บรรพชนกับผู้เผยพระวจนะเล่ม 559. กษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล

59. กษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล

เรียกร้องให้มีกษัตริย์

ชนชาติอิสราเอลปกครองโดยอ้างพระนามของพระเจ้าและตามสิทธิอำนาจที่มาจากพระองค์ ส่วนโมเสสกับผู้ใหญ่ 70 คน รวมถึงผู้ปกครองและผู้วินิจฉัยมีหน้าที่นำกฎบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้มาบังคับใช้เท่านั้น ไม่มีอำนาจออกกฎบัญญัติเอง นี่คือสภาพชนชาติอิสราเอลที่ทำสืบเนื่องกันมา ในแต่ละยุคสมัยพระเจ้าทรงดลใจชายบางคนให้ไปสั่งสอนประชาชน ทั้งชี้นำให้ปฏิบัติตามกฎบัญญัติที่ทรงวางไว้ {PP 603.1}

องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นล่วงหน้าว่าคนอิสราเอลจะต้องการให้มีกษัตริย์ แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอมให้เปลี่ยนหลักการอันเป็นรากฐานของการก่อตั้งชนชาติขึ้นมา กษัตริย์จะต้องเป็นผู้รักษาการแทนองค์ผู้สูงสุด คือมีพระเจ้าเป็นองค์ประมุขแห่งชาติ ส่วนกฎระเบียบในการบริหารบ้านเมืองให้ยึดบัญญัติของพระเจ้าเป็นกฎสูงสุด1 {PP 603.2}

เมื่อตั้งหลักปักฐานในแผ่นดินคานาอันใหม่ๆ คนอิสราเอลยอมรับหลักการเหล่านี้ที่บอกว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้นำที่แท้จริงของพวกเขา ชนชาติอิสราเอลจึงเจริญรุ่งเรืองในสมัยที่โยชูวาปกครอง แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อพลเมืองมีการขยายตัวและมีการคบค้าสมาคมกับชนชาติอื่น ประชาชนรับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างจากชนชาติใกล้เคียงที่ไม่นับถือพระเจ้า จึงสูญเสียเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ไปเป็นอันมาก ความยำเกรงพระเจ้าค่อยๆ ลดน้อยถอยลงจนพวกเขาไม่เห็นความสำคัญและไม่รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ พวกเขาตื่นเต้นไปกับพิธีเอิกเกริกของพระราชาต่างชาติจนเบื่อหน่ายชีวิตที่เรียบง่าย เกิดความอิจฉาริษยาระหว่างเผ่าต่างๆ ของอิสราเอล การแตกแยกกันภายในนำมาซึ่งความอ่อนแอ กลายเป็นช่องโหว่ให้ศัตรูต่างชาติบุกรุกเข้ามาอยู่เนืองๆ ประชาชนจึงมาถึงข้อสรุปว่า เพื่อให้ตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางชนชาติทั้งหลายได้ จะต้องรวมเผ่าต่างๆ ภายใต้รัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ในขณะที่เลิกปฏิบัติตามกฎบัญญัติของพระเจ้า พวกเขาก็ปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากการปกครองของพระองค์ จึงเกิดการเรียกร้องทั่วอาณาเขตอิสราเอลให้แต่งตั้งกษัตริย์ {PP 603.3}

นับตั้งแต่สมัยโยชูวา ไม่มีใครใช้สติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองได้ผลสำเร็จเท่ากับซามูเอล ท่านได้รับการแต่งตั้ง 3 ตำแหน่งจากพระเจ้า คือผู้วินิจฉัย ผู้เผยพระวจนะ และปุโรหิต ท่านได้ทำงานอย่างกระตือรือร้นเพื่อประโยชน์สุขของคนร่วมชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บ้านเมืองจึงเจริญรุ่งเรืองภายใต้การปกครองอย่างชาญฉลาดของท่าน มีการฟื้นฟูกฎระเบียบและการส่งเสริมศีลธรรม จึงช่วยยับยั้งความรู้สึกขุ่นเคืองของประชาชนไปได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อซามูเอลแก่ชราลง ท่านต้องแบ่งหน้าที่บริหารให้คนอื่น จึงแต่งตั้งลูกชาย 2 คนมาเป็นผู้ช่วย ขณะที่ท่านปฏิบัติภารกิจอยู่ที่เมืองรามาห์ ชายหนุ่มทั้งสองก็รับตำแหน่งที่เบเออร์เชบาเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้กับชายแดนทางใต้ {PP 603.4}

ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับซามูเอลที่แต่งตั้งลูกชายทั้งสองให้รับตำแหน่ง แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำตัวไม่สมกับที่ผู้เป็นพ่อได้เลือกไว้ พระเจ้าได้ตรัสสั่งคนของพระองค์ผ่านโมเสสเป็นพิเศษว่า ผู้นำทั้งหลายของอิสราเอลจะต้องพิพากษาอย่างยุติธรรม จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่เด็กกำพร้าและแม่หม้าย จะต้องไม่รับสินบน แต่ลูกชายทั้งสองของซามูเอล “โลภเงินทอง รับสินบน และบิดเบือนความยุติธรรม” (1 ซามูเอล 8:3 TNCV) ลูกๆ ของผู้เผยพระวจนะไม่ได้ใส่ใจกับการอบรมสั่งสอนของท่าน ไม่ได้ดำเนินตามแบบอย่างชีวิตบริสุทธิ์ที่ไม่เห็นแก่ตัวของบิดา ซามูเอลไม่ได้ใส่ใจต่อคำตักเตือนที่เอลีได้รับเท่าที่ควร ท่านตามใจลูกมากเกินไป ซึ่งผลจากการตามใจนั้นก็ปรากฏให้เห็นชัดในชีวิตและอุปนิสัยของลูกทั้งสองคน {PP 604.1}

ข้ออ้างของประชาชน

ประชาชนไม่พอใจมากที่ผู้วินิจฉัยทั้งสองไม่ให้ความเป็นธรรม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาแอบหวังมานาน “พวกผู้ใหญ่ทั้งหมดของอิสราเอลก็พากันมาหาซามูเอลที่เมืองรามาห์ และพูดกับท่านว่า ‘ดูเถิด ท่านชราแล้ว และพวกบุตรของท่านไม่ได้ดำเนินตามอย่างชีวิตของท่าน บัดนี้ขอท่านได้ตั้งพระราชาให้วินิจฉัยพวกเราอย่างประชาชาติทั้งปวงเถิด’” (1 ซามูเอล 8:4–5 THSV) ซามูเอลไม่ได้รับรายงานที่ลูกทั้งสองข่มเหงประชาชน เพราะถ้าท่านได้รับรู้เรื่องราวความชั่วของลูกๆ แล้วก็คงให้พ้นจากตำแหน่งทันที แต่คนที่เรียกร้องขอการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ต้องการสิ่งนี้ ซามูเอลอ่านใจประชาชนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และเห็นว่าแรงบันดาลใจเบื้องหลังของการเรียกร้องนั้น คือความโอหังและความขุ่นข้องหมองใจ จึงทำให้พวกเขายืนยันที่จะให้ได้สมดังใจปรารถนา ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครบ่นว่าซามูเอลเลยสักคำ ทุกคนยอมรับว่าท่านปกครองอย่างซื่อตรงและรอบคอบ ส่วนผู้เผยพระวจนะชราผู้นี้ถือว่าการที่ประชาชนเรียกร้องให้แต่งตั้งกษัตริย์เป็นการตำหนิท่าน และเป็นการตั้งใจถอดถอนท่านออกจากตำแหน่งโดยตรง แต่ท่านไม่ได้เปิดเผยความรู้สึกของตน ไม่ได้ดุด่าว่ากล่าวประชาชนแต่อย่างใด ท่านเพียงแต่ทูลอธิษฐานเรื่องราวทั้งหมดต่อพระเจ้าและขอคำแนะนำจากพระองค์เพียงผู้เดียว {PP 604.2}

แล้วพระเจ้าตรัสกับซามูเอลว่า “จงฟังทุกสิ่งที่พวกเขาบอกเถิด เพราะพวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งเจ้าแต่ทอดทิ้งเรา และไม่ต้องการให้เราเป็นกษัตริย์ของพวกเขา นับตั้งแต่เราพาพวกเขาออกมาจากอียิปต์จวบจนบัดนี้ พวกเขาทอดทิ้งเราอยู่เสมอและหันไปปรนนิบัติพระอื่นๆ พวกเขาก็กำลังทำกับเจ้าอย่างเดียวกัน” (1 ซามูเอล 8:7–8 TNCV) พระเจ้าทรงตำหนิผู้เผยพระวจนะที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวเองในเรื่องพฤติกรรมของประชาชนที่มีต่อท่าน แท้จริงการกระทำของประชาชนไม่ได้เป็นการลบหลู่ซามูเอล หากแต่เป็นการดูหมิ่นอำนาจของพระเจ้าผู้ทรงแต่งตั้งผู้ปกครองเหนือคนของพระองค์ คนที่ดูหมิ่นและปฏิเสธผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า ไม่ได้ดูถูกเหยียดหยามคนคนนั้นเพียงอย่างเดียว หากเป็นการแสดงความรังเกียจต่อพระเจ้าผู้ทรงใช้เขามาด้วย และเป็นการปฏิเสธพระวจนะ คำสั่งสอน และอำนาจของพระองค์ {PP 605.1}

ช่วงเวลาที่อิสราเอลรุ่งเรืองที่สุดคือช่วงที่เขายอมรับพระเยโฮวาห์เป็นกษัตริย์ของพวกเขา และถือว่ากฎบัญญัติและการปกครองที่พระเจ้าทรงกำหนดขึ้นดีกว่าของชนชาติทั้งหลาย โมเสสเคยประกาศแก่คนอิสราเอลเรื่องพระบัญญัติของพระเจ้าว่า “จงรักษาและทำตามกฎเหล่านั้น เพราะการกระทำอย่างนั้นจะแสดงถึงสติปัญญาและความเข้าใจของพวกท่านต่อหน้าชนชาติทั้งหลาย เมื่อคนเหล่านั้นได้ยินถึงกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เขาจะกล่าวว่า ‘แท้จริงชนชาติใหญ่นี้เป็นประชาชนที่มีปัญญาและมีความเข้าใจ’” (เฉลยธรรมบัญญัติ 4:6 THSV) แต่เมื่อชาวฮีบรูละทิ้งกฎบัญญัติของพระเจ้าแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงตามพระประสงค์ของพระองค์ และแล้วความบาปก็ทำให้พวกเขาตาบอดสนิทจนเอาความชั่วรัายทั้งสิ้นอันเป็นผลจากความบาปและความโง่เขลาของตนเองไปกล่าวโทษการปกครองของพระเจ้า {PP 605.2}

ระบอบกษัตริย์

พระเจ้าตรัสล่วงหน้าผ่านพวกผู้เผยพระวจนะว่า ชนชาติอิสราเอลจะปกครองโดยกษัตริย์ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าระบอบดังกล่าวดีที่สุดสำหรับพวกเขา และก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์ พระเจ้าทรงยอมให้ประชาชนดำเนินตามทางที่ตนเลือก เพราะพวกเขาไม่ยอมรับการชี้นำจากพระองค์ ในพระธรรมโฮเชยาบทที่ 13 ข้อ 11 กล่าวว่า พระองค์ทรงมอบกษัตริย์แก่พวกเขาด้วยความกริ้ว เมื่อมนุษย์เลือกทางของเขาเองโดยไม่แสวงหาคำแนะนำจากพระเจ้า หรือเลือกทำในสิ่งที่ขัดต่อพระประสงค์ที่ทรงเปิดเผยไว้ บ่อยครั้งพระองค์จะประทานตามที่พวกเขาปรารถนา เพื่อให้ได้บทเรียนจากความขมขื่นที่ตามมา และเพื่อช่วยให้เขาสำนึกในความโง่เขลาแล้วกลับใจจากความบาปของตน ในที่สุดจะเห็นได้ว่าการติดตามสติปัญญาและความจองหองของมนุษย์เป็นสิ่งที่อันตราย และจะพบว่าความปรารถนาที่ขัดต่อน้ำพระทัยของพระเจ้าก็เป็นเหตุให้ถูกสาปแช่งแทนที่จะได้รับพระพร {PP 605.3}

พระเจ้าทรงปรารถนาให้คนของพระองค์พึ่งพาพระองค์แต่เพียงผู้เดียวในฐานะผู้ประทานกฎบัญญัติและเป็นที่มาแห่งพละกำลังของตน เมื่อตระหนักว่าต้องพึ่งพาพระองค์จะทำให้พวกเขาใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะช่วยยกระดับพวกเขาให้มีความสง่างามสมกับพระประสงค์อันสูงส่งที่ทรงเลือกพวกเขาให้เป็นชนชาติพิเศษสำหรับพระองค์ แต่เมื่อมนุษย์ขึ้นครองบัลลังก์จะทำให้ประชาชนห่างเหินจากพระเจ้า เพราะจะหันไปพึ่งพากำลังของมนุษย์มากขึ้น และจะอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระองค์น้อยลง เมื่อพระราชาผิดพลาดขึ้นมาจะเป็นเหตุให้ประชาชนทำบาป และนำพาประเทศชาติให้ไกลห่างจากพระเจ้า {PP 606.1}

พระเจ้าตรัสสั่งให้ซามูเอลทำตามที่ประชาชนขอ แต่ให้เตือนพวกเขาเช่นกันว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นดีด้วย ทั้งชี้แจงถึงผลที่จะตามมา “ซามูเอลจึงแจ้งพระดำรัสทั้งหมดขององค์พระผู้เป็นเจ้าแก่บรรดาประชาชนที่ขอให้มีกษัตริย์” (1 ซามูเอล 8:10 TNCV) ท่านอธิบายให้เห็นภาพจริงถึงภาระต่างๆ ที่จะต้องรับเมื่อมีกษัตริย์ ทั้งแจกแจงให้เห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตที่สะดวกสบายและมีอิสรภาพในขณะนั้นกับการถูกกดขี่ข่มเหงที่จะเกิดขึ้น กษัตริย์ของพวกเขาจะเอาแบบอย่างความเอิกเกริกและความเลิศเลออลังการของกษัตริย์ต่างชาติ แล้วจะบีบบังคับประชาชนด้วยการเรียกเก็บภาษีแพงๆ และยึดที่ดินประชาชนมาเพื่อการใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ หนุ่มๆ ที่ร่างกายกำยำบึกบึนและหน้าตาหล่อเหลาที่สุดก็จะถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหารประจำรถรบบ้าง เป็นพลม้าบ้าง และเป็นองครักษ์ผู้วิ่งนำหน้าราชรถของพระราชา บ้างก็จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร จะถูกบังคับให้ไถนาหลวงและเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนพระองค์ ทั้งจะต้องผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อทำศึกสงครามตามที่กษัตริย์ต้องการ ส่วนเด็กสาวอิสราเอลจะถูกเกณฑ์ให้ไปทำอาหารในวัง ถึงแม้พระเยโฮวาห์ประทานที่ดินให้ประชาชนด้วยพระองค์เอง แต่กษัตริย์จะยึดส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงราชสำนัก และจะยึดเอาคนใช้และสัตว์ใช้งานที่ดีที่สุด “ไปใช้สอย” (1 ซามูเอล 8:16 TNCV) นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้วกษัตริย์จะริบเอาหนึ่งในสิบของรายได้ไม่ว่าจะเป็นผลกำไรจากการทำงานหรือผลผลิตจากไร่นา ซามูเอลสรุปทิ้งท้ายว่า “ท่านเองจะตกเป็นทาสของเขา เมื่อถึงวันนั้นท่านจะวอนขอการปลดปล่อยจากกษัตริย์ที่ท่านเลือก แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงตอบ” (1 ซามูเอล 8:17–18 TNCV) ไม่ว่าการบีบบังคับนั้นจะหนักหนาเพียงไร แต่พอตั้งระบอบพระราชาแล้ว จะขอยกเลิกตามอำเภอใจไม่ได้ {PP 606.2}

แต่ประชาชนกลับตอบท่านว่า “เราต้องการกษัตริย์ปกครอง เราจะได้เหมือนชาติอื่นๆ ทั้งปวงที่มีกษัตริย์นำไปรบทัพจับศึก” (1 ซามูเอล 8:19–20 TNCV) {PP 607.1}

เหตุที่พระเจ้าทรงแยกชนชาติฮีบรูออกมา

คนอิสราเอลไม่เข้าใจว่าการที่ไม่ได้เป็น “เหมือนชาติอื่นๆ ทั้งปวง” นั้นเป็นทั้งพระพรและสิทธิพิเศษ พระเจ้าทรงแยกคนอิสราเอลออกจากชนชาติทั้งหลายเพื่อให้เป็นกรรมสิทธิ์อันล้ำค่าเฉพาะพระองค์ แต่เพราะพวกเขาโหยหาที่จะทำตามคนที่ไม่มีพระเจ้า จึงมองข้ามเกียรติอันสูงส่งนี้ ในปัจจุบันความต้องการที่จะทำตามความนิยมและพฤติกรรมฝ่ายโลกยังมีอยู่ท่ามกลางผู้ที่อ้างว่าเป็นคนของพระเจ้า ยิ่งห่างเหินจากพระเจ้ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความทะเยอทะยานที่จะหาผลประโยชน์และชื่อเสียงเกียรติยศฝ่ายโลกมากขึ้นเท่านั้น มีคริสเตียนที่พยายามอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะทำตามวิถีปฏิบัติของคนที่นมัสการพระต่างๆ ตามสมัยนิยม หลายคนยืนยันว่า ถ้าเพียงแต่เข้าร่วมกับชาวโลกและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมฝ่ายโลกแล้วก็จะสามารถมีอิทธิพลชักจูงคนที่ไม่รู้จักพระเจ้าได้ง่ายขึ้น แต่ด้วยวิธีดังกล่าวทุกคนที่เลือกทางนี้ก็จะแยกตัวเองออกจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่มาแห่งพละกำลัง การผูกมิตรกับฝ่ายโลกก็เท่ากับการทำตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า คนเหล่านี้อยากเป็นที่นับหน้าถือตาของมนุษย์จึงยอมสละศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้ นั่นคือการประกาศพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงเรียกเขาออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์ (ดู 1 เปโตร 2:9) {PP 607.2}

ซามูเอลฟังถ้อยคำของประชาชนด้วยความเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง แต่พระเจ้าตรัสกับท่านว่า “จงฟังเสียงของเขาทั้งหลายเถิด และจงตั้งกษัตริย์องค์หนึ่งให้เขา” ผู้เผยพระวจนะได้ทำตามหน้าที่แล้ว ท่านได้ตักเตือนประชาชนอย่างสัตย์ซื่อ แต่พวกเขาไม่ฟัง ท่านรู้สึกหนักใจขณะที่สั่งให้ประชาชนกลับบ้าน ส่วนท่านเองก็กลับไปตระเตรียมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปกครองของชาติอิสราเอล {PP 607.3}

พวกปุโรหิตและผู้ใหญ่ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และประชาชนชาวอิสราเอลที่ลุ่มหลงในกิเลสอย่างลำพองใจรู้สึกเหมือนโดนตำหนิอยู่ตลอดเวลาเมื่อเห็นการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์และการอุทิศตนของซามูเอล ถึงแม้ไม่มีพิธีที่เอิกเกริกและการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่การงานของท่านได้รับตราประทับจากสวรรค์ พระผู้ไถ่ของมวลมนุษย์ทรงให้เกียรติท่าน และทรงนำท่านในการปกครองชนชาติฮีบรู แต่ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับความธรรมะธัมโมและการอุทิศตนรับใช้ของท่าน พวกเขาดูถูกการปกครองที่เรียบง่ายและปฏิเสธท่านเพื่อเลือกเอาชายคนอื่นขึ้นมาเป็นกษัตริย์ {PP 607.4}

อุปนิสัยของซามูเอลสะท้อนให้เห็นถึงพระลักษณะของพระคริสต์ การดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยั่วโทสะของซาตาน ชีวิตของพระองค์เป็นแสงสว่างของโลกซึ่งฉายให้เห็นความต่ำช้าที่ซ่อนเร้นในใจมนุษย์ ความบริสุทธิ์ของพระคริสต์รบกวนจิตใจคนที่อวดดีให้ต่อต้านพระองค์อย่างรุนแรง พระคริสต์ไม่ได้เสด็จมาพร้อมกับทรัพย์สมบัติและเกียรติยศฝ่ายโลก แต่พระราชกิจของพระองค์สำแดงให้เห็นถึงฤทธิ์อำนาจที่เหนือกษัตริย์ทั้งปวงของมนุษย์ ชาวยิวเฝ้ารอพระเมสสิยาห์ให้เสด็จมาปลดแอกจากผู้บีบบังคับ ในขณะเดียวกันก็ยังนิยมชมชอบความบาปซึ่งผูกรัดคออยู่ หากพระคริสต์ทรงปิดบังความบาปและยกย่องความดีของชาวยิว พวกเขาคงยอมรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์ไปแล้ว แต่พวกเขาไม่ยอมรับที่พระองค์ทรงกล้าตักเตือนเรื่องอบายมุขที่ตนข้องเกี่ยว ชาวยิวดูหมิ่นพระอุปนิสัยอันดีงาม บริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงเกลียดชังสิ่งใดยกเว้นความบาป เป็นเช่นนี้ในทุกยุคทุกสมัย แสงสว่างจากสวรรค์กล่าวโทษทุกคนที่ไม่ยอมเดินตามแสงนั้น แบบอย่างชีวิตของคนที่เกลียดชังความบาปเป็นสิ่งที่ตำหนิคนหน้าซื่อใจคด ซึ่งคนที่รู้สึกว่าถูกตำหนินั้นก็จะกลายเป็นเครื่องมือของซาตานที่คอยตามรังควานและกดขี่ข่มเหงคนซื่อสัตย์ “แท้จริงบรรดาคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามทางของพระเจ้า ในพระเยซูคริสต์จะถูกกดขี่ข่มเหง” (2 ทิโมธี 3:12 TH1971) {PP 607.5}

ถึงแม้มีการทำนายล่วงหน้าว่าชนชาติอิสราเอลจะปกครองโดยระบอบกษัตริย์ แต่พระเจ้าทรงสงวนสิทธิ์ในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์นั้น คนฮีบรูยังให้เกียรติพระเจ้ามากพอที่จะให้พระองค์เป็นผู้เลือกแต่เพียงผู้เดียว แล้วการทรงเลือกก็ตกอยู่ที่ซาอูลบุตรคีชจากเผ่าเบนยามิน {PP 608.1}

กษัตริย์องค์แรกของชนชาติอิสราเอล

คุณสมบัติของว่าที่กษัตริย์เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการเพื่อให้สมแก่ศักดิ์ศรีของพวกเขา “ไม่มีชายคนใดในหมู่คนอิสราเอลที่จะงามกว่าเขา” ซาอูลอยู่ในวัยฉกรรจ์ รูปงามสูงหล่อ ดูเหมือนจะเกิดมาเพื่อเป็นผู้ปกครองโดยเฉพาะ แต่ถึงแม้จะมีคุณสมบัติภายนอกที่น่าชื่นชมเช่นนี้ ซาอูลยังขาดคุณสมบัติที่สำคัญกว่านั้น คือคุณสมบัติที่แสดงถึงสติปัญญาที่แท้จริง ตอนเป็นหนุ่มเขาไม่เคยเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ที่รุนแรง ไม่เคยสัมผัสถึงฤทธิ์อำนาจแห่งพระคุณของพระเจ้าที่สามารถฟื้นฟูจิตวิญญาณ {PP 608.2}

ซาอูลเป็นบุตรชายของผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แต่ถึงกระนั้นตามวิถีชีวิตของยุคสมัยที่เรียบง่ายเขากับบิดายังต้องทำหน้าที่ดูแลสัตว์เลี้ยง เมื่อสัตว์ของบิดาบางตัวได้พลัดหลงไปตามภูเขา ซาอูลกับคนใช้ออกไปตามหา 3 วันแล้วก็ยังไม่พบ จนใกล้ถึงเมืองรามาห์2 ซึ่งเป็นที่อยู่ของซามูเอล คนใช้จึงเสนอให้พวกเขาไปถามผู้เผยพระวจนะถึงสัตว์เลี้ยงที่หายไปโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีเงินอยู่หนึ่งในสี่เชเขล จะมอบให้คนของพระเจ้าเพื่อเขาจะบอกทางแก่เรา” (1 ซามูเอล 9:8 TNCV) นี่เป็นธรรมเนียมของคนในสมัยนั้น คือถ้าใครจะเข้าพบคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าตน จะต้องมอบของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ {PP 608.3}

ขณะที่เดินทางมาใกล้กับตัวเมืองก็พบหญิงสาวบางคนที่ออกมาหาบน้ำ จึงถามพวกเขาว่าจะหาผู้ทำนายได้ที่ไหน หญิงสาวก็ตอบว่า กำลังจะมีพิธีทางศาสนา และผู้เผยพระวจนะก็มาถึงแล้ว จะมีการถวายสัตวบูชาและการจัดเลี้ยงที่ “ปูชนียสถานสูง” ทั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของซามูเอล เพราะเมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่าน ประชาชนก็ดูหมิ่นพิธีกรรมของพลับพลา “ด้วยเขาดูหมิ่นเครื่องบูชาของพระองค์” (1 ซามูเอล 2:17 TH1940) แต่ตอนนี้มีการนมัสการพระเจ้าทั่วแผ่นดิน และประชาชนก็แสดงความสนใจต่อพิธีทางศาสนา ในขณะนั้นไม่มีการทำพิธีกรรมในพลับพลา พวกเขาจึงทำการถวายบูชาในเมืองของพวกปุโรหิตและชาวเลวีที่ประชาชนไปเพื่อรับฟังการสั่งสอน สถานที่สูงในเมืองเหล่านี้มักจะถูกเลือกให้เป็นที่ถวายบูชาจึงถูกเรียกว่า “ปูชนียสถานสูง” {PP 609.1}

เมื่อซาอูลมาถึงประตูเมืองก็ได้พบผู้เผยพระวจนะเข้าพอดี พระเจ้าทรงสำแดงแก่ซามูเอลว่า ณ เวลานั้นจะทรงเปิดเผยผู้ที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นกษัตริย์ของชาวอิสราเอล แล้วในขณะที่ยืนเผชิญหน้ากันอยู่นั้น พระเจ้าตรัสกับซามูเอลว่า “คนนี้แหละที่เราบอกเจ้าไว้ เขาจะปกครองประชากรของเรา” (1 ซามูเอล 9:17 TNCV) {PP 609.2}

เมื่อซาอูลถามว่า “ช่วยบอกทางไปบ้านผู้ทำนายด้วยเถิด” ซามูเอลก็ตอบว่า “ข้าพเจ้านี่แหละเป็นผู้ทำนาย” ในขณะเดียวกันก็รับรองว่าได้พบสัตว์ที่พลัดหลงไปแล้ว ซามูเอลคะยั้นคะยอให้ซาอูลรอเข้าร่วมงานเลี้ยง ทั้งบอกเป็นนัยๆ ถึงอนาคตอันยิ่งใหญ่ที่รอท่านอยู่ข้างหน้าว่า “ใครเล่าที่อิสราเอลปรารถนาเป็นอย่างมาก ก็คือตัวท่านและครอบครัวของบิดาของท่านนั่นเอง” ใจของซาอูลเต้นระส่ำเมื่อได้ยินถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะ เพราะมันจะหมายถึงอย่างอื่นไปไม่ได้เนื่องจากในขณะนั้นการเรียกร้องขอกษัตริย์เป็นประเด็นร้อนของคนทั้งชาติ อย่างไรก็ตามซาอูลตอบอย่างถ่อมใจว่า “แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นคนเบนยามินซึ่งเป็นเผ่าเล็กน้อยที่สุดของอิสราเอลไม่ใช่หรือ และตระกูลของข้าพเจ้าก็เล็กที่สุดในบรรดาตระกูลในเผ่าเบนยามินไม่ใช่หรือ เหตุใดท่านจึงกล่าวกับข้าพเจ้าเช่นนั้น” (1 ซามูเอล 9:18–21 TNCV) {PP 609.3}

ซามูเอลพาคนแปลกหน้าไปยังที่ซึ่งคนใหญ่คนโตของเมืองมารวมตัวกัน และให้ซาอูลนั่งในตำแหน่งที่มีเกียรติกับเอาอาหารที่ดีที่สุดให้ท่าน เมื่อเสร็จงานเลี้ยงซามูเอลพาซาอูลไปที่บ้าน และสนทนากับท่านบนดาดฟ้าถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองชนชาติอิสราเอล เพื่อเป็นการเตรียมท่านในระดับหนึ่งสำหรับตำแหน่งที่สูงส่งนั้น {PP 609.4}

เมื่อซาอูลออกเดินทางในเช้าตรู่ของวันถัดมา ผู้เผยพระวจนะก็เดินทางไปส่ง หลังจากผ่านเมืองแล้วซามูเอลสั่งให้คนใช้เดินล่วงหน้าไปก่อน แล้วก็ขอให้ซาอูลยืนนิ่งอยู่ตรงนั้นเพื่อรับฟังข่าวสารที่พระเจ้าประทานมาให้ “แล้วซามูเอลก็หยิบขวดน้ำมันเทลงบนศีรษะของซาอูล และจุบท่านแล้วกล่าวว่า ‘พระเยโฮวาห์ทรงเจิมท่านไว้ให้เป็นเจ้านายเหนือมรดกของพระองค์แล้วมิใช่หรือ’” (1 ซามูเอล 10:1 TKJV) และเพื่อเป็นหลักฐานว่าการเจิมนั้นเกิดขึ้นโดยอำนาจของพระเจ้า ซามูเอลจึงบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นขณะเดินทางกลับบ้าน ทั้งยืนยันว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงทำให้ท่านมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมสำหรับหน้าที่ที่รอท่านอยู่ โดยกล่าวว่า “พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะลงมาสวมทับท่านด้วยฤทธานุภาพ…ท่านจะเปลี่ยนเป็นคนละคน เมื่อสำเร็จตามหมายสำคัญต่างๆ เหล่านี้แล้ว จงทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภาระหน้าที่ของท่านเถิด เพราะพระเจ้าสถิตกับท่าน” (1 ซามูเอล 10:6–7 TNCV) {PP 610.1}

ขณะที่ซาอูลเดินทางไปนั้นทุกอย่างก็เกิดขึ้นดังที่ผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ เมื่อเข้าใกล้เขตแดนเผ่าเบนยามินมีคนมาแจ้งว่าได้พบสัตว์เลี้ยงที่หายไปแล้ว ในที่ราบทาโบร์ซาอูลพบชาย 3 คนที่กำลังเดินทางไปนมัสการพระเจ้าที่เบธเอล คนหนึ่งอุ้มลูกแพะ 3 ตัวเพื่อนำไปถวายบูชา ส่วนอีกคนหนึ่งถือขนมปัง 3 ก้อน และคนที่สามถือขวดน้ำองุ่นสำหรับงานเลี้ยงหลังเสร็จพิธี คนเหล่านี้ทักทายซาอูลตามธรรมเนียมแล้วแบ่งขนมปังสองในสามก้อนให้ท่าน พอมาถึงกิเบอาห์ คือเมืองของท่านเอง มีกลุ่มผู้เผยพระวจนะกำลังเดินทางกลับจาก “ปูชนียสถานสูง” ต่างร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าประกอบด้วยเสียงพิณ เสียงปี่ และรำมะนา ขณะที่ซาอูลเดินเข้าไปใกล้คนเหล่านี้พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับท่าน ท่านจึงร่วมร้องเพลงสรรเสริญและเผยพระวจนะพร้อมกับคนเหล่านี้ ซาอูลพูดได้อย่างคล่องแคล่วและเฉียบแหลม ทั้งร่วมในพิธีอย่างกระตือรือร้นจนคนที่เคยรู้จักท่านอุทานด้วยความตกใจว่า “อะไรหนอเกิดขึ้นแก่บุตรชายของคีช ซาอูลอยู่ในจำพวกผู้เผยพระวจนะด้วยหรือ” {PP 610.2}

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจของซาอูลอย่างมากในขณะที่ท่านร่วมนมัสการกับพวกผู้เผยพระวจนะ แสงบริสุทธิ์หมดจดจากพระเจ้าส่องเข้าไปสลายความมืดในจิตใจแห่งเนื้อหนัง ท่านตระหนักถึงสภาพของตนเองต่อสายพระเนตรของพระเจ้า และเห็นความงดงามในความบริสุทธิ์ ถึงตอนนี้ท่านได้ถูกเรียกให้เริ่มต่อสู้กับซาตานและความบาป พระเจ้าทรงดลใจให้ท่านสำนึกว่า ในการต่อสู้นี้ล้วนแต่จะต้องอาศัยกำลังจากพระองค์ แผนการช่วยมนุษย์ให้รอดที่ก่อนหน้านี้คลุมเครือและไม่ชัดเจน บัดนี้ทรงเปิดเผยให้ท่านเข้าใจแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบันดาลให้ท่านเข้มแข็งและมีสติปัญญาสำหรับตำแหน่งอันสูงส่งที่กำลังจะได้รับ พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ท่านทราบว่าพระองค์คือที่มาแห่งกำลังและพระคุณ และทรงสมควรได้รับการปรนนิบัติรับใช้เช่นไร ทั้งยังทรงช่วยให้ท่านตระหนักถึงภาระหน้าที่ของตน {PP 610.3}

ฉลากที่จับได้

การเจิมซาอูลเป็นกษัตริย์ไม่ได้แจ้งให้คนทั้งชาติรับรู้ เพราะผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชนผ่านการจับฉลาก ด้วยเหตุนี้ซามูเอลจึงรวบรวมประชาชนที่มิสปาห์ พิธีจับฉลากเกิดขึ้นหลังจากอธิษฐานขอการทรงนำจากพระเจ้า ประชาชนที่ชุมนุมอยู่นั้นรอฟังผลด้วยใจจดจ่อ การจับฉลากดำเนินไป มีการเลือกเฟ้นเผ่า วงศ์ตระกูล และครอบครัวตามลำดับ สุดท้ายฉลากก็ไปตกที่ซาอูลบุตรของคีช แต่ซาอูลไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ท่านตระหนักได้ว่าภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบนั้นยิ่งใหญ่มากจึงปลีกตัวไปอยู่ตามลำพัง มีคนไปตามท่านกลับมายังที่ประชุม ประชาชนต่างภาคภูมิใจและพอใจเมื่อเห็นซาอูลเดินเข้ามาอย่างสง่าผ่าเผยเยี่ยงพระราชา ท่าน “สูงกว่าประชาชนทุกคนจากบ่าขึ้นไป” (1 ซามูเอล 10:23 THSV) แม้แต่ซามูเอลเมื่อนำตัวซาอูลออกมาแนะนำให้ประชาชนรู้จักก็ยังกล่าวว่า “ท่านเห็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้แล้วหรือ ในท่ามกลางประชาชนไม่มีใครเหมือนท่าน” มหาชนร้องดังขึ้นอย่างชื่นบานว่า “ขอพระราชาทรงพระเจริญ” {PP 611.1}

จากนั้นซามูเอลอธิบายให้ประชาชนฟังถึง “สิทธิและหน้าที่ของตำแหน่งพระราชา” พร้อมด้วยหลักการปกครองพื้นฐานของระบอบกษัตริย์ อนึ่ง ไม่ให้กษัตริย์ครอบครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่กษัตริย์ แต่จะต้องครองอำนาจโดยขึ้นอยู่กับน้ำพระทัยขององค์ผู้สูงสุด คำปราศรัยนี้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุทั้งสิทธิของกษัตริย์และสิทธิของประชาชน ถึงแม้ประชาชนได้ดูถูกคำตักเตือนของซามูเอลจนท่านต้องยอมทำตามความปรารถนาของพวกเขา แต่ท่านในฐานะผู้เผยพระวจนะที่สัตย์ซื่อยังพยายามรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้เท่าที่ทำได้ {PP 611.2}

ถึงแม้คนส่วนใหญ่พร้อมที่จะยอมรับซาอูลในฐานะกษัตริย์ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ต่อต้านอยู่ พวกเขาทำใจไม่ได้ที่จะเลือกกษัตริย์จากเผ่าเบนยามินอันเป็นเผ่าที่เล็กที่สุด แทนที่จะเลือกจากเผ่ายูดาห์หรือเผ่าเอฟราอิมซึ่งเป็นเผ่าใหญ่และมีกำลังมากที่สุด พวกเขาไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อซาอูลหรือถวายเครื่องบรรณาการตามธรรมเนียม ส่วนพวกที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องให้มีกษัตริย์กลับเป็นพวกที่ไม่ยอมรับชายที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง พวกเขาแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ละกลุ่มมีคนโปรดที่อยากให้ขึ้นครองบัลลังก์ มีผู้นำกลุ่มบางคนที่อยากได้รับเกียรตินี้ ไฟแห่งความอิจฉาริษยาลุกโชนอยู่ในใจของคนเป็นอันมาก ซึ่งในที่สุดความเย่อหยิ่งและความทะเยอทะยานได้ส่งผลให้ผู้คนผิดหวังและโกรธเคือง {PP 611.3}

ซาอูลรู้สึกว่าสถานการณ์ในขณะนั้นไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่ท่านจะแสดงตัวเป็นพระราชา ท่านจึงกลับไปที่เมืองกิเบอาห์ ปล่อยให้ซามูเอลปกครองเหมือนที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งแสดงการให้เกียรติท่านโดยให้การคุ้มกันขณะที่เดินทางกลับ คนเหล่านี้ตั้งใจสนับสนุนท่านเพราะเห็นว่าเป็นคนที่พระเจ้าทรงเลือก แต่ซาอูลไม่พยายามใช้อำนาจเพื่อรักษาสิทธิของตนในการขึ้นบัลลังก์ ท่านกลับไปอยู่บ้านในพื้นที่สูงของเขตแดนเบนยามินและทำหน้าที่เลี้ยงสัตว์อย่างเงียบๆ ต่อไป ขณะที่ฝากเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับการรับตำแหน่งกษัตริย์ไว้กับพระเจ้า {PP 612.1}

ซาอูลต้องออกศึก

หลังจากพิธีแต่งตั้งซาอูลให้เป็นกษัตริย์ผ่านไปไม่นาน กษัตริย์นาหาชของชาวอัมโมนก็ยกทัพมาบุกรุกเผ่าต่างๆ ของอิสราเอลที่อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และข่มขู่ว่าจะทำลายเมืองยาเบชกิเลอาด ชาวเมืองพยายามต่อรองเพื่อสันติภาพโดยจะยอมเป็นเมืองขึ้นของคนอัมโมน แต่กษัตริย์ผู้เหี้ยมโหดนั้นไม่ยอมเว้นแต่จะได้ควักตาข้างขวาของทุกคนออกเพื่อเป็นที่ประจักษ์ถึงอำนาจของตนอย่างถาวร {PP 612.2}

ชาวเมืองที่ถูกศัตรูห้อมล้อมอยู่นั้นขอเวลา 7 วัน คนอัมโมนก็ตกลงเพราะคิดว่าจะเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้ฝ่ายของตนเมื่อได้รับชัยชนะตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นชาวเมืองยาเบชจึงรีบส่งม้าเร็วไปขอความช่วยเหลือจากคนอิสราเอลเผ่าต่างๆ ที่อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนในทันที พอข่าวไปถึงกิเบอาห์ชาวเมืองก็แตกตื่นและหวาดผวา ในค่ำวันนั้นเมื่อซาอูลกลับจากการต้อนฝูงวัว ท่านได้ยินเสียงโหยไห้บ่งบอกว่ามีเหตุร้ายบางอย่างเกิดขึ้น ท่านจึงถามว่า “ประชาชนเป็นอะไรไป ทำไมพวกเขาจึงร้องไห้” (1 ซามูเอล 11:5 THSV) เมื่อซาอูลได้รับฟังเรื่องราวอันน่าอัปยศอดสูนั้น ความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ก็พลุ่งพล่านออกมา “พระวิญญาณของพระเจ้าก็ทรงสวมทับซาอูล…ท่านจึงเอาโคมาคู่หนึ่งฟันออกเป็นท่อนๆ ส่งไปทั่วเขตแดนทั้งสิ้นของอิสราเอลทางมือของพวกผู้สื่อสาร กล่าวว่า ‘ใครที่ไม่ออกมาตามซาอูลและซามูเอล จะทำอย่างนี้แก่โคของเขา’” (1 ซามูเอล 11:6–7 THSV) {PP 612.3}

มีชาย 330,000 คนรวมพลกัน ณ ที่ราบเบเซกภายใต้การบัญชาการของซาอูล มีการส่งม้าเร็วออกไปทันทีเพื่อยืนยันแก่ชาวเมืองที่ถูกห้อมล้อมอยู่นั้นว่า ความช่วยเหลือจะมาถึงในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่พวกเขาจะต้องยอมจำนนต่อชาวอัมโมน ซาอูลเร่งนำกองทัพของท่านเดินทางตลอดทั้งคืน ข้ามแม่น้ำจอร์แดน และมาถึงเมืองยาเบช “ตอนเช้ามืด” ท่านแบ่งกองทัพออกเป็น 3 กองเหมือนที่กิเดโอนเคยทำ แล้วโจมตีค่ายคนอัมโมนในตอนเช้าตรู่ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเขาไม่เผื่อใจว่าจะมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น และเป็นเวลาที่พวกเขาไม่พร้อมมากที่สุด กองทัพของชาวอัมโมนถึงกับแตกกระเจิงและมีคนล้มตายเป็นอันมาก ส่วน “ผู้ที่รอดชีวิตไปได้ก็กระจัดกระจายไปรวมกันไม่ได้สักคู่เดียวเลย” (1 ซามูเอล 11:11 THSV) {PP 612.4}

ซาอูลแสดงความกล้าหาญและมีภาวะผู้นำในการนำกองทัพใหญ่ให้สำเร็จทันท่วงที ซึ่งเป็นคุณสมบัติของกษัตริย์ที่คนอิสราเอลต้องการ เพื่อพวกเขาจะสามารถรับมือกับชนชาติอื่นๆ ได้ คราวนี้พวกเขาต้อนรับซาอูลในฐานะกษัตริย์และยกย่องท่านว่าเป็นผู้นำชัยชนะมาสู่อิสราเอล โดยลืมไปว่าถ้าปราศจากพระพรพิเศษจากพระเจ้าแล้ว การทุ่มเทกำลังทั้งหมดของพวกเขาก็จะไร้ประโยชน์ บางคนคะยั้นคะยอเสนอให้ประหารชีวิตคนทั้งหลายที่ไม่ยอมรับอำนาจของซาอูลในตอนแรก แต่กษัตริย์องค์ใหม่ทักท้วงขึ้นว่า “ในวันนี้อย่าให้ผู้ใดถูกประหารชีวิตเลย เพราะว่าวันนี้เป็นวันที่พระเจ้าทรงช่วยกู้คนอิสราเอล” สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงในอุปนิสัยของซาอูล ท่านถวายเกียรติแด่พระเจ้าแทนที่จะรับมาเป็นของตนเอง แทนที่จะลงมือแก้แค้นให้สาสมใจ ท่านกลับแสดงความเห็นใจและการให้อภัย นี่เป็นหลักฐานที่แจ่มชัดว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ในใจของท่าน {PP 613.1}

ซาอูลรับมอบอาณาจักร

บัดนี้ซามูเอลเสนอให้มีการจัดประชุมระดับชาติขึ้นที่กิลกาลเพื่อมอบอาณาจักรไว้ในมือของซาอูลอย่างเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชนทั้งปวง แล้วก็เป็นดังนั้น “เขาทั้งหลายถวายสัตว์เป็นเครื่องศานติบูชาแด่พระเจ้า ซาอูลกับประชาชนอิสราเอลทั้งปวงก็ชื่นชมยินดีอย่างยิ่งที่นั่น” {PP 613.2}

กิลกาลคือสถานที่ที่คนอิสราเอลตั้งค่ายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เข้ามาในแผ่นดินแห่งพระสัญญา ณ ที่แห่งนี้ พระเจ้าทรงบัญชาให้โยชูวานำก้อนหิน 12 ก้อนมาตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อระลึกถึงการอัศจรรย์ครั้งเมื่อพวกเขาข้ามแม่น้ำจอร์แดน มีการรื้อฟื้นพิธีเข้าสุหนัตที่นั่น และเป็นแห่งแรกที่พวกเขาฉลองพิธีปัสกาหลังจากความบาปที่คาเดชและการใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในทะเลทราย ที่กิลกาลนี้เองมานาก็สิ้นสุดลง และองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปรากฏพระองค์ในฐานะจอมทัพของอิสราเอล พวกเขาเดินทัพจากค่ายที่กิลกาลเพื่อเอาชนะเมืองเยรีโคและพิชิตเมืองอัย และที่แห่งนั้นอาคานก็ถูกลงโทษอันเนื่องจากความบาปของเขา เป็นที่ที่คนอิสราเอลทำสนธิสัญญากับชาวกิเบโอน และต้องรับโทษที่ไม่ได้ทูลขอคำแนะนำจากพระเจ้า ซามูเอลกับซาอูลยืนอยู่ ณ ที่ราบกิลกาลอันเป็นสถานที่ที่เหตุการณ์ระทึกใจหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น และเมื่อเสียงโห่ร้องอวยชัยสงบลง ผู้เผยพระวจนะผู้แก่ชราได้กล่าวคำปราศรัยเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะผู้นำแห่งชาติว่า {PP 613.3}

“ดูเถิด ข้าพเจ้าได้ทำตามที่ท่านทั้งหลายขอและตั้งกษัตริย์ขึ้นมาปกครองท่าน บัดนี้ท่านมีกษัตริย์เป็นผู้นำ ส่วนข้าพเจ้าเองก็ชราและผมก็หงอกแล้ว…ข้าพเจ้าเป็นผู้นำของท่านมาตั้งแต่หนุ่มจวบจนถึงวันนี้ ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่นี่แล้ว จงให้การต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า และต่อหน้าผู้ที่พระองค์ทรงเจิมตั้งไว้เถิดว่า ข้าพเจ้าเคยยึดวัวหรือลาของใครไปบ้าง ข้าพเจ้าเคยโกงหรือเคยข่มเหงรังแกใครบ้าง ข้าพเจ้าเคยรับสินบนจากใครบ้างเพื่อบิดเบือนความยุติธรรม หากมี ข้าพเจ้าจะสะสางให้เรียบร้อย” (1 ซามูเอล 12:1–3 TNCV) {PP 614.1}

ฝ่ายประชาชนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เลย ท่านไม่เคยโกงหรือข่มเหงรังแกเรา และท่านไม่เคยรับอะไรจากใคร” (1 ซามูเอล 12:4 TNCV) {PP 614.2}

ซามูเอลไม่ได้คิดปกป้องชื่อเสียงของตนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ท่านเคยวางหลักการที่ควรใช้กับกษัตริย์และประชาชน จึงอยากยกตัวอย่างชีวิตของท่านเองเพื่อให้คำสอนนั้นมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ท่านขลุกอยู่กับงานของพระเจ้าตั้งแต่เยาว์วัย และตลอดชีวิตอันยาวนานท่านมีจุดมุ่งหมายเดียว คือถวายเกียรติแด่พระเจ้าและแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้แก่ชนชาติอิสราเอล {PP 614.3}

ก่อนที่จะได้เห็นความรุ่งเรืองใดๆ คนอิสราเอลต้องมาถึงจุดกลับใจต่อพระเจ้าเสียก่อน แต่ความบาปทำให้พวกเขาสูญเสียความเชื่อในพระเจ้า พวกเขาจึงไม่สังเกตถึงฤทธิ์อำนาจและสติปัญญาของพระองค์ในการปกครองประเทศชาติ และยังขาดความเชื่อมั่นในพระปรีชาสามารถที่จะทรงปกป้องพระราชกิจของพระองค์ได้ ก่อนที่จะพบสันติสุขอันแท้จริงจะต้องให้พวกเขาตระหนักและสารภาพอย่างเจาะจงถึงความบาปที่ได้กระทำ พวกเขาเคยระบุเป้าหมายในการเรียกร้องให้มีกษัตริย์ว่า “เพื่อพระราชาของเราจะวินิจฉัยเราและนำหน้าเราไป และรบในสงครามให้เรา” (1 ซามูเอล 8:20 THSV) ซามูเอลย้อนทบทวนประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลตั้งแต่พระเจ้าทรงนำพวกเขาออกจากประเทศอียิปต์ คราวนั้นพระเยโฮวาห์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายทรงนำหน้าและต่อสู้ในสงครามเพื่อพวกเขา บ่อยครั้งที่คนอิสราเอลต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของศัตรูเพราะความบาปของพวกเขาเอง แต่ทันทีที่หันจากความชั่วพระเจ้าทรงแต่งตั้งผู้วินิจฉัยด้วยพระเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงใช้กิเดโอน และบาราค ทั้ง “เยฟธาห์และซามูเอลมาช่วยท่านจากเงื้อมมือของศัตรูรอบด้าน เพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย” (1 ซามูเอล 12:11 TNCV) แต่แล้วเมื่อถึงคราวเข้าตาจนพวกเขากลับร้องเรียกให้มี “กษัตริย์ปกครองเหนือเรา” แต่ผู้เผยพระวจนะเตือนว่า “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านเป็นพระมหากษัตริย์ของท่าน” {PP 614.4}

คำปราศรัยของซามูเอล

ซามูเอลกล่าวต่อไปว่า “‘บัดนี้ท่านทั้งหลายจงยืนนิ่งอยู่ คอยดูเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ต่อไปนี้ ซึ่งพระเจ้าจะทรงกระทำต่อหน้าต่อตาของท่านทั้งหลาย วันนี้เป็นฤดูเกี่ยวข้าวสาลีไม่ใช่หรือ ข้าพเจ้าจะร้องทูลต่อพระเจ้า ขอพระองค์จัดส่งฟ้าร้องและฝน และท่านทั้งหลายจะทราบและเห็นเองว่า ความอธรรมของท่านนั้นใหญ่โตเพียงใด ซึ่งท่านได้กระทำในสายพระเนตรพระเจ้า ในการที่ได้ขอให้มีพระราชาสำหรับตน’ ซามูเอลจึงร้องทูลต่อพระเจ้า และพระเจ้าทรงส่งฟ้าร้องและฝนมาในวันนั้น” ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในภูมิภาคนั้นอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนซึ่งไม่ใช่ฤดูฝน วันนั้นอากาศสดใสปราศจากหมู่เมฆ ฉะนั้นเมื่อเกิดพายุโหมกระหน่ำขึ้นในฤดูกาลนี้ก็ทำให้ทุกคนตกใจกลัว ประชาชนจึงถ่อมใจลงและสารภาพความบาปโดยระบุออกมาอย่างจำเพาะเจาะจงว่า “ขอท่านอธิษฐานต่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านเผื่อผู้รับใช้ทั้งหลายของท่าน เพื่อเราทั้งหลายจะไม่ถึงตาย เพราะเราได้เพิ่มความชั่วนี้เข้ากับบาปทั้งสิ้นของเรา คือขอให้มีพระราชาสำหรับเราทั้งหลาย” {PP 615.1}

ซามูเอลไม่ได้ทิ้งประชาชนให้อยู่ในสภาพที่สิ้นหวังเพราะจะเป็นการปิดทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ซาตานจะฉกฉวยโอกาสนี้ชักนำความคิดของพวกเขาให้มองว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่โหดร้ายและไม่ให้อภัย อันเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกทดลองหลายประการ พระเจ้าทรงพระเมตตา ทรงให้อภัย และทรงพร้อมอยู่เสมอที่จะโปรดปรานผู้ที่เชื่อฟังพระองค์ พระองค์จึงตรัสผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “อย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายได้กระทำความชั่วนี้ทั้งสิ้นจริงๆ แล้ว แต่ท่านทั้งหลายอย่าหันไปเสียจากการติดตามพระเจ้า แต่จงปรนนิบัติพระเจ้าด้วยสิ้นสุดใจของท่าน และอย่าหันเหไปติดตามสิ่งอนิจจังซึ่งไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่ช่วยให้พ้น เพราะเป็นสิ่งอนิจจัง เพราะพระเจ้าจะไม่ละทิ้งประชากรของพระองค์” {PP 615.2}

ซามูเอลไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่ประชาชนมองข้ามท่านไป และไม่ได้กล่าวติเตียนที่คนอิสราเอลไม่สำนึกในบุญคุณที่ท่านอุทิศทุ่มเทมาทั้งชีวิต แต่ได้ยืนยันว่าท่านยังเป็นห่วงเป็นใยพวกเขาอยู่เสมอ โดยกล่าวว่า “ขออย่าให้มีวี่แววที่ข้าพเจ้าจะกระทำบาปต่อพระเจ้าด้วยการหยุดอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้าจะแนะนำทางที่ดีและที่ถูกให้ท่าน จงยำเกรงพระเจ้าเท่านั้น ปรนนิบัติพระองค์ด้วยใจซื่อสัตย์สุจริต และด้วยสิ้นสุดใจของท่าน จงพิเคราะห์ถึงมหกิจซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำแก่ท่านแล้วนั้น แต่ถ้าท่านทั้งหลายขืนกระทำความชั่วอยู่ ท่านจะต้องพินาศ ทั้งตัวท่านทั้งหลายเอง และพระราชาของท่านด้วย” {PP 615.3}

Footnotes

  1. ดู ภาคผนวก 8

  2. ดู ภาคผนวก 9