28. การไหว้รูปเคารพที่ภูเขาซีนาย
คุ้นชินกับความงมงาย
ช่วงเวลาที่โมเสสหายไปบนภูเขา เป็นเวลาที่คนอิสราเอลเฝ้ารอท่านด้วยใจจดใจจ่อ ประชาชนรู้ว่าท่านได้ขึ้นไปพร้อมกับโยชูวาและเข้าไปในเมฆหนาทึบบนยอดเขา ซึ่งสว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระเจ้าเป็นระยะๆ และสามารถเห็นได้จากที่ราบเบื้องล่าง พวกเขาเฝ้าจดจ่อกับการกลับมาของโมเสส คนอิสราเอลเคยชินกับพระที่เป็นรูปปั้นในอียิปต์ จึงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะเชื่อพระเจ้าที่มองไม่เห็น โมเสสได้กลายเป็นที่พึ่งทางความเชื่อของพวกเขาไปแล้ว บัดนี้ท่านถูกเรียกขึ้นไปบนนั้น วันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ท่านก็ยังไม่กลับลงมา แม้ว่าพวกเขายังคงเห็นเมฆที่ปกคลุมภูเขาอยู่ แต่หลายคนคิดว่าผู้นำได้ทอดทิ้งพวกเขาหรือไม่ก็ถูกไฟครอกเสียชีวิตไปแล้ว {PP 315.1}
ในช่วงที่รอคอยนั้นคนอิสราเอลมีเวลาไตร่ตรองถึงพระบัญญัติของพระเจ้าที่พวกเขาได้ยิน และเตรียมจิตใจสำหรับสิ่งที่พระองค์อาจสำแดงในเวลาต่อมา ที่จริงเวลาเกือบไม่พอด้วยซ้ำ หากพวกเขาพยายามทำความเข้าใจในพระประสงค์ของพระเจ้าให้ถ่องแท้กว่านี้และได้ถ่อมใจลงต่อพระพักตร์พระองค์ พระองค์จะทรงคุ้มครองพวกเขาจากการทดลอง แต่ชาวอิสราเอลไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงเริ่มประมาทและละเลยคำสอนของพระเจ้าแล้วอยู่แบบไร้กฎหมาย โดยเฉพาะคนต่างชาติที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันกับคนอิสราเอล ประชาชนรอไม่ไหวที่จะเดินทางต่อไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา คือแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานแผ่นดินอุดมนั้นแก่พวกเขาโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเชื่อฟัง แต่คนอิสราเอลลืมสิ่งเหล่านี้เสีย บางคนแนะนำให้กลับไปประเทศอียิปต์ แต่ไม่ว่าจะกลับไปหรือเดินทางต่อ มีอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรอโมเสสอีกต่อไปแล้ว {PP 315.2}
เมื่อผู้นำไม่อยู่ ประชาชนก็รู้สึกขาดที่พึ่งแล้วหันกลับไปยึดความเชื่องมงายที่เคยนับถือ คนต่างชาติที่ร่วมอพยพไปด้วยนั้นเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มบ่นต่อว่าและแสดงอาการหงุดหงิดที่ไม่ได้เดินทางต่อ และต่อมาก็เป็นกลุ่มแรกที่นำคนให้หลงจากพระเจ้า ชาวอียิปต์ถือว่าวัวผู้หรือลูกวัวเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเทพเจ้าที่พวกเขานับถือ บางคนที่เคยกราบไหว้รูปวัวในประเทศอียิปต์แนะนำให้ทำรูปลูกวัวให้พวกเขากราบไหว้นมัสการ จึงมีการสร้างรูปวัวขึ้นมา ประชาชนต้องการสัญลักษณ์ของพระเจ้าเพื่อนำทางแทนโมเสส พระเจ้าไม่เคยปรากฏให้คนอิสราเอลเห็นรูปสัณฐานของพระองค์ และทรงห้ามทำสัญลักษณ์ใดๆ ขึ้นมาแทนพระองค์เพื่อกราบไว้บูชา พระองค์ทรงทำการมหัศจรรย์ในประเทศอียิปต์และที่ทะเลแดงเพื่อให้พวกเขาเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้าที่มองไม่เห็น คือพระผู้ช่วยอิสราเอลผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว พระองค์ประทานเสาเมฆและเสาเพลิงเพื่อนำหน้าชาวอิสราเอลไปเมื่อประชาชนต้องการเห็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าพระองค์สถิตอยู่ด้วย นอกจากนั้นพระสิริของพระองค์ก็ปรากฏอยู่บนภูเขาซีนาย แต่ถึงแม้เสาเมฆที่แสดงว่าพระเจ้าสถิตอยู่ด้วยนั้นยังอยู่ต่อหน้าพวกเขา ประชาชนก็ยังหันกลับไปกราบไหว้รูปเคารพเหมือนที่เคยทำในอียิปต์ มิหนำซ้ำยังสร้างรูปวัวขึ้นเพื่อแทนพระสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา {PP 315.3}
อาโรนยอมอ่อนข้อ
อาโรนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลประชาชนในช่วงเวลาที่โมเสสไม่อยู่ มีคนเป็นอันมากมาห้อมล้อมเต็นท์ของท่าน เรียกร้องว่า “จงลุกขึ้นสร้างพระให้เรา ซึ่งจะนำหน้าเรา เพราะว่าโมเสสคนนี้ที่ได้นำเราออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ เราไม่ทราบว่าเขาเป็นอะไรไปแล้ว”1 (อพยพ 32:1 THSV) พวกเขาบ่นว่าเสาเมฆที่เคยนำทางตลอดมา บัดนี้ก็แน่นิ่งอยู่บนภูเขาโดยไม่มีทีท่าว่าจะเคลื่อนไหว มันคงไม่นำทางประชาชนต่อไปแล้ว พวกเขาต้องการรูปเคารพแทนที่เสาเมฆ และถ้าจะกลับไปอียิปต์เหมือนที่บางคนเสนอนั้นก็คงจะเป็นที่ยอมรับของชาวอียิปต์หากมีรูปเทพเจ้าของอียิปต์นำการเดินทางไปด้วย {PP 316.1}
วิกฤตการณ์เช่นนี้ต้องการคนที่หนักแน่นมั่นคงและกล้าตัดสินใจโดยไม่สะทกสะท้าน เป็นผู้ที่ตั้งพระเกียรติของพระเจ้าไว้สูงเหนือการยอมรับของเสียงส่วนมาก ความปลอดภัยส่วนตัว หรือแม้กระทั่งชีวิตของตน แต่ผู้นำอิสราเอลในเวลานั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาโรนต่อรองกับประชาชนด้วยอาการหวั่นไหวปวกเปียก การที่ท่านไม่กล้าตัดสินใจในวิกฤตการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้ประชาชนมุ่งที่จะทำตามอำเภอใจมากขึ้น ความอลหม่านจึงทวีขึ้น เหมือนความบ้าคลั่งขาดสติได้เข้าสิงฝูงชน บางคนยังยึดมั่นในพันธสัญญาของพระเจ้า แต่คนส่วนใหญ่พากันละทิ้งความเชื่อไป มีบางคนที่กล้าประณามการสร้างรูปเคารพ แต่ถูกรุมทำร้าย และท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายนั่นเองคนเหล่านั้นก็จบชีวิตลงในที่สุด {PP 316.2}
อาโรนกลัวว่าตนจะไม่ปลอดภัย จึงยอมทำตามเสียงเรียกร้องของฝูงชนแทนที่จะยืนหยัดเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า ท่านสั่งให้ประชาชนรวบรวมเอาตุ้มหูมาให้เป็นสิ่งแรก โดยหวังว่าความหยิ่งในทรัพย์สินจะยับยั้งพวกเขาจากการเสียสละถึงเพียงนั้น แต่ประชาชนกลับยินดีมอบเครื่องประดับให้ อาโรนจึงนำไปหล่อรูปวัวทองคำขึ้นตามแบบเทพเจ้าที่ชาวอียิปต์นับถือ ประชาชนกล่าวว่า “โอ อิสราเอล สิ่งเหล่านี้แหละเป็นพระของเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์” อาโรนไม่เพียงยอมให้ประชาชนหมิ่นประมาทพระเยโฮวาห์อย่างต่ำช้าเท่านั้น แต่เมื่อเห็นว่าพวกเขาชื่นชอบรูปเคารพทองคำท่านก็สร้างแท่นบูชาไว้ต่อหน้ามันและประกาศว่า “พรุ่งนี้จะเป็นวันเทศกาลเลี้ยงถวายพระเจ้า” มีคนเป่าแตรกระจายข่าวนี้จากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งจนทั่วค่าย “รุ่งขึ้นพวกเขาก็ลุกขึ้นแต่เช้าถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัว และนำเครื่องศานติบูชามา ประชาชนก็นั่งลงกินและดื่มแล้วก็ลุกขึ้นทำสิ่งที่น่าบัดสีต่อกัน” (อพยพ 32:6 THSV) พวกเขาทำทีเป็นฉลอง “เทศกาลเลี้ยงถวายพระเจ้า” แต่ปล่อยตัวให้เมามายและครึกครื้นในราคี {PP 317.1}
บ่อยครั้งในปัจจุบันการรักสนุกแฝงมาในคราบของการนับถือ “ทางพระเจ้าเพียงเปลือกนอก” (2 ทิโมธี 3:5 TNCV) คนทั่วไปไม่ต่างอะไรกับชาวอิสราเอลในสมัยนั้น คือชอบศาสนพิธีและการกราบไหว้นมัสการที่ไม่ขัดต่อการปรนเปรอชีวิตตามใจตนเอง ในทุกวันนี้ก็ยังมีคนอ่อนแอเหมือนอย่างอาโรนที่มีตำแหน่งรับผิดชอบในคริสตจักร แต่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของคนที่ไม่กลับใจ จึงเป็นการสนับสนุนพวกเขาให้ทำบาป {PP 317.2}
ลืมพระพรอย่างรวดเร็ว
แค่เพียงไม่กี่วันนับตั้งแต่ชาวฮีบรูได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระเจ้า พวกเขายืนตัวสั่นอยู่ต่อหน้าภูเขาซีนาย และฟังพระดำรัสของพระองค์ว่า “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20:3 TH1971) ประชาชนยังเห็นพระสิริของพระเจ้าห่อหุ้มภูเขาซีนายไว้ แต่ก็หันไปขอพระอื่น พวกเขา “ได้สร้างลูกโคในโฮเรบ และนมัสการรูปเคารพที่ได้หล่อขึ้น…เอาพระสิริของพระเจ้าแลกกับรูปปั้นของวัวที่กินหญ้า” (สดุดี 106:19–20 THSV) คงไม่มีความอกตัญญูใดที่ใหญ่กว่านี้หรือการท้าท้ายพระเจ้าที่หนักกว่านี้อีกแล้ว เพราะพระองค์ทรงสำแดงพระองค์แก่เขาทั้งหลายในฐานะพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักและเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เกรียงไกร {PP 317.3}
พระเจ้าทรงเตือนโมเสสขณะที่ยังอยู่บนภูเขาให้กลับไปยังค่ายโดยเร็วเพราะประชาชนได้หันหลังให้ทางของพระเจ้า พระองค์ตรัสว่า “เจ้าจงลงไปเถิด ด้วยว่าชนชาติของเจ้าซึ่งเจ้าได้นำออกจากแผ่นดินอียิปต์นั้น ได้ทำความเสื่อมเสียมากแล้ว เขาได้หันเหออกจากทางซึ่งเราสั่งเขาไว้อย่างรวดเร็ว คือหล่อรูปโคขึ้นรูปหนึ่งสำหรับตน และกราบไหว้รูปนั้น” พระเจ้าทรงสามารถห้ามสถานการณ์ไม่ให้พวกเขากระทำการเลยเถิดตั้งแต่แรกก็ได้ แต่ทรงปล่อยให้เกิดขึ้นเพื่อสอนบทเรียนแก่ทุกคนด้วยการลงโทษผู้ที่กบฏต่อการทรงนำของพระองค์ {PP 317.4}
ประชาชนได้หักพันธสัญญาของพระเจ้าทิ้ง พระองค์จึงตรัสกับโมเสสว่า “อย่ายับยั้งเรา เพื่อความโกรธของเราจะเดือดพลุ่งขึ้นต่อพวกเขา และเพื่อเราจะทำลายเขาทั้งหลายเสีย ส่วนเจ้า เราจะให้เป็นชนชาติใหญ่” (อพยพ 32:10 THSV) คนในค่ายโดยเฉพาะคนต่างชาติที่ร่วมเดินทางไปด้วยชอบคิดกบฏต่อพระเจ้าอยู่เรื่อยๆ พวกเขามักจะบ่นต่อว่าผู้นำ ถ้าปล่อยไว้ก็จะทำให้โมเสสเสียใจที่คนเหล่านั้นดื้อดึงและขาดความเชื่อ การนำพวกเขาไปให้ถึงแผ่นดินแห่งพระสัญญาก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากทั้งกายและใจ ความบาปที่พวกเขาทำเป็นเหตุให้พระเจ้าไม่โปรดปราน ถ้าจะให้ยุติธรรมแล้วพวกเขาควรถูกทำลาย พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่าจะทรงทำลายคนอิสราเอลและตั้งให้โมเสสเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่ {PP 318.1}
พระเจ้าตรัสว่า “อย่ายับยั้งเรา…เพื่อเราจะทำลายเขาทั้งหลายเสีย” (อพยพ 32:10 THSV) ถ้าพระองค์ตั้งพระทัยที่จะทำลายคนอิสราเอล ใครเล่าจะอ้อนวอนขอชีวิตของพวกเขาได้ คนส่วนใหญ่คงปล่อยพวกเขาตามแต่จะเป็นไป ในเมื่อพระเจ้าเองเป็นผู้ที่ทรงเสนอให้รับเอาความสะดวกสบายแทนการเสียสละทำงานอย่างหนักหน่วง และรับเอาเกียรติยศชื่อเสียงแทนคำบ่นต่อว่าและการไม่รู้คุณของประชาชน {PP 318.2}
ไว้ชีวิตประชาชน
ถึงแม้ว่าทุกอย่างดูจะสิ้นหวังและมีแต่พระพิโรธที่รอคนอิสราเอลอยู่ข้างหน้า แต่โมเสสยังเห็นความหวังซ่อนอยู่ในพระดำรัสของพระองค์คือ “อย่ายับยั้งเรา” (อพยพ 32:10 THSV) ท่านเข้าใจว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงห้ามการวิงวอน แต่ทรงสนับสนุนให้ท่านขอชีวิตพวกเขาไว้ เหมือนกับว่ามีแต่คำอธิษฐานของโมเสสที่จะช่วยคนอิสราเอลได้ในขณะนั้น และถ้าโมเสสอธิษฐาน พระองค์จะทรงไว้ชีวิตประชากรของพระองค์ “ฝ่ายโมเสสก็วิงวอนกราบทูลพระเจ้าของท่านว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ไฉนพระองค์จึงทรงพระพิโรธต่อประชากรของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงนำออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ ด้วยฤทธานุภาพอันใหญ่ยิ่ง และด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์เล่า’” {PP 318.3}
พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงปฏิเสธคนของพระองค์ โดยทรงเรียกคนอิสราเอลเมื่อตรัสกับโมเสสว่า “ชนชาติของเจ้าซึ่งเจ้าได้นำออกจากแผ่นดินอียิปต์” แต่โมเสสน้อมปฏิเสธการเป็นผู้นำอิสราเอล จึงทูลตอบว่าพวกเขาไม่ใช่ประชากรของท่าน แต่เป็น “ประชากรของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงนำออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ ด้วยฤทธานุภาพอันใหญ่ยิ่ง และด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์…เหตุไฉนจะให้ชนชาวอียิปต์กล่าวว่า ‘พระองค์ทรงนำเขาออกมาเพื่อจะทรงทำร้ายเขา เพื่อจะประหารชีวิตเขาที่ภูเขาและทำลายเขาเสียจากแผ่นดิน’” {PP 318.4}
เมื่อชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์มาได้ไม่กี่เดือน ข่าวเรื่องพระเจ้าทรงช่วยกู้พวกเขาอย่างอัศจรรย์ได้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศใกล้เคียง คนที่ไม่นับถือพระเจ้าหวั่นผวายิ่งนัก ทุกคนเฝ้าดูว่าพระเจ้าของคนอิสราเอลจะทรงกระทำอย่างไรกับคนของพระองค์ ถ้าพวกเขาถูกทำลายลง ฝ่ายศัตรูจะถือชัยชนะและพระเจ้าจะเสียพระเกียรติ แล้วชาวอียิปต์จะอ้างได้ว่าที่พวกตนพูดไว้ถูกต้องแล้ว นั่นคือพระเจ้าไม่ได้ทรงนำชาวอิสราเอลเข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้พวกเขาถวายบูชา แต่เพื่อให้กลายเป็นเครื่องบูชาเสียเองต่างหาก ชาวอียิปต์จะไม่คำนึงถึงบาปของชาวอิสราเอล แต่ถ้าเห็นได้ชัดว่าพระเจ้าทรงทำลายคนที่พระองค์เคยอุ้มชู ใครต่อใครก็จะเหยียดหยามพระนามของพระองค์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับเกียรติจากพระเจ้ามีความรับผิดชอบอย่างสูงในการวางตัวเพื่อชาวโลกทั้งหลายจะได้สรรเสริญพระองค์ เขาควรระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ทำบาปอันจะเป็นเหตุให้ตนถูกลงโทษ หรือคนอธรรมกล่าวร้ายพระนามของพระองค์ได้ {PP 319.1}
แผ่นศิลาแตก
โมเสสเป็นคนที่ไม่ชอบการเผชิญหน้า แต่เพราะท่านรักคนอิสราเอลมาก และพระเจ้าเคยใช้ท่านในการช่วยพวกเขามามากแล้ว บัดนี้ท่านอ้อนวอนเพื่อประชาชนที่ท่านรักด้วยความกล้าหาญอย่างไม่คิดเห็นแก่ตนเอง แล้วพระเจ้าทรงสดับรับฟังและประทานตามที่ท่านขอ พระเจ้าทรงลองใจผู้รับใช้ของพระองค์และทรงพิสูจน์ว่าโมเสสยังคงซื่อสัตย์และยังมีความรักต่อคนที่หลงผิดและไม่สำนึกในบุญคุณของท่าน ส่วนโมเสสก็ชนะการทดสอบนั้น ท่านเป็นห่วงคนอิสราเอลอย่างไม่เสแสร้ง โดยถือว่าความเจริญของประชาชนที่พระเจ้าทรงเลือกสรรสำคัญยิ่งกว่าการที่ท่านจะได้รับชื่อเสียงเกียรติยศหรือที่ท่านจะกลายเป็นบรรพบุรุษของชนชาติที่ยิ่งใหญ่ พระเจ้าพอพระทัยในความซื่อสัตย์และการถ่อมใจของโมเสส จึงทรงมอบความรับผิดชอบเสมือนผู้เลี้ยงแกะที่ซื่อสัตย์ให้นำคนอิสราเอลไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา {PP 319.2}
โมเสสถือ “แผ่นศิลาพระโอวาท” ขณะที่เดินลงจากภูเขาพร้อมกับโยชูวา ทั้งสองได้ยินเสียงอึกทึกและการโห่ร้องในชุมชนเหมือนเกิดการโกลาหล สิ่งแรกที่โยชูวาผู้เป็นนายทหารคิดคือศัตรูคงฉวยโอกาสบุกเข้าไปในค่ายจึงบอกกับโมเสสว่า “ที่ค่ายมีเสียงเหมือนเกิดสงคราม” แต่โมเสสวิเคราะห์สถานการณ์ได้ถูก ว่าเสียงนั้นไม่ใช่เสียงของการต่อสู้แต่เป็นเสียงเฮฮา โมเสสตอบโยชูวาว่า “นั่นไม่ใช่เสียงร้องของผู้ชนะ และไม่ใช่เสียงร้องของผู้แพ้ แต่เป็นเสียงร้องเพลงกันที่เราได้ยิน” (อพยพ 32:18 THSV) {PP 319.3}
เมื่อเดินเข้าใกล้ค่าย โมเสสกับโยชูวาเห็นประชาชนกำลังโห่ร้องและเต้นรอบรูปเคารพที่พวกเขาทำขึ้นมา พวกเขาเลียนแบบชาวอียิปต์ที่กราบไหว้รูปเคารพพร้อมกับดื่มเหล้าและปล่อยตัวทำบาปอย่างเลวทราม ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการนมัสการพระเจ้าอย่างสุขุมและนอบน้อม เหตุการณ์นี้เกินกว่าที่โมเสสจะทนได้ ท่านเพิ่งกลับลงมาจากการเข้าเฝ้าพระเจ้า และถึงแม้พระองค์ทรงเตือนถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ท่านก็ไม่พร้อมที่จะเห็นคนอิสราเอลปล่อยตัวกระทำบาปชั่วถึงขนาดนั้น โมเสสเกิดโทสะอย่างรุนแรง จึงเหวี่ยงแผ่นศิลาลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านสะอิดสะเอียนต่อบาปของพวกเขาเพียงไร แผ่นศิลานั้นแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ต่อหน้าต่อตาคนอิสราเอล อันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าพวกเขาได้ทำลายพันธสัญญาที่มีต่อพระเจ้า พระองค์จึงทรงทำลายพันธสัญญาของพระองค์เช่นกัน {PP 320.1}
โมเสสเดินเข้าไปในค่าย ฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ฉลองกันอยู่ และเอารูปเคารพโยนเข้าไปในไฟ จากนั้นก็บดเป็นผงและโรยลงในลำธารที่ไหลมาจากภูเขา แล้วบังคับให้ประชาชนดื่มจากลำธารนั้นเพื่อแสดงว่าพระที่พวกเขากราบไหว้บูชานั้นช่างไร้ค่า {PP 320.2}
คำแก้ตัวของอาโรน
หลังจากนั้น โมเสสเรียกพี่ชายให้มาพบ แล้วทักท้วงว่า “ประชาชนนี้กระทำอะไรแก่ท่านเล่า ท่านจึงนำบาปอันใหญ่นี้มาสู่พวกเขา” ส่วนอาโรนนั้นพยายามปกป้องตัวเองโดยอ้างถึงความโกลาหลของประชาชนว่าถ้าไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องแล้ว ตนคงจะถูกฆ่าตาย อาโรนจึงแก้ตัวว่า “อย่าให้ความโกรธของเจ้านายของข้าเดือดพลุ่งขึ้นเลย ท่านก็รู้จักประชาชนพวกนี้แล้วว่า พวกเขาเอนเอียงไปในทางชั่ว พวกเขามากล่าวกับข้าว่า ‘ขอสร้างพระให้เรา ซึ่งจะนำหน้าเรา ด้วยว่าโมเสสคนนี้ที่ได้นำเราออกจากแผ่นดินอียิปต์นั้น เราไม่ทราบว่าเขาเป็นอะไรไปแล้ว’ แล้วข้าตอบพวกเขาว่า ‘ใครมีทองคำให้ปลดออกมา’ พวกเขาก็มอบทองคำให้ข้า แล้วข้าก็โยนลงไปในไฟ แล้วโคนี้ก็ออกมา” (อพยพ 32:22–24 THSV) อาโรนพยายามโน้มน้าวให้โมเสสเชื่อว่าเมื่อเอาทองโยนเข้าไปในไฟ ก็เกิดการอัศจรรย์และมีรูปโคนี้ออกมา แต่คำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นนี้ไร้ผล อาโรนจะต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นในฐานะตัวการก่อเหตุ {PP 320.3}
การที่อาโรนได้รับเกียรติและพระพรมากกว่าคนอื่นทำให้ความบาปของท่านยิ่งเลวร้าย ผู้ที่สร้างรูปเคารพและประกาศการเลี้ยงฉลองนั้นคืออาโรนนั่นเอง ผู้ที่พระคัมภีร์เรียกว่า “คนบริสุทธิ์ของพระเจ้า” (สดุดี 106:16 TH1971) พระเจ้าทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นกระบอกเสียงให้โมเสส และพระองค์เองเคยตรัสถึงท่านว่า “เรารู้แล้วว่าเขาเป็นคนพูดเก่ง” (อพยพ 4:14 TH1971) แต่อาโรนไม่ได้ยับยั้งนักไหว้รูปเคารพไว้จากเจตนาที่จะท้าสวรรค์ ถึงแม้พระเจ้าเคยใช้ท่านในการทำการอัศจรรย์เพื่อลงโทษชาวอียิปต์และเทพเจ้าที่พวกเขานับถือก็ตาม แต่ท่านไม่ได้สะทกสะท้านเมื่อได้ยินคนประกาศต่อหน้ารูปวัวทองคำนั้นว่า “โอ อิสราเอล สิ่งเหล่านี้แหละเป็นพระของเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์” อาโรนเคยอยู่กับโมเสสบนภูเขา เคยเห็นพระสิริของพระเจ้าซึ่งไม่สามารถทำรูปมาจำลองได้ อาโรนคนนี้แหละได้ “เอาพระสิริของพระเจ้าแลกกับรูปปั้นของวัวที่กินหญ้า” (สดุดี 106:20 THSV) อาโรนผู้ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้ดูแลประชาชนเมื่อโมเสสไม่อยู่ กลับเป็นคนที่สนับสนุนการกบฏ “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระพิโรธอาโรนมากจนจะทรงทำลายเขา” (เฉลยธรรมบัญญัติ 9:20 TNCV) แต่พระองค์ทรงตอบคำวิงวอนของโมเสสและทรงไว้ชีวิตของอาโรน ส่วนอาโรนกลับใจและรู้สึกอับอายถึงบาปที่ได้กระทำ แล้วพระเจ้าทรงโปรดปรานท่านดังแต่ก่อน {PP 320.4}
ถ้าหากอาโรนกล้ายืนหยัดเพื่อความจริงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การกบฏคงไม่เกิดขึ้น หากท่านจงรักภักดีต่อพระเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว และได้เตือนประชาชนถึงพิษภัยของการกราบไหว้รูปเคารพ และทบทวนให้ประชาชนระลึกถึงคำสัญญาที่ว่าพวกตนจะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า ท่านคงยับยั้งความบาปชั่วไม่ให้บานปลายออกไปได้ แต่เมื่อท่านยอมทำตามคำเรียกร้องของประชาชนอย่างละมุนละม่อม ประชาชนจึงกล้าทำบาปยิ่งกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก {PP 323.1}
จัดการบาปอย่างเด็ดขาด
เมื่อโมเสสกลับไปที่ค่าย ท่านเข้าไปเผชิญหน้ากับพวกกบฏ ประชาชนเปรียบเทียบความโกรธและคำตำหนิติเตียนอันรุนแรงของโมเสสที่แสดงออกผ่านการเหวี่ยงแผ่นพระโอวาทจนแหลกลาญกับท่าทีที่สุขุมและถ้อยคำที่นุ่มนวลของอาโรน ทำให้ประชาชนเข้าข้างอาโรน ส่วนอาโรนพยายามแก้ตัวโดยโยนความผิดที่เกิดจากความอ่อนแอของตนไปให้ประชาชน ถึงกระนั้นประชาชนก็ยังนับถือท่านที่แสดงความนอบน้อมและความอดทน แต่พระเจ้าไม่ทรงมองเหมือนมนุษย์มอง ที่อาโรนเป็นคนมักโอ่นอ่อนผ่อนตามผู้อื่น บวกกับความปรารถนาที่จะให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ท่านตามืดบอดมองไม่เห็นว่าความผิดที่ท่านกำลังสนับสนุนนั้นร้ายแรงขนาดไหน การที่ท่านสนับสนุนให้คนอิสราเอลทำบาปเป็นเหตุให้คนนับพันต้องเสียชีวิต วิถีของอาโรนช่างแตกต่างไปจากทางของโมเสสที่ทำตามพระบัญชาของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ และเลือกความสงบสุขของประชาชนแทนเกียรติยศ ความเจริญก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งชีวิตของท่าน {PP 323.2}
ในบรรดาบาปทั้งหลายที่พระเจ้าจะทรงลงโทษ ไม่มีบาปใดที่ร้ายแรงในสายพระเนตรของพระเจ้าเท่ากับการสนับสนุนคนอื่นให้ทำความชั่ว พระเจ้าทรงปรารถนาให้ผู้รับใช้ของพระองค์พิสูจน์ความจงรักภักดีด้วยการประณามความชั่วอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าการประณามดังกล่าวจะเจ็บปวดเพียงไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับภาระหน้าที่จากพระเจ้าจะต้องไม่อ่อนแอหรือมีลักษณะของผู้รับจ้างชั่วคราว ต้องไม่มุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว หรือหลีกเลี่ยงจากหน้าที่ที่ไม่พึงประสงค์ แต่จะต้องทำงานของพระองค์อย่างซื่อสัตย์และแน่วแน่ {PP 323.3}
ถึงแม้พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของโมเสสโดยไม่ทรงทำลายคนอิสราเอลทั้งหมด แต่ก็ต้องมีการลงโทษการกบฏให้คนทั้งหลายได้เห็น อาโรนได้ยอมให้พวกเขาปล่อยตัวอยู่แบบไม่มีกฎหมายและแข็งข้อต่อการปกครองทุกอย่าง ถ้าไม่รีบจัดการกับสิ่งเหล่านี้ให้เด็ดขาด ความชั่วร้ายจะแพร่สะพัดและความหายนะจะเกิดกับชาติอิสราเอลจนแก้ไม่หาย จะต้องจัดการกับความชั่วด้วยวิธีที่เด็ดเดี่ยว โมเสสยืนอยู่ที่ประตูทางเข้าค่ายและร้องเรียกประชาชนว่า “ทุกคนที่อยู่ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าจงมาหาเรา” (อพยพ 32:26 TNCV) ผู้ที่ไม่ได้ร่วมในการกบฏถูกเรียกให้ไปยืนอยู่ข้างขวาของโมเสส ส่วนผู้ที่เข้าร่วมในการทำบาปแต่กลับใจให้ยืนอยู่ข้างซ้าย เมื่อทำดังนั้นแล้วก็เห็นว่าเผ่าเลวีไม่ได้มีส่วนร่วมในการกราบไหว้รูปเคารพ ส่วนเผ่าอื่นๆ ก็มีคนจำนวนมากที่ถึงแม้จะทำบาปแต่ก็ได้กลับใจ ถึงกระนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนต่างชาติที่ร่วมเดินทางมาด้วยและยุยงให้สร้างรูปลูกวัวตั้งแต่แรกยังดื้อดันในการกบฏ โมเสสหันไปมองคนทางขวามือที่ได้รักษาตัวเองจากการกราบไหว้รูปเคารพ และสั่งพวกเขาในพระนามของ “พระเจ้าของอิสราเอล” ให้เอาดาบสะพายทุกคน และประหารชีวิตคนทั้งหลายที่ยังดื้อกบฏ “และประชาชนประมาณ 3,000 คนตายลงในวันนั้น” คนที่เป็นแกนนำในการทำชั่วถูกลงโทษให้ตายโดยไม่คำนึงถึงฐานะ วงศ์ตระกูล หรือ พวกพ้อง แต่ทุกคนที่ถ่อมตัวกลับใจก็ไม่ได้รับโทษ {PP 324.1}
ผลการตระบัดสัตย์
ผู้ที่จัดการลงโทษขั้นร้ายแรงในครั้งนั้นกระทำโดยอำนาจจากพระเจ้า คือกระทำตามที่พระมหากษัตริย์แห่งสวรรค์ทรงบัญชา ส่วนมนุษย์ผู้มีความเข้าใจที่คับแคบต้องระวังเมื่อตัดสินลงโทษเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เมื่อพระเจ้าทรงบัญชาให้ลงโทษความผิดบาป เขาจะต้องเชื่อฟัง คนเลวีเป็นทุกข์ขณะที่ทำการประหารชีวิตผู้ล่วงละเมิดนั้น แต่พวกเขาเกลียดชังการกบฏและการกราบไหว้รูปเคารพ จึงอุทิศตัวเองรับใช้พระเจ้าที่แท้จริงมากกว่าที่ผ่านมา พระเจ้าทรงให้เกียรติแก่ความซื่อสัตย์ของพวกเขาด้วยการมอบหน้าที่พิเศษให้กับคนเลวี {PP 324.2}
คนอิสราเอลเคยปฏิญาณว่าจะเชื่อฟังพระเจ้า แต่กลับทรยศต่อพระองค์ผู้ทรงอวยพรพวกเขาอย่างล้นเหลือ และเพื่อให้การปกครองของพระเจ้ายังคงอยู่ จึงต้องมีการลงโทษผู้ทรยศให้สมกับความผิดที่ได้กระทำ แต่ในการลงโทษนี้เราก็ยังเห็นพระเมตตาของพระเจ้าอยู่ ขณะที่พระองค์ทรงอภิรักษ์พระบัญญัติของพระองค์ไว้ พระองค์ประทานสิทธิในการเลือกและโอกาสกลับใจแก่ทุกคน มีแต่คนที่ดื้อดันกบฏเท่านั้นที่ถูกทำลาย {PP 324.3}
จำเป็นที่จะต้องมีการลงโทษความบาปนี้เพื่อชาติทั้งหลายที่อยู่โดยรอบจะได้เห็นว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยในการกราบไหว้รูปเคารพ ภายหลังการลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว โมเสสในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าจะต้องบันทึกให้คนทั้งหลายรับรู้ว่าพระองค์ทรงคัดค้านการกระทำผิดของพวกเขาอย่างจริงจัง เมื่อคนอิสราเอลจะกล่าวโทษการกราบไหว้รูปเคารพของชนชาติใกล้เคียง ศัตรูของพวกเขาจะย้อนว่าคนอิสราเอลเองที่อ้างว่าพระเยโฮวาห์ทรงเป็นพระเจ้ายังได้หล่อรูปวัวขึ้นมากราบไหว้ที่โฮเรบ ในคราวนั้นถึงแม้ว่าจะต้องยอมรับความจริงที่น่าอับอาย แต่พวกเขายังสามารถชี้แจงถึงจุดจบอันน่ากลัวของผู้ที่ล่วงละเมิดเป็นหลักฐานได้ว่า พระเจ้าไม่พอพระทัยและไม่ได้มองข้ามความบาปนั้น {PP 325.1}
ไม่ขจัดก็บานปลาย
ความบาปครั้งนี้จำเป็นจะต้องถูกลงโทษ ไม่เพียงแต่เพื่อความยุติธรรมเท่านั้น แต่เพราะความรัก ซึ่งเหตุผลที่สองนี้มีความหมายพอๆ กับเหตุผลแรก พระเจ้าทรงเป็นผู้คุ้มครองคนของพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงประหารผู้ที่จงใจขัดขืนเพื่อไม่ให้เป็นเหตุชักนำคนอื่นไปสู่ความพินาศ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงไว้ชีวิตคาอินก็เป็นตัวอย่างแก่จักรวาลถึงผลของการปล่อยให้คนบาปลอยนวลโดยไม่ถูกลงโทษ คำสอนและชีวิตของคาอินส่งผลไปยังลูกหลานจนโลกทั้งโลกเสื่อมทรามและต้องถูกทำลายด้วยน้ำท่วมในที่สุด ประวัติของมนุษย์ก่อนน้ำท่วมโลกพิสูจน์ว่าอายุที่ยืนยาวไม่เป็นพระพรสำหรับคนบาป การอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าไม่ได้ยับยั้งความชั่วของพวกเขา ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเสื่อมทรามมากขึ้นเท่านั้น {PP 325.2}
การละทิ้งความเชื่อที่ภูเขาซีนายก็เช่นกัน ถ้าไม่มีการลงโทษเสียทันที ก็จะเป็นเหมือนตัวอย่างของคาอิน และโลกทั้งโลกจะเสื่อมไปเช่นสมัยของโนอาห์ ถ้าไว้ชีวิตผู้ที่ล่วงละเมิดในครั้งนี้ ความชั่วช้าซึ่งเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นจากการไว้ชีวิตคาอินก็จะตามมา การที่คนจำนวนนับพันต้องรับทุกข์ก็เป็นพระเมตตาของพระเจ้าเพื่อไม่ต้องลงโทษคนนับล้าน พระองค์ต้องลงโทษคนจำนวนน้อยเพื่อช่วยคนจำนวนมากเอาไว้ นอกจากนั้น เมื่อประชาชนละทิ้งพระเจ้าพวกเขาก็สูญเสียการคุ้มครองจากพระองค์ จึงขาดที่พึ่งพิงและคนทั้งชาติเสี่ยงต่อการถูกพวกศัตรูโจมตี หากไม่ได้จัดการกับความชั่วเสียให้ทันท่วงที ไม่ช้าก็อาจต้องตกเป็นเหยื่อของศัตรูที่แข็งแกร่งกว่าและมีจำนวนมากกว่า เพื่อเป็นการดีต่ออิสราเอลและเป็นบทเรียนให้แก่ชนรุ่นหลังในทุกสมัยต่อมา จึงต้องจัดการกับความผิดโดยทันที นอกจากนี้ก็ยังเป็นพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้คนบาปสิ้นไปเพื่อยุติวิถีชีวิตที่ชั่วช้า หากไว้ชีวิตพวกเขา จิตใจที่นำไปสู่การขัดขืนต่อพระเจ้าก็จะปรากฏออกมาในความเกลียดชังและการทะเลาะวิวาทกัน สุดท้ายก็จะทำลายกันเอง พระเจ้าทรงให้คนอิสราเอลถูกลงโทษสถานหนักทันทีเพราะความรัก คือความรักที่มีต่อชาวโลก ต่อคนอิสราเอล และต่อผู้ล่วงละเมิดเอง {PP 325.3}
เกิดความกลัวลานไปทั่วค่ายที่พัก เมื่อประชาชนสำนึกได้ว่าการกระทำของพวกเขามีความผิดมหันต์ จึงกลัวว่าทุกคนที่ทำผิดจะต้องตาย ฝ่ายโมเสสเห็นใจในความทุกข์นั้น จึงสัญญาว่าจะวิงวอนพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อพวกเขา {PP 326.1}
โมเสสกล่าวกับประชาชนว่า “ท่านได้ทำบาปอย่างใหญ่หลวง แต่บัดนี้เราจะขึ้นไปเข้าเฝ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า เผื่อบางทีจะทูลขอการอภัยบาปของท่านได้” (อพยพ 32:30 TNCV) ท่านจึงออกไปและสารภาพต่อพระเจ้าว่า “อนิจจา ประชากรนี้ทำบาปใหญ่หลวง พวกเขาสร้างพระด้วยทองคำสำหรับตัวเอง แต่บัดนี้ขอพระองค์โปรดยกโทษบาปของพวกเขา มิฉะนั้น ขอพระองค์ทรงลบชื่อของข้าพระองค์เสียจากหนังสือที่พระองค์ทรงจดไว้” (อพยพ 32:31–32 THSV) พระเจ้าตรัสตอบว่า “ผู้ใดทำบาปต่อเรา เราก็จะลบชื่อผู้นั้นจากหนังสือของเรา บัดนี้ จงไปเถิด นำประชากรไปยังที่ซึ่งเราบอกแก่เจ้าแล้ว นี่แน่ะ ทูตของเราจะนำหน้าเจ้า แต่ว่าในวันที่เราจะลงโทษนั้น เราจะลงโทษพวกเขาเพราะบาปของพวกเขา” (อพยพ 32:33–34 THSV) {PP 326.2}
คำอธิษฐานของโมเสสชี้ไปยังระเบียนในสวรรค์ที่มีการจดบันทึกชื่อของมนุษย์ทุกคนพร้อมการกระทำทั้งดีและชั่วอย่างละเอียด หนังสือแห่งชีวิตมีรายชื่อทุกคนที่เคยเข้ามารับใช้พระเจ้า ถ้ามีใครในรายชื่อนี้ดื้อด้านทำบาปอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดจิตใจแข็งกระด้างและไม่ตอบสนองต่อเสียงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในการพิพากษา ชื่อของผู้นั้นจะถูกลบออกจากหนังสือแห่งชีวิต และเขาเองจะต้องพินาศ โมเสสตระหนักถึงบั้นปลายของคนบาปที่น่าสะพรึงกลัว ฉะนั้นถ้าพระเจ้าจะทรงปฏิเสธคนอิสราเอล ท่านขอให้ชื่อของท่านถูกลบออกไปพร้อมกับของประชาชน เพราะท่านไม่อาจทนดูพระพิโรธของพระเจ้าพลุ่งใส่คนเหล่านั้นที่เคยรับการทรงไถ่ด้วยพระเมตตาคุณของพระองค์ได้ การวิงวอนของโมเสสเพื่อคนอิสราเอลเป็นตัวอย่างของการวิงวอนของพระคริสต์เพื่อคนบาป ต่างกันตรงที่โมเสสไม่ต้องตายอย่างพระคริสต์เพื่อแบกรับเอาโทษของผู้ที่ล่วงละเมิด พระเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดทำบาปต่อเรา เราก็จะลบชื่อผู้นั้นจากหนังสือของเรา” (อพยพ 32:33 THSV) {PP 326.3}
พระเจ้าห่างจากประชาชนอิสราเอล
ประชาชนพากันฝังศพคนใกล้ชิดด้วยความเศร้าสลดใจ มี 3,000 คนล้มตายด้วยคมดาบ ตามด้วยภัยพิบัติ แล้วบัดนี้พวกเขาได้รับข่าวว่าพระเจ้าจะไม่เสด็จไปด้วยในการเดินทางต่อไป พระเยโฮวาห์ตรัสว่า “เราจะไม่ขึ้นไปกับพวกเจ้า เกรงว่าเราจะทำลายล้างพวกเจ้าเสียกลางทาง เพราะว่าเจ้าเป็นชนชาติที่หัวแข็ง” แล้วพระองค์ตรัสสั่งประชาชนว่า “จงถอดเครื่องประดับออกเสีย เพื่อเราจะรู้ว่าควรจะกระทำอย่างไรกับเจ้า” ประชาชนคร่ำครวญไว้ทุกข์ทั่วค่ายที่พัก “ชนอิสราเอลจึงถอดเครื่องประดับออกที่ภูเขาโฮเรบ” (อพยพ 33:6 TNCV) เป็นการแสดงถึงการนอบน้อมถ่อมใจ {PP 327.1}
พระเจ้าตรัสสั่งให้ย้ายเต็นท์ซึ่งเป็นสถานที่นมัสการชั่วคราวไป “ไว้ข้างนอกไกลจากค่าย” เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าเสด็จห่างไปจากพวกเขาแล้ว พระองค์จะทรงปรากฏแก่โมเสส แต่จะไม่ทรงเปิดเผยพระองค์แก่ชนชาตินี้ ประชาชนต่างสำนึกผิดและรู้สึกว่าการที่พระเจ้าทรงประณามพวกเขาเช่นนี้เป็นลางร้ายบ่งบอกถึงภัยพิบัติที่หนักกว่า หรือบางทีพระเจ้าทรงแยกโมเสสออกเสียต่างหากเพื่อจะทำลายประชาชนเสียอย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงทิ้งพวกเขาให้สิ้นหวัง ถึงแม้ว่าเต็นท์จะตั้งอยู่นอกค่ายแต่โมเสสเรียกเต็นท์นั้นว่า “เต็นท์นัดพบ” โมเสสบอกให้ทุกคนที่สำนึกผิดอย่างแท้จริงและปรารถนาที่จะกลับมาหาพระองค์ไปยังที่นั่นเพื่อสารภาพบาปและแสวงหาพระเมตตาจากพระองค์ เมื่อประชาชนกลับไปยังเต็นท์ของตนโมเสสก็เข้าไปยังเต็นท์นัดพบ ประชาชนเฝ้ารอด้วยใจเป็นทุกข์ว่าพระเจ้าจะทรงรับฟังคำอธิษฐานของโมเสสที่ทูลวิงวอนเพื่อพวกเขาหรือไม่ ถ้าพระเจ้าทรงโปรดพบโมเสส พวกเขาก็มีความหวังว่าจะไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เมื่อเสาเมฆลอยลงมาที่ประตูทางเข้าเต็นท์นัดพบ ประชาชนร้องไห้ด้วยความยินดี แล้ว “ลุกขึ้นยืนนมัสการอยู่ที่ประตูเต็นท์ของตน” {PP 327.2}
วิงวอนเพื่อคนอิสราเอล
โมเสสรู้ดีว่าประชาชนที่ท่านดูแลดื้อรั้นและมีจิตใจมืดบอด ท่านตระหนักถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญ แต่ได้เรียนรู้ว่า ถ้าจะนำคนเหล่านี้ไปถึงปลายทางให้สำเร็จจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า โมเสสจึงวิงวอนพระองค์ขอให้เข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และขอความมั่นใจว่าพระองค์สถิตอยู่ด้วย “ดูสิ พระองค์ตรัสสั่งข้าพระองค์ว่า ‘จงนำประชากรนี้ขึ้นไป’ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงแจ้งให้ข้าพระองค์ทราบว่า จะใช้ใครขึ้นไปกับข้าพระองค์ พระองค์เองยังตรัสว่า ‘เรารู้จักชื่อของเจ้า และเจ้าเป็นที่โปรดปรานในสายตาของเราด้วย’ และบัดนี้ ถ้าข้าพระองค์เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์แล้ว ขอโปรดสำแดงพระมรรคาของพระองค์แก่ข้าพระองค์ แล้วข้าพระองค์จะรู้จักพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะเป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์ และขอทรงนับชนชาตินี้เป็นประชากรของพระองค์” (อพยพ 33:12–13 THSV) {PP 327.3}
คำตอบจากพระเจ้าคือ “เราเองจะไปกับเจ้า และให้เจ้าได้พัก” แต่โมเสสยังไม่หายกังวล ท่านหนักใจเมื่อคิดถึงสภาพอันเลวร้ายหากพระเจ้าทรงปล่อยคนอิสราเอลให้เป็นไปตามจิตใจที่แข็งกระด้างและไม่สำนึกผิดนั้น โมเสสรู้สึกทนไม่ได้ถ้าต้องแยกกับพี่น้องร่วมชาติ จึงอธิษฐานขอให้พระองค์ทรงโปรดปรานประชากรของพระองค์อีกครั้ง และขอสัญลักษณ์แห่งการสถิตอยู่ของพระองค์นำหน้าพวกเขาไปในการเดินทาง ทูลว่า “ถ้าพระองค์ไม่เสด็จไปกับข้าพระองค์ ก็ขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์ขึ้นไปจากที่นี่เลย ทำอย่างไรใครๆ จะทราบได้ว่า ข้าพระองค์และประชากรของพระองค์เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์แล้ว นอกจากพระองค์จะเสด็จไปกับพวกข้าพระองค์ด้วยไม่ใช่หรือ ดังนั้นข้าพระองค์และประชากรของพระองค์จึงแตกต่างจากชนชาติอื่นๆ ทั่วโลก” (อพยพ 33:15–16 THSV) {PP 328.1}
พระเจ้าทรงตอบว่า “สิ่งที่เจ้าขอนั้นเราจะทำให้ เพราะว่าเจ้าเป็นที่โปรดปรานในสายตาของเราแล้ว และเรารู้จักชื่อของเจ้า” (อพยพ 33:17 THSV) ผู้เผยพระวจนะโมเสสยังคงวิงวอนไม่หยุดหย่อน พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานทุกครั้ง แต่ท่านปรารถนาที่จะได้รับการโปรดปรานจากพระองค์เพิ่ม จึงขอในสิ่งที่ไม่มีมนุษย์คนใดเคยขอมาก่อน ว่า “ขอทรงโปรดสำแดงพระสิริของพระองค์แก่ข้าพระองค์เถิด” {PP 328.2}
พระเจ้าไม่ได้ทรงตำหนิโมเสสที่บังอาจขอเช่นนั้น แต่ทรงตอบด้วยพระกรุณาว่า “เราจะให้คุณความดีของเราประจักษ์แจ้งต่อหน้าเจ้า” ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถเห็นพระสิริของพระเจ้าอย่างเต็มกำลังแล้วยังมีชีวิตอยู่ แต่พระองค์ทรงยืนยันแก่โมเสสว่า ท่านจะได้เห็นพระสิริของพระองค์เท่าที่จะทนได้ พระเจ้าทรงเรียกให้โมเสสขึ้นไปบนยอดภูเขาซีนายอีกครั้ง แล้วพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ที่สร้างแผ่นดินโลกและ “เคลื่อนภูเขา และมันก็ไม่รู้” (โยบ 9:5 THSV) ได้หยิบมนุษย์ที่เป็นแต่ผงคลีคือโมเสสผู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้า และวางท่านในซอกหินขณะที่พระองค์เสด็จผ่านท่านไปพร้อมด้วยพระสิริและพระคุณความดีของพระองค์ {PP 328.3}
โมเสสเห็นว่าประสบการณ์ในครั้งนี้เกี่ยวกับพระสัญญาที่พระเจ้าจะสถิตอยู่ด้วย เป็นสิ่งที่รับรองความสำเร็จและมีค่ายิ่งกว่าความรู้ทั้งหมดของอียิปต์ หรือผลความสำเร็จใดๆ ของท่านที่ผ่านมาในฐานะรัฐบุรุษหรือผู้นำทหาร ไม่มีอำนาจหรือทักษะความรู้ใดๆ ของมนุษย์จะมาแทนที่การสถิตอยู่ของพระเจ้าได้ {PP 328.4}
โมเสสไม่มีความกลัว
สำหรับผู้ที่ล่วงละเมิดแล้ว การตกอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งนัก แต่โมเสสยืนเข้าเฝ้าพระเจ้าองค์นิรันดร์แต่ลำพังโดยไม่รู้สึกกลัว เพราะจิตใจของท่านสอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระผู้สร้าง ผู้ประพันธ์สดุดีกล่าวว่า “หากข้าพเจ้าได้บ่มความชั่วไว้ในใจ องค์พระผู้เป็นเจ้าคงจะไม่ทรงสดับฟัง” (สดุดี 66:18 TNCV) และ “มิตรภาพของพระเจ้ามีอยู่แก่คนที่ยำเกรงพระองค์ และพระองค์ทรงแจ้งพันธสัญญาของพระองค์แก่คนเหล่านั้น” (สดุดี 25:14 TH1971) {PP 329.1}
พระเจ้าตรัสถึงพระองค์เองว่า “พระเยโฮวาห์ พระเยโฮวาห์ พระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา ทรงกอปรด้วยพระคุณ ทรงกริ้วช้า และบริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคงและความสัตย์จริง ผู้ทรงสำแดงความรักมั่นคงต่อมนุษย์กระทั่งพันชั่วอายุ ผู้ทรงโปรดยกโทษการล่วงละเมิด การทรยศ และบาปของเขาเสีย แต่จะทรงถือว่าไม่มีโทษก็หามิได้” {PP 329.2}
“โมเสสจึงรีบกราบลงที่พื้นดินนมัสการ” ท่านวิงวอนพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งทูลขอให้พระองค์ทรงยกโทษความผิดบาปของประชาชน และรับพวกเขาเป็นมรดกของพระองค์ พระเจ้าทรงตอบตามที่โมเสสทูลขอ พระองค์ทรงสัญญาด้วยพระกรุณาว่าจะโปรดปรานคนอิสราเอลดังแต่ก่อน และจะทรง “ทำการอัศจรรย์ต่อหน้าประชากรทั้งสิ้น…ซึ่งไม่เคยมีใครทำในทั่วพิภพและในประชาชาติทั้งสิ้น” (อพยพ 34:10 THSV) {PP 329.3}
โมเสสอยู่บนภูเขา 40 วัน 40 คืน และเหมือนครั้งก่อน ท่านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอัศจรรย์ ในระหว่างนั้นพระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ใครขึ้นไปกับท่าน หรือแม้แต่เข้าใกล้ภูเขาซีนาย พระองค์ตรัสสั่งให้โมเสสเตรียมแผ่นศิลาไป 2 แผ่น ท่านจึงนำขึ้นไปที่ยอดเขาด้วย แล้วพระเจ้าทรง “จารึกคำพันธสัญญาไว้ที่แผ่นศิลา คือพระบัญญัติสิบประการ” อีกครั้ง 2 (อพยพ 34:28 TKJV) {PP 329.4}
ในช่วงเวลาอันยาวนานที่โมเสสสนทนากับพระเจ้า ใบหน้าของท่านสะท้อนถึงพระสิริของพระองค์ เมื่อลงจากภูเขาท่านไม่รู้เลยว่าใบหน้าของท่านยังทอแสงรัศมีอยู่ เช่นเดียวกับใบหน้าของสเทเฟนเมื่อท่านถูกนำไปต่อหน้าผู้พิพากษา คราวนั้น “พวกสมาชิกสภาต่างจ้องดูสเทเฟน เห็นหน้าของท่านเหมือนหน้าทูตสวรรค์” (กิจการ 6:15 THSV) เมื่ออาโรนกับประชาชนเห็นหน้าโมเสสก็ถอยออกไปเพราะความกลัว “ไม่กล้าเข้ามาใกล้ท่าน” โมเสสเห็นทุกคนมีท่าทางงุนงงและหวาดกลัวแต่ไม่รู้สาเหตุ จึงขอให้พวกเขาเข้ามาใกล้ ท่านยื่นแผ่นพระโอวาทให้ประชาชนดูและหนุนใจพวกเขาว่า นี่คือเครื่องหมายยืนยันว่าพระเจ้าจะทรงให้พวกเขาคืนดีเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ในน้ำเสียงของโมเสสมีแต่ความรักความเมตตา ในที่สุดมีคนหนึ่งกล้าเสี่ยงเดินเข้าไปหาท่านด้วยอาการกระอักกระอ่วน เขาชี้ไปที่หน้าของโมเสสแล้วชี้ไปบนฟ้า แล้วโมเสสก็เข้าใจทันที ในขณะที่พวกเขาสำนึกผิดและรู้ซึ้งถึงการที่พระเจ้าไม่พอพระทัยในตน พวกเขาไม่อาจทนดูแสงรัศมีแห่งสวรรค์ได้ แต่ถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระเจ้ามาโดยตลอด การที่ได้เห็นเช่นนี้คงจะเกิดความชื่นชมยินดี เมื่อคนเรารู้ว่าทำผิดก็จะเกิดความหวาดกลัว แต่จิตใจที่ปราศจากบาปจะไม่ซ่อนตัวจากแสงแห่งสวรรค์ {PP 329.5}
โมเสสมีหลายสิ่งที่ต้องการบอกประชาชน ท่านจึงเอาผ้าคลุมหน้าไว้เพื่อลดความกลัวของพวกเขาลง ซึ่งต่อมาหลังจากนั้น ทุกครั้งที่โมเสสกลับจากการเข้าเฝ้าพระเจ้าท่านจะเอาผ้าคลุมหน้าไว้ {PP 330.1}
พระเจ้าทรงให้ใบหน้าของโมเสสทอแสงเช่นนี้เพื่อให้คนอิสราเอลตระหนักว่า พระบัญญัติของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์และสมควรรับการเทิดทูน อีกทั้งให้พวกเขารับรู้ถึงสง่าราศีที่พระคริสต์ทรงเปิดเผยในข่าวประเสริฐ เมื่อโมเสสอยู่บนภูเขาพระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานพระบัญญัติในแผ่นศิลาเท่านั้น แต่ทรงสอนแผนการแห่งความรอดด้วย โมเสสเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ของระบบพิธีถวายบูชาของชาวยิวที่ล้วนแต่เล็งถึงการสละพระชนม์ของพระคริสต์ ดังนั้นแสงที่ฉายสะท้อนออกจากใบหน้าของโมเสสจึงเป็นแสงที่ส่องจากภูเขาคาลวารี ซึ่งมีความรุ่งโรจน์ไม่น้อยไปกว่าแสงแห่งพระบัญญัติของพระเจ้า พระรัศมีจากพระเจ้าบนใบหน้าของโมเสสเป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาเดิมที่โมเสสเป็นสื่อกลางที่ประชาชนสามารถมองเห็น เป็นตัวแทนของพระคริสต์ผู้ทรงเป็นสื่อกลางแท้แต่พระองค์เดียว {PP 330.2}
แสงที่สะท้อนจากใบหน้าของโมเสสเป็นตัวอย่างของพระพรที่ประชากรของพระเจ้าผู้รักษาพระบัญญัติของพระองค์ได้รับผ่านทางพระคริสต์มหาปุโรหิตของเรา และเป็นหลักฐานว่า เมื่อไหร่ที่เรายิ่งใกล้ชิดพระเจ้า เราจะยิ่งเข้าใจข้อกำหนดของพระองค์ และจะกลายเป็นเหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้น ทั้งในลักษณะและในอุปนิสัย {PP 330.3}
โมเสสเป็นสัญลักษณ์ที่เล็งถึงพระคริสต์ในฐานะที่ท่านเป็นผู้วิงวอนพระเจ้าแทนคนอิสราเอล ท่านคลุมหน้าเพราะประชาชนไม่อาจทนดูแสงรัศมีได้ เช่นเดียวกันกับพระคริสต์ผู้เป็นคนกลางจากสวรรค์ ที่ทรงซ่อนพระสิริของพระองค์เมื่อเสด็จมาเป็นมนุษย์ หากพระองค์เสด็จมาพร้อมกับแสงรัศมีแห่งสวรรค์ พระองค์จะไม่สามารถเข้าถึงคนบาปได้ และมนุษย์จะไม่สามารถทนต่อพระสิริของพระองค์ได้ ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงถ่อมพระองค์ลงและทรงรับสภาพ “เช่นเดียวกับมนุษย์ที่เป็นคนบาป” (โรม 8:3 TNCV) เพื่อพระองค์จะสามารถเข้าถึงคนบาปและยกพวกเขาขึ้น {PP 330.4}