อยู่ด้วยความเชื่อ16. อิสระเหมือนนก

16. อิสระเหมือนนก

พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มพระราชกิจของพระองค์ด้วยการอ่านข้อความต่อไปนี้จากพระธรรมอิสยาห์ขณะอยู่ที่ธรรมศาลาในเมืองนาซาเร็ธว่า “พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้เพื่อนำข่าวดีมายังคนยากจน พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่พวกเชลย ประกาศแก่คนตาบอดว่าจะได้เห็นอีก ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ และประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้วพระองค์ตรัสกับผู้ฟังทั้งหลายว่า “พระคัมภีร์ตอนนี้ที่พวกท่านได้ยินกับหูก็สำเร็จแล้วในวันนี้” (ลูกา 4:18–19, 21) {LBF 47.1}

ข้อความในหนังสืออิสยาห์ที่พระเยซูทรงอ่านนั้นเขียนไว้ว่า “พระวิญญาณแห่งพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้เพื่อนำข่าวดีมายังผู้ที่ทุกข์ใจ พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ และร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย และบอกการเปิดเรือนจำออกให้แก่ผู้ที่ถูกจำจอง” (อิสยาห์ 61:1 TH1971) {LBF 47.2}

ความหมายทั่วไปของคำศัพท์ภาษาฮีบรูที่แปลว่า ‘เปิดเรือนจำออก’ ในข้อนี้ คือ ‘การเปิดออก’ ซึ่งมีการนำคำนี้ไปใช้กับการเบิกตาของคนตาบอดและการเบิกหูของคนหูหนวก ฉะนั้นเมื่อพระเยซูทรงอ่านนั้น แทนที่จะอ่านตามภาษาฮีบรูว่า “เปิดเรือนจำ” พระองค์อ่านทั้งสองความหมายว่า “คนตาบอดจะได้เห็นอีก” และคนที่ถูกบีบบังคับจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ {LBF 47.3}

ประเด็นหลักของข้อนี้คือ พระคริสต์เสด็จมาเพื่อมอบอิสรภาพให้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ซึ่งเป็นอิสรภาพที่ลึกซึ้งกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ หากใครพิจารณาตรึกตรองถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดก็จะพบว่าคุ้มค่ากับเวลามาก {LBF 47.4}

อิสยาห์ 61:1 กล่าวว่าพระคริสต์ทรงได้รับการเจิมเพื่อ “ประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย” คำว่าอิสรภาพในที่นี้มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่หมายถึง “นกนางแอ่น” ถ้าแปรรูปเป็นคำกริยาก็หมายถึง ‘การบินฉวัดเฉวียนเหมือนนกในอากาศ’ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำนี้หมายถึง “เสรีภาพ” และ “อิสรภาพ” {LBF 48.1}

สรุปว่า ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดของคำว่าอิสรภาพตามความหมายของพระคัมภีร์ คือนกที่บินฉวัดเฉวียนอยู่ในอากาศ ภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า “อิสระเหมือนนก” ซึ่งสื่อความหมายตรงกับอิสรภาพที่เราได้รับจากพระคริสต์ นี่เป็นเรื่องที่ประเสริฐ และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง {LBF 48.2}

ความบาปเป็นพันธนาการที่ผูกมัดเราอยู่ พระเยซูตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ทุกคนที่ทำบาปก็เป็นทาสของบาป” (ยอห์น 8:34) เราไม่เพียงแต่เป็นทาสแต่ยังถูกจำจองอีกด้วย อัครทูตเปาโลเขียนไว้ว่า “พระคัมภีร์ได้จองจำทุกคนไว้ในบาป เพื่อพระสัญญาที่ตั้งอยู่บนความเชื่อในพระเยซูคริสต์จะถูกมอบให้แก่บรรดาผู้ที่เชื่อ ก่อนที่ความเชื่อมานั้น เราถูกธรรมบัญญัติจองจำไว้ ถูกกักบริเวณไว้จนความเชื่อจะปรากฏ” (กาลาเทีย 3:22–23) คนบาปทุกคนเป็นทาสที่ถูกจำจองด้วยกันและถูกเคี่ยวเข็ญให้ทำงานหนักด้วยกันทั้งสิ้น {LBF 48.3}

บั้นปลายของความบาปคือความตาย (ดู ยากอบ 1:15) ฉะนั้นเราไม่เพียงแต่ถูกจำจองให้ตรากตรำอยู่กับการประพฤติที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ก็ยังต้องกลัวความตายอยู่ตลอดเวลา พระคริสต์ทรงกอบกู้เราจากสิ่งเหล่านี้ (ดู ฮีบรู 2:14–15) “พระองค์ทอดพระเนตรลงมาจากที่สูงอันบริสุทธิ์ของพระองค์ จากฟ้าสวรรค์ พระเจ้าทอดพระเนตรแผ่นดินโลก เพื่อทรงฟังเสียงร้องครางของเชลย เพื่อทรงปล่อยคนที่ต้องถึงตายให้เป็นอิสระ” (สดุดี 102:19–20 TH1971) พระคริสต์ตรัสว่า “ถ้าพระบุตรทรงทำให้พวกท่านเป็นไท ท่านก็เป็นไทจริงๆ” (ยอห์น 8:36) {LBF 48.4}

“ท่านก็เป็นไทจริงๆ” เมื่อคำนึงถึงอิสยาห์ 61:1 แล้วเราจะซาบซึ้งในอิสรภาพอันบริบูรณ์ที่เราได้รับนั้น ให้นึกภาพนกที่ถูกจับขังไว้ในกรง มันเฝ้าคอยที่จะได้รับอิสระ แต่มีกรงเหล็กขวางกั้นอยู่ แต่แล้ววันหนึ่งประตูกรงก็เปิดออก แม้นกตัวนั้นจะเห็นประตูเปิดอยู่ แต่เพราะมันเคยผิดหวังมาครั้งแล้วครั้งเล่าจึงลังเลและคอยอยู่พักใหญ่ จากนั้นจึงค่อยกระโดดไปที่ประตูกรงและพบว่า “เรือนจำ” ของมันถูกเปิดออกแล้วจริงๆ มันสะท้านไปทั้งตัวด้วยความยินดี แล้วก็กางปีกบินออกไปด้วยความปลาบปลื้ม ซึ่งผู้ที่ได้รับอิสรภาพหลังจากถูกคุมขังมานานแล้วเท่านั้นที่จะเข้าใจว่าการ “เป็นไทจริงๆ” คือการได้เป็นอิสระเหมือนนกนั่นเอง {LBF 48.5}

นี่คืออิสรภาพที่พระคริสต์ประทานให้เมื่อปลดปล่อยผู้ถูกจำจองในความบาป ผู้ประพันธ์สดุดีมีประสบการณ์ในเรื่องนี้จึงเขียนว่า “เราหนีรอดไปได้ อย่างนกพ้นจากกับดักของพรานนก กับดักนั้นก็หัก และเราหนีรอดไปได้” (สดุดี 124:7) นี่เป็นประสบการณ์ของทุกคนที่รับเอาพระคริสต์อย่างแท้จริงโดยไม่มีเงื่อนไข {LBF 49.1}

สิ่งที่ทำให้เราเป็นอิสระเช่นนี้ก็คือความจริง หรือที่เรียกว่า ‘สัจจะ’ “พวกท่านจะรู้จักสัจจะ และสัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท” (ยอห์น 8:32) พระคริสต์ทรงเป็นสัจจะ พระวจนะของพระองค์ก็เป็นความจริง “ความชอบธรรมของพระองค์ชอบธรรมอยู่เป็นนิตย์ และธรรมบัญญัติของพระองค์เป็นความจริง” (สดุดี 119:142) “ข้าพระองค์จะเดินอย่างอิสระ เพราะข้าพระองค์ได้แสวงหาข้อบังคับของพระองค์” (สดุดี 119:45) หรือถ้าจะแปลตรงตัวก็คือ ‘ข้าพระองค์จะเดินอยู่ในที่กว้าง เพราะข้าพระองค์ได้แสวงหาข้อบังคับของพระองค์’ ข้อความนี้ตรงกับข้อที่ 96 ที่เขียนว่า “ข้าพระองค์เห็นขีดจำกัดของความสมบูรณ์แบบทั้งสิ้นแล้ว แต่พระบัญญัติของพระองค์ไร้ขีดจำกัด” พระบัญญัติของพระเจ้ากว้างใหญ่พอที่จะให้ทุกคนที่แสวงหาดำเนินตามได้ พระบัญญัตินั้นเป็นความจริง และความจริงนั้นก็ให้อิสระ {LBF 49.2}

“ธรรมบัญญัตินั้นเป็นเรื่องฝ่ายจิตวิญญาณ” (โรม 7:14) พระบัญญัติคือธรรมชาติของพระเจ้า เพราะ “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และพระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ที่ไหน เสรีภาพก็มีอยู่ที่นั่น” (2 โครินธ์ 3:17) เนื่องจากพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพระคริสต์ พระองค์ทรงสามารถประกาศอิสรภาพให้แก่บรรดาเชลยแห่งความบาป ฉะนั้นเปาโลผู้ที่ “ถูกขายเป็นทาสให้อยู่ใต้บาป” (โรม 7:14) จึงเขียนว่า “เหตุฉะนั้นบัดนี้การปรับโทษจึงไม่มีแก่คนทั้งหลายที่อยู่ในพระเยซูคริสต์ ผู้ไม่ดำเนินตามฝ่ายเนื้อหนัง แต่ตามฝ่ายพระวิญญาณ เพราะว่ากฎของพระวิญญาณแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ ได้ทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากกฎแห่งบาปและความตาย” (โรม 8:1–2 TKJV) {LBF 49.3}

พระคริสต์ตรัสว่า “ธรรมบัญญัติของพระองค์อยู่ในจิตใจของข้าพระองค์” (สดุดี 40:8) ส่วนพระธรรมสุภาษิต 4:23 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย เตือนเราว่า “ทุกสิ่งที่เจ้าทำล้วนไหลออกมาจากใจ” ฉะนั้นชีวิตของพระคริสต์จึงเป็นการแสดงออกถึงพระบัญญัติของพระเจ้า เมื่อเราพยายามรักษาพระบัญญัติด้วยกำลังของตัวเอง เราก็กลายเป็นทาสอยู่ดี ไม่ต่างกับคนที่จงใจละเมิดพระบัญญัตินั้น แต่ข้อแตกต่างคือ คนที่จงใจละเมิดก็เป็นทาสโดยใจสมัคร ส่วนคนที่ไม่จงใจละเมิดนั้นก็เป็นทาสที่ไม่เต็มใจ เราจะพบความชอบธรรมอันสมบูรณ์แบบแห่งพระบัญญัติอยู่ในพระคริสต์เท่านั้น ให้เราจับตามองอยู่ที่ชีวิตของพระองค์ เพราะในพระองค์นั้น “ธรรมบัญญัติอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นธรรมบัญญัติแห่งเสรีภาพ” จึงปรากฏ (ยากอบ 1:25; ดู ฮีบรู 12:2) ธรรมบัญญัติที่จองจำเราไว้ให้รอความตายเมื่อเราอยู่นอกพระคริสต์ กลายเป็นธรรมบัญญัติแห่งชีวิตและเสรีภาพเมื่ออยู่ในพระองค์ {LBF 49.4}

เราได้อ่านข้อความข้างต้นแล้วว่า “พระบัญญัติของพระองค์ไร้ขีดจำกัด” เพราะพระบัญญัตินั้นมีความกว้างใหญ่เท่ากับชีวิตอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า ฉะนั้นเมื่อเราแสวงหาพระบัญญัติแล้ว เราจึงได้รับอิสรภาพให้ดำเนินชีวิตตามพระดำริอันกว้างไกลของพระองค์ซึ่งครอบคลุมจักรวาล นี่คือ “เสรีภาพและศักดิ์ศรีแห่งลูกๆ ของพระเจ้า” (โรม 8:21) และ “พระบัญญัติของพระองค์นั้นไม่เป็นภาระหนักเกินไป” (1 ยอห์น 5:3) ตรงกันข้าม เมื่อเรารับพระบัญญัติไว้ในฐานะที่เป็น “สัจธรรมที่อยู่ในพระเยซู” (เอเฟซัส 4:21) พระบัญญัติจึงเป็นชีวิตและเสรีภาพสำหรับเรา พระเจ้าไม่ได้ประทานวิญญาณแห่งการเป็นทาสแก่เรา แต่ทรงเรียกให้เรารับอิสรภาพเดียวกันกับที่พระองค์ทรงมีนั้น เพราะเมื่อเราเชื่อพระวจนะของพระองค์แล้ว เราก็เป็นลูกของพระองค์ “เป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” (โรม 8:17) {LBF 50.1}

มีแต่พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่สามารถให้เราเป็นอิสระเช่นนี้ได้ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะให้ได้ และไม่มีอำนาจฝ่ายโลกที่ไหนจะพรากอิสระนั้นไปจากเราได้ เราได้พบว่าอิสรภาพนี้ไม่อาจรับได้ด้วยการเพียรพยายามรักษาธรรมบัญญัติของพระเจ้า การอุตส่าห์พากเพียรอย่างสุดกำลังก็นำมาได้แค่การเป็นทาส ฉะนั้นเมื่อมีอำนาจรัฐแห่งใดออกกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติในเรื่องศาสนา รัฐทำได้แค่ล่ามโซ่ให้คนเป็นทาส เพราะการออกกฎหมายบังคับในเรื่องศาสนา หมายความว่าเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยกำลังของมนุษย์ เพราะอิสระที่แท้จริงไม่ใช้การพยายามทำดี แต่เป็นการทำดีจริงๆ ต่างหากที่เป็นอิสระ แต่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้นอกจากพระเจ้าทรงกระทำการนั้นผ่านตัวเรา {LBF 50.2}

อิสรภาพที่พระคริสต์ประทานให้แก่เรานั้น คืออิสรภาพแห่งจิตวิญญาณ คือเสรีภาพจากการเป็นทาสของความบาป สิ่งนี้สิ่งเดียวที่เป็นเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง ไม่สามารถพบได้จากที่ไหน นอกจากในคำสอนของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราได้รับเสรีภาพฝ่ายจิตวิญญาณแล้ว เราก็จะเป็นอิสระแม้ว่าจะถูกคุมขังในเรือนจำก็ตาม ทาสที่มีเสรีภาพของพระคริสต์ก็เป็นอิสระมากกว่านายผู้เคี่ยวเข็ญ แม้ว่านายนั้นจะยิ่งใหญ่ระดับผู้นำประเทศก็ตาม มีใครบ้างที่ไม่ต้องการอิสรภาพที่เป็นมากกว่าแต่ในนาม {LBF 50.3}

ถ้าเรายังเป็นทาสของความบาปยังมีคำหนุนใจอีกคำหนึ่งคือ ถ้าจิตใจบอบช้ำและสิ้นหวังเพราะล้มเหลวทุกครั้งที่พยายามหนีให้พ้นการเป็นทาส เราเป็นอิสระได้ ถ้าเพียงแต่รับอิสระนั้นไว้ ให้อ่านพระดำรัสของพระคริสต์อีกครั้งหนึ่ง พระธรรมนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ {LBF 50.4}

“พระวิญญาณแห่งพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้เพื่อนำข่าวดีมายังผู้ที่ทุกข์ใจ พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ และร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย และบอกการเปิดเรือนจำออกให้แก่ผู้ที่ถูกจำจอง เพื่อประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า” (อิสยาห์ 61:1) {LBF 50.5}

ข้อความนี้หมายความว่าอย่างไร พระคริสต์ทรงประกาศอิสรภาพแล้ว ประตูเรือนจำถูกไขออกแล้ว เพียงแต่ให้เราเชื่อเท่านั้น ก้าวออกไปและยังคงเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในวันนี้พระคริสต์ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่เรา พระองค์ทรงหักกับดักเสียแล้ว ทรงถอดโซ่ตรวนของเราออก (ดู สดุดี 116:16) และตรัสแก่เราว่า พระองค์ทรงไขประตูนักโทษแล้ว เพื่อเราจะได้เดินออกไปสู่อิสรภาพ ถ้าเพียงแต่ดำเนินไปด้วยความเชื่อในพระองค์ ความเชื่อนั้นจะไขประตูออกให้เราเมื่อถูกคุมขังด้วยความบาป จงเชื่อในพระวจนะของพระองค์ และประกาศออกมาว่า “ข้าพเจ้าเป็นอิสระโดยพระนามของพระเยซู” แล้วยืนมั่นคงในเสรีภาพที่พระคริสต์ประทานให้นั้นด้วยความเชื่อที่นอบน้อมถ่อมใจ แล้วเราจะรู้ซึ้งถึงพระพรในพระสัญญาดังต่อไปนี้ {LBF 51.1}

“เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระเจ้าจะเสริมเรี่ยวแรงใหม่ เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย เขาจะเดินและไม่อ่อนเปลี้ย” (อิสยาห์ 40:31) {LBF 51.2}