปจากพระลักษณะอันสมบูรณ์แบบของพระเยโฮวาห์แล้ว ก็จะใส่ใจกับสิ่งที่ทรงสร้างแทนพระผู้สร้าง และเมื่อมนุษย์ประเมินพระเจ้าต่ำลง พวกเขาก็จะเสื่อมทรามลงไปด้วย {PP 306.1}
“เราคือพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน” ความสัมพันธ์อันสูงส่งและใกล้ชิดระหว่างพระเจ้ากับคนของพระองค์เปรียบได้กับการสมรส การไหว้รูปเคารพเปรียบเหมือนการผิดประเวณี ดังนั้นสมควรที่จะเรียกความไม่พอพระทัยของพระเจ้าต่อการไหว้รูปเคารพว่าความหวงแหน {PP 306.2}
“ให้โทษบิดาตกทอดไปถึงลูกหลานของผู้ที่ชังเราจนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน” บุตรย่อมได้รับผลกระทบจากการกระทำของพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องรับโทษจากความผิดนั้น เว้นเสียแต่ได้กระทำบาปอย่างเดียวกันกับพวกท่าน อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วบุตรจะดำเนินตามรอยผู้ปกครอง กรรมพันธุ์และแบบอย่างที่ไม่ดีเป็นเหตุชักนำบุตรทั้งหลายให้กระทำตามบาปของพ่อแม่ ดังนั้น จิตใจที่มีแนวโน้มไปในทางบาป นิสัยการบริโภคอย่างผิดๆ สภาพจิตใจที่เสื่อมทราม รวมถึงโรคภัยและร่างกายที่เสื่อมโทรม ล้วนเป็นสิ่งที่ตกทอดจากบิดาไปสู่บุตรตลอดสามสี่ชั่วอายุคน สัจธรรมอันน่ากลัวนี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้มนุษย์ยับยั้งจากทางแห่งความบาป {PP 306.3}
“แต่เราแสดงความรักมั่นคงต่อคนที่รักเรา และปฏิบัติตามบัญญัติของเราจนถึงพันชั่วอายุคน” ที่พระบัญญัติข้อที่สองห้ามการกราบไหว้พระเทียมเท็จนั้นเป็นการสอนโดยนัยให้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ พระองค์ทรงสัญญาที่จะเมตตาผู้ที่สัตย์ซื่อต่อพระองค์ ไม่เพียงสามสี่ชั่วอายุคนเหมือนโทษที่ตกทอดไปถึงลูกหลานของผู้ที่เกลียดชังพระองค์ แต่นับพันชั่วอายุคนเลยทีเดียว {PP 306.4}
“อย่าออกพระนามพระเจ้าของเจ้าอย่างไม่สมควร เพราะผู้ที่ออกพระนามพระองค์อย่างไม่สมควรนั้น พระเจ้าจะทรงถือว่าไม่มีโทษก็หามิได้” {PP 306.5}
พระบัญญัติข้อนี้ไม่เพียงแต่ห้ามเรื่องการสบถสาบานในทางที่ผิดหรือการพูดคำจาบจ้วงเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้เราเอ่ยพระนามของพระเจ้าเป็นว่าเล่นโดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของพระนามนั้น การเอ่ยพระนามอย่างประมาทเลินเล่อในการสนทนาทั่วไป การทูลขอในเรื่องที่ไร้สาระ และการเอ่ยพระนามอย่างพร่ำเพรื่อ ล้วนเป็นการหลู่พระเกียรติพระเจ้า “พระนามของพระองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์และน่าคร้ามกลัว” (สดุดี 111:9 THSV) ทุกคนควรใคร่ครวญถึงความยิ่งใหญ่ ความบริสุทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า เพื่อจิตใจจะได้ซาบซึ้งถึงพระลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ และควรเอ่ยพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์ด้วยความเคารพยำเกรง {PP 306.6}
วันสะบาโต
“จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงทำการงานทั้งสิ้นของเจ้า 6 วัน แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเอง หรือบุตรชายบุตรสาวของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งานของเจ้า หรือแขกที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า เพราะใน 6 วันพระเยโฮวาห์ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระเยโฮวาห์ทรงอวยพระพรวันสะบาโต และทรงตั้งวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8–11 TKJV) {PP 307.1}
ในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงวันสะบาโตเหมือนเป็นสิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาไว้ตั้งแต่ทรงสร้างโลก เพื่อให้มนุษย์รักษาและระลึกถึงเป็นอนุสรณ์แห่งการทรงสร้างของพระเจ้า ให้รู้จักพระองค์ในฐานะพระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และให้เห็นว่าพระเจ้าเที่ยงแท้ต่างจากพระเทียมเท็จทั้งหลาย ทุกคนที่รักษาวันที่เจ็ดเป็นวันสะบาโตก็แสดงในทีว่านมัสการพระเยโฮวาห์ ตราบใดที่ยังคงมีผู้รับใช้พระเจ้าเหลืออยู่ในโลก วันสะบาโตก็ยังเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีที่มนุษย์มีต่อพระองค์ พระบัญญัติข้อที่สี่เป็นข้อเดียวที่บ่งบอกทั้งพระนามและตำแหน่งของผู้ที่ประทานพระบัญญัติ เป็นข้อเดียวที่แสดงให้เห็นว่าพระบัญญัติถูกประกาศด้วยอำนาจของผู้ใด ดังนั้นตราประทับของพระเจ้าจึงอยู่ในพระบัญญัติข้อที่สี่นี้ และถูกประทับไว้ในพระบัญญัติของพระองค์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าพระบัญญัติมาจากพระเจ้าจริงๆ และมีอำนาจบังคับใชั {PP 307.2}
พระเจ้าทรงกำหนด 6 วันไว้ให้มนุษย์ทำงาน และทรงให้ทำงานของตนภายใน 6 วันนั้น ส่วนงานที่จำเป็นเร่งด่วนหรือแสดงความเมตตากระทำได้ในวันสะบาโต เพราะคนเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอยู่เสมอ แต่การงานที่ไม่จำเป็นควรละเว้นโดยเด็ดขาด ดังที่ผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ว่า “หยุดเหยียบย่ำวันสะบาโต ไม่ทำอะไรตามใจชอบในวันบริสุทธิ์ของเรา…เรียกวันสะบาโตว่าวันปีติยินดี เรียกวันบริสุทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่าวันอันทรงเกียรติ และ…ให้เกียรติวันนี้โดยไม่ทำอะไรตามใจชอบ ไม่ทำตามความพอใจของตนเอง” (อิสยาห์ 58:13 TNCV) หรือแม้แต่ “พูด…เรื่องไร้สาระ” (อิสายาห์ 58:13 TNCV) ในสายพระเนตรของพระเจ้าการปรึกษาหารือหรือวางแผนเรื่องธุรกิจในวันสะบาโตไม่ต่างกับการลงมือทำงานจริงๆ ถ้าจะรักษาวันสะบาโตให้บริสุทธิ์เราไม่ควรแม้แต่จะปล่อยให้ความคิดจดจ่ออยู่กับเรื่องราวฝ่ายโลก พระบัญญัติข้อนี้มีผลครอบคลุมไปถึงทุกคนที่พักอาศัยอยู่กับเรา ให้ทุกคนที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกันละเว้นจากกิจธุระฝ่ายโลกในระหว่างชั่วโมงอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทุกคนควรร่วมกันถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยนมัสการในวันบริสุทธิ์ของพระองค์ด้วยใจยินดี {PP 307.3}
บิดามารดา
“จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า เพื่ออายุของเจ้าจะได้ยืนนานบนแผ่นดิน ซึ่งพระเจ้าของเจ้าประทานให้แก่เจ้า” {PP 308.1}
พ่อแม่เป็นผู้ที่สมควรได้รับความรักและความเคารพมากกว่าผู้ใด พระเจ้าทรงมอบหมายให้พ่อแม่เป็นดังพระเจ้าเองต่อบุตรเมื่อยังเล็ก และรับผิดชอบดูแลจิตวิญญาณของบุตร ส่วนบุตรที่ไม่ยอมรับอำนาจโดยชอบของพ่อแม่ก็เท่ากับปฏิเสธอำนาจของพระเจ้า พระบัญญัติข้อที่ห้าไม่เพียงสอนให้บุตรทั้งหลายเคารพและเชื่อฟังบิดามารดาเท่านั้น แต่พวกเขาควรให้ความรักและห่วงใย แบ่งเบาภาระ ปกป้องชื่อเสียง และดูแลท่านในยามชราด้วย รวมไปถึงการให้ความเคารพต่อศาสนาจารย์ เจ้าบ้านผ่านเมือง และบุคคลอื่นๆ ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลสั่งสอน {PP 308.2}
อัครทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “นี่เป็นบัญญัติข้อแรกที่มีพระสัญญากำกับด้วย” (เอเฟซัส 6:2 THSV) สำหรับคนอิสราเอลที่คาดหวังว่าพวกตนกำลังจะเข้าไปในแผ่นดินคานาอันในไม่ช้า พระสัญญาข้อนี้ยืนยันว่าผู้ที่กระทำตามพระบัญญัติจะมีชีวิตยืนยาวในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์นั้น แต่ที่จริงแล้วความหมายนั้นกว้างกว่าที่กล่าวไว้ คือครอบคลุมไปถึงเรื่องที่ว่าทุกคนที่เป็นอิสราเอลฝ่ายจิตวิญญาณจะมีชีวิตนิรันดร์ในโลกที่ไม่มีผลมลทินบาปอีกด้วย {PP 308.3}
ห้ามการอธรรม
“อย่าฆ่าคน” {PP 308.4}
การกระทำอันไม่เป็นธรรมทุกอย่างที่มุ่งทำลายชีวิต ความเกลียดชังและความอาฆาตมาดร้าย การปล่อยตัวไปตามอารมณ์จนเป็นเหตุให้คนอื่นได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่การคิดร้ายต่อผู้อื่นก็ไม่เว้น เพราะว่า “ผู้ที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็เป็นผู้ฆ่าคน” (1 ยอห์น 3:15 THSV) ความเห็นแก่ตัวจนละเลยการช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก การทำตามอำเภอใจ การไม่ดูแลตัวเองจนป่วย หรือการทำงานหักโหมจนเสียสุขภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการละเมิดพระบัญญัติข้อที่หกไม่มากก็น้อย {PP 308.5}
“อย่าล่วงประเวณี” (อพยพ 20:14 TNCV) {PP 308.6}
พระบัญญัติข้อนี้ไม่เพียงห้ามเรื่องการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ยังรวมไปถึงความคิดความปรารถนาในกาม หรือการกระทำใดๆ ที่กระตุ้นความคิดความปรารถนานั้น มนุษย์จะต้องมีความบริสุทธิ์ไม่เฉพาะภายนอก แต่ยังรวมไปถึงเจตนารมณ์และอารมณ์ความรู้สึกภายในส่วนลึกของจิตใจด้วย พระคริสต์ผู้ทรงสอนถึงหน้าที่ต่อธรรมบัญญัติของพระเจ้าที่ละเอียดลึกซึ้ง ตรัสว่าความคิดหรือสายตาที่ไม่บริสุทธิ์ถือเป็นความบาปพอๆ กับการลงมือกระทำ {PP 308.7}
“ห้ามลักขโมย” (อพยพ 20:15 THSV) {PP 308.8}
พระบัญญัติข้อที่แปดนี้กล่าวห้ามความบาปทั้งที่เป็นบาปส่วนตัวและบาปที่เปิดเผย รวมไปถึงการลักพาตัว การค้าทาส สงครามล่าอาณานิคม และการโจรกรรม แต่ต้องมีความซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อยทุกอย่างในชีวิต นอกจากนี้ยังห้ามเรื่องการค้ากำไรเกินควร แต่ต้องมีความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สินและค่าจ้าง ข้อนี้ยังครอบคลุมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนด้วยการเอารัดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอ มีความรู้น้อย หรือด้อยโอกาส การกระทำดังกล่าวถูกบันทึกในสวรรค์แล้วว่าเป็นการฉ้อโกง {PP 309.1}
“อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน” {PP 309.2}
การพูดปดในทุกกรณี หรือการเจตนาหลอกลวงเพื่อนบ้านล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติข้อนี้ การจงใจหลอกลวงคือการมุสาอย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งสามารถแสดงออกทางสายตาหรือสีหน้าท่าทางอย่างชัดเจนพอๆ กับคำพูด การตั้งใจพูดเกินความเป็นจริง การพูดเปรยๆ ใส่สีตีไข่ให้เกิดภาพที่ผิดเพี้ยนหรือเกินเหตุ หรือแม้กระทั่งการกล่าวถ้อยคำที่เป็นความจริงแต่มีจุดประสงค์ที่จะชักนำให้หลงผิด ล้วนแต่เป็นการโป้ปดมดเท็จ พระบัญญัติข้อนี้ได้ห้ามการมุ่งทำลายชื่อเสียงของเพื่อนบ้านด้วยการใส่ความ การคาดเดาในทางที่เลวร้าย การสบประมาท และการนินทา แม้แต่การปิดบังความจริงเพื่อหวังจะทำร้ายผู้อื่นก็เป็นการละเมิดพระบัญญัติข้อที่เก้าทั้งสิ้น {PP 309.3}
“ห้ามโลภบ้านเรือนของเพื่อนบ้าน ห้ามโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือทาสทาสีของเขา หรือโค ลาของเขา หรือสิ่งใดๆ ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน” (อพยพ 20:17 THSV) {PP 309.4}
พระบัญญัติข้อที่สิบมุ่งโจมตีรากเหง้าของความบาปทั้งมวล โดยกล่าวห้ามความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำบาป บุคคลผู้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าจนไม่ยอมแม้แต่จะคิดอยากได้ของของผู้อื่นก็จะไม่ลงมือกระทำผิดต่อเพื่อนบ้านของเขา {PP 309.5}
ท่ามกลางฟ้าร้องและเปลวเพลิง
นี่คือเนื้อความอันศักดิ์สิทธิ์ของพระบัญญัติสิบประการซึ่งพระเจ้าตรัสท่ามกลางเสียงฟ้าร้องและเปลวเพลิง ด้วยการทรงสำแดงอันน่าอัศจรรย์ที่ทำให้เห็นเดชานุภาพของพระองค์ผู้ทรงตรากฎบัญญัติ พระเจ้าประทานพระบัญญัติพร้อมด้วยสง่าราศีและฤทธิ์อำนาจเพื่อประชากรของพระองค์จะไม่ลืมเหตุการณ์นี้ และเพื่อให้มีความเคารพยำเกรงต่อพระองค์ผู้ประทานกฎเกณฑ์ผู้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน พระองค์ยังทรงสำแดงให้มนุษย์ทุกคนรู้ด้วยว่าพระบัญญัติของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญ และไม่มีวันเสื่อมสูญ {PP 309.6}
คนอิสราเอลต่างพากันอกสั่นขวัญแขวน ไม่อาจทนต่อพระสุรเสียงของพระเจ้าผู้เกรียงไกรได้ เมื่อพวกเขาได้รับรู้ถึงกฎบัญญัติอันชอบธรรมของพระเจ้า ก็ตระหนักได้ว่าความบาปเป็นสิ่งที่พึงรังเกียจมากเพียงใด และตนเป็นคนบาปในสายพระเนตรของพระองค์ผู้บริสุทธิ์อย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้สึกมาก่อน ประชาชนถอยออกไปห่างจากภูเขาด้วยอาการกลัว ร้องคร่ำครวญต่อโมเสสว่า “ท่านจงนำความมาเล่าเถิด เราจะฟัง แต่อย่าให้พระเจ้าตรัสกับเราเลย เกรงว่าเราจะตาย” (อพยพ 20:19 THSV) โมเสสจึงตอบประชาชนว่า “อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระเจ้าเสด็จมาเพื่อทรงลองใจพวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้ยำเกรงพระองค์ และจะได้ไม่ทำบาป” (อพยพ 20:20 THSV) แต่ประชาชนยังยืนอยู่แต่ไกล มองไปที่ภูเขาด้วยความหวาดหวั่น ขณะที่โมเสส “เข้าไปใกล้ความมืดทึบที่พระเจ้าสถิตอยู่นั้น” (อพยพ 20:21 THSV) {PP 309.7}
จิตใจของประชาชนยังตกต่ำมืดมนจากที่เคยเป็นทาสและจากอิทธิพลของการกราบไหว้รูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าถึงหลักการของพระบัญญัติสิบประการของพระเจ้าได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นนอกจากพระบัญญัติสิบประการนี้แล้ว พระเจ้ายังประทานกฎเกณฑ์อื่นๆ อีกเพื่อแสดงหลักการของพระบัญญัติสิบประการให้เข้าใจได้มากขึ้นและสามารถนำมาบังคับใช้ในชีวิตจริง กฎเกณฑ์เหล่านี้เรียกว่าธรรมบัญญัติ ซึ่งกำหนดขึ้นด้วยพระปัญญาและความยุติธรรมอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ เป็นแนวทางให้ผู้ปกครองใช้ตัดสินคดีต่างๆ แตกต่างกับพระบัญญัติสิบประการตรงที่พระเจ้าประทานให้โมเสสแต่ลำพังเพื่อให้ท่านนำไปบอกกล่าวแก่ประชาชนต่อไป {PP 310.1}
ว่าด้วยเรื่องทาส
ธรรมบัญญัติข้อแรกๆ พูดถึงเรื่องทาส บางครั้งในสมัยโบราณผู้พิพากษาจะตัดสินโทษผู้กระทำผิดโดยขายให้เป็นทาส บางครั้งลูกหนี้ก็ถูกเจ้าหนี้ขายเมื่อไม่อาจใช้หนี้ได้ นอกจากนั้นคนยากจนก็อาจขายตัวเองหรือลูกของตนไป อย่างไรก็ตามคนฮีบรูไม่อาจถูกขายเป็นทาสไปได้ตลอดชีวิต เพราะมีกำหนดระยะเวลารับใช้งานไม่เกิน 6 ปี และในปีที่เจ็ดจะต้องถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ส่วนการลักพาตัว การฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือการขัดขืนต่อต้านโอวาทของบิดามารดา จะถูกปรับโทษถึงตาย ในธรรมบัญญัติอนุญาตให้มีทาสที่ไม่ได้เป็นคนอิสราเอลโดยกำเนิด แต่จะต้องดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของทาสเหล่านั้นอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน คนที่ปลิดชีวิตผู้เป็นทาสจะต้องถูกปรับโทษ ส่วนทาสที่ถูกเจ้านายทำร้ายแม้จะไม่สาหัสไปกว่าที่ฟันซี่หนึ่งหลุด ทาสคนนั้นก็จะได้รับสิทธิ์เป็นอิสระ {PP 310.2}
คนอิสราเอลเคยเป็นทาสรับใช้ของผู้อื่นเมื่อไม่นานนัก บัดนี้พวกเขามีทาสคอยรับใช้ จึงต้องระวังไม่ให้กระทำการทารุณขู่เข็ญต่อทาสของตน ดังที่ตนเคยถูกกระทำจากนายทาสชาวอียิปต์ ความทรงจำอันขมขื่นในอดีตน่าจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหัวอกของผู้ที่เป็นทาสได้อย่างดี มีใจเมตตาสงสารและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง {PP 310.3}
เพื่อคนอนาถา
ธรรมบัญญัติยังสอนให้ปกป้องดูแลหญิงม่ายและเด็กกำพร้าที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เป็นพิเศษ พระเจ้าตรัสว่า “ถ้าเจ้ารังแกเขา และเขาร้องทุกข์ต่อเรา เราจะฟังคำร้องทุกข์ของเขาแน่นอน ความโกรธของเราจะพลุ่งขึ้น และเราจะประหารพวกเจ้าด้วยดาบ ภรรยาของพวกเจ้าจะเป็นม่าย และบุตรของพวกเจ้าจะกำพร้า” (อพยพ 22:23–24 THSV) คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับคนอิสราเอลจึงได้รับการปกป้องจากการกดขี่ “ห้ามข่มเหงคนต่างด้าว เจ้ารู้จักใจคนต่างด้าวแล้ว เพราะว่าเจ้าก็เคยเป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์มาก่อน” (อพยพ 23:9 THSV) {PP 310.4}
ธรรมบัญญัติห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้เอาเปรียบคนยากจนด้วยการคิดดอกเบี้ยแพง เมื่อรับเอาเสื้อผ้าหรือผ้าห่มของเขาเป็นค่าประกันแล้วจะต้องคืนให้เจ้าตัวก่อนดวงอาทิตย์ตก ผู้ที่ขโมยของของคนอื่นจะต้องชดใช้คืนเป็น 2 เท่า ต้องเชื่อฟังเจ้าบ้านผ่านเมือง ส่วนผู้พิพากษาควรระวังไม่ให้ตัดสินบิดเบือนความจริง เข้าข้างผู้กระทำผิด หรือรับสินบน อีกทั้งห้ามใส่ร้ายป้ายสีหรือพูดร้ายต่อผู้อื่นให้เสียชื่อเสียง แต่ต้องทำดีต่อทุกคนแม้กระทั่งศัตรูของตน {PP 311.1}
ประชาชนได้รับการย้ำเตือนอีกครั้งถึงหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของการรักษาวันสะบาโต มีการกำหนดเทศกาลประจำปี ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ชายชาวอิสราเอลทุกคนต้องมาร่วมชุมนุมกันเฉพาะพระเจ้าเพื่อถวายเครื่องบูชาโมทนาพระคุณและของถวายจากผลิตผลแรก พระองค์ทรงชี้แจงวัตถุประสงค์ของกฎข้อบังคับเหล่านี้ว่า พวกเขาไม่ได้ถือรักษาเพียงเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ทุกข้อเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขาเอง พระเจ้าตรัสว่า “พวกเจ้าต้องเป็นประชากรบริสุทธิ์ของเรา” (อพยพ 22:31 TNCV) กล่าวคือให้คู่ควรเป็นที่ยอมรับในสายพระเนตรของพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ {PP 311.2}
พระเจ้าประทานธรรมบัญญัติเพื่อให้เข้าใจพระบัญญัติสิบประการ โมเสสมีหน้าที่บันทึกและดูแลรักษากฎบัญญัติเหล่านี้ไว้ให้ดี เพื่อเป็นรากฐานของกฎหมายประจำชาติและเป็นเงื่อนไขของพระสัญญาที่ประทานแก่คนอิสราเอล {PP 311.3}
ประชาชนสัญญา
พระเยโฮวาห์ตรัสแก่พวกเขาอีกว่า “ดูเถิด เราใช้ทูตของเราเดินนำหน้าพวกเจ้า เพื่อคอยระวังรักษาพวกเจ้าตามทาง นำไปถึงที่ซึ่งเราได้เตรียมไว้ จงเอาใจใส่ฟังคำพูดของทูตนั้น และเชื่อฟังคำของเขา อย่าฝ่าฝืนเขา เพราะเขาจะไม่ยกโทษให้เจ้าเลย ด้วยว่าเขากระทำในนามของเรา ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังเสียงของเขาจริงๆ และทำทุกสิ่งตามที่เราสั่งไว้ เราจะเป็นศัตรูต่อศัตรูของพวกเจ้า และเป็นปฏิปักษ์ต่อปฏิปักษ์ของพวกเจ้า” ตลอดระยะเวลาที่คนอิสราเอลเดินทางในถิ่นทุรกันดาร พระคริสต์ผู้สถิตในเสาเมฆและเสาเพลิง ทรงนำทางพวกเขา แม้ว่าจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ เล็งถึงพระผู้ช่วยให้รอดที่จะเสด็จมา แต่พระผู้ช่วยให้รอดสถิตอยู่กับพวกเขาแล้วในตอนนั้น ทรงคอยบัญชาโมเสสเพื่อนำพาประชาชน และเป็นธารพระพรเพียงสายเดียวของคนอิสราเอล {PP 311.4}
เมื่อลงมาจากภูเขา “โมเสสจึงนำพระวจนะของพระเจ้าและกฎหมายทั้งสิ้นมาชี้แจงให้ประชาชนทราบ ประชาชนทั้งปวงก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘พระวจนะทั้งหมดซึ่งพระเจ้าตรัสไว้นั้น พวกเราจะกระทำตาม’” โมเสสจึงบันทึกคำปฏิญาณนี้ลงในหนังสือ รวมถึงพระดำรัสของพระเจ้าที่คนอิสราเอลสัญญาว่าจะกระทำตาม {PP 311.5}
ต่อมาคือพิธีถวายสัตยาบัน มีการสร้างแท่นบูชาขึ้นที่เชิงเขา และตั้งเสาหิน 12 ต้นไว้ข้างแท่นบูชานั้น “ตามจำนวนเผ่าทั้ง 12 ของอิสราเอล” เพื่อยืนยันถึงการยอมรับพันธสัญญา ชายหนุ่มที่ได้รับการเลือกสรรจึงประกอบพิธีการถวายบูชา {PP 312.1}
หลังจากนั้นโมเสสเอาเลือดของสัตว์ที่นำมาถวายประพรมที่แท่นบูชา ท่าน “ถือหนังสือพันธสัญญาอ่านให้ประชาชนฟัง” ทุกคนได้รับฟังข้อกำหนดของพันธสัญญาอีกครั้ง พวกเขามีสิทธิ์เลือกว่าจะกระทำตามหรือไม่ ทีแรกคนอิสราเอลได้สัญญาว่าจะเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า แต่บัดนี้พวกเขาได้ยินการประกาศพระบัญญัติแล้ว นอกจากนั้นโมเสสได้อธิบายรายละเอียดเพื่อพวกเขาจะได้รู้ว่าพันธสัญญานั้นมีหลักการอะไรบ้าง แล้วประชาชนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันอีกว่า “สิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้นั้น พวกเราจะกระทำตาม และเราจะเชื่อฟัง” “เมื่อโมเสสประกาศพระบัญญัติทุกข้อแก่บรรดาประชาชนแล้ว ท่านก็เอาเลือด…มาประพรมหนังสือม้วนนั้นและคนทั้งปวงด้วย ท่านได้กล่าวว่า ‘นี่คือโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งพระเจ้าทรงบัญญัติไว้แก่เจ้าทั้งหลาย’” (ฮีบรู 9:19–20 TH1971) {PP 312.2}
ถึงเวลาแล้วที่จะเตรียมการสถาปนาชนชาติที่ทรงเลือกสรรภายใต้การปกครองของพระเจ้าเต็มรูปแบบ พระองค์ตรัสกับโมเสสว่า “เจ้ากับอาโรน นาดับ และอาบีฮู กับพวกผู้ใหญ่ 70 คนของอิสราเอล จงขึ้นมาเฝ้าพระเจ้า แล้วนมัสการอยู่แต่ไกล ให้เฉพาะโมเสสผู้เดียวเข้ามาใกล้พระเจ้า” ขณะที่ประชาชนนมัสการอยู่ที่เชิงเขา พระองค์ทรงเรียกคนเหล่านี้ให้ขึ้นไป ผู้ปกครองทั้ง 70 คนได้รับมอบหมายให้ช่วยโมเสสในการดูแลคนอิสราเอล พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์และทรงให้เกียรติพวกเขาโดยให้เห็นความยิ่งใหญ่และฤทธานุภาพของพระองค์ “พวกเขาได้เห็นพระเจ้าแห่งอิสราเอล และพื้นที่รองพระบาทเป็นเหมือนนิลสีคราม สุกใสเหมือนท้องฟ้าทีเดียว” (อพยพ 24:10 THSV) ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้เห็นพระเจ้าโดยตรงแต่ได้เห็นพระสิริแห่งการสถิตอยู่ของพระองค์ ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่สามารถทนเห็นพระสิริเช่นนี้ได้ แต่พวกเขาได้กลับใจเมื่อเห็นฤทธานุภาพครั้นพระองค์ประทานพระบัญญัติสิบประการ และได้ตรึกตรองถึงพระสิริ ความบริสุทธิ์ และพระเมตตาของพระองค์มาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถเข้าใกล้พระเจ้าผู้ซึ่งพวกเขาภาวนาถึงอยู่เสมอ {PP 312.3}
โมเสสเข้าเฝ้าพระเจ้า
โมเสสพร้อมกับ “โยชูวาผู้รับใช้ของท่าน” (อพยพ 24:13 THSV) ได้รับพระบัญชาให้เข้าเฝ้าพระเจ้า ในช่วงที่ท่านทั้งสองไม่อยู่ โมเสสแต่งตั้งอาโรนกับเฮอร์ให้ทำหน้าที่แทนโดยมีผู้ปกครองทั้งหลายคอยช่วย “แล้วโมเสสขึ้นไปบนภูเขา เมฆก็คลุมภูเขาไว้ พระสิริของพระเจ้ามาอยู่บนภูเขาซีนาย” เมฆได้ปกคลุมภูเขาเป็นเวลา 6 วัน เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่ด้วยเป็นพิเศษ ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงเผยพระองค์ หรือตรัสเรื่องพระประสงค์ของพระองค์แต่อย่างใด ในระหว่างนี้โมเสสรอรับพระบัญชาให้เข้าเฝ้าองค์ผู้สูงสุด พระเจ้าตรัสแก่ท่านว่า “เจ้าจงขึ้นมาหาเราบนภูเขา แล้วคอยอยู่ที่นั่น” (อพยพ 24:12 THSV) ถึงแม้ว่าโมเสสถูกทดสอบความอดทนและการเชื่อฟัง ท่านก็ไม่ได้อ่อนล้าในการเฝ้าคอยหรือกลับลงภูเขาไปเสียก่อน สำหรับโมเสส ช่วงที่รอคอยนี้เป็นเวลาที่จะเตรียมตัวและพิเคราะห์ตัวเองอย่างแท้จริง แม้แต่ผู้รับใช้ที่พระเจ้าพอพระทัยผู้นี้ก็ยังไม่อาจเข้าเฝ้าพระเจ้าและทนพระสิริของพระองค์ได้ในทันที ท่านต้องใช้เวลา 6 วัน เพื่ออุทิศตนสำรวจจิตใจ ใคร่ครวญ และอธิษฐาน เพื่อให้พร้อมก่อนที่จะเข้าเฝ้าพระผู้สร้างของท่านโดยตรง {PP 313.1}
ในวันที่เจ็ดซึ่งเป็นวันสะบาโต พระเจ้าทรงเรียกโมเสสขึ้นไปในเมฆ เมฆหนาทึบได้เปิดออกต่อสายตาของคนอิสราเอลทั้งปวง และพระสิริของพระเจ้าก็ปรากฏเหมือนเปลวไฟโชติช่วง “โมเสสเข้าไปในหมู่เมฆนั้นและขึ้นไปบนภูเขา โมเสสอยู่บนภูเขานั้น 40 วัน 40 คืน” 40 วันนั้นที่โมเสสอยู่บนภูเขาไม่ได้รวม 6 วัน สำหรับการเตรียมตัว ระหว่าง 6 วันนั้นโยชูวาได้อยู่ที่นั่นกับโมเสส และทั้งสองก็กินมานาและดื่มน้ำจาก “ลำธารซึ่งไหลลงมาจากภูเขา” (เฉลยธรรมบัญญัติ 9:21 THSV1971) แต่โยชูวาไม่ได้ขึ้นไปในเมฆกับโมเสส เขายังคงอยู่ที่เดิม กินมานาและดื่มน้ำจากลำธารในแต่ละวันขณะที่รอโมเสสกลับลงมา ส่วนโมเสสไม่ได้รับประทานอะไรเลยตลอด 40 วัน {PP 313.2}
ในช่วงที่โมเสสอยู่บนภูเขา พระเจ้าตรัสกับท่านถึงวิธีการสร้างพลับพลาให้เป็นสถานที่ที่พระองค์จะทรงปรากฏเป็นพิเศษ พระเจ้าทรงบัญชาว่า “ให้พวกเขาสร้างสถานนมัสการสำหรับเรา เพื่อเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขา” (อพยพ 25:8 THSV) และตรัสถึงการรักษาวันสะบาโตเป็นครั้งที่สามว่า “เป็นหมายสำคัญตลอดไประหว่างเรากับประชากรอิสราเอล” “เพื่อเจ้าจะได้รู้ว่าเราคือพระเยโฮวาห์ ผู้ได้กระทำเจ้าให้บริสุทธิ์ พวกเจ้าจงรักษาวันสะบาโต เพราะเป็นวันบริสุทธิ์สำหรับพวกเจ้า…ถ้าผู้ใดทำงานใดๆ ในวันนั้น ผู้นั้นต้องถูกตัดออกจากการเป็นประชากรของเรา” (อพยพ 31:17 TNCV, 13–14 TKJV/THSV) พระเจ้าทรงเตือนให้เริ่มสร้างพลับพลาขึ้นในทันทีเพื่อเป็นที่นมัสการพระเจ้า แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนอาจจะคิดไปเองว่า เพื่อเห็นแก่พระสิริของพระองค์ในการสร้างสถานนมัสการตามที่พวกเขาต้องการ ก็คงไม่เป็นไรถ้าจะทำงานก่อสร้างในวันสะบาโต พระเจ้าจึงทรงเตือนพวกเขาเพื่อป้องกันประชาชนจากการกระทำผิดเช่นนี้ แม้ว่างานสร้างสถานนมัสการเป็นงานพิเศษ ทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน แต่ไม่ควรใช้เป็นข้อแก้ตัวในการละเมิดวันหยุดพักอันบริสุทธิ์ของพระองค์ {PP 313.3}
มีหน้าที่เก็บรักษาธรรมบัญญัติ
นับจากนั้นมาพระประมุขแห่งสวรรค์ได้ประทับให้เป็นเกียรติท่ามกลางประชาชน โดยพระเจ้าตรัสสำทับแก่โมเสสว่า “เราจะอยู่ท่ามกลางชนชาติอิสราเอล และจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา” “และพลับพลานั้นจะรับการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยพระสิริของเรา” (อพยพ 29:45, 43 THSV) นอกจากนี้พระเจ้าทรงเขียนพระบัญญัติสิบประการด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ไว้บนแผ่นศิลา 2 แผ่น แล้วทรงมอบให้โมเสสเป็นเครื่องหมายแห่งสิทธิอำนาจและพระประสงค์ของพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 9:10; อพยพ 32:15–16) ทรงให้เก็บรักษาไว้ในพลับพลา ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมการนมัสการของชนชาติอิสราเอลเมื่อสร้างเสร็จ {PP 314.1}
เมื่อก่อนคนอิสราเอลเคยเป็นทาสรับใช้ แต่บัดนี้ถูกยกขึ้นให้เป็นชนชาติพิเศษเหนือชนชาติอื่นๆ เป็นสมบัติอันล้ำค่าแก่จอมกษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งปวง พระเจ้าทรงแยกพวกเขาออกจากโลกนี้ เพื่อจะประทานหน้าที่อันสำคัญให้ คือให้พวกเขาเก็บรักษาธรรมบัญญัติของพระองค์ และถ่ายทอดเรื่องของพระองค์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เป็นดั่งแสงแห่งสวรรค์ส่องไปยังโลกที่ปกคลุมด้วยความมืด และเสียงประกาศร้องเรียกให้มนุษย์ทั่วใต้ฟ้าละทิ้งรูปเคารพและหันมารับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ หากคนอิสราเอลได้ทำหน้าที่นี้อย่างซื่อสัตย์แล้ว พวกเขาจะเป็นชนชาติที่เกรียงไกรในโลก พระเจ้าจะทรงเป็นผู้พิทักษ์และทรงยกให้พวกเขาอยู่เหนือชนชาติอื่นๆ แสงสว่างและความจริงของพระองค์จะส่องผ่านคนอิสราเอล และพวกเขาจะยืนหยัดอยู่ภายใต้การปกครองอันรอบคอบและบริสุทธิ์ของพระองค์ เพื่อเป็นแบบอย่างให้เห็นว่าการนมัสการพระเจ้าย่อมเหนือกว่าการกราบไหว้รูปเคารพทุกรูปแบบ {PP 314.2}