ปัญญาจากคำเทศนาบนภูเขา6. อย่าตัดสินผู้อื่น แต่จงปฏิบัติตามพระธรรม

6. อย่าตัดสินผู้อื่น แต่จงปฏิบัติตามพระธรรม

“อย่าตัดสิน มิฉะนั้นท่านเองจะถูกตัดสินด้วย”—(มัทธิว 7:1 TNCV)

คนที่หวังที่จะได้รับความรอดพ้นด้วยการพากเพียรบำเพ็ญความดี จะกำหนดศีลปฏิบัติและข้อห้ามมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อปกป้องตัวเองจากการทำบาป เพราะเมื่อเขาพบว่าตนได้ละเมิดพระบัญญัติแล้ว เขาก็จะคิดค้นกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อบังคับตนให้ปฏิบัติ หากว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่พาให้เขามองที่ตัวเองแทนที่จะมองพระเจ้า ความรักของพระองค์ในใจของเขาก็จะค่อยๆ มอดลง ทำให้ความรักที่เขามีต่อเพื่อนมนุษย์พลอยดับไปด้วย คนที่เชื่อในระบบที่มนุษย์คิดค้นอันประกอบด้วยข้อกำหนดหยุมหยิมมากมาย จะตัดสินทุกคนที่ทำไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนดขึ้น ความเห็นแก่ตัวและการตำหนิติเตียนสร้างบรรยากาศที่น่าอึดอัดใจ ซึ่งบีบรัดเอาความรู้สึกที่ดีงามและใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ให้เจริญ ทำให้คนถือตัวเป็นใหญ่ กลายเป็นนักตัดสินที่ชอบจับผิดคนอื่น {MB 123.1}

พวกฟาริสีอยู่ในกลุ่มนี้ หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว พวกเขาก็ยังไม่ถ่อมใจลง ไม่สำนึกถึงความอ่อนแอของตน และไม่รู้สึกซาบซึ้งในสิทธิพิเศษที่พระเจ้าประทานให้ แต่หลังจากประกอบศาสนกิจแล้ว พวกฟาริสีมีจิตใจที่เต็มไปด้วยความหยิ่งยโส โดยที่กระแสความคิดอยู่ที่ตนเอง เสมือนเป็นการประกาศว่า ‘ทุกอย่างเพื่อฉัน ความรู้สึกของฉัน ความรู้และวิธีการของฉัน’ จึงตั้งเอาผลสำเร็จของตนมาเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินคนอื่น และตู่เอาว่าตนสำคัญ จึงเบ่งอำนาจ และขึ้นบัลลังก์พิพากษาเพื่อวิจารณ์และกล่าวโทษคนอื่น {MB 123.2}

ประชาชนส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน โดยก้าวก่ายจิตสำนึกผิดชอบของผู้อื่น และตัดสินเขาในเรื่องที่ขึ้นอยู่ระหว่างเขากับพระเจ้า นี่แหละที่พระเยซูทรงกล่าวถึงเมื่อพระองค์ตรัสว่า “อย่าตัดสิน มิฉะนั้นท่านเองจะถูกตัดสินด้วย” คือ อย่าได้ตั้งตัวเองเป็นมาตรฐานตัดสินผู้อื่น อย่าได้เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ หรือความเข้าใจส่วนตัวเกี่ยวกับภาระหน้าที่หรือการตีความหมายของพระคัมภีร์เอาเองเป็นบรรทัดฐาน แล้วคอยตำหนิคนอื่นในใจเมื่อเขาทำไม่ถึงเกณฑ์ อย่าได้วิจารณ์ใคร โดยคาดเดาถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังการกระทำของพวกเขา อย่าได้ตัดสินคนอื่นเลย {MB 123.3}

“อย่าตัดสินสิ่งใดก่อนถึงเวลา จงคอยกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมา พระองค์จะทรงเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความมืด และจะทรงเผยความมุ่งหมายของจิตใจทั้งหลาย” (1 โครินธ์ 4:5) เราไม่สามารถอ่านใจคนได้ เราเองก็มีข้อบกพร่อง จึงขาดคุณสมบัติที่จะตัดสินคนอื่น และด้วยข้อจำกัดของการเป็นมนุษย์แล้ว คนเราได้แต่สังเกตและตัดสินคนอื่นจากเรื่องภายนอก มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบถึงแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ พระองค์ผู้ทรงพระเมตตาและสุภาพอ่อนโยน ทรงเป็นผู้พิพากษาตัดสินมนุษย์ทุกคน {MB 124.1}

“ท่านที่ตัดสินคนอื่น ท่านก็ไม่มีข้อแก้ตัวเลย เพราะไม่ว่าท่านตัดสินผู้อื่นด้วยประเด็นใด ท่านก็พิพากษาลงโทษตนเองด้วย เพราะท่านผู้เป็นคนตัดสินก็ยังทำอย่างเดียวกัน” (โรม 2:1 TNCV) เหตุฉะนั้นคนที่วิจารณ์หรือตำหนิติเตียนผู้อื่น ก็ได้ประกาศว่าตนมีความผิด เพราะเขาทำในสิ่งเดียวกัน เมื่อเขากล่าวโทษคนอื่นก็เท่ากับเป็นการกล่าวโทษตัวเองด้วย และพระเจ้าทรงยอมรับว่าคำตัดสินที่เขากล่าวโทษตนเองนั้นถูกต้อง {MB 124.2}

เท้าที่เปื้อนโคลนตมเพราะสะเพร่า

เหตุใดเจ้าจึงเหยียบย่ำเหล่าบุปผา

จิตใจที่อยากชื่นชมสมอุรา

ไฉนมาทำเพื่อนบ้านให้ช้ำใจ {MB 124.3}

“เหตุไฉนท่านมองดูผงที่ในตาพี่น้องของท่าน”—(มัทธิว 7:3 TH1971)

แม้คำพิพากษาที่กล่าวว่า “ท่านผู้เป็นคนตัดสินก็ยังทำอย่างเดียวกัน” ก็ยังไม่พอที่จะบรรยายถึงความบาปของคนที่บังอาจติเตียนและวิจารณ์พี่น้องของตน “เหตุไฉนท่านมองดูผงที่ในตาพี่น้องของท่าน แต่ไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน ท่านก็ไม่รู้สึก” {MB 125.1}

พระเยซูทรงกล่าวถึงคนที่ช่างสังเกตและกระตือรือร้นในการคอยจ้องจับผิดและชี้จุดผิดนั้นทันทีที่จับได้ ว่าเมื่อมีคนฝึกนิสัยที่ตรงกันข้ามกับพระองค์เช่นนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับข้อบกพร่องที่ตนวิจารณ์แล้วก็ย่ำแย่กว่ามาก เหมือนการเอาท่อนไม้มาเปรียบเทียบกับผงธุลี เป็นเพราะเขาไม่มีความรักและความสุภาพอ่อนโยน เขาจึงทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ชีวิตของคนที่ไม่เคยโศกเศร้าเสียใจเพราะความผิดบาปของตนจนยินยอมมอบทุกสิ่งให้พระคริสต์ จะไม่แสดงออกถึงความรักของพระองค์ คนเช่นนี้บิดเบือนข่าวประเสริฐที่อ่อนสุภาพ และทำร้ายมนุษย์ผู้ล้ำค่าที่พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่ไว้ ตามการเปรียบเทียบของพระเยซูแล้ว นิสัยที่ชอบจับผิดและวิจารณ์คนอื่นเป็นบาปที่หนักกว่าบาปที่ตนวิจารณ์ เพราะคนที่เป็นเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำบาปแบบเดียวกัน แต่ก็ยังเพิ่มความบาปด้วยการหลงตัวเองและวิจารณ์คนอื่น {MB 125.2}

พระคริสต์ผู้เดียวทรงเป็นมาตรฐานของอุปนิสัย และผู้ที่ตั้งตัวเองเป็นมาตรฐานให้คนอื่น ได้ตั้งตนแทนที่พระคริสต์ พระคัมภีร์เขียนว่า พระบิดา “ทรงมอบการพิพากษาทั้งสิ้นไว้กับพระบุตร” (ยอห์น 5:22) ดังนั้นใครก็ตามที่บังอาจตัดสินเหตุผลเบื้องหลังการกระทำของคนอื่น ก็ได้แย่งชิงสิทธิอำนาจของพระบุตรพระเจ้าไป คนที่ต้องการจะเป็นตุลาการตัดสินและวิพากวิจารณ์คนอื่นแสดงว่าเขากำลังตั้งตนเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ของพระคริสต์ “ผู้กีดกั้นขัดขวางและยกตัวขึ้นต่อสู้อะไรๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้า หรืออะไรๆ ที่เขาไหว้นมัสการนั้น แล้วมันก็นั่งในพระวิหารของพระเจ้าเหมือนอย่างพระเจ้า ประกาศตัวว่าเป็นพระเจ้า” (2 เธสะโลนิกา 2:4 TKJV) {MB 125.3}

ความบาปที่นำไปสู่ผลที่น่าเศร้าที่สุดคือ ความเย็นชาและการชอบจับผิด ที่ไม่รู้จักให้อภัยของพวกฟาริสี เมื่อประสบการณ์ด้านศาสนาไม่นำมาซึ่งความรัก ก็แสดงว่าพระเยซูไม่ได้อยู่ด้วย ความสว่างของพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น และการที่จะสาละวนกับกิจกรรมทางศาสนาอย่างขยันขันแข็งจะไม่ทำให้เกิดความรักถ้าพระเยซูไม่ได้สถิตอยู่ด้วย อาจมีคนที่ตาแหลมคม เห็นปมด้อยของคนอื่นได้ง่าย แต่สำหรับทุกคนที่ขุดคุ้ยข้อบกพร่องของผู้อื่นพระเยซูตรัสว่า “คนหน้าซื่อใจคด จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้” (มัทธิว 7:5) คนที่ทำผิดเป็นคนแรกที่สงสัยว่าคนอื่นทำผิดด้วย เขาประณามคนอื่นเพื่อกลบเกลื่อนหรือแก้ตัวเรื่องความชั่วที่อยู่ในใจตัวเอง ความบาปทำให้มนุษย์รู้จักมักคุ้นกับความชั่ว พออาดัมกับเอวาทำบาปเขาทั้งสองก็เริ่มกล่าวหาซึ่งกันและกัน ถ้าหากไม่มีพระคุณของพระคริสต์ควบคุมไว้แล้ว คนเราจะกล่าวหาคนอื่นในลักษณะนี้โดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ {MB 126.1}

คนที่ปล่อยตัวตามใจให้มีนิสัยชอบกล่าวหาคนอื่นจะไม่หยุดไว้แค่เพียงการชี้บอกให้พี่น้องรู้ถึงสิ่งที่เขาถือว่าเป็นข้อบกพร่อง แต่ถ้าการใช้ไม้อ่อนไม่เป็นผลในการให้พี่น้องทำในสิ่งที่ตนคิดว่าควร ก็จะพยายามเท่าที่มีอำนาจจะทำได้เพื่อบังคับคนอื่นให้เป็นไปตามความเห็นของตนในเรื่องความถูกต้อง ชาวยิวในสมัยพระเยซูได้ทำแบบนั้น และคริสตจักรในทุกยุคสมัยเมื่อสูญเสียพระคุณของพระคริสต์ก็ได้ทำอย่างนั้นเช่นกัน เมื่อพบว่าฤทธิ์อำนาจแห่งความรักไม่ได้อยู่กับตนแล้ว คนในคริสตจักรจึงหันมาพึ่งพาอำนาจรัฐเพื่อบังคับให้คนทั้งหลายปฏิบัติตามหลักข้อเชื่อและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของคริสตจักร นี่คือเหตุที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายทุกอย่างที่กำหนดการปฏิบัติทางศาสนา และเป็นเหตุผลของการกดขี่ข่มเหงทั้งหลายตั้งแต่สมัยอาเบลจนถึงสมัยของเรา {MB 126.2}

พระคริสต์ไม่ทรงทำการกวาดต้อนมนุษย์ให้มาหาพระองค์เลย แต่ทรงชักนำให้เขามาหาพระองค์ และฤทธิ์อำนาจที่พระองค์ทรงใช้คือพลังแห่งความรัก เมื่อคริสตจักรใดหันไปพึ่งพาอำนาจรัฐก็แสดงว่า คริสตจักรนั้นขาดฤทธิ์อำนาจของพระคริสต์ คือพลังแห่งความรักนั่นเอง {MB 127.1}

แต่ปัญหาอยู่ที่สมาชิกคริสตจักร จึงต้องแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลไป พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้ผู้กล่าวหาเอาท่อนไม้ออกจากตาก่อน คือให้เลิกนิสัยที่ชอบวิจารณ์คนอื่น สารภาพและละทิ้งความบาปของตนก่อนที่จะพยายามแก้ไขคนอื่น เพราะ “ต้นไม้ดีย่อมไม่เกิดผลเลว หรือต้นไม้เลวย่อมไม่เกิดผลดี” (ลูกา 6:43) นิสัยที่ชอบกล่าวหาคนอื่นเป็นผลเลว แสดงว่าต้นไม้ไม่ดี การที่จะยกย่องตัวเองว่าชอบธรรมนั้นก็ไร้ประโยชน์ สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนแปลงที่ใจ เพราะจำเป็นต้องมีจิตใจที่เปลี่ยนใหม่เสียก่อน จึงพร้อมที่จะแก้ไขคนอื่นได้ “ด้วยว่าปากนั้นพูดสิ่งที่มาจากใจ” (มัทธิว 12:34) {MB 127.2}

เมื่อมีวิกฤตประดังเข้ามาในชีวิตใคร และเราพยายามแนะแนวหรือตักเตือนเขา ถ้อยคำของเราจะมีน้ำหนักมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับแบบอย่างและนิสัยของเราก่อนหน้านั้น เราต้องเป็นคนดี ก่อนที่จะทำความดีได้ เราจะไม่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ จนกว่าพระคุณของพระคริสต์เข้ามาชำระจิตใจของเราเองให้บริสุทธิ์ ทำให้เราถ่อมลงและมีนิสัยที่อ่อนสุภาพ เมื่อจิตใจเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นพระพรให้คนอื่น อย่างต้นกุหลาบผลิดอกที่หอมหวน และเครือเถาที่ออกพวงองุ่น {MB 127.3}

ถ้า “พระคริสต์สถิตในพวกท่าน อันเป็นความหวังที่จะได้รับศักดิ์ศรี” (โคโลสี 1:27) เราจะไม่มีนิสัยคอยจับผิดคนอื่นเพื่อเปิดเผยความผิดนั้นให้กระจ่าง และแทนที่เราจะหาช่องทางกล่าวหาและกล่าวโทษคนอื่น เราจะมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือ ให้พร และนำคนให้พ้นภัย เมื่อปฏิบัติต่อคนที่มีความผิด เราจะทำตามคำสั่งที่ว่า “จงระวังตัวท่านเอง มิฉะนั้นท่านเองจะถูกล่อลวงให้ทำบาปไปด้วย” (กาลาเทีย 6:1 TNCV) เราจะระลึกถึงความผิดพลาดของเราเองว่า เมื่อเราได้หลงผิดแล้ว เป็นการยากเพียงไรที่จะกลับมาอยู่ในความถูกต้อง เราจะไม่ผลักดันพี่น้องออกไปให้ยิ่งจมอยู่ในความมืดมากกว่าเดิม แต่เราจะเตือนเขาถึงอันตรายด้วยความเห็นอกเห็นใจ {MB 128.1}

คนที่มักพินิจพิจารณาการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแห่งคาลวารี1 โดยใจสำนึกว่าเป็นเพราะความบาปของเขาเองที่พระเยซูต้องทนทุกข์นั้น จะไม่วัดระดับความผิดของตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น คนที่ดำเนินชีวิตในเงาแห่งไม้กางเขนของพระคริสต์จะต้องไม่มีนิสัยชอบวิจารณ์คนอื่นหรือยกตนข่มท่าน {MB 128.2}

เมื่อถึงจุดที่ท่านรู้สึกว่าจะยอมเสียเกียรติและแม้กระทั่งสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่หลงผิดถ้าจำเป็น ก็แสดงว่าท่านได้เอาท่อนไม้ออกจากตาแล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้อง เมื่อนั้นท่านจะเข้าถึงใจพี่น้องได้ ไม่เคยมีใครที่หลงผิดแล้วกลับมาดีได้เพราะการถูกวิจารณ์หรือตำหนิ แต่มีหลายคนที่ถูกขับไล่ให้ห่างออกจากพระคริสต์จนปิดใจไม่ยอมกลับใจใหม่เพราะถูกวิพากวิจารณ์ คนที่สุภาพอ่อนโยนและมีความร่าเริงยินดีอาจช่วยคนที่หลงผิดให้พ้นภัย และลบล้างความผิดมากมาย เมื่อพระลักษณะนิสัยของพระคริสต์ปรากฏในชีวิตของเรา จะมีพลังเปลี่ยนแปลงทุกคนที่เราคบค้าสมาคมด้วย ขอเพียงแต่เรายอมให้พระองค์ประจักษ์ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน แล้วพระองค์จะทรงเปิดเผยฤทธิ์อำนาจของพระวจนะผ่านตัวเรา คือพลังอ่อนโยนที่ทรงอานุภาพจะสร้างผู้อื่นขึ้นใหม่ตามพระฉายาอันงดงามขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา {MB 128.3}

“อย่าให้ของบริสุทธิ์แก่สุนัข”—(มัทธิว 7:6)

ในข้อนี้พระเยซูทรงกล่าวถึงกลุ่มคนที่ไม่มีความปรารถนาที่จะหนีให้พ้นจากการเป็นทาสของความผิดบาป พวกเขาปล่อยตัวให้หมกมุ่นอยู่กับความเลวทราม มีจิตใจเสื่อมถอย และยึดติดกับความชั่วจนไม่ยอมทิ้งมันไป มีบางคนเยาะเย้ยข่าวประเสริฐ และมีคนที่ทำให้ข่าวประเสริฐเป็นเรื่องที่ต้องโต้เถียงกัน แต่ผู้รับใช้ของพระคริสต์จะไม่ยอมให้คนเช่นนี้ขัดขวางเขาได้ {MB 129.1}

ถึงอย่างไรก็ตามพระเยซูไม่เคยมองข้ามใครแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าคนนั้นจะต่ำช้าบาปหนาเท่าใดก็ตาม ขอเพียงแต่ให้เขายอมรับเอาความจริงอันประเสริฐจากสวรรค์ พระดำรัสของพระเยซูเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่สำหรับพวกคนเก็บภาษีและหญิงแพศยา พระเยซูเคยขับผีออกจากมารีย์ชาวมักดาลาถึงเจ็ดผี นางเป็นคนสุดท้ายที่เฝ้าอยู่ที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซูในวันศุกร์และเป็นคนแรกที่พระองค์ทรงทักทายในเช้าของวันที่พระองค์ทรงฟื้นพระชนม์ ส่วนเซาโลจากเมืองทาร์ซัสเป็นศัตรูผู้ต่อสู้ข่าวประเสริฐด้วยความมุ่งมั่นมากที่สุดคนหนึ่ง แต่เขาได้กลายมาเป็นเปาโลผู้อุทิศชีวิตรับใช้พระคริสต์ ภายนอกอาจมีความจงเกลียดจงชัง หรือแม้แต่อาชญากรรมและความเสื่อมเสีย แต่ภายในนั้นอาจเป็นคนที่พระคุณของพระคริสต์จะช่วยให้รอดเพื่อเขาจะเป็นอย่างเพชรพลอยอันสุกใสบนมงกุฎของพระผู้ไถ่ก็เป็นได้ {MB 129.2}

“จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน”—(มัทธิว 7:7 TH1971)

เพื่อไม่ให้คนสงสัยและเข้าใจความหมายผิดไป พระเยซูจึงย้ำพระสัญญาสามเกลียวนี้อีกครั้ง เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้คนที่แสวงหาพระเจ้าเชื่อในพระองค์ผู้ทรงสามารถกระทำได้ทุกสิ่ง พระองค์จึงตรัสต่อไปอีกว่า “ทุกคนที่ขอก็ได้ ทุกคนที่แสวงหาก็พบ ทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา” (มัทธิว 7:8 TH1971) {MB 130.1}

พระองค์ไม่ได้ระบุเงื่อนไข เพียงแต่ขอให้เราหิวกระหายพระเมตตาจากพระองค์ ปรารถนาการปรึกษาและความรักของพระองค์ “จงขอ” เพราะการขอนั้นแสดงว่าเราตระหนักว่าตัวเองขาดแคลน และถ้าเราขอด้วยความเชื่อก็จะได้รับ พระองค์ทรงให้คำมั่นสัญญา ซึ่งจะไม่มีวันล่มสลาย ถ้าเราถ่อมตัวลงด้วยความโศกเศร้าเสียใจเพราะบาปอย่างแท้จริง จะไม่ต้องรู้สึกว่าการขอในสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้นั้นเป็นการถือวิสาสะ เมื่อขอพระพรที่จำเป็นเพื่อพัฒนาอุปนิสัยของเราให้เป็นไปตามพระลักษณะของพระคริสต์ พระองค์ทรงรับรองว่า นั่นเป็นการขอตามพระสัญญาและจะได้รับในสิ่งที่ทูลขออย่างแน่นอน การที่รู้สำนึกว่าเราเป็นคนบาป เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทูลขอพระเมตตากรุณาจากพระองค์ ความบริสุทธิ์ไม่ใช่เงื่อนไขในการเข้าเฝ้าพระเจ้า หากแต่เป็นความปรารถนาที่จะให้พระองค์ทรงชำระเราจากความผิดบาปทั้งสิ้นต่างหาก ความอ่อนแอที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นเหตุผลในขณะนี้และตลอดไปว่าเราต้องการพระองค์และฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่จะช่วยเราให้รอด {MB 130.2}

“จงแสวงหา” คืออย่าเพียงแต่ปรารถนาพระพรของพระองค์ แต่ให้ปรารถนาพระองค์ “จงปรองดองกับพระเจ้า และอยู่อย่างสันติ” (โยบ 22:21 TKJV) จงแสวงหา แล้วท่านจะได้พบ พระเจ้าทรงแสวงหาท่าน แม้แต่ความรู้สึกของท่านที่อยากมาหาพระองค์ก็มาจากการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จงตอบสนองต่อการชักนำนั้น พระคริสต์ทรงแก้ต่างให้แก่ผู้ที่ถูกทดลอง ผู้ที่หลงผิด และผู้ที่ขาดความเชื่อ เพื่อค้ำชูพวกเขาขึ้นมาเป็นมิตรกับพระองค์ “ถ้าเจ้าแสวงหาพระองค์ เจ้าจะพบพระองค์” (1 พงศาวดาร 28:9) {MB 131.1}

“จงเคาะ” เราได้รับการเชื้อเชิญพิเศษ จึงมาหาพระเจ้า พระองค์ทรงเฝ้ารอเพื่อต้อนรับเราเข้าในท้องพระโรงของพระองค์ สาวกกลุ่มแรกที่ติดตามพระเยซูรู้สึกว่าที่จะเร่งรีบสนทนากับพระองค์อยู่ข้างถนนนั้นไม่พอ จึงถามว่า “รับบี…ท่านพักอยู่ที่ไหน…เขาก็ไปและเห็นที่ซึ่งพระองค์ประทับ และวันนั้นก็พักอยู่กับพระองค์” (ยอห์น 1:38–39) เช่นเดียวกัน พระเจ้าจะทรงต้อนรับเราให้ใกล้ชิดและร่วมสามัคคีธรรมกับพระองค์ “ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่กำบังขององค์ผู้สูงสุด จะอยู่ในร่มเงาของผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์” (สดุดี 91:1) ให้คนทั้งหลายที่ปรารถนาที่จะได้รับพระพรของพระเจ้า จงเคาะและรอคอยอยู่ที่ประตูแห่งพระกรุณาด้วยความเชื่อมั่น พร้อมกับทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ได้ตรัสว่า ‘ทุกคนที่ขอก็ได้ และทุกคนที่แสวงหาก็พบ ทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา’” {MB 131.2}

พระเยซูทอดพระเนตรคนทั้งหลายที่ชุมนุมกันเพื่อฟังพระองค์ ด้วยความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝูงชนใหญ่นั้นซาบซึ้งถึงพระเมตตากรุณาของพระเจ้า พระองค์จึงยกตัวอย่างเด็กน้อยผู้หิวโหยที่ขออาหารจากพ่อแม่เพื่อแสดงถึงความต้องการของพวกเขา และความพร้อมของพระเจ้าที่จะประทานให้ โดยตรัสว่า “ในพวกท่านมีใครบ้างที่จะเอาก้อนหินให้ลูกเมื่อเขาขอขนมปัง” พระองค์ทรงชี้ไปยังความรักความเอ็นดูที่ผู้เป็นพ่อแม่มีต่อลูกโดยธรรมชาติ จึงสรุปว่า “ถ้าพวกท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่ลูกของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะประทานสิ่งดีแก่พวกที่ขอต่อพระองค์” หัวใจของผู้เป็นพ่อจะไม่หมางเมินหนีลูกชายผู้หิวโหยที่มาขออาหารกิน คงไม่มีใครคิดว่าผู้เป็นพ่อจะพูดเล่นให้ลูกผิดหวัง คงไม่สัญญาว่าจะให้อาหารดี แล้วสุดท้ายหยิบยื่นก้อนหินให้ลูก เช่นเดียวกัน เราไม่ควรหมิ่นประมาทพระเจ้าด้วยการสรุปว่าพระองค์จะไม่ทรงตอบสนองต่อการวิงวอนจากลูกของพระองค์ {MB 131.3}

ถ้าท่านทั้งหลายผู้เป็นมนุษย์และมีความบาปชั่ว “ยังรู้จักให้สิ่งดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่พวกที่ขอต่อพระองค์” (ลูกา 11:13) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นตัวแทนของพระเยซูและทรงเป็นของประทานที่ล้ำค่าที่สุด พระองค์ทรงมีของดีทุกอย่างอยู่ในพระองค์ พระผู้ทรงสร้างเองไม่สามารถที่จะประทานอะไรที่ดีหรือยิ่งใหญ่กว่านี้ พระองค์จะไม่มีวันปฏิเสธคำอธิษฐานที่เราทูลขอให้พระองค์ทรงเมตตาขณะที่กำลังทนทุกข์และขอให้พระองค์ทรงนำเราด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ มีความเป็นไปได้อยู่ที่มนุษย์ผู้เป็นพ่อแม่จะเมินหน้าหนีลูกขณะที่ลูกกำลังหิว แต่พระเจ้าจะไม่ทรงปฏิเสธคำร้องขอของผู้ทุกข์ยากที่โหยหาพระองค์ ความรักที่อ่อนโยนของพระองค์ประเสริฐนัก ผู้ที่ตรากตรำไปวันๆ อยู่ในความมืดคิดว่าพระเจ้าคงไม่สนใจไยดี นี่คือคำตอบที่ส่งตรงมาจากพระทัยของพระบิดา “แต่ศิโยนกล่าวว่า ‘พระเจ้าได้ทรงละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทรงลืมข้าพเจ้าเสียแล้ว’ ผู้หญิงจะลืมบุตรที่ยังกินนมของนาง และจะไม่เมตตาบุตรจากครรภ์ของนางได้หรือ แม้ว่าคนเหล่านี้ยังลืมได้ กระนั้นเราก็จะไม่ลืมเจ้า ดูเถิด เราได้สลักเจ้าไว้บนฝ่ามือของเรา” (อิสยาห์ 49:14–16 TH1971) {MB 132.1}

พระสัญญาทุกข้อในพระคัมภีร์ มีประเด็นให้อธิษฐาน และเราจะมีความมั่นใจในการอธิษฐานเมื่อเราทูลขอตามพระสัญญาของพระเยโฮวาห์ เรามีสิทธิพิเศษที่จะทูลขอพระพรทั้งหลายฝ่ายจิตวิญญาณโดยผ่านพระเยซู เราสามารถอธิษฐานต่อพระองค์เหมือนเด็กที่ขอด้วยความจริงใจ และระบุอย่างเจาะจงในสิ่งที่เราต้องการในชีวิตประจำวัน คือเสื้อผ้าและอาหาร พร้อมสิ่งที่ต้องการฝ่ายจิตวิญญาณ คือเสื้อคลุมแห่งความชอบธรรมของพระคริสต์และอาหารแห่งชีวิต พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบว่าเราต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ จึงให้เราทูลขอจากพระองค์ และเราจะได้รับความช่วยเหลือทุกอย่างโดยผ่านพระนามของพระเยซู แล้วเพื่อเห็นแก่พระนามนั้น พระเจ้าผู้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะประทานทุกสิ่งตามความจำเป็นของเรา {MB 133.1}

แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ก็แสดงว่าเรายอมรับว่าตนเองมีฐานะเป็นบุตรของพระองค์ที่จะไม่เพียงแต่ไว้วางใจในพระองค์ผู้แสนดี แต่จะยอมจำนนต่อน้ำพระทัยของพระองค์อีกด้วย เพราะตระหนักว่า ความรักมั่นคงของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะอุทิศตัวเพื่องานของพระองค์ พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน จึงทรงสัญญาว่า “จงขอเถิดแล้วจะได้” (ยอห์น 16:24) {MB 133.2}

พระเจ้าผู้ทรงมีฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์และแผ่นดินโลกทรงมีของประทานมากมายเก็บไว้เพื่อบุตรของพระองค์ เป็นของประทานที่ล้ำค่า เพราะได้มาโดยผ่านการทรงเสียสละของพระผู้ไถ่ผู้ทรงหลั่งพระโลหิตเพื่อเรา และทุกคนที่มาหาพระเจ้าอย่างเด็กๆ จะได้รับของประทานเพื่อตอบสนองความหิวกระหายในจิตใจ เป็นของประทานที่จะคงอยู่ตลอดชั่วนิรันดร์ จงรับพระสัญญาของพระเจ้ามาเป็นของท่านเอง ทูลขอตามพระสัญญาด้วยถ้อยคำของตัวเอง และท่านจะได้รับความสุขอย่างเต็มเปี่ยม {MB 133.3}

“จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน”—(มัทธิว 7:12 TH1971)

เมื่อรู้แน่แล้วว่าพระเจ้าทรงรักเราทั้งหลาย พระเยซูทรงกำชับให้เรารักซึ่งกันและกัน ด้วยว่าการรักซึ่งกันและกันนี้เองที่เป็นหลักการครอบคลุมการติดต่อสัมพันธ์ทุกรูปแบบของมนุษย์ {MB 134.1}

ชาวยิวจมอยู่กับเรื่องการกระหายอำนาจ และการเป็นที่ยอมรับนับถือและคอยการปรนนิบัติรับใช้ให้สมเกียรติ แต่พระเยซูทรงสอนว่า อย่าสนใจว่าเราจะได้รับเท่าใด แต่ตรงกันข้าม ให้สนใจว่าเราจะให้ได้เท่าไหร่ ความรู้สึกของเราที่อยากให้คนอื่นช่วยเหลือเรา เป็นมาตรฐานที่เราควรใช้ในการช่วยเหลือคนอื่น {MB 134.2}

เมื่อเราอยู่กับคนอื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้คิดถึงความรู้สึก ความลำบากยากเย็นและการผิดหวังทั้งความทุกข์ความสุขของพวกเขา ถ้าสมมุติว่าต้องสลับที่กัน ท่านอยากให้เขาปฏิบัติอย่างไรต่อท่าน ท่านจงทำอย่างนั้นกับเขา นี่คือสัจธรรม และเป็นไปตามหลักธรรมที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:39) คำสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะสรุปรวมอยู่ในข้อนี้ และเป็นหลักการของสวรรค์ หลักการนี้จะพบในชีวิตของทุกคนที่ได้รับการเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับชาวสวรรค์ผู้บริสุทธิ์ {MB 134.3}

กฎทองคือหลักการของมารยาทแท้ ซึ่งแสดงออกให้เห็นชัดที่สุดในชีวิตและพระลักษณะนิสัยของพระเยซู ลำแสงที่ฉายออกในชีวิตประจำวันของพระผู้ช่วยให้รอดช่างงดงามยิ่งนัก มีบรรยากาศที่หวานชื่นล้อมรอบพระองค์ บรรดาบุตรทั้งหลายของพระองค์จะมีลักษณะแบบเดียวกัน คือคนทั้งหลายที่มีพระคริสต์สถิตในใจ เขาจะมีบรรยากาศรอบตัวเหมือนพระองค์ เสื้อคลุมสีขาวบริสุทธิ์มีกลิ่นหอมจากอุทยานของพระเจ้า และใบหน้าพวกเขาเบิกบาน สะท้อนรัศมีจากพระพักตร์ของพระองค์ ซึ่งส่องแสงให้แก่ผู้ที่เดินโซเซด้วยความเหน็ดเหนื่อย {MB 135.1}

ทุกคนที่เข้าใจมาตรฐานแท้ของอุปนิสัยที่สมบูรณ์แบบ จะแสดงออกตามแนวทางพระเมตตากรุณาของพระคริสต์ในชีวิตอย่างแน่นอน อิทธิพลของพระคุณพระองค์จะหล่อหลอมให้จิตใจสุภาพอ่อนโยน และมีความรู้สึกนึกคิดที่บริสุทธิ์ ละเอียดอ่อนแบบสวรรค์ และจะรู้จักกาลเทศะ {MB 135.2}

แต่กฎทองมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น พระเจ้าทรงเรียกทุกคนที่ได้รับมอบฉันทะภาระเรื่องพระคุณนานาประการของพระเจ้า (1 เปโตร 4:10) ให้ช่วยเหลือคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และดำเนินชีวิตในความมืด ประหนึ่งว่าถ้าสลับตำแหน่งกันแล้วก็อยากให้เขาปฏิบัติกับตนอย่างไรอย่างนั้น อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นหนี้ทั้งพวกกรีกและชาติอื่นๆ ด้วย เป็นหนี้ทั้งพวกนักปราชญ์และคนที่ไม่มีการศึกษาด้วย” (โรม 1:14) เรารับรู้ถึงความรักของพระเจ้า และได้รับของประทานแห่งพระคุณมากกว่าคนที่ดำรงชีวิตอันน่าสังเวชท่ามกลางความมืดแห่งโลกนี้เพียงไร เรามีภาระหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันของประทานเหล่านั้นแก่เขาเพียงนั้น {MB 135.3}

ของประทานและพระพรอื่นในชีวิตก็เช่นกัน เราได้รับสิ่งใดมากกว่าเพื่อนมนุษย์เท่าไร เราก็เป็นหนี้เขาเท่านั้น เรามีทรัพย์สินหรือความสะดวกสบายในชีวิตหรือ ถ้าอย่างนั้นเราก็มีหน้าที่อันสำคัญที่จะดูแลเด็กกำพร้าและหญิงม่ายกับคนที่ทนทุกข์ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เหมือนดังที่เราคงอยากให้เขาดูแลเราถ้าหากต้องสลับตำแหน่งกัน {MB 136.1}

กฎทองสอนในเรื่องเดียวกันนี้ที่พระเยซูทรงสอนในตอนอื่นของคำเทศนาบนภูเขาว่า “ท่านจะตวงให้ผู้อื่นด้วยทะนานอันใด พระเจ้าจะทรงตวงให้พวกท่านด้วยทะนานอันนั้น” สิ่งที่เราทำให้คนอื่นไม่ว่าดีหรือร้าย จะส่งผลย้อนกลับมาหาเราอย่างแน่นอน เป็นพรหรือเป็นภัย เราให้สิ่งใด เราก็จะรับสิ่งนั้นกลับคืนมา บ่อยครั้งเราช่วยคนอื่นในด้านการเงินหรือวัตถุสิ่งของ และก็ได้สิ่งนั้นกลับคืนมา บางครั้งเมื่อเราเกิดขัดสนขึ้นมาก็มีเงินทองไหลมาเป็นสี่เท่ากับที่เราเคยช่วยเหลือคนอื่น แต่นอกจากนี้การช่วยเหลือทุกอย่างที่เราให้เพื่อนมนุษย์ได้รับการตอบสนองในชีวิตนี้ด้วยการได้รับความรักจากพระเจ้าที่หลั่งไหลเข้ามาในชีวิตมากขึ้น ซึ่งความรักนั้นเป็นองค์รวมของสง่าราศีและสมบัติแห่งสวรรค์ ในทำนองเดียวกันเมื่อเราทำร้ายผู้อื่นผลร้ายก็จะย้อนกลับมาหาเรา ทุกคนที่วิพากษ์วิจารณ์และบั่นทอนกำลังใจของผู้อื่นเป็นว่าเล่น จะต้องได้ผ่านประสบการณ์เดียวกันที่เขาเป็นเหตุให้เพื่อนต้องทน คือจะได้สัมผัสถึงความรู้สึกของผู้ที่ขาดคนเห็นใจ ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนโยน {MB 136.2}

พระบัญชาในเรื่องนี้มาถึงเราด้วยความรัก เพื่อให้เรามีความรังเกียจต่อความแข็งกระด้างที่อยู่ในใจ และเพื่อให้เปิดใจออกต้อนรับพระเยซูเข้ามาประทับในใจเรา ดังนี้เองพระองค์จะทรงนำสิ่งดีออกมาจากสิ่งร้าย และสิ่งที่เราถือว่าเป็นการถูกสาปแช่งนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราได้รับพระพร {MB 136.3}

มาตรฐานที่บ่งชี้ไว้ในกฎทองนั้น เป็นมาตรฐานแท้ของคริสตศาสนา ทุกอย่างที่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้นเป็นของปลอม พระเยซูคริสต์ทรงตีค่ามนุษย์ไว้สูงจนกระทั่งได้ทรงสละพระชนม์เพื่อมนุษยชาติ ศาสนาใดที่ตีค่ามนุษย์ไว้ต่ำหรือนำพาผู้ที่ศรัทธาให้มองข้ามความทุกข์ยากหรือสิทธิของมนุษย์ด้วยกัน ศาสนานั้นเป็นศาสนาปลอม เมื่อเราไม่แยแสต่อสภาพของคนยากไร้ คนที่ทนทุกข์และคนบาป ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ตัวว่าเป็นผู้ทรยศต่อพระคริสต์ สาเหตุที่ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลน้อย เป็นเพราะว่ามีคนรับพระนามของพระคริสต์ไว้แต่ปาก ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธพระลักษณะนิสัยของพระองค์ในชีวิต เพราะเหตุนี้เองชาวโลกจึงหมิ่นประมาทพระนามของพระองค์ {MB 136.4}

พระธรรมกิจการได้บรรยายถึงคริสตจักรในสมัยของอัครสาวก ที่มีแสงเจิดจ้าแห่งพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นจากความตายส่องมายังพวกเขาว่า “ไม่มีใครอ้างว่าทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นของตนเอง” “ในหมู่พวกเขาไม่มีใครขัดสน” “โดยฤทธิ์อำนาจอันยิ่งใหญ่ เหล่าอัครทูตเป็นพยานอย่างต่อเนื่องถึงการคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูเจ้าและพระคุณมากล้นมีแก่พวกเขาทุกคน” “ทุกๆ วันพวกเขามาประชุมกันที่ลานพระวิหาร หักขนมปังตามบ้านของตน และรับประทานร่วมกันด้วยความยินดีและจริงใจ พวกเขาพากันสรรเสริญพระเจ้าและเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งปวง ในแต่ละวันองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะได้รับความรอดมาเข้ากับพวกเขา” (กิจการ 4:32, 34, 33; 2:46–47 TNCV) {MB 137.1}

สัจธรรมที่มีพลังมากที่สุดทั่วใต้หล้าคือสัจธรรมที่สอนควบคู่ไปกับการแสดงความเมตตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ต้องการความเห็นใจและการช่วยเหลือ นี่คือความจริงที่อยู่ในพระเยซูคริสต์ เมื่อผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคริสเตียนได้ปฏิบัติตามกฎทองที่กล่าวว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” แล้วการประกาศข่าวประเสริฐจะมีพลังดังเช่นสมัยของอัครทูต {MB 137.2}

“ประตูเล็กและทางแคบนำไปสู่ชีวิต”—(มัทธิว 7:14 TNCV)

ในสมัยพระเยซู ชาวปาเลสไตน์อาศัยตามเนินเขาในเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ เส้นทางขรุขระสูงชันเลื้อยขึ้นไปหาเมืองเหล่านั้น ยามโพล้เพล้ประตูเมืองทั้งหลายก็ปิดลง บ่อยครั้งที่ผู้คนเดินทางตอนเย็นต้องเร่งฝีเท้า เพื่อให้ถึงประตูเมืองก่อนค่ำ ถ้ามัวแต่ชักช้าจะเข้าเมืองไม่ได้ {MB 138.1}

พระเยซูทรงยกตัวอย่างหนทางอันสูงชันที่นำกลับบ้านเพื่อแสดงถึงเส้นทางชีวิตของคริสตชน โดยตรัสว่าเส้นทางที่ทรงวางให้ท่านนั้นคับแคบ ประตูเมืองก็เข้ายาก เพราะว่ากฎทองนั้นกีดกันทุกคนที่เย่อหยิ่งและเห็นแก่ตัวไม่ให้เข้าไป มีหนทางที่กว้างกว่านั้นก็จริง แต่มันสิ้นสุดที่ความพินาศ ถ้าหากจะไปสู่ชีวิตด้านจิตวิญญาณก็ต้องปีนป่ายขึ้นไปเพราะเส้นทางนั้นพาให้สูงขึ้น เราจะต้องเลือกเดินทางกับคนส่วนน้อย เพราะมหาชนส่วนใหญ่เลือกเส้นทางที่ดิ่งลง {MB 138.2}

เส้นทางที่นำไปสู่ความตายนั้น มนุษยชาติทั้งปวงสามารถเดินลงไปได้โดยไม่ต้องละทิ้งฝ่ายโลก ความเห็นแก่ตัว ความทุจริต หรือความเสื่อมเสียทางศีลธรรม เส้นทางนั้นกว้างพอสำหรับความคิดเห็น และหลักคำสอนของทุกคน ให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามสบาย แล้วแต่ใครที่รักการกระทำตามอำเภอใจจะเลือก เพราะทางที่นำไปสู่ความพินาศนั้น เป็นทางที่ไม่ต้องเสาะแสวงหา เพราะมันกว้าง ประตูก็ใหญ่ ย่างเท้าของมนุษย์ก็เดินไปตามทางซึ่งนำไปสู่ความตายตามธรรมชาติอยู่แล้ว {MB 138.3}

ส่วนทางที่นำไปสู่ชีวิตนั้นคับ และประตูเข้าก็แคบ ถ้าเรายึดถือความบาปที่เกาะแน่น ก็จะพบว่าทางนั้นแคบเกินไปสำหรับเราที่จะเข้าไป จะต้องสละทิ้งวิถีชีวิตและเจตจำนงส่วนตัว ทั้งนิสัยเสียและการประพฤติชั่ว เพื่อให้ยังคงอยู่ในเส้นทางของพระองค์ ผู้ที่ปรารถนาที่จะรับใช้พระคริสต์จะต้องไม่ดำเนินไปตามมาตรฐานหรือความคิดเห็นของชาวโลก หนทางแห่งสวรรค์คับเกินไปจนไม่มีเจ้านายหรือเศรษฐีแห่ขบวนในทางนั้น มันแคบเกินที่คนมักใหญ่ใฝ่สูงจะเคลื่อนไหวที่นั่น มันสูงชันและขรุขระเกินที่จะให้บรรดาคนที่รักความสะดวกปีนป่ายขึ้นไป ถ้าจะไปให้ถึงเมืองบรมสุขเกษมของพระเจ้า เราจะต้องบากบั่น สู้ทน เสียสละ ยอมเป็นที่ครหาของคนอื่น มีความทุกข์ยาก และยอมทนต่อการคัดค้านของคนบาปเช่นเดียวกับพระคริสต์ {MB 138.4}

แต่อย่าได้ด่วนสรุปว่าทางขึ้นยากและทางลงจะง่าย เพราะตลอดเส้นทางที่นำไปสู่ความตายนั้นมีป้ายเตือน มีทั้งโทษ ทั้งความเจ็บปวด มีความผิดหวัง และความเศร้า ความรักของพระเจ้ากระทำให้การทำลายตัวเองของคนสะเพร่าและคนดื้อรั้นเป็นเรื่องยาก จริงอยู่ว่าทางของซาตานดูดี แต่นั่นเป็นภาพลวงตา ในทางชั่วนั้นมีการเสียใจอย่างขมขื่น และการระทมทุกข์ เราอาจคิดว่าการที่จะสนองต่อความหยิ่งและความทะเยอทะยานฝ่ายโลกเป็นเรื่องสนุก แต่มันจบลงด้วยความเจ็บปวดและความเศร้าโศก แผนการที่วางไว้เพื่อตัวเองอาจดูเป็นที่น่ายินดี แต่สุดท้ายเราจะพบว่าความสุขนั้นเป็นพิษและชีวิตขมขื่นเพราะความหวังที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ประตูเข้าเส้นทางที่ลาดลงอาจประดับประดาด้วยดอกไม้ แต่มีขวากหนามตลอดทาง แสงแห่งความหวังที่ฉายออกทางประตูก็ค่อยๆ จางหายไป จนดับลงอย่างสิ้นหวัง และผู้ที่เดินต่อก็ลงไปสู่เงามืดของกลางคืนที่ไม่รู้จบ {MB 139.1}

“หนทางของคนทรยศนั้นไม่ราบเรียบ” แต่ “หนทางของปัญญาคือทางอันรื่นรมย์ วิถีทั้งสิ้นของปัญญาคือสันติสุข” (สุภาษิต 13:15; 3:17 TNCV) ทุกครั้งที่เชื่อฟังพระคริสต์ ทุกครั้งที่ปฏิเสธตัวเองเพื่อพระองค์ ทุกครั้งที่มีความอดทน และทุกครั้งที่ชนะการทดลอง ล้วนแล้วแต่เป็นก้าวหนึ่งที่นำไปสู่ศักดิ์ศรีแห่งชัยชนะอันสมบูรณ์ ถ้าเราให้พระคริสต์เป็นผู้นำทางของเรา พระองค์จะทรงนำเราไปในทางที่ปลอดภัย คนที่เป็นตัวเอ้ในความบาปก็ไม่ต้องหลงทาง เพราะทุกคนที่แสวงหาพระองค์ด้วยการสำนึกผิดจะไม่พลาดจากหนทางที่สว่างด้วยแสงบริสุทธิ์แม้แต่คนเดียว ถึงแม้ว่าทางนั้นแคบและบริสุทธิ์จนความบาปจะเข้าไปในทางนั้นไม่ได้ แต่พระคริสต์ทรงจัดเตรียมใบเบิกทางไว้ให้ทุกคน ผู้ที่ใจสั่นสะท้านและสงสัยไม่ต้องรำพันว่า ‘พระเจ้าไม่สนใจฉันเลย’ {MB 140.1}

หนทางอาจขรุขระและสูงชัน อาจมีหลุมพรางอยู่ทั้งซ้ายและขวา บางครั้งอาจต้องลำบากเหน็ดเหนื่อย อยากพักก็ต้องบากบั่นต่อไป อ่อนเพลียก็ต้องสู้ทน ผิดหวังก็ยังต้องหวัง แต่เมื่อมีพระคริสต์ทรงนำทางแล้วในที่สุดเราจะไปถึงจุดหมายอย่างแน่นอน พระคริสต์ทรงดำเนินในทางลำบากนั้นก่อนหน้าเรา เพื่อย่างเท้าของเราจะไม่พลาด {MB 140.2}

ตลอดเส้นทางอันสูงชันที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ มีตาน้ำพุแห่งความสุขให้ความสดชื่นแก่ผู้ที่เหนื่อยอ่อน ผู้ที่เดินในทางแห่งปัญญามีความสุขเหลือล้น แม้จะถูกล้อมรอบด้วยความยากลำบากก็ตาม เพราะพระองค์ผู้ที่เขารักทรงดำเนินอยู่เคียงข้างเขา แม้จะไม่ปรากฏพระองค์ให้เห็น ในทุกย่างก้าวที่เดินขึ้นไปนั้น พวกเขาจะรับรู้ถึงการสัมผัสของพระหัตถ์พระองค์ให้ชัดขึ้น พระองค์ผู้ที่เราไม่สามารถเห็นด้วยตาจะฉายแสงบนหนทางให้สว่างขึ้นตลอดทุกระยะที่ก้าวเดิน เสียงเพลงสรรเสริญจะไพเราะขึ้นตามลำดับ ประสานกับเสียงเพลงของเหล่าทูตสวรรค์รอบพระที่นั่ง ตามพระสัญญาที่ว่า “ทางของคนชอบธรรมเป็นดั่งดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ซึ่งส่องแสงเจิดจ้าขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มวัน” (สุภาษิต 4:18 TNCV) {MB 140.3}

“จงเพียรพยายามเข้าไปทางประตูที่คับแคบ”—(ลูกา 13:24)

ในเวลาบ่ายแก่ๆ นักเดินทางจะต้องรีบเร่งไปให้ถึงประตูเมืองก่อนตะวันตก จะไม่แวะชมสิ่งล่อใจใดๆ ที่อยู่ข้างทาง แต่จะมุ่งความสนใจไปที่จุดหมายอันเดียว คือต้องเข้าประตูเมืองให้ทัน พระเยซูทรงสอนว่า เราต้องมีความมุ่งมั่นอย่างเดียวกันในชีวิตคริสเตียน พระองค์ทรงเปิดทางสู่อุปนิสัยที่เรืองโรจน์ คือความรุ่งเรืองแท้แห่งอาณาจักรของพระองค์ โดยไม่ได้สัญญาว่า เราจะมียศฐาบรรดาศักดิ์ให้ปกครองอาณาเขตในโลกนี้ แต่จุดมุ่งหมายที่พระองค์วางไว้ให้เรานั้น จะสมความปรารถนาของเราและแสนคุ้มที่จะทุ่มเทสุดกำลังเพื่อจะไปให้ถึง พระองค์ไม่ได้ขอให้เราแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งสูง แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะ เพราะพระองค์ให้เรามุ่งมั่นฝ่าฟันเพื่อเข้าในอาณาจักรฝ่ายจิตวิญญาณของพระองค์ {MB 141.1}

ชีวิตคริสเตียนคือการต่อสู้และการเคลื่อนพล แต่ชัยชนะไม่ได้มาด้วยกำลังของมนุษย์ ส่วนสมรภูมินั้นคือใจเราเอง และการสู้รบที่หนักหน่วงที่สุดคือการยอมจำนนต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า คือการมอบใจให้อยู่ภายใต้อธิปไตยแห่งความรัก ธรรมชาติเดิมซึ่งเกิดจากเลือดและความประสงค์ของเนื้อหนัง (ยอห์น 1:13) จะรับแผ่นดินของพระเจ้าเป็นมรดกก็ไม่ได้ จะต้องสละทิ้งนิสัยที่ติดมาโดยกรรมพันธุ์ และการประพฤติแบบเดิมนั้นเสีย {MB 141.2}

ผู้ที่หมายมั่นที่จะเข้าไปยังอาณาจักรฝ่ายจิตวิญญาณจะพบว่า พลังกิเลสตามธรรมชาติเดิมก่อนการบังเกิดใหม่ หนุนหลังโดยกองกำลังของอาณาจักรแห่งความมืดกำลังต่อสู้กับเขาอยู่ ความเห็นแก่ตัวและความหยิ่งจะตั้งมั่นต่อสู้ทุกสิ่งที่ชี้ว่าตนมีบาป เราไม่สามารถพิชิตศัตรูผู้เกรียงไกรที่จับเรามัดไว้เป็นทาสของมัน มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถประทานชัยชนะให้เราได้ พระองค์ทรงปรารถนาให้เราชนะตนเอง ควบคุมใจและการกระทำ แต่จะไม่ได้ผลถ้าเราไม่ยอมร่วมมือกับพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงงานผ่านสติปัญญาและกำลังความสามารถของมนุษย์ เราต้องร่วมมือกับพระเจ้าด้วยกำลังของเราเอง {MB 141.3}

แต่จะไม่ได้รับชัยชนะถ้าปราศจากการอธิษฐานอย่างจริงจัง และการถ่อมใจในทุกขั้นตอน พระองค์จะไม่บังคับให้เราฝืนใจร่วมมือกับพระองค์ แต่เราต้องมอบใจปรารถนาของเราด้วยตัวเอง ถ้าสมมุตว่าการถูกบังคับให้มอบสามารถทำให้เรามีความกระตือรือร้นในพระวิญญาณขึ้นเป็นร้อยเท่า ก็จะยังไม่ได้ทำให้เราเป็นคริสเตียนหรือเป็นคนที่สมกับแผ่นดินสวรรค์ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะฐานที่มั่นของซาตานที่อยู่ในใจก็ยังไม่พังทลายลง เราจะต้องมอบเจตจำนงของเราไว้ให้อยู่ฝ่ายพระเจ้า เราทำเองไม่ได้ เราไม่สามารถมอบเจตจำนงและนิสัยของเราไว้ภายใต้น้ำพระทัยของพระเจ้าด้วยลำพังเราเอง แต่ถ้าเรา “ยอม” ให้พระองค์ช่วยในการมอบแล้ว พระองค์จะทรงทำการนั้นในตัวเรา แม้กระทั่งถึงการ “สยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์” (2 โครินธ์ 10:5 TNCV) เมื่อนั้นเราจะ “ประพฤติอย่างสมกับความรอด…ด้วยความเกรงกลัวจนตัวสั่น…เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงทำการอยู่ในพวกท่าน ให้ท่านมีความประสงค์และมีความสามารถทำตามชอบพระทัยของพระองค์” (ฟีลิปปี 2:12–13) {MB 142.1}

มีคนจำนวนมากที่ชื่นชอบความงดงามของพระคริสต์และปรารถนาความรุ่งโรจน์โชติช่วงของสวรรค์ แต่เขาถึงกับผงะเมื่อเจอเงื่อนไขของการรับสิ่งเหล่านั้น มีคนมากมายที่อยู่ในทางกว้าง แต่กลับไม่พอใจในทางที่เขาเดิน เขาโหยหาที่จะหลุดพ้นจากความบาป จึงพยายามเอาชนะการทำบาปด้วยลำพังตัวเอง เขามองไปยังทางและประตูที่คับแคบ แต่การบำเรอใจด้วยของบันเทิง การรักโลก ความหยิ่งยโส และความทะเยอทะยานที่เปื้อนมลทิน ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคกีดกั้นอยู่ระหว่างเขากับพระผู้ช่วยให้รอด เขาพบว่าที่จะปฏิเสธความปรารถนาและสิ่งที่ตนเพลิดเพลินนั้นจะต้องเสียสละ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้เขากระอักกระอ่วนใจแล้วหันกลับ ด้วยว่าจะมีคนจำนวนมากที่ “พยายามจะเข้าไป แต่จะเข้าไม่ได้” (ลูกา 13:24) เขาปรารถนาทางดี และก็พยายามอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เลือกเอา เขาไม่ได้มีความตั้งใจแน่วแน่พอที่จะยอมสูญเสียทุกสิ่งเพื่อจะไปในทางนั้น {MB 143.1}

มีความหวังเดียวที่เราจะรับชัยชนะได้ นั่นก็คือการร่วมมือร่วมใจกับพระเจ้าวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง เราไม่อาจเก็บกักความเห็นแก่ตัวเอาไว้แล้วเข้าแผ่นดินของพระเจ้าได้ แต่หากจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ ก็ด้วยการปฏิเสธตนเองและการรับเอาพระทัยของพระคริสต์ ความหยิ่งและการพึ่งพาตนเองจะต้องถูกตรึงไว้ที่ไม้กางเขน แล้วเราพร้อมหรือยังที่จะเสียสละตามข้อกำหนดนี้ เรายินยอมหรือยังที่จะหันเจตจำนงของเราไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างครบบริบูรณ์ พระคุณของพระเจ้าที่ช่วยเปลี่ยนแปลงเราในทางที่ดีนั้น จะไม่ปรากฏในชีวิตจนกระทั่งเรายินยอม {MB 143.2}

สงครามที่เราต้องสู้รบนั้นคือการ “ต่อสู้อย่างเต็มกำลังเพื่อความเชื่อ” (1 ทิโมธี 6:12 TKJV) แล้วอาจารย์เปาโลกล่าวว่า “เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงตรากตรำต่อสู้ตามกำลังที่พระองค์ทรงทำกิจในตัวข้าพเจ้าอย่างมากมาย” (โคโลสี 1:29) {MB 143.3}

ส่วนยาโคบเมื่อเผชิญกับวิกฤตในชีวิต ท่านใช้เวลาอธิษฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างสุดซึ้งอยู่ประการเดียว คือการแสวงหาอุปนิสัยที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ขณะที่ยาโคบกำลังอธิษฐานวิงวอนอยู่นั้น อยู่ๆ ก็มีผู้หนึ่งวางมือไว้บนท่าน ยาโคบคิดว่าเป็นศัตรูจึงต่อสู้กับบุคคลนั้นตลอดทั้งคืนเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ความตั้งใจของยาโคบไม่ได้เปลี่ยนไป ถึงแม้ชีวิตจะอยู่ในอันตรายก็ตาม เมื่อท่านจวนจะหมดแรง ทูตขององค์พระผู้เป็นเจ้าแตะต้องท่าน ท่านจึงรู้ว่าที่ท่านต่อสู้อยู่นั้น ที่แท้เป็นพระเจ้า ยาโคบเจ็บปวดและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว จึงฟุบตัวลงที่พระทรวงของพระผู้ช่วยให้รอด วิงวอนขอพระพร ท่านไม่บ่ายเบี่ยงหรือหยุดหย่อนที่จะทูลขอจนพระคริสต์ทรงตอบผู้ยากไร้ที่สำนึกผิดคนนี้ตามพระสัญญาของพระองค์ที่ว่า “ให้เขาเกาะอยู่กับกำลังของเราเพื่อให้เขาทำสันติภาพกับเรา แล้วเขาจะทำสันติภาพกับเรา” (อิสยาห์ 27:5 TKJV) ยาโคบวิงวอนด้วยใจที่มุ่งมั่นว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ท่านไป นอกจากท่านจะอวยพรแก่ข้าพเจ้า” (ปฐมกาล 32:26) ความมุ่งมั่นนี้มาจากพระคริสต์ผู้ทรงปล้ำสู้กับท่าน พระองค์เป็นผู้ประทานชัยชนะและเปลี่ยนชื่อของยาโคบมาเป็นอิสราเอลโดยตรัสว่า “เจ้าสู้กับพระเจ้าและมนุษย์ และได้ชัยชนะ” (ปฐมกาล 32:28) ก่อนนั้นยาโคบดิ้นรนด้วยกำลังของท่านเองแต่ก็ไร้ผล สุดท้ายก็ชนะได้ด้วยการปฏิเสธตนเองและการปักใจเชื่อ เพราะ “ความเชื่อของเรานี่แหละคือชัยชนะที่พิชิตโลก” (1 ยอห์น 5:4 TNCV) {MB 144.1}

“จงระวังพวกผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จ”—(มัทธิว 7:15)

จะมีผู้สอนเทียมเท็จมาล่อท่านทั้งหลายออกจากหนทางที่คับแคบนั้น จงระวังระไวให้ดี คนเหล่านี้สวมเสื้อขนแกะ แต่จิตใจเขาเป็นเยี่ยงหมาป่า พระเยซูประทานข้อพิสูจน์เพื่อเราจะแยกแยะได้ระหว่างผู้สอนแท้กับผู้สอนเทียมเท็จว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้เพราะผลของพวกเขา” “ผลองุ่นเก็บได้จากต้นไม้มีหนามหรือ และผลมะเดื่อเก็บได้จากพืชหนามหรือ” {MB 145.1}

พระเยซูไม่ได้ขอให้เราพิสูจน์เขาด้วยเรื่องวาทศิลป์หรือคุณวุฒิ แต่ด้วยพระวจนะของพระเจ้า “จงไปค้นดูบทบัญญัติและคำพยาน หากพวกเขาไม่ได้พูดตามนี้ พวกเขาก็ไม่ได้มีแสงสว่าง…อยู่เลย” “ลูกเอ๋ย ถ้าเจ้าเลิกฟังคำสั่งสอน เจ้าก็จะหลงไปจากคำแห่งความรู้” (อิสยาห์ 8:20 TNCV; สุภาษิต 19:27) ผู้สอนเหล่านี้สอนเรื่องอะไร คำสอนนั้นช่วยให้เรายำเกรงพระเจ้ามากขึ้น และแสดงความรักต่อพระองค์ด้วยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่ ถ้าคนสอนไม่เห็นความสำคัญของพระบัญญัติ แถมยังดูหมิ่นข้อบังคับของพระองค์ ถ้าเขาไม่รักษาพระบัญญัติแม้จะเป็นข้อเล็กน้อย และสอนให้คนอื่นพลอยไม่รักษาไปด้วย เขาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับในสวรรค์ เราแน่ใจได้เลยว่า เขาโมเมไปโดยไม่มีหลักการ เขากำลังสานต่อในงานที่เริ่มต้นด้วยเจ้าแห่งความมืดผู้เป็นศัตรูของพระเจ้า {MB 145.2}

ไม่ใช่ทุกคนที่อ้างตนว่าเป็นคริสเตียนจะเป็นของพระคริสต์ พระเยซูตรัสว่า มีหลายคนที่เคยสั่งสอนโดยอ้างพระนามของพระองค์ แต่สุดท้ายก็จะไม่ผ่านการพิพากษา “หลายคนจะพูดกับเราในวันนั้นว่า ‘พระองค์เจ้าข้า พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพระองค์เผยพระวจนะในพระนามของพระองค์ ขับผีในพระนามของพระองค์ และทำการอัศจรรย์มากมายมิใช่หรือ’ เมื่อนั้นเราจะบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘เราไม่รู้จักเจ้าเลย เจ้าคนทำชั่ว จงไปให้พ้น’” (มัทธิว 7:22–23 TNCV) {MB 145.3}

มีบางคนสำคัญตนว่าทำถูกต้องแล้ว ในขณะที่กำลังทำผิด เขาอ้างว่าพระคริสต์เป็นเจ้าชีวิตของเขา แล้วก็แสดงตัวว่ากำลังทำอะไรใหญ่โตมากมายในพระนามของพระองค์ แต่ที่แท้เขาก็เป็นผู้กระทำความชั่ว “เขาแสดงความจงรักภักดีด้วยริมฝีปาก แต่จิตใจโลภหวังผลกำไรอธรรม” พวกเขามองคนที่ประกาศพระธรรมของพระเจ้าว่า “เป็นแค่คนที่ร้องเพลงรักด้วยเสียงไพเราะและเล่นดนตรีเก่งเท่านั้น เพราะเขาฟังคำพูดของเจ้า แต่ไม่ยอมนำไปปฏิบัติ” (เอเสเคียล 33:31–32 TNCV) {MB 146.1}

เพียงการอ้างว่าตนเป็นสาวกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะความเชื่อในพระคริสต์ที่นำไปสู่ความรอดไม่เหมือนที่หลายคนเคยเรียนมา พวกเขามักจะพูดว่า ‘จงเชื่อเท่านั้น และไม่ต้องถือปฏิบัติตามพระบัญญัติหรอก’ แต่ความเชื่อที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติก็เป็นความเชื่อที่จอมปลอม อัครสาวกยอห์นเขียนว่า “ผู้ที่กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์’ แต่ไม่ได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ คนนั้นเป็นคนพูดมุสาและสัจจะไม่ได้อยู่ในเขาเลย” (1 ยอห์น 2:4) เมื่อมีการอัศจรรย์เกิดขึ้น หรือมีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเป็นการทรงนำ อย่าให้ใครสรุปว่านั่นเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาคิดหรือกระทำนั้นถูกต้อง หากใครไม่ให้ความสำคัญกับพระวจนะของพระเจ้า แต่กลับยกเอาความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของตนไว้เหนือมาตรฐานที่พระเจ้าทรงวางไว้ ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า ไม่มีแสงสว่างในผู้นั้นเลย {MB 146.2}

การเชื่อฟังและปฏิบัติตามเป็นบทพิสูจน์ถึงการเป็นสาวกแท้ เพราะการปฏิบัติตามพระบัญญัตินั้นพิสูจน์ว่าเราไม่ได้แสร้งพูดเมื่อบอกว่า ‘ฉันรักพระเจ้า’ เมื่อคำสอนที่เรารับนั้นลบล้างมลทินบาปในใจให้ชีวิตเกิดผลบริสุทธิ์ เราสามารถรู้ได้ว่า คำสอนนั้นเป็นสัจธรรมของพระเจ้า เมื่อมีความเมตตากรุณา ความสุภาพอ่อนโยน และการเห็นอกเห็นใจปรากฏอยู่ในชีวิต เมื่อเรามีความสุขในการทำสิ่งที่ถูกต้อง แสดงว่าความเชื่อของเราเป็นความเชื่อแท้ “ถ้าเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ เราจะมั่นใจได้ว่าเรารู้จักพระองค์” (1 ยอห์น 2:3) {MB 146.3}

“บ้านไม่ได้พังลง เพราะว่ารากตั้งอยู่บนศิลา”—(มัทธิว 7:25)

ประชาชนประทับใจกับคำสอนของพระคริสต์ พวกเขาสนใจในหลักความจริงที่งดงาม และรับฟังคำตักเตือนสั่งสอนของพระคริสต์ดังเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าผู้ทรงชันสูตรจิตใจ พระดำรัสของพระองค์เขย่าไปถึงรากเหง้าแห่งความเข้าใจและความคิดเห็นเดิมของพวกเขา ถ้าหากจะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ก็จะต้องเปลี่ยนนิสัยและแนวความคิดใหม่ทั้งหมด ในที่สุดก็จะต้องขัดแย้งกับผู้นำศาสนา เพราะจะเป็นการคว่ำโครงสร้างระบบศาสนาที่พวกธรรมาจารย์ได้ก่อตั้งขึ้นมาหลายชั่วอายุคน ฉะนั้นถึงแม้ว่าใจประชาชนจะสนองตอบต่อพระดำรัสสอนของพระองค์อยู่ แต่ก็มีน้อยคนที่พร้อมจะรับคำสอนเหล่านั้นเป็นแม่แบบในการดำเนินชีวิต {MB 147.1}

พระเยซูจบคำเทศนาบนภูเขาด้วยการยกตัวอย่างที่เน้นความสำคัญของการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ท่ามกลางฝูงชนที่ห้อมล้อมฟังพระเยซูอยู่นั้นมีหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณรอบๆ ทะเลกาลิลี และจากที่นั่งบนไหล่เขา ประชาชนสามารถมองเห็นห้วยน้ำหลายสายที่ไหลผ่านซอกหินและหุบเขาลงไปสู่ทะเล ในฤดูร้อนห้วยน้ำลำธารเหล่านี้แห้งเหือดไป เหลือแต่ร่องฝุ่นแห้ง แต่เมื่อพายุฝนในฤดูหนาวโหมกระหน่ำ ร่องเขาแห้งเหล่านั้นก็กลายเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวท่วมหุบเขาและพัดพาทุกสิ่งที่ขวางทาง เวลานั้นกระท่อมตามท้องทุ่งที่ชาวนาสร้างไว้พักพิงก็ถูกน้ำกวาดไปเสียสิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีบ้านที่ถูกสร้างขึ้นบนศิลาตามเนินเขาในถิ่นนั้น บางหลังถูกสร้างด้วยหินทั้งหลัง ซึ่งในจำนวนบ้านเหล่านั้นมีหลายหลังที่ตั้งมั่นต้านลมพายุอยู่นับพันปี บ้านหินถูกสร้างขึ้นด้วยความยากลำบาก ทางไปก็ไม่ง่าย ที่ตั้งอยู่บนเนินดูไม่สะดวกเท่ากับในทุ่งหญ้าที่ราบ แต่เมื่อฐานบ้านเป็นหินจึงไม่สั่นสะเทือนต่อการพัดถล่มของฟ้าฝน {MB 147.2}

พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่รับฟังคำสอนของพระองค์ไว้เป็นรากฐานของชีวิต ก็เหมือนกับคนที่สร้างบ้านบนศิลา หลายร้อยปีก่อนหน้านั้นผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ได้เขียนไว้ว่า “พระวจนะพระเจ้าของเราจะยั่งยืนเป็นนิตย์” (อิสยาห์ 40:8) แล้วต่อมาหลังจากคำเทศนาบนภูเขาหลายปี เปโตรได้อ้างข้อความนี้ของอิสยาห์ โดยเพิ่มเติมว่า “พระวจนะนั้นคือข่าวประเสริฐซึ่งได้ประกาศแก่ท่านแล้ว” (1 เปโตร 1:25 TNCV) พระวจนะของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ยั่งยืนเพียงสิ่งเดียวที่โลกนี้รู้จัก เป็นรากฐานที่มั่นคง พระเยซูตรัสว่า “ฟ้าและดินจะล่วงไป แต่บรรดาถ้อยคำของเราจะไม่สูญหายไปเลย” (มัทธิว 24:35) {MB 148.1}

คำสอนของพระเยซูบนภูเขาได้เปิดเผยหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ ก็คือพระลักษณะขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดก่อบนคำสอนเหล่านี้กำลังสร้างชีวิตบนพระคริสต์ผู้เป็นพระศิลานิรันดร์ เมื่อเรารับเอาคำสอนของพระคริสต์ เราก็รับเอาพระองค์ และมีแต่คนที่รับเอาคำสอนของพระองค์เท่านั้นที่สร้างรากฐานชีวิตบนพระองค์ “เพราะว่าใครจะมาวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้ว นอกจากที่วางไว้แล้วคือพระเยซูคริสต์” (1 โครินธ์ 3:11) “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย เพราะว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้นั้น ไม่โปรดให้มีท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า” (กิจการ 4:12) พระคริสต์ทรงเป็นพระวาทะ ทรงเปิดเผยพระลักษณะ พระบัญญัติและความรักของพระเจ้า พระองค์เป็นรากฐานเดียวที่เราจะใช้ในการสร้างอุปนิสัยที่ยั่งยืนได้ {MB 148.2}

เราจะสร้างอุปนิสัยตามแบบของพระคริสต์ด้วยการปฏิบัติตามพระวจนะของพระองค์ ไม่ใช่คนที่ชื่นชอบความชอบธรรมที่เป็นคนชอบธรรม ความบริสุทธิ์ไม่ใช่ความรู้สึกปลาบปลื้มใจ แต่เป็นการมอบทุกสิ่งแด่พระเจ้า และการทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา เมื่อคนอิสราเอลตั้งค่ายอยู่ชายแดนแผ่นดินคานาอัน การที่จะคุ้นเคยกับแผ่นดินคานาอันและร้องเพลงของชาวคานาอันได้นั้นไม่พอที่จะนำให้พวกเขาเข้าไปในดินแดนที่อุดมสูมบูรณ์นั้น พวกเขาต้องเข้าไปยึดครองเพื่อให้เป็นของตน ต้องทำตามเงื่อนไข ต้องปักใจเชื่อในพระเจ้าและยึดมั่นในพระสัญญา ขณะที่ทำตามพระวจนะของพระองค์ {MB 149.1}

แก่นแท้ของศาสนาคริสต์คือการปฏิบัติตามคำสอนของพระคริสต์ ไม่ใช่เพื่อเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้พระเจ้าโปรดปราน หากแต่เป็นเพราะเราได้รับความรักจากพระองค์ทั้งที่ไม่สมควรจะได้รับ พระเยซูสอนว่า ความรอดของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นจะอ้างตัวอย่างไร แต่ขึ้นกับความเชื่อที่เขาแสดงออกด้วยการกระทำอันชอบธรรม พระคริสต์ทรงคาดหมายให้ผู้ติดตามพระองค์แสดงออกด้วยการกระทำไม่ใช่ดีแต่พูด อุปนิสัยถูกเสริมสร้างขึ้นด้วยการกระทำ “เพราะว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำใคร คนนั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า” (โรม 8:14) ไม่ใช่คนที่รู้สึกประทับใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และตอบสนองเป็นครั้งเป็นคราวที่เป็นบุตรของพระเจ้า แต่บุตรของพระองค์นั้นคือผู้ที่ดำเนินชีวิตตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ {MB 149.2}

ท่านปรารถนาจะติดตามพระคริสต์ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรหรือเปล่า ท่านอยู่ในความมืดและไม่รู้ว่าจะพบแสงสว่างที่ไหนหรือไม่ จงเดินตามแสงสว่างที่มีอยู่ ให้ตั้งใจทำสิ่งที่เข้าใจในพระธรรมของพระเจ้า ฤทธิ์อำนาจและชีวิตของพระองค์ก็อยู่ในพระวจนะของพระองค์ ขณะที่เรารับพระวจนะด้วยความเชื่อ เราจะได้รับกำลังที่จะปฏิบัติตาม เมื่อเราเดินตามแสงสว่างที่มีอยู่ เราจะได้รับแสงเพิ่ม จงสร้างชีวิตบนพระวจนะ แล้วอุปนิสัยจะได้รับการเสริมแต่งตามพระลักษณะอุปนิสัยของพระคริสต์ {MB 150.1}

พระคริสต์เป็นรากฐานแท้ เป็นพระศิลาที่มีชีวิต พระองค์ประทานชีวิตของพระองค์แก่ทุกคนที่ให้พระองค์เป็นรากฐานของเขา “ท่านเป็นเหมือนศิลาอันมีชีวิตซึ่งกำลังได้รับการก่อขึ้นเป็นวิหารฝ่ายวิญญาณ” (1 เปโตร 2:5 TNCV) “ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงสร้างถูกเชื่อมต่อกันและเจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (เอเฟซัส 2:21) ศิลาเรียงทับกันกลายเป็นหนึ่งเดียวกับรากฐาน เพราะมีแหล่งชีวิตร่วมกัน วิหารจึงต้านทานลมพายุต่างๆ ได้ ตามภาษิตที่ว่า— {MB 150.2}

“สิ่งใดร่วมชีวิตในพระเจ้า สั่งนั้นสามารถทนได้ทุกอย่าง” {MB 150.3}

แต่ทุกชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานอื่นที่นอกเหนือพระวจนะของพระเจ้าก็จะพังทลายลง เหมือนชาวยิวในสมัยพระคริสต์ได้ก่อชีวิตขึ้นบนรากฐานของทฤษฎีและความคิดเห็นของมนุษย์ ตามรูปแบบและพิธีกรรมที่มีมนุษย์เป็นผู้คิดค้น หรือบนพฤติกรรมใดๆ ที่เขาทำเองโดยไม่ต้องอาศัยพระคุณของพระคริสต์ ผู้ที่ทำเช่นนี้กำลังก่อโครงสร้างอุปนิสัยของตนไว้บนทรายที่ยวบยาบ การทดลองที่พัดถล่มเข้ามาจะกวาดเอารากฐานที่เป็นทรายไป เหลือแต่ซากปรักหักพังให้เป็นอุทาหรณ์ตลอดกาล {MB 150.4}

“เพราะฉะนั้น พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า ‘ดูเถิด…เราจะกระทำความยุติธรรมให้เป็นเชือกวัด และความชอบธรรมให้เป็นลูกดิ่ง และลูกเห็บจะกวาดเอาความเท็จอันเป็นที่ลี้ภัยไปเสีย และน้ำจะท่วมท้นที่กำบัง’” (อิสยาห์ 28:16–17 TH1971) {MB 151.1}

แต่ในทุกวันนี้พระเจ้ายังคงร้องเรียกคนบาปด้วยพระเมตตาคุณ “พระเจ้าตรัสว่า ‘เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราไม่พอใจในความตายของคนอธรรม แต่พอใจในการที่คนอธรรมหันจากทางของเขาและมีชีวิตอยู่ จงหันกลับ จงหันกลับจากทางชั่วของเจ้า…ยอมตายทำไม’” (เอเสเคียล 33:11 TH1971) พระสุรเสียงที่ตรัสเรียกคนที่มีใจแข็งกระด้างในปัจจุบัน เป็นพระสุรเสียงของพระองค์ผู้มีพระทัยเป็นทุกข์เมื่อมองนครที่พระองค์ทรงรัก ขณะที่ตรัสว่า “โอ เยรูซาเล็มๆ เมืองที่ฆ่าบรรดาผู้เผยพระวจนะและเอาหินขว้างพวกที่ทรงใช้มาหาถึงตาย บ่อยครั้งเราปรารถนาจะรวบรวมลูกๆ ของเจ้าไว้ เหมือนแม่ไก่ที่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน แต่พวกเจ้าไม่ยอม นี่แน่ะ นิเวศของพวกเจ้าจะถูกทอดทิ้ง” (ลูกา 13:34–35) พระเยซูทรงเห็นว่ากรุงเยรูซาเล็มเป็นสัญลักษณ์ของโลกที่ปฏิเสธพระคุณของพระองค์ พระองค์ร่ำไห้เพื่อคนที่ดื้อรั้น ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่สายสำหรับกรุงเยรูซาเล็ม ชาวเมืองยังสามารถกลับใจและหนีพ้นการถูกทำลายได้ พระองค์ทรงให้โอกาสอยู่ระยะหนึ่งเพื่อให้ชาวเมืองกลับใจ ฉันใดก็ฉันนั้น พระคริสต์ยังทรงเชื้อเชิญท่านด้วยสำเนียงแห่งความรักว่า “นี่แน่ะ เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขาและจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” “บัดนี้คือวาระแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า บัดนี้คือวันแห่งความรอด” (วิวรณ์ 3:20; 2 โครินธ์ 6:2 TNCV) {MB 151.2}

ผู้ใดที่ฝากความหวังไว้กับตัวเองกำลังก่อร่างสร้างฐานไว้บนทราย แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะหนีให้พ้นการถูกทำลายที่เจียนตัว ก่อนที่พายุจะถล่มจงหนีไปยังฐานที่มั่น “ฉะนั้นพระยาห์เวห์องค์เจ้าชีวิตตรัสดังนี้ว่า ‘ดูเถิด เราวางศิลาก้อนหนึ่งไว้ในศิโยน เป็นศิลามุมเอกล้ำค่า เหมาะเป็นรากฐานอันมั่นคง ผู้ที่วางใจจะไม่มีวันท้อแท้’” “มวลมนุษย์ทั่วโลก จงหันมาหาเราและรับการช่วยให้รอด เพราะเราเป็นพระเจ้า และไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีก” “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะเสริมกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า เราจะชูเจ้าด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา” “พวกท่านจะไม่อับอายหรือถูกทำให้ขายหน้าตลอดไปเป็นนิตย์” (อิสยาห์ 28:16 TNCV; 45:22 TNCV; 41:10; 45:17) {MB 152.1}

ขอได้โปรดเมตตารักษาใจ เพราะความบาปซุกซ่อนอยู่ข้างใน

ภายในคนที่ปิดอย่างสนิท มีกิเลสตัณหาสิงสถิต

พระองค์ทรงใช้เวลามากหลาย เพื่อช่วยเหลือคนบาปมิวางวาย

คนที่ผิดพระองค์ไม่ทิ้งเขา คนที่ดีพระองค์ทรงรับเอา

พระองค์ทรงสร้างใจให้มั่นคง แก่ทุกท่านที่ติดตามพระองค์

—เจ. อี. ฟุลตัน

Footnotes

  1. สถานที่ที่พระเยซูถูกตรึงเรียกว่า คาลวารี หรือ กลโกธา หรือเนินหัวกะโหลก