บรรพชนกับผู้เผยพระวจนะเล่ม 217. ยาโคบหลบหนีไปอยู่ต่างแดน

17. ยาโคบหลบหนีไปอยู่ต่างแดน

กระเสือกกระสน

เอซาวเกรี้ยวกราดขู่ว่าจะฆ่ายาโคบ ยาโคบจึงหลบหนีไปจากบ้าน แต่ก็ไปพร้อมกับคำอวยพรของพ่อ อิสอัคได้ทบทวนพันธสัญญาของพระเจ้าให้ยาโคบฟัง และสั่งท่านในฐานะผู้รับพันธสัญญานั้นเป็นมรดกให้ไปเมโสโปเตเมียหาภรรยาจากบรรดาญาติฝ่ายมารดา อย่างไรก็ดียาโคบออกเดินทางคนเดียวด้วยใจหดหู่ยิ่งนัก ท่านจะต้องเดินเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรผ่านชนเผ่าป่าเถื่อนที่เร่ร่อนในแผ่นดินโดยมีแต่ไม้เท้าอยู่ในมือ ด้วยความเสียใจและความตื่นตระหนกท่านจึงพยายามหลบหน้าคน เกลือกว่าพี่ชายที่กำลังโกรธเคืองจะสืบหาท่านได้ ยาโคบกลัวว่าท่านได้สูญเสียพระพรที่พระเจ้าเคยประสงค์จะประทานให้ ขณะเดียวกันซาตานก็อยู่ใกล้ๆ คอยทดลองท่านอยู่ {PP 183.1}

คืนวันที่สอง ยาโคบอยู่ห่างไกลจากเต็นท์ของบิดาไปมาก ท่านรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง แต่ก็สำนึกว่าความทุกข์ทั้งหมดนี้เกิดจากการเลือกผิดของท่านเอง ความสิ้นหวังเหมือนความมืดทึบได้ทับถมใจอยู่จนเกือบจะไม่กล้าอธิษฐาน แต่เนื่องจากท่านรู้สึกอ้างว้างเดียวดายจึงต้องการให้พระเจ้าทรงคุ้มครองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านร่ำไห้สารภาพความบาปด้วยใจนอบน้อมถ่อมตนอ้อนวอนขอให้พระเจ้าทรงสำแดงอะไรสักอย่างที่บ่งบอกว่าพระองค์ไม่ได้ทรงทอดทิ้งอย่างสิ้นเยื่อใย แต่จิตใจที่แบกภาระหนักของยาโคบไม่ได้รับการบรรเทาจนท่านหมดความมั่นใจในตนเองอย่างสิ้นเชิง กลัวว่าพระเจ้าของบรรพบุรุษคงทอดทิ้งท่านเสียแล้ว {PP 183.2}

กระนั้นพระเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งยาโคบ พระองค์ยังทรงเมตตาต่อผู้รับใช้ของพระองค์ที่หลงผิดไม่ไว้วางใจ ด้วยความรักมั่นคง พระองค์ทรงเปิดเผยสิ่งที่ยาโคบกำลังต้องการในขณะนั้น คือพระผู้ช่วยให้รอด ยาโคบได้ทำบาป แต่จิตใจของท่านสำนึกถึงพระคุณเมื่อพระเจ้าทรงสำแดงให้เห็นหนทางที่จะนำให้ท่านกลับคืนดีกับพระองค์ได้ {PP 183.3}

บันไดสู่สวรรค์

ยาโคบผู้พเนจรเดินทางจนเหนื่อยล้านอนลงบนดินใช้ก้อนหินแทนหมอน ขณะที่หลับอยู่นั้นท่านฝันเห็นบันไดสว่างไสวตั้งอยู่บนแผ่นดิน ส่วนหัวบันไดพาดอยู่ที่สวรรค์ มีทูตสวรรค์ขึ้นๆ ลงๆ บนบันไดนั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริประทับยืนอยู่เหนือบันได มีพระสุรเสียงดังจากสวรรค์ตรัสว่า “เราคือเยโฮวาห์พระเจ้าของอับราฮัมบิดาของเจ้า และพระเจ้าของอิสอัค” พระองค์ทรงสัญญาว่าจะประทานดินแดนที่ท่านอาศัยนอนอย่างผู้ลี้ภัยอยู่นั้นแก่ท่านและลูกหลานโดยรับรองว่า “บรรดาพงศ์พันธุ์ของมนุษย์โลกจะได้รับพรเพราะเจ้าและเพราะเชื้อสายของเจ้า” พระเจ้าทรงย้ำพระสัญญาอันเดียวกันที่เคยตรัสแก่อับราฮัมกับอิสอัคให้ยาโคบฟัง ต่อมาพระองค์ทรงหนุนใจเป็นพิเศษเพื่อปลอบประโลมจิตใจที่โศกเศร้าเดียวดายนั้นว่า “เราอยู่กับเจ้า และจะพิทักษ์รักษาเจ้าทุกแห่งหนที่เจ้าไป และจะนำเจ้ากลับมายังดินแดนนี้ เพราะเราจะไม่ทอดทิ้งเจ้าจนกว่าเราจะได้ทำสิ่งซึ่งเราพูดกับเจ้าไว้นั้นแล้ว” {PP 183.4}

พระเจ้าทรงทราบความชั่วต่างๆ ที่จะห้อมล้อมยาโคบ และภยันตรายที่ท่านจะต้องเผชิญ ด้วยพระเมตตาคุณพระองค์ทรงเปิดเผยให้ผู้ลี้ภัยที่กลับใจคนนี้ทราบถึงอนาคตของตนเองเพื่อให้ท่านเข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อตนและเตรียมพร้อมต้านทานการทดลองที่จะมาอย่างแน่นอนเมื่อท่านต้องอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางคนเจ้าเล่ห์และคนที่ไหว้รูปเคารพ พระเจ้าทรงชูมาตรฐานไว้สูงให้เป็นที่มุ่งหมายเพื่อให้ยาโคบตระหนักว่าพระประสงค์ของพระเจ้ากำลังสำเร็จโดยตัวท่านเพื่อกระตุ้นให้ท่านคงซื่อสัตย์ต่อไป {PP 184.1}

พระประสงค์แห่งนิมิต

พระเจ้าทรงสำแดงให้ยาโคบเห็นนิมิตเรื่องแผนการทรงไถ่มนุษย์ให้รอด ไม่ใช่ทั้งหมดแต่เฉพาะส่วนที่ท่านต้องรู้ในขณะนั้น บันไดที่ยาโคบเห็นในความฝันเป็นบันไดเดียวกันที่พระเยซูทรงกล่าวถึงเมื่อทรงสนทนากับนาธานาเอล ตอนนั้นพระเยซูตรัสว่า “ท่านจะได้เห็นท้องฟ้าเบิกออกและบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นและลงอยู่เหนือบุตรมนุษย์” (ยอห์น 1:51 TH1971) ก่อนที่มนุษย์กบฏต่อการปกครองของพระเจ้ามีการสื่อสารระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์โดยตรง แต่ความบาปของอาดัมกับเอวาได้กีดกั้นพวกเขาจากสวรรค์ทำให้มนุษย์ไม่สามารถสื่อสารกับพระผู้สร้างได้อีก ถึงอย่างไรก็ตามพระเจ้าไม่ได้ทรงทอดทิ้งโลกให้สิ้นหวัง พระเยซูคือบันไดนั้น พระองค์ทรงเป็นสื่อกลางที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง ถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงทอดสะพานข้ามเหวลึกแห่งความบาปโดยพระบารมีของพระองค์แล้ว ทูตสวรรค์จะไม่มีทางสื่อสารหรือช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกในความบาปได้ พระเยซูทรงเชื่อมโยงมนุษย์ที่อ่อนแอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้กับพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด {PP 184.2}

ทั้งหมดนี้ได้ทรงสำแดงแก่ยาโคบทางความฝัน ถึงแม้ว่าท่านจะเข้าใจบางส่วนได้ทันที แต่ก็ยังต้องศึกษาความจริงลี้ลับอันยิ่งใหญ่นั้นตลอดชั่วชีวิตและเข้าใจให้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ {PP 184.3}

เบธเอล

ยาโคบตื่นจากการนอนหลับท่ามกลางคืนที่เงียบสงัด ภาพสว่างเจิดจ้าที่เห็นในนิมิตได้จางหายไปแล้ว มีแต่ร่องรอยของเนินเขาอันเปลี่ยวเปล่า และเมื่อท่านมองเหนือขึ้นไปก็เห็นท้องฟ้าเต็มด้วยดาวที่ส่องประกาย ท่านสำรวมจิตใจและรู้สึกว่าถึงจะมองไม่เห็นพระเจ้าแต่พระองค์ทรงสถิตอยู่กับท่านท่ามกลางความอ้างว้างวังเวง ยาโคบจึงกล่าวว่า “พระเจ้าทรงสถิต ณ ที่นี้แน่ทีเดียวแต่ข้าหารู้ไม่…สถานที่นี้มิใช่อื่นไกลเป็นที่ประทับของพระเจ้าและประตูฟ้าสวรรค์” {PP 187.1}

“ยาโคบจึงลุกขึ้นแต่เช้ามืด เอาก้อนหินซึ่งใช้หนุนศีรษะตั้งขึ้นเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ และเทน้ำมันบนยอดเสานั้น” ยาโคบตั้งอนุสรณ์แห่งพระเมตตาของพระเจ้าตามธรรมเนียมของการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆ เพื่อว่าเมื่อไรที่ท่านผ่านไปทางนั้นอีกจะได้แวะเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้และนมัสการพระองค์ ยาโคบเรียกสถานที่นั้นว่า ‘เบธเอล’ มีความหมายว่า ‘พระนิเวศของพระเจ้า’ ท่านได้ทบทวนพระสัญญาของพระเจ้าที่ว่าพระองค์จะเสด็จไปกับท่านด้วยใจที่ซาบซึ้งในพระคุณและปฏิญาณว่า “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่กับข้าพระองค์ ทรงพิทักษ์รักษาในทางที่ข้าพระองค์ไป ประทานอาหารให้ข้าพระองค์รับประทาน และเสื้อผ้าให้ข้าพระองค์สวมจนข้าพระองค์กลับมาบ้านบิดาของข้าพระองค์โดยสวัสดิภาพแล้ว พระเยโฮวาห์จะทรงเป็นพระเจ้าของข้าพระองค์ และก้อนหินซึ่งข้าพระองค์ตั้งไว้เป็นเสาศักดิ์สิทธิ์จะเป็นที่ประทับของพระเจ้า และทุกสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายหนึ่งในสิบแก่พระองค์” {PP 187.2}

เต็มล้นด้วยพระคุณ

ในที่นี้ยาโคบไม่ได้ต่อรองกับพระเจ้า พระองค์ทรงสัญญาแก่ท่านแล้วว่าจะทรงอำนวยพรให้ท่านเจริญขึ้น ยาโคบจึงปฏิญาณเพราะจิตใจเปี่ยมล้นด้วยความขอบพระคุณที่พระองค์ทรงรักและทรงเมตตาเช่นนี้ ท่านสำนึกอยู่เสมอว่าจะต้องตอบสนองต่อพระคุณและพระพรอันประเสริฐของพระเจ้า เราทั้งหลายก็ควรสนองตอบต่อพระเจ้าผู้ทรงเมตตาทุกครั้งที่เราได้รับพระพรเช่นเดียวกัน คริสเตียนทุกคนควรทบทวนชีวิตของเขาบ่อยๆ และขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยกู้เขาจากปัญหาต่างๆ ทรงชูกำลังในยามถูกทดลอง และประทานทางออกในเวลาที่ทุกอย่างดูมืดครึ้มน่ากลัว อีกทั้งทรงช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณเมื่อเขาจวนจะล้ม เขาควรสำนึกว่าทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นถึงการเฝ้าดูแลของทูตสวรรค์ เมื่อคำนึงถึงพระพรอันนับไม่ถ้วนเหล่านี้แล้ว เขาควรถ่อมใจลงและขอบพระคุณพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจะเอาอะไรตอบแทนพระเจ้าได้เนื่องจากบรรดาพระราชกิจอันมีพระคุณต่อข้าพเจ้า” (สดุดี 116:12 TH1971) {PP 187.3}

ถวายคืน

พระเจ้าประทานเวลา ความสามารถและทรัพย์สิน เราจึงควรถวายสิ่งเหล่านี้คืนแด่พระองค์ด้วยความสัตย์ซื่อ เมื่อไรก็ตามที่เราได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือได้รับพระพรอย่างไม่คาดคิด เราควรโมทนาพระคุณพระเจ้าไม่เพียงแต่ด้วยคำพูด แต่ให้ทำเหมือนยาโคบในการถวายเพื่อส่งเสริมพระราชกิจของพระองค์ เราได้รับพระพรจากพระเจ้าเนืองๆ ฉันใด เราก็ควรถวายคืนให้พระองค์อย่างสม่ำเสมอฉันนั้น {PP 187.4}

ยาโคบทูลพระเจ้าว่า “ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายหนึ่งในสิบแก่พระองค์” แล้วเราทั้งหลายที่ได้รับแสงสว่างและสิทธิพิเศษแห่งข่าวประเสริฐอย่างเต็มที่เล่า จะพอใจถวายน้อยกว่าคนในสมัยโบราณที่ได้รับพระพรน้อยกว่าเราอย่างนั้นหรือ ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อพระพรที่เราได้รับนั้นยิ่งใหญ่กว่า หน้าที่ของเราก็ย่อมมีมากขึ้นตามลำดับเช่นกันมิใช่หรือ แต่เป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะคำนวณเวลา เงินทอง และความรักของเราเป็นตัวเลข เพราะมันช่างน้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับความรักอันยิ่งใหญ่เกินประมาณและของประทานอันล้ำค่าของพระเจ้า การถวายหนึ่งในสิบคืออะไรเล่าเมื่อเทียบกับพระคริสต์ การถวายของเราช่างเล็กน้อยและน่าอายเมื่อเทียบกับพระเยซูผู้ทรงเสียสละอย่างมหาศาล เมื่อระลึกถึงการทนทุกข์ของพระองค์บนไม้กางเขนแห่งคาลวารี เราควรที่จะอุทิศถวายตัวเราเองทั้งชีวิตพร้อมทุกสิ่งที่เรามีให้กับพระองค์โดยไม่มีเงื่อนไข {PP 188.1}

มุ่งสู่ตะวันออก

พระเจ้าทรงรับรองว่าจะทรงใช้ทูตสวรรค์ให้อยู่กับยาโคบและปกป้องท่าน ท่านเองก็มีความเชื่อมั่นในพระสัญญาของพระองค์มากยิ่งขึ้น จึงออกเดินทางต่อไปยัง “ดินแดนของประชาชนชาวตะวันออก” แต่การมาถึงของยาโคบแสนจะแตกต่างไปจากผู้รับใช้ของอับราฮัมที่เดินทางมาก่อนหน้านี้ประมาณ 100 ปี ผู้รับใช้คนนั้นมากับขบวนอูฐและผู้ช่วยหลายคนพร้อมของกำนัลทำด้วยเงินและทอง ส่วนยาโคบเดินมาคนเดียวจนเท้าบวม ไม่มีทรัพย์สินของตนยกเว้นไม้เท้าอันหนึ่ง ถึงอย่างไรก็ตามท่านก็มีส่วนเหมือนผู้รับใช้ของอับราฮัมอยู่บ้าง คือท่านได้หยุดพักที่ริมบ่อน้ำและตรงนี้นี่เองที่ท่านได้พบราเชลลูกสาวคนเล็กของลาบัน ในครานี้ยาโคบทำหน้าที่รับใช้โดยกลิ้งก้อนหินออกจากปากบ่อน้ำและช่วยเลี้ยงฝูงสัตว์ เมื่อท่านอธิบายว่าตนเองเป็นญาติแล้วลาบันจึงเชิญไปพักที่บ้าน ถึงแม้ท่านมาตัวเปล่าแต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ลาบันสังเกตว่ายาโคบเป็นคนขยันและคล่องงานจึงขอให้ท่านอยู่ต่อ ยาโคบตกลงว่าจะทำงานช่วยลาบัน 7 ปีเพื่อเป็นค่าสินสอดของราเชล {PP 188.2}

สินสอด

ในสมัยโบราณ ก่อนที่จะแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องเสียค่าสินสอดให้พ่อตาเป็นเงินหรือทรัพย์สินเทียบเท่าแล้วแต่ที่ตกลง เพราะถือกันว่าจะช่วยรักษาความสุขในชีวิตสมรส ผู้เป็นพ่อจะไม่ปล่อยลูกสาวให้แก่ชายที่ไม่ได้เตรียมตัวดูแลครอบครัว เกรงว่าถ้าหากคนนั้นไม่มีกำลังหรือไม่รู้จักประหยัดพอที่จะบริหารตัวเองให้เจริญก้าวหน้าในด้านธุรกิจทั้งการดูแลฝูงสัตว์และที่ดิน ชีวิตคงย่ำแย่ แต่ก็มีทางออกที่จะทดสอบใจของผู้ชายที่ไม่มีเงินเสียค่าสินสอดเหมือนกัน ด้วยการให้เขาทำงานช่วยพ่อตาตามระยะเวลาที่ตกลงกันเพื่อเป็นค่าสินสอดทองหมั้นของหญิงสาวที่เขารัก เมื่อเขาทำงานอย่างซื่อสัตย์และพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้สมควรก็จะได้ลูกสาวเป็นภรรยา โดยทั่วไปพ่อจะคืนสินสอดที่ได้รับให้ลูกสาวในวันแต่งงาน แต่ในกรณีของราเชลกับเลอาห์นั้นลาบันเห็นแก่ตัวจึงเก็บค่าสินสอดที่ควรคืนไว้กับตัวเอง ไม่นานก่อนจะออกจากเมโสโปเตเมียพวกเขาก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “บิดาขายเรา ทั้งยังกินเงินของเราหมด” {PP 188.3}

ธรรมเนียมโบราณนี้ถึงจะมีคนนำมาใช้ผิดเหมือนลาบันแต่ก็เป็นผลดีส่วนมาก เมื่อชายหนุ่มต้องใช้เวลาทำงานเพื่อสู่ขอภรรยาก็จะไม่ได้ด่วนแต่งงาน นอกจากนั้นยังมีโอกาสพิสูจน์ความรักของเขาด้วย พร้อมกับสังเกตความสามารถของเขาในการดูแลครอบครัว ในสมัยของเรามีคนทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสมัยโบราณในเรื่องนี้ซึ่งส่งผลเสียมากมาย บ่อยครั้งมีคนแต่งงานก่อนที่เขาจะรู้จักนิสัยใจคอของกันและกัน และเมื่อมาร่วมชีวิตเป็นหนึ่งเดียวจึงไม่ค่อยต่างอะไรกับคนแปลกหน้า หลายคนพบว่าเขาไม่เหมาะสมกันเมื่อสายเกินไป และต้องแบกรับความทุกข์ตราบชั่วชีวิตอันเป็นผลจากการแต่งงานผิดพลาด บ่อยครั้งที่ภรรยากับลูกต้องทนทุกข์เพราะมีผู้นำครอบครัวที่เกียจคร้าน ทำงานไม่เป็น หรือมีนิสัยเสีย ถ้าหากก่อนตัดสินใจแต่งงานได้พิสูจน์อุปนิสัยของเขาตามประเพณีดั้งเดิมแล้วก็คงไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง {PP 189.1}

เจ็ดปีที่รอคอย

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ยาโคบทำงานอย่างซื่อสัตย์เพื่อจะได้ราเชลมาเป็นภรรยา “เป็นเหมือนน้อยวันเพราะเขารักเธอ” แต่ลาบันละโมบโลภมากหลอกยาโคบอย่างไม่ปรานี โดยแอบให้เลอาห์สวมรอยแต่งแทนราเชลเพื่อหวังใช้งานลูกเขยต่อไป การที่เลอาห์มีส่วนร่วมในการหลอกลวงครั้งนี้ทำให้ยาโคบรู้สึกว่ารักเธอไม่ลง เมื่อท่านตำหนิลาบันอย่างขุ่นเคืองนั้น ลาบันเสนอให้ท่านทำงานอีก 7 ปีเพื่อแลกกับราเชล แต่ก็เรียกร้องไม่ให้ทิ้งเลอาห์เพราะจะทำให้ครอบครัวเสียหน้า ยาโคบจึงตกที่นั่งลำบาก ในที่สุดท่านยอมอยู่กับเลอาห์และแต่งงานกับราเชลด้วย ยาโคบรักราเชลมากกว่า ทำให้อีกคนหนึ่งเกิดความอิจฉาริษยา ชีวิตของท่านจึงขมขื่นกับการชิงดีชิงเด่นของสองพี่น้องร่วมสามี {PP 189.2}

ถูกกลั่นแกล้งและเอาเปรียบ

ยาโคบอยู่ที่เมโสโปเตเมีย 20 ปีรับใช้ลาบันผู้ไม่สนใจต่อความเป็นญาติกันแต่ขอให้ได้เปรียบอยู่ฝ่ายเดียว ยาโคบทำงาน 14 ปีเพื่อได้ภรรยา 2 คน และต่อมาใน 6 ปีสุดท้ายลาบันเปลี่ยนค่าจ้างถึง 10 ครั้ง แต่ยาโคบยังคงขยันทำงานด้วยความซื่อสัตย์ คำบอกลาของยาโคบเมื่อทั้งสองจากกันเป็นครั้งสุดท้ายบรรยายถึงการมุ่งทำงานโดยไม่รู้เหนื่อยหน่ายเพื่อดูแลผลประโยชน์ของเจ้านายที่แสนเคี่ยวเข็ญ ยาโคบกล่าวว่า “ฉันอยู่กับท่านมา 20 ปีแล้ว แกะและแพะมิได้แท้งลูก และแกะตัวผู้ในฝูงของท่านฉันก็มิได้กิน ที่สัตว์ร้ายกัดฉีกกินเสีย ฉันก็มิได้นำมาให้ท่าน ฉันเองสู้ใช้ให้ ที่ถูกขโมยไปในเวลากลางวันหรือกลางคืน ท่านก็หักจากฉันทั้งนั้น เวลากลางวันแดดก็เผาฉัน เวลากลางคืนความหนาวก็ผลาญฉัน ฉันนอนไม่หลับ” {PP 190.1}

ผู้เลี้ยงแกะต้องดูแลฝูงแกะทั้งกลางวันและกลางคืน อันตรายจากโจรและสัตว์ร้ายที่มีมากมายคอยจ้องจะทำร้ายฝูงสัตว์ที่ไม่ได้รับการเฝ้าดูแลอย่างดี ยาโคบมีผู้ช่วยหลายคนคอยดูแลฝูงสัตว์ของลาบันที่มีอยู่มากมาย แต่ท่านต้องรับผิดชอบฝูงสัตว์ทุกฝูงแต่ผู้เดียว บางฤดูกาลท่านจะต้องอยู่กับฝูงสัตว์ตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ขาดน้ำในหน้าแล้งและไม่ให้แข็งตายในคืนที่เย็นยะเยือกของฤดูหนาว ยาโคบเป็นหัวหน้าผู้เลี้ยงแกะ ส่วนคนรับใช้ก็เป็นผู้ช่วย ถ้ามีแกะสูญหายท่านต้องชดใช้ในฐานะหัวหน้าผู้เลี้ยงแกะ และเมื่อท่านพบว่าฝูงสัตว์ใดไม่ได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก็จะซักถามคนใช้ที่ดูแลฝูงสัตว์นั้นถึงสาเหตุอย่างละเอียด {PP 190.2}

ผู้เลี้ยงแกะตัวจริง

พระเจ้าทรงดลใจผู้เขียนพระคัมภีร์หลายคนให้ยกตัวอย่างชีวิตของผู้เลี้ยงแกะที่ขยันเอาใจใส่ดูแลและเมตตาแกะที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพื่อสอนความจริงอันล้ำค่าบางประการของข่าวประเสริฐ พระเยซูทรงปฏิบัติต่อคนของพระองค์ดุจผู้เลี้ยงแกะ เมื่อมนุษย์ตกสู่ความบาป พระองค์ทรงเห็นว่าฝูงแกะของพระองค์จะต้องพินาศในหนทางความบาปที่มืดมน พระองค์ทรงสละสง่าราศีและเกียรติยศในสวรรค์เพื่อช่วยคนเหล่านี้ที่หลงผิด ตรัสว่า “เราจะเที่ยวหาแกะที่หาย และเราจะนำแกะที่หลงกลับมา และเราจะพันผ้าให้แกะที่กระดูกหักและเราจะเสริมกำลังแกะที่อ่อนเพลีย” “เราจะช่วยฝูงแพะแกะของเราให้รอด เขาจะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป” และ “สัตว์ป่าดินก็จะไม่กินเขา” (เอเสเคียล 34:16, 22, 28 TH1971) พระเจ้าทรงเรียกพวกเขาให้ไปยังคอกแกะของพระองค์อันเป็น “ร่มกลางวันบังแดดและเป็นที่ลี้ภัยและที่กำบังพายุและฝน” (อิสยาห์ 4:6 TH1971) พระองค์ทรงดูแลฝูงแกะอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทรงเสริมกำลังผู้ที่อ่อนแอ และทรงบรรเทาความทุกข์ พระองค์ “ทรงรวบรวมลูกแกะไว้ในพระกรของพระองค์ พระองค์จะทรงอุ้มไว้ที่พระทรวง” (อิสยาห์ 40:11 TH1971) ลูกแกะของพระองค์รักพระองค์ “ส่วนผู้อื่นแกะจะไม่ตามเลย แต่จะหนีไปจากเขาเพราะไม่รู้จักเสียงของผู้อื่น” (ยอห์น 10:5 TH1971) {PP 190.3}

พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีนั้นย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ ผู้ที่รับจ้างมิได้เป็นผู้เลี้ยงแกะและฝูงแกะไม่เป็นของเขา เมื่อเห็นสุนัขป่ามาเขาจึงละทิ้งฝูงแกะหนีไป สุนัขป่าก็ชิงเอาแกะไปเสีย และทำให้ฝูงแกะกระจัดกระจายไป เขาหนีเพราะเขาเป็นลูกจ้างและไม่เป็นห่วงแกะเลย เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเราและแกะของเราก็รู้จักเรา” (ยอห์น 10:11–14 TH1971) {PP 191.1}

พระเยซูทรงเป็นหัวหน้าผู้เลี้ยงแกะ ทรงมอบฝูงแกะให้ผู้รับใช้ของพระองค์ดูแล พระองค์ทรงบัญชาให้เขาเอาใจใส่ฝูงแกะเหมือนที่พระองค์ทรงใส่พระทัยและให้สำนึกถึงหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เขา พระองค์ทรงกำชับเขาให้เลี้ยงฝูงแกะอย่างซื่อสัตย์ ให้เสริมกำลังผู้ที่อ่อนแอ ให้ฟื้นฟูผู้ที่อ่อนเปลี้ยและป้องกันให้พ้นจากสุนัขป่าที่จะมากัดกิน {PP 191.2}

พระเยซูทรงสละพระชนม์ของพระองค์เองเพื่อช่วยลูกแกะของพระองค์ให้รอด พระองค์ทรงชี้ไปถึงแบบอย่างความรักนี้ให้ผู้ช่วยเลี้ยงแกะทั้งหลายของพระองค์เห็น แต่ “ผู้ที่รับจ้างมิได้เป็นผู้เลี้ยงแกะ และฝูงแกะไม่เป็นของเขา” ผู้ที่รับจ้างไม่สนใจฝูงแกะอย่างแท้จริง เขาทำไปเพียงเพื่อเงินเดือนและเป็นห่วงแต่ตัวเอง เขาห่วงผลประโยชน์ของตนมากกว่าภาระหน้าที่ที่ทรงมอบหมายให้เขาทำ เมื่อถึงคราวลำบากหรือต้องเสี่ยงภัย เขาจะวิ่งหนีละทิ้งฝูงแกะไป {PP 191.3}

หน้าที่ผู้เลี้ยงแกะ

อัครทูตเปโตรกำชับบรรดาผู้ช่วยเลี้ยงแกะว่า “จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจแต่ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ด้วยการเห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาโดยทุจริต แต่ด้วยใจเลื่อมใส และไม่ใช่เหมือนเป็นเจ้านายที่ข่มขี่ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะนั้น” (1 เปโตร 5:2–3 TH1971) ฝ่ายเปาโลกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงระวังตัวให้ดี และจงรักษาฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงตั้งท่านไว้ให้เป็นผู้ดูแล และเพื่อจะได้ปกครองคริสตจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงได้มาด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า เมื่อข้าพเจ้าไปแล้วจะมีสุนัขป่าอันร้ายเข้ามาในหมู่พวกท่าน และจะไม่ละเว้นฝูงแกะไว้เลย” (กิจการ 20:28–29 TH1971) {PP 191.4}

อัครทูตตำหนิทุกคนที่เมินเฉยต่อภาระหน้าที่ดูแลของผู้เลี้ยงแกะที่ซื่อสัตย์ กล่าวว่า “ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจแต่ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ด้วยการเห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาโดยทุจริต แต่ด้วยใจเลื่อมใส” (1 เปโตร 5:2 TH1971) พระเยซูผู้ทรงเป็นหัวหน้าผู้เลี้ยงแกะนั้นทรงพร้อมที่จะให้ผู้รับใช้ทุกคนที่ไม่ซื่อสัตย์ออกจากงาน พระองค์ทรงไถ่คริสตจักรด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง และผู้ช่วยเลี้ยงแกะทุกคนควรตระหนักอยู่เสมอว่าแกะแต่ละตัวที่พระองค์ทรงมอบให้เขาดูแลนั้นแลกมาด้วยค่าไถ่อันมหาศาล เขาควรจะถือว่าแกะทุกตัวล้ำค่าและควรทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อให้แกะนั้นมีสุขภาพดีและเจริญขึ้น ผู้ช่วยเลี้ยงแกะที่มีจิตวิญญาณเหมือนพระเยซูจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ในการสละตัวเองและทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฝูงแกะที่เขาดูแลเจริญขึ้น แล้วเขาจะไม่ผิดหวัง {PP 192.1}

ผู้รับใช้ทุกคนจะต้องรายงานการทำงานของเขาอย่างละเอียดต่อพระเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นหัวหน้างานนั้นจะทรงถามผู้ช่วยเลี้ยงแกะทุกคนว่า “ฝูงแกะที่ได้มอบไว้ให้แก่เจ้านั้นอยู่ที่ไหน คือฝูงแกะที่งดงามของเจ้านั่นน่ะ” (เยเรมีย์ 13:20 TH1971) ผู้ที่พระองค์ทรงพบว่าซื่อสัตย์จะได้รับรางวัลมากมาย อัครทูตเปโตรกล่าวว่า “เมื่อพระผู้เลี้ยงผู้ยิ่งใหญ่จะเสด็จมาปรากฏ ท่านทั้งหลายจะรับศักดิ์ศรีเป็นมงกุฎที่ร่วงโรยไม่ได้เลย” (1 เปโตร 5:4 TH1971) {PP 192.2}

ถึงเวลาจาก

เมื่อยาโคบเหนื่อยล้าจากการรับใช้ลาบัน ท่านเสนอที่จะกลับแผ่นดินคานาอัน จึงกล่าวแก่พ่อตาว่า “ขอให้ข้าพเจ้ากลับไปบ้านเกิดเมืองบิดรเถิด ข้าพเจ้าทำงานเพื่อได้ภรรยาและบุตรแล้ว ขอมอบภรรยากับบุตรให้ข้าพเจ้าพาไป เพราะท่านรู้ว่าข้าพเจ้าได้รับใช้ท่านเสร็จแล้ว” แต่ลาบันกำชับท่านให้อยู่ต่อโดยตอบว่า “ลุงสังเกตเหตุการณ์ก็รู้ว่า พระเจ้าได้ทรงอวยพรเราเพราะเจ้า” เขาเห็นว่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นจากการดูแลของลูกเขย {PP 192.3}

ยาโคบตอบว่า “ก่อนฉันมานั้นลุงมีแต่น้อย แต่บัดนี้ก็มีทวีขึ้นเป็นอันมาก” แล้วเมื่อเวลาผ่านไปลาบันก็อิจฉายาโคบที่เจริญมากกว่าเขา เพราะว่า “ยาโคบก็มั่งมีมากขึ้น มีฝูงแพะแกะฝูงใหญ่ คนใช้ชายหญิง และฝูงอูฐฝูงลา” ลูกชายทั้งหลายของลาบันก็อิจฉาไม่แพ้พ่อ ยาโคบแอบได้ยินเขากล่าวร้ายว่า “‘ยาโคบแย่งทรัพย์ของบิดาเราไปหมด เขาได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้มาจากทรัพย์สมบัติของบิดาเรา’ ยาโคบสังเกตดูลาบันเห็นว่าเขาไม่มองหน้าเอาทีเดียวไม่เหมือนแต่ก่อน” {PP 192.4}

ถ้าไม่ใช่เพราะกลัวที่จะเผชิญหน้ากับเอซาว ยาโคบคงตีจากญาติเจ้าเล่ห์คนนี้ไปเสียนานแล้ว บัดนี้ท่านก็รู้สึกว่าอาจจะได้รับอันตรายจากพวกลูกชายของลาบันที่ถือว่าทรัพย์สินของยาโคบเป็นของพวกเขา ด้วยเกรงว่าพวกเขาจะใช้กำลังแย่งไป ยาโคบสับสนเป็นทุกข์ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี แต่เมื่อคำนึงถึงพระสัญญาที่ตรัสแก่ท่านครั้งที่อยู่เบธเอลจึงทูลปัญหาของตนต่อพระเจ้า ขอให้พระองค์ทรงชี้ทาง แล้วพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานในความฝัน “จงกลับไปยังดินแดนบิดาและญาติพี่น้องของเจ้าเถิด เราจะอยู่กับเจ้า” {PP 193.1}

เมื่อลาบันไม่อยู่ก็เป็นโอกาสเหมาะที่ยาโคบจะออกเดินทาง ท่านจึงรีบรวมบรรดาฝูงสัตว์ของตนและต้อนไปข้างหน้า ข้ามแม่น้ำยูเฟรติสพร้อมกับภรรยา ลูกๆ และคนใช้ “บ่ายหน้าไปยังถิ่นเทือกเขากิเลอาด” ชายแดนคานาอัน 3 วันต่อมาลาบันก็รู้ว่ายาโคบหนีจึงรีบตามไปและไล่ทันในวันที่เจ็ด เขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและตั้งใจจะบังคับให้พวกเขากลับไปอีก ซึ่งคงทำได้แน่นอนเพราะคนที่อยู่กับลาบันมีมากกว่า บัดนี้ผู้หนีภัยตกอยู่ในอันตรายอย่างแท้จริง {PP 193.2}

ลาบันจำยอม

ลาบันไม่ได้ทำตามที่ตนมุ่งร้ายเพราะพระเจ้าทรงห้ามไว้เพื่อปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์ ลาบันกล่าวว่า “เจ้าอยู่ในกำมือเราแล้ว เราจะทำอันตรายแก่เจ้าก็ได้ แต่คืนวานนี้พระเจ้าของบิดาเจ้าตรัสว่า ‘ระวังอย่าพูดดีหรือร้ายกับยาโคบเลย’” ความหมายก็คืออย่าให้ยาโคบต้องกลับไปไม่ว่าด้วยการบังคับหรือการประจบประแจง {PP 193.3}

ลาบันได้เก็บค่าสินสอดไว้คนเดียวและเคี่ยวเข็ญยาโคบด้วยเล่ห์เพทุบายตลอดเวลา แต่คราวนี้ตามประสาคนที่ชอบประจบสอพลอเขาตำหนิยาโคบที่แอบหนีโดยไม่ให้โอกาสผู้เป็นพ่อจัดงานเลี้ยงส่งลูกหลาน {PP 193.4}

คำตอบของยาโคบชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลาบันเป็นคนเห็นแก่ตัวและเป็นนักกอบโกย ทั้งยังขอให้ลาบันเป็นพยานว่าตนซื่อสัตย์สุจริต กล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าของบิดาฉัน พระเจ้าของอับราฮัมและซึ่งอิสอัคยำเกรงไม่ทรงสถิตอยู่กับฉันแล้ว ครั้งนี้ท่านคงให้ฉันไปตัวเปล่าเป็นแน่ พระเจ้าทรงเห็นความทุกข์ใจของฉันและการงานตรากตรำที่มือฉันทำ จึงทรงห้ามท่านเมื่อคืนวานนี้” {PP 193.5}

ลาบันก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงเสนอที่จะทำสัญญาผูกพันต่อกัน ยาโคบตอบตกลง พวกเขาจึงยกก้อนหินมากองไว้เป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญา ลาบันตั้งชื่อกองหินนั้นว่า ‘มิสปาห์’ แปลว่า ‘หอเฝ้ายาม’ โดยกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเฝ้าอยู่ระหว่างเจ้ากับเราเมื่อเราจากกันไป” {PP 193.6}

“ลาบันบอกยาโคบว่า ‘ดูกองหินและเสาหินนี้ที่เราตั้งไว้ระหว่างเจ้ากับเรา หินกองนี้เป็นพยาน และเสานั้นก็เป็นพยานว่า เราจะไม่ข้ามกองหินนี้ไปหาเจ้า และเจ้าจะไม่ข้ามกองหินนี้และเสานี้มาหาเราเพื่อทำอันตรายกัน ให้พระเจ้าของอับราฮัมและพระเจ้าของนาโฮร์ซึ่งเป็นพระเจ้าของบิดาของเขาทั้งสองทรงตัดสินความระหว่างเรา’ ยาโคบก็สาบานโดยอ้างถึงผู้ที่อิสอัคบิดาของตนยำเกรง” แล้วพวกเขาก็กินเลี้ยงกันเพื่อรับรองพันธสัญญา ค่ำคืนนั้นทั้งสองฝ่ายพูดจากันด้วยความเป็นมิตร เมื่อถึงรุ่งสางลาบันกับคนของเขาจึงจากไป การแยกจากกันครั้งนี้เป็นการสิ้นสุดความเกี่ยวข้องกันระหว่างลูกหลานของอับราฮัมกับชาวเมโสโปเตเมีย {PP 194.1}