5. คำอธิษฐานของพระเยซู
“ท่านควรจะอธิษฐานดังนี้”—(มัทธิว 6:9 TNCV)
พระเยซูทรงวางรูปแบบการอธิษฐานอยู่สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงเทศนาบนภูเขา และอีกหลายเดือนต่อมาเมื่อประทับอยู่ลำพังกับสาวก ช่วงนั้นสาวกไม่ได้อยู่กับพระองค์ระยะหนึ่ง และเมื่อกลับมาก็พบพระองค์กำลังอธิษฐานอยู่ ซึ่งดูเหมือนว่าพระองค์ไม่รับรู้ว่าพวกเขามาถึงแล้ว คือพระองค์ยังคงอธิษฐานต่อโดยออกเสียง พระพักตร์พระองค์เปล่งปลั่งด้วยรัศมีจากสวรรค์ประหนึ่งว่าพระองค์เข้าเฝ้าพระเจ้าผู้ไม่ปรากฏให้เห็น คำอธิษฐานของพระองค์มีชีวิตเหมือนดังคนที่สนทนากับพระเจ้าต่อพระพักตร์ {MB 102.1}
สาวกฟังแล้วประทับใจ พวกเขาเคยสังเกตว่าพระองค์มักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการอธิษฐานลำพังต่อพระบิดา กลางวันพระองค์มีภารกิจในการรับใช้มวลชนที่ห้อมล้อมพระองค์ และในการถลกหน้ากากของหลักปรัชญาที่ไม่น่าไว้วางใจของพวกธรรมาจารย์ การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนจนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทำให้มารดา พี่น้อง และสาวกของพระองค์ถึงกับกลัวว่าพระองค์จะจบชีวิตลงเสียก่อน แต่หลังจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งวัน พระองค์ทรงอธิษฐานเป็นเวลาหลายชั่วโมง และสาวกสังเกตพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยสันติสุข และบรรยากาศสดชื่นที่อยู่ล้อมรอบพระองค์ พระองค์ทรงใช้เวลาอธิษฐานเป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวัน จึงมีกำลังในทุกเช้าที่จะเสด็จออกไปเพื่อฉายแสงแห่งสวรรค์แก่คนทั้งปวง สาวกสังเกตว่าพระราชกิจและถ้อยคำของพระองค์เต็มไปด้วยฤทธิ์อำนาจที่มาจากการใช้เวลาอธิษฐาน พวกเขาฟังพระองค์วิงวอนด้วยใจนอบน้อม และกลัวเกรง รู้สึกถึงความขาดแคลนในใจ ฉะนั้นเมื่อพระองค์เสร็จจากการอธิษฐานพวกสาวกจึงร้องออกมาว่า “ขอทรงสอนพวกข้าพระองค์อธิษฐาน” (ลูกา 11:1) {MB 102.2}
พระเยซูไม่ได้ประทานรูปแบบการอธิษฐานใหม่ แต่ทรงทบทวนในรูปแบบที่พระองค์เคยสอนก่อนหน้านั้น เหมือนเป็นการเตือนสาวกให้พิจารณาในสิ่งที่พระองค์เคยสอนว่ามีความหมายลึกซึ้งกว่าที่พวกเขาคิด {MB 103.1}
ถึงอย่างไรก็ตามพระองค์ไม่ได้จำกัดการอธิษฐานของเราให้อยู่ในกรอบการใช้ถ้อยคำที่ระบุไว้เท่านั้น พระเจ้าในสภาพมนุษย์ทรงสอนรูปแบบคำอธิษฐานในอุดมการณ์โดยใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายจนแม้แต่เด็กเล็กก็สามารถเรียนรู้ได้ แต่ในขณะเดียวกันยังครอบคลุมความหมายที่ลึกซึ้งจนแม้แต่นักปราชญ์ผู้ชาญฉลาดก็หยั่งไม่ถึง สรุปง่ายๆ คือให้เราขอบคุณพระเจ้า ทูลขอตามความต้องการ สารภาพความผิดบาป และขอพระเมตตาตามพระสัญญาของพระองค์ {MB 103.2}
“เมื่ออธิษฐานจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา’”—(ลูกา 11:2)
พระเยซูทรงสอนให้เราเรียกพระบิดาของพระองค์เป็นพระบิดาของเรา พระองค์ไม่ทรงละอายที่จะเรียกเราเป็นพี่น้องของพระองค์ (ดู ฮีบรู 2:11) พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีความร้อนรนที่จะต้อนรับเราเข้ามาในครอบครัวของพระเจ้า จึงให้คำแรกที่เราใช้ทูลต่อพระองค์เป็นคำที่ยืนยันถึงสถานภาพระหว่างเรากับพระเจ้า ว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย” (TKJV) {MB 103.3}
นี่คือสัจธรรมอันประเสริฐที่หนุนกำลังและปลอบโยนเราทั้งหลาย พระเจ้าทรงรักเราเหมือนดังที่พระองค์ทรงรักพระบุตร เหมือนครั้งสุดท้ายที่พระเยซูทรงอธิษฐานเผื่อสาวกว่า “พระองค์ทรงรักพวกเขาเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์” (ยอห์น 17:23) {MB 104.1}
ซาตานอ้างว่าโลกนี้เป็นของมัน มันครอบครองโลกด้วยความโหดร้ายทารุณ แต่พระบุตรของพระเจ้าทรงโอบอุ้มโลกด้วยความรักและเชื่อมโยงกับพระบัลลังก์ของพระเยโฮวาห์อีกครั้ง เมื่อมีการรับรองถึงชัยชนะของพระองค์เหล่าทวยเทพทั้งเครูบและเสราฟิมพร้อมด้วยผู้ที่อาศัยในโลกอื่นๆ หมู่ใหญ่อันนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้ตกสู่ความบาป ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและพระเมษโปดก 1 พวกเขามีความปีติยินดีที่พระเจ้าทรงเปิดทางแห่งความรอดให้แก่มนุษยชาติที่หลงผิด และที่โลกจะได้รับการไถ่จากคำสาปแช่งอันเนื่องจากความบาป แล้วเราเล่า ในฐานะผู้ได้รับความรักมหัศจรรย์เช่นนี้ยิ่งควรปลาบปลื้มยินดีเพียงไร {MB 104.2}
แล้วเราจะหวาดผวาหรือสงสัยไปทำไม หรือรู้สึกว่าเราถูกทอดทิ้งเหมือนเด็กกำพร้าได้อย่างไร พระเยซูทรงรับสภาพของมนุษย์เพื่อช่วยคนที่ละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้า พระองค์ทรงรับสภาพเหมือนกับเราเพื่อเราจะได้รับสันติสุขและความมั่นคงนิรันดร์ พระองค์ทรงเป็นผู้แก้ต่างให้เราในสวรรค์ ใครก็ตามที่รับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดจะไม่ถูกทอดทิ้งให้กำพร้าเพื่อแบกรับภาระความบาปของตนแต่ลำพัง {MB 104.3}
“ท่านที่รักทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เราเป็นลูกของพระเจ้า” “และถ้าเราเป็นลูกแล้ว เราก็เป็นทายาท คือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ เมื่อเราทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์ก็เพื่อจะได้ศักดิ์ศรีด้วยกันกับพระองค์ด้วย” “และเราจะเป็นอย่างไรต่อไปข้างหน้านั้นเรายังไม่รู้ แต่เรารู้ในเวลาที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏนั้น เราจะเป็นเหมือนอย่างพระองค์ เพราะว่าเราจะเห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็นอยู่นั้น” (1 ยอห์น 3:2; โรม 8:17) {MB 104.4}
ก้าวแรกของการมาหาพระเจ้าคือการรับรู้และการเชื่อในความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเรา (ดู 1 ยอห์น 4:16) เพราะความรักของพระองค์ชักนำ เราจึงมาหาพระองค์ {MB 104.5}
เมื่อเราเข้าใจถึงความรักของพระเจ้าเราจะสละละทิ้งความเห็นแก่ตัว เมื่อเราเรียกพระเจ้าว่าพระบิดา แสดงว่าลูกคนอื่นๆ ของพระองค์ก็เป็นพี่น้องของเรา และเราก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายของมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกรวมอยู่ในครอบครัวใหญ่ เมื่อเราทูลขอต่อพระองค์เราควรอธิษฐานเผื่อเพื่อนบ้านและเผื่อเราเองด้วย คนที่อธิษฐานขอพรเพื่อตัวเองอย่างเดียวถือว่ายังอธิษฐานไม่ถูก {MB 105.1}
พระเยซูตรัสสอนว่า พระเจ้าผู้ทรงอานุภาพอนันต์ประทานสิทธิพิเศษให้เราเข้าเฝ้าพระองค์โดยเรียกพระองค์ว่าพระบิดา ให้เราพิจารณาถึงความหมายของคำนี้ดู ไม่มีพ่อแม่คนไหน เคยขอร้องลูกผู้หลงผิดให้กลับเนื้อกลับตัวเท่ากับพระบิดาทรงวิงวอนคนบาปให้กลับใจ ไม่เคยมีมนุษย์คนใดติดตามเชื้อเชิญให้คนใจแข็งยอมจำนนด้วยความรักและเอาใจใส่เหมือนอย่างพระองค์ พระเจ้าสถิตอยู่ทุกแห่งหน พระองค์ทรงได้ยินทุกคำที่มนุษย์พูด ทรงสดับรับฟังทุกคำอธิษฐาน และทรงสัมผัสถึงความทุกข์และความสิ้นหวังของทุกคน พระองค์ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติของเราต่อพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรและเพื่อนบ้าน พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในปัจจัยชีวิตประจำวันของเรา พร้อมกับความรักและพระเมตตาคุณของพระองค์ที่หลั่งไหลมายังเราอย่างไม่ขาดสายเพื่อเติมเต็มในปัจจัยเหล่านั้น {MB 105.2}
เมื่อเราเรียกพระองค์ว่าพระบิดา ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าเราเป็นลูกของพระองค์และจะดำเนินชีวิตตามการทรงนำด้วยพระปัญญาของพระองค์ และเชื่อฟังพระองค์ทุกประการ โดยตระหนักว่าความรักของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง เราจะยอมรับแผนการของพระบิดาสำหรับชีวิตของเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตในฐานะลูกของพระเจ้าคือการถวายเกียรติแด่พระองค์ การรับอุปนิสัยของพระองค์มาเป็นของเรา และการเอาใจใส่ต่อคนอื่นในฐานะที่เขาเป็นลูกพระเจ้าเหมือนกัน พร้อมกับใส่ใจในพระราชกิจของพระองค์ เราจะถือว่าเป็นเกียรติที่มีพระเจ้าเป็นพระบิดา และที่ลูกคนอื่นของพระองค์เป็นพี่น้องของเรา เราจะยินดีทำทุกอย่างไม่ว่าจะต่ำต้อยเพียงไร เพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ หรือเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ผู้เป็นญาติของเรา {MB 105.3}
คำต่อมาคือ “ผู้สถิตในสวรรค์” พระเยซูทรงให้เราอธิษฐานต่อพระบิดาผู้ “อยู่ในฟ้าสวรรค์ สิ่งใดที่พอพระทัย พระองค์ก็ทรงกระทำ” เราจะพักพิงอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของพระองค์ พร้อมกับกล่าวว่า “เมื่อข้าพระองค์กลัว ข้าพระองค์วางใจในพระองค์” (สดุดี 115:3; 56:3) {MB 106.1}
“ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ”—(มัทธิว 6:9)
เราเคารพพระนามของพระเจ้าด้วยการมีสัมมาคารวะเมื่อเราพูดถึงพระองค์ “พระนามของพระองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์และน่าคร้ามกลัว” (สดุดี 111:9) ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามอย่าได้แสดงว่าเราไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่งและพระนามต่างๆ ของพระเจ้าเป็นอันขาด เมื่อเราอธิษฐานเราได้เข้าไปในท้องพระโรงของพระเจ้าผู้สูงสุด และเราควรเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความเคารพยำเกรง บรรดาทูตสวรรค์ปกหน้าเมื่อเข้าเฝ้าพระองค์ พวกเครูบและเหล่าเสราฟิมผู้บริสุทธิ์เข้าหาพระบัลลังก์ของพระเจ้าด้วยความนอบน้อมถ่อมตน แล้วเราผู้เป็นมนุษย์และเป็นคนบาปจึงยิ่งควรมีสัมมาคารวะเมื่อเข้าเฝ้าพระผู้สร้างของเรา {MB 106.2}
แต่การเคารพสักการะพระนามของพระองค์มีความหมายมากกว่าที่กล่าวถึงนี้ เราอาจจะแสดงกิริยาท่าทางว่าเรานับถือพระเจ้า เหมือนชาวยิวในสมัยพระเยซู แต่ในขณะเดียวกันก็อาจหมิ่นประมาทพระองค์ด้วยชีวิต พระนามของพระเจ้าศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ “ทรงพระกรุณา ทรงกอปรด้วยพระคุณ ทรงกริ้วช้า และบริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง และความสัตย์จริง…ทรงโปรดยกโทษการล่วงละเมิด การทรยศและบาป” (อพยพ 34:5–7 TH1971) มีคำเขียนถึงคริสตจักรว่า “นี่เป็นชื่อซึ่งเขาจะเรียกเมืองนั้นคือ ‘พระเจ้าทรงเป็นความชอบธรรมของเรา’” (เยเรมีย์ 33:16 TH1971) พระนามนี้ได้ประทับไว้ที่ผู้ติดตามพระคริสต์ทุกคน เป็นมรดกของผู้ที่เป็นลูกของพระเจ้า ลูกๆ ก็ถูกเรียกตามพระนามของพระบิดา ครั้นเมื่อประชากรอิสราเอลตกทุกข์ได้ยาก ประชาชนมีความชอกช้ำระกำใจ ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์อธิษฐานว่า “คนเขาเรียกพวกข้าพระองค์โดยพระนามของพระองค์ ขออย่าทรงละทิ้งข้าพระองค์ทั้งหลาย” (เยเรมีย์ 14:9) {MB 106.3}
พระนามของพระเจ้าเป็นที่เคารพนับถือของทูตสวรรค์และผู้ที่อาศัยตามโลกอื่นๆ ที่ไม่ได้ตกสู่ความบาป เมื่ออธิษฐานว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” แสดงว่าเราต้องการให้พระนามพระองค์เป็นที่เคารพสักการะในโลกและในชีวิตของเราด้วย พระเจ้าทรงยอมรับเราเป็นลูกของพระองค์ต่อหน้ามนุษย์และทูตสวรรค์ จงอธิษฐานขอเพื่อท่านจะไม่ให้ “พระนามประเสริฐที่ใช้เรียกพวกท่าน” ต้องเสียเกียรติ (ยากอบ 2:7) พระเจ้าทรงใช้เราออกไปเป็นตัวแทนของพระองค์ในโลกนี้ เราควรแสดงออกถึงพระนามของพระองค์ในทุกการกระทำในชีวิต ด้วยการมีพระลักษณะอุปนิสัยของพระองค์ เพราะถ้าขาดพระลักษณะนิสัยของพระเจ้า และถ้าชีวิตของเราไม่เป็นไปตามชีวิตของพระองค์ เราไม่สามารถเคารพสักการะพระนามพระองค์ หรือสำแดงพระองค์ให้ชาวโลกเห็น ซึ่งมีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำได้ นั่นคือการรับเอาพระคุณและความชอบธรรมของพระคริสต์ {MB 107.1}
“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่”—(มัทธิว 6:10)
พระเจ้าเป็นพระบิดาของเรา พระองค์ทรงรักทรงห่วงใยเราทั้งหลายในฐานะเป็นลูกของพระองค์ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองจักรวาล เรามีส่วนได้ส่วนเสียในแผ่นดินของพระเจ้า จึงควรทำงานเพื่อเสริมสร้างอาณาจักรของพระองค์ {MB 107.2}
สาวกของพระคริสต์คาดว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะมาตั้งในตอนนั้นเลย แต่พระเยซูสอนให้พวกเขาอธิษฐานแบบนี้เพื่อจะได้รู้ว่าอาณาจักรของพระองค์จะยังไม่มาตั้งในขณะนั้น พวกเขาต้องอธิษฐานขอให้มาตั้งเพราะยังเป็นเรื่องของอนาคตอยู่ แต่ขณะเดียวกันคำอธิษฐานนี้ก็ยังเป็นการรับรองว่า ถึงแม้จะไม่เห็นในสมัยของพวกเขา แต่ที่พระเยซูให้อธิษฐานขอก็แสดงว่าพระเจ้าจะทรงตั้งอาณาจักรของพระองค์อย่างแน่นอนเมื่อถึงเวลา {MB 107.3}
อาณาจักรแห่งพระคุณกำลังตั้งอยู่ทุกๆ วัน ขณะที่มนุษย์ผู้มีใจเต็มไปด้วยความบาปและการทรยศยอมจำนนอยู่ใต้อธิปไตยแห่งความรัก แต่การตั้งอาณาจักรแห่งพระสิรินั้นจะไม่สำเร็จสมบูรณ์จนกว่าพระคริสต์เสด็จมาครั้งที่สอง เมื่อ “ราชอาณาจักรกับราชอำนาจ และความยิ่งใหญ่แห่งบรรดาราชอาณาจักรภายใต้สวรรค์ทั้งสิ้น…ถูกมอบไว้แก่บรรดาผู้บริสุทธิ์คือประชากรขององค์ผู้สูงสุด” (ดาเนียล 7:27) พวกเขาจะรับแผ่นดินเป็นมรดก ที่ทรงเตรียมไว้ให้ “ตั้งแต่แรกสร้างโลก” (มัทธิว 25:34) และพระคริสต์จะทรง “ถือครองฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์” (วิวรณ์ 11:17) {MB 108.1}
ประตูเมืองสวรรค์จะเปิดออกอีกครั้ง และพระผู้ช่วยให้รอดของเราจะเสด็จมาในฐานะกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งปวง พร้อมด้วยชาวสวรรค์บริสุทธิ์นับแสนๆ ล้านๆ พระเยโฮวาห์อิมมานูเอล “จะทรงเป็นกษัตริย์เหนือพิภพทั้งสิ้น ในวันนั้นพระเจ้าจะทรงเป็นเอก และพระนามของพระองค์ก็เป็นเอก” ที่ประทับของพระเจ้าจะอยู่กับมนุษย์ “และพระองค์จะประทับกับเขาทั้งหลาย พวกเขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ พระเจ้าเองจะสถิตกับเขา และจะทรงเป็นพระเจ้าของเขา” (เศคาริยาห์ 14:9 TH1971; วิวรณ์ 21:3) {MB 108.2}
แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมา พระเยซูตรัสว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้านี้ จะถูกประกาศไปทั่วโลก ให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติ แล้วที่สุดปลายจะมาถึง” (มัทธิว 24:14) อาณาจักรของพระองค์จะไม่มาจนกว่าข่าวดีเรื่องพระคุณของพระองค์ได้ถูกนำไปประกาศทั่วโลก ฉะนั้นเมื่อเรามอบชีวิตให้พระเจ้าและนำคนอื่นมาหาพระองค์ นั่นเป็นการเร่งการเสด็จมาของพระองค์ มีกลุ่มเดียวเท่านั้นที่สามารถอธิษฐานว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่” อย่างเต็มปากเต็มคำ คือผู้ที่ทูลว่า “ข้าพระองค์อยู่นี่ ขอทรงใช้ข้าพระองค์เถิด” (อิสยาห์ 6:8) ขอทรงใช้ข้าพระองค์เพื่อเปิดตาคนตาบอด และหันเขาจากความมืด “มาหาความสว่าง จากอำนาจของซาตานมาหาพระเจ้า เพื่อให้พวกเขาได้รับการอภัยบาป และมีส่วนอยู่ท่ามกลางคนที่ได้รับการชำระให้เป็นธรรมิกชน” (กิจการ 26:18) {MB 108.3}
“ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์”—(มัทธิว 6:10 TNCV)
น้ำพระทัยของพระเจ้าปรากฏอยู่ในธรรมบัญญัติของพระองค์ หลักการในพระบัญญัติเป็นหลักธรรมแห่งสวรรค์ ความรู้อันสูงสุดที่ทูตสวรรค์บรรลุถึงได้คือการรู้จักน้ำพระทัยของพระเจ้า และงานรับใช้สูงสุดที่เหล่าทูตสวรรค์สามารถทุ่มเทกำลังทำได้คือการทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ {MB 109.1}
การรับใช้ในสวรรค์ไม่ได้ทำด้วยความจำใจเพื่อเป็นการรักษากฎ ที่จริงเมื่อครั้งที่ซาตานเริ่มกบฏต่อบทบัญญัติของพระเยโฮวาห์ ทูตสวรรค์ส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสวรรค์มีกฎ เพราะพวกเขาประกอบกิจรับใช้ไม่เหมือนผู้รับใช้แต่เหมือนดังบุตร มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างกลมเกลียวอยู่ระหว่างทูตสวรรค์กับพระผู้สร้าง เหล่าทูตสวรรค์ไม่ได้รู้สึกว่าต้องฝืนใจที่จะเชื่อฟังพระองค์ พวกเขารักพระเจ้าจึงมีความสุขในการรับใช้พระองค์ เช่นเดียวกับทุกคนที่ยึดพระคริสต์ไว้เป็นความหวังที่จะได้รับศักดิ์ศรี จะสะท้อนถึงพระวจนะของพระองค์ที่ว่า “ข้าพระองค์ยินดีทำตามพระทัยพระองค์ ธรรมบัญญัติของพระองค์อยู่ในจิตใจของข้าพระองค์” (สดุดี 40:8) {MB 109.2}
คำว่า “ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์” เป็นการทูลขอให้การครอบครองโลกโดยอำนาจชั่วสิ้นสุดลง ขอทรงลบล้างความบาป และสถาปนาอาณาจักรแห่งความชอบธรรม เพื่อทุกอย่างทั้งในโลกและสวรรค์จะเป็นไปตามพระประสงค์อันประเสริฐของพระองค์ (ดู 2 เธสะโลนิกา 1:11 ฉบับ KJV) {MB 110.1}
“ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้”—(มัทธิว 6:11)
ช่วงแรกของคำเทศนาพระเยซูสอนเราเกี่ยวกับพระนาม อาณาจักร และน้ำพระทัยของพระเจ้า เพื่อเราจะเคารพสักการะพระนามของพระองค์ เพื่ออาณาจักรของพระองค์จะมาตั้ง และทุกอย่างจะเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ เมื่อเราเอาการรับใช้พระเจ้ามาก่อน เราสามารถอธิษฐานขอสิ่งที่จำเป็นในชีวิตด้วยความมั่นใจ ถ้าเราได้ปฏิเสธตัวเองและมอบชีวิตให้องค์พระคริสต์ เราก็เป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า และทุกสิ่งที่อยู่ในพระนิเวศน์ของพระบิดา คือสมบัติทั้งหมดของพระเจ้าเปิดไว้เพื่อเรา ทั้งในโลกปัจจุบันและในโลกหน้า พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ มีความช่วยเหลือของเหล่าทูตสวรรค์ และการงานของผู้รับใช้ของพระองค์ ทั้งโลกและทุกสิ่งที่อยู่ในโลกเตรียมไว้สำหรับผู้ที่เอาการรับใช้พระเจ้าเป็นที่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้มีไว้ให้ใช้เท่าที่จะเกิดประโยชน์แก่เรา แม้การคัดค้านของคนชั่วก็เป็นพระพรในการฝึกวินัยให้เรามีความพร้อมสำหรับสวรรค์ ถ้า “ท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์” “ทุกสิ่งเป็นของท่าน” (1 โครินธ์ 3:23, 21) {MB 110.2}
แต่ก็เหมือนลูกที่ยังไม่ได้รับมอบมรดก เพราะพระเจ้ายังไม่ได้มอบมรดกอันล้ำค่าแก่เรา เกลือกว่าซาตานจะหลอกล่อเราให้หลงด้วยกลเม็ดเด็ดพรายอย่างที่มันล่อลวงมนุษย์คู่แรกในสวนเอเดน พระคริสต์ทรงเก็บมรดกนั้นไว้ให้เราพ้นมือผู้ทำลาย และก็เช่นเดียวกับเด็ก ทุกๆ วันเราจะได้รับปัจจัยสำหรับชีวิตประจำวัน ทุกวันเราควรอธิษฐานว่า “ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้” และอย่าได้ท้อใจเมื่อมีไม่พอสำหรับพรุ่งนี้ พระเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญาว่า “ท่านจึงจะอาศัยอยู่ในแผ่นดินและจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างแท้จริง” ดาวิดกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยหนุ่ม และเดี๋ยวนี้แก่แล้ว แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นคนชอบธรรมถูกทอดทิ้ง หรือเชื้อสายของเขาขอทาน” (สดุดี 37:3, 25 TKJV) พระเจ้าผู้ทรงใช้นกกาไปเลี้ยงเอลียาห์อยู่ข้างลำธารเครีทจะไม่มองข้ามลูกคนใดของพระองค์ผู้สัตย์ซื่อและเสียสละ พระคัมภีร์เขียนถึงผู้ที่ดำเนินชีวิตในทางชอบธรรมว่า “จะมีผู้ให้อาหารแก่เขา น้ำดื่มของเขาจะมีแน่” “เขาจะไม่อับอายในเวลาเลวร้าย ในยามขาดแคลนเขาจะมีบริบูรณ์” “พระองค์ผู้ไม่ทรงหวงพระบุตรของพระองค์เอง แต่ประทานพระบุตรนั้นเพื่อเราทุกคน ถ้าเช่นนั้น พระองค์จะไม่ประทานสิ่งสารพัดให้เราด้วยกันกับพระบุตรนั้นหรือ” (อิสยาห์ 33:16; สดุดี 37:19; โรม 8:32) พระองค์ผู้ทรงแบ่งเบาภาระของมารดาผู้เป็นหม้าย ทรงเห็นใจผู้เป็นแม่ทุกคนที่ดิ้นรนตะเกียกตะกายเพื่อเลี้ยงลูก พระองค์ผู้ทรงสงสารฝูงชนเพราะ “อิดโรย กระจัดกระจายไป” (มัทธิว 9:36 TKJV) ยังเมตตาสงสารผู้ยากไร้ พระหัตถ์ของพระองค์ยื่นออกเพื่ออวยพรพวกเขา ในคำอธิษฐานเดียวกันนั้นเองที่พระองค์ประทานให้สาวก ทรงสอนให้เราระลึกถึงคนยากจนด้วย {MB 110.3}
เมื่ออธิษฐานว่า “ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้” เราอธิษฐานเพื่อคนอื่นและเพื่อเราเองด้วย และยอมรับว่า สิ่งที่พระเจ้าประทานให้นั้น ไม่ได้ประทานเพื่อเราอย่างเดียว พระเจ้ามอบให้มนุษย์เราดูแลของประทานเหล่านั้น เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนที่อดอยากหิวโหย พระองค์ผู้ทรงบริบูรณ์ด้วยความดี ทรงจัดเตรียมให้แก่คนยากจน (สดุดี 68:10) ตรัสว่า “เมื่อท่านจะจัดการเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือเวลาเย็นก็ตาม อย่าเชิญเฉพาะเพื่อนๆ หรือพี่น้อง หรือญาติๆ หรือบรรดาเพื่อนบ้านที่มั่งมี…แต่เมื่อท่านจัดการเลี้ยงนั้น จงเชิญคนจน คนพิการ คนง่อย และคนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายไม่มีอะไรจะตอบแทนท่าน ส่วนท่านจะได้รับการตอบแทนเมื่อคนชอบธรรมเป็นขึ้นจากตาย” (ลูกา 14:12–14) {MB 111.1}
“พระเจ้าทรงสามารถประทานพระคุณทุกประการอย่างล้นเหลือแก่ท่าน เพื่อว่าท่านจะมีทุกอย่างที่จำเป็นอยู่ทุกเวลา และท่านจะมีล้นเหลือสำหรับการดีทุกอย่าง” “จงจำไว้ว่าผู้ที่หว่านอย่างตระหนี่ก็จะเก็บเกี่ยวได้น้อย ผู้ที่หว่านด้วยใจกว้างขวางก็จะเก็บเกี่ยวได้มาก” (2 โครินธ์ 9:8, 6 TNCV) {MB 112.1}
คำอธิษฐานที่ทูลขออาหารประจำวันไม่ได้หมายถึงเฉพาะอาหารฝ่ายเนื้อหนังแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงอาหารบำรุงเลี้ยงจิตวิญญาณด้วย พระเยซูทรงเชื้อเชิญเราว่า “อย่าทำงานเพื่อแสวงหาอาหารที่เสื่อมสูญได้ แต่จงแสวงหาอาหารที่คงทนอยู่จนถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 6:27) พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นอาหารดำรงชีวิตซึ่งลงมาจากสวรรค์ ถ้าใครกินอาหารนี้ คนนั้นจะมีชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 51) พระผู้ช่วยให้รอดของเราเป็นอาหารธำรงชีวิต เมื่อเราเพ่งพินิจความรักของพระองค์และรับเข้ามาในใจ เราได้รับอาหารซึ่งลงมาจากสวรรค์ {MB 112.2}
เรารับพระคริสต์ผ่านพระวจนะของพระองค์ พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพระวจนะนั้น และนำมาใช้ให้ตรงกับประเด็นในชีวิตประจำวันของเรา ทุกวันเมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ เราควรอธิษฐานว่า ขอให้พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเสริมกำลังใจสำหรับวันนั้น {MB 112.3}
พระเยซูทรงสอนให้เราทูลขอปัจจัยด้านร่างกายและจิตวิญญาณในแต่ละวัน เป็นเพราะพระเจ้ามีพระประสงค์ในการอำนวยประโยชน์ให้แก่เรา เพื่อให้ตระหนักว่าเราต้องพึ่งพาพระองค์ตลอดเวลา และเพื่อนำเราให้ร่วมสามัคคีธรรมกับพระองค์ เมื่อเราร่วมสามัคคีธรรมกับพระคริสต์ผ่านการอธิษฐานและการศึกษาหลักธรรมอันประเสริฐแห่งพระวจนะของพระองค์เช่นนี้ จิตใจที่หิวโซจะได้รับการหล่อเลี้ยง และจิตวิญญาณที่แห้งแล้งจะได้รับการดับกระหาย {MB 113.1}
“ขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยว่าข้าพระองค์ยกความผิดของทุกคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น”—(ลูกา 11:4 TH1971)
พระเยซูทรงสอนว่า เราจะได้รับการอภัยจากพระเจ้าต่อเมื่อเรายกโทษให้ผู้อื่น ความรักของพระเจ้าชักนำเรามาหาพระองค์ และเมื่อความรักนั้นสัมผัสใจของเราแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีความรักต่อพี่น้อง {MB 113.2}
หลังจากที่สอนรูปแบบการอธิษฐานแล้ว พระเยซูตรัสเพิ่มว่า “ถ้าพวกท่านให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านด้วย แต่ถ้าพวกท่านไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านจะไม่ทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านเหมือนกัน” (มัทธิว 6:14–15) ผู้ที่ไม่ให้อภัยคนอื่นกำลังตัดช่องทางเดียวที่เขาจะได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า เราไม่ควรคิดว่า ถ้าคนที่ทำผิดต่อเราไม่มาขอโทษ แสดงว่าเรายังไม่ต้องยกโทษให้เขา จริงอยู่ เขามีหน้าที่ที่จะน้อมรับผิดและกลับตัวกลับใจ แต่เราก็ควรมีใจกรุณาต่อผู้ที่ทำผิดต่อเรา ไม่ว่าเขาจะขอโทษหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีคนทำผิดร้ายแรงให้เราชอกช้ำแค่ไหน แต่เราไม่ควรเคียดแค้น หรือน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเมื่อเราหวังให้พระเจ้ายกโทษให้เรา เราควรให้อภัยทุกคนที่ทำผิดต่อเราเช่นกัน {MB 113.3}
แต่การให้อภัยมีความหมายที่กว้างขวางกว่าที่คนส่วนมากคิด เมื่อพระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงให้อภัย “อย่างล้นเหลือ” พระองค์ตรัสเพิ่มเติมราวกับว่า ความหมายของพระสัญญาข้อนี้ลึกซึ้งกว่าที่เราจะเข้าใจ “‘เพราะความคิดของเราไม่เป็นความคิดของเจ้า ทั้งทางของเจ้าก็ไม่เป็นวิถีของเรา’ พระเจ้าตรัสดังนี้ ‘เพราะฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด วิถีของเราสูงกว่าทางของเจ้า และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าฉันนั้น’” (อิสยาห์ 55:7–9 TH1971) การให้อภัยของพระเจ้าไม่เพียงแต่เปรียบเหมือนการให้เราพ้นโทษในชั้นศาล ไม่ใช่การยกโทษเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟื้นฟูเราจากสภาพของความบาป การให้อภัยของพระเจ้า คือการทุ่มเทความรักเพื่อไถ่เราให้พ้นบาป เป็นการประทานความรักที่เปลี่ยนใจใหม่ให้เรา ดาวิดเข้าใจถูกต้องเรื่องการให้อภัยเมื่อท่านอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงสร้างจิตใจที่บริสุทธิ์ในข้าพระองค์ และทรงฟื้นจิตวิญญาณอันมั่นคงขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์” (สดุดี 51:10 TNCV) และอีกครั้งหนึ่งที่กล่าวว่า “ตะวันออกไกลจากตะวันตกเท่าใด พระองค์ทรงปลดการละเมิดไปไกลจากเราเท่านั้น” (สดุดี 103:12) {MB 114.1}
พระเจ้าประทานพระองค์เองผ่านพระคริสต์เพราะความบาปของเรา พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานบนไม้กางเขนจนสิ้นพระชนม์ เป็นการรับโทษแทนเรา “คือพระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรม” (1 เปโตร 3:18) เพื่อจะทรงสำแดงความรักของพระองค์ และทรงชักนำให้เรามาหาพระองค์ ตรัสว่า “จงมีใจกรุณา ใจสงสาร และใจให้อภัยแก่กันและกัน เหมือนอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านในพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:32) จงให้พระคริสต์ คือชีวิตของพระเจ้า ดำรงอยู่ในท่าน และสำแดงความรักจากสวรรค์ผ่านตัวท่าน เพื่อให้ความหวังแก่ผู้ที่สิ้นหวังและนำสันติสุขแห่งสวรรค์มาให้ผู้ที่ทุกข์ใจเพราะบาป นี่เป็นเงื่อนไขในการเข้าเฝ้าพระเจ้า คือเมื่อเราได้รับพระเมตตาจากพระองค์แล้ว เราเองก็ต้องยอมให้พระองค์ทรงใช้เราเพื่อสำแดงพระคุณนั้นแก่คนอื่น {MB 114.2}
มีความจำเป็นอยู่อย่างเดียวเพื่อให้เราได้รับและแบ่งปันความรักที่ให้อภัยของพระเจ้า นั่นคือการได้รู้จักและเชื่อในความรักที่พระองค์ทรงมีให้เรา (1 ยอห์น 4:16) ซาตานกำลังใช้กลอุบายทุกวิธีที่มันมีอยู่เพื่อไม่ให้เราเข้าใจความรักนั้น มันจะนำเราให้คิดว่าความผิดบาปของเราหนักหนาเกินกว่าที่พระองค์จะอวยพรเรา หรือรับฟังคำอธิษฐาน หรือช่วยเราให้รอดได้ เมื่อมองที่ตัวเอง เราเห็นแต่ความอ่อนแอและความไม่คู่ควรของเรา ซาตานหลอกว่า ‘อย่าเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีทางที่จะแก้ไขความบกพร่องในอุปนิสัยหรอก’ เมื่อเราพยายามมาหาพระเจ้า ศัตรูผู้ร้ายกาจจะกระซิบว่า ‘การอธิษฐานนั้นไร้ประโยชน์เพราะเจ้าก็ทำบาปนั้นจริง ได้ทำผิดต่อพระเจ้าและต่อตนเอง’ แต่เราสามารถตอบมันว่า “พระโลหิตของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ก็ชำระเราให้ปราศจากบาปทั้งสิ้น” (1 ยอห์น 1:7) เมื่อเรารู้สึกว่าได้ทำบาปและอธิษฐานไม่ออก นั่นแหละเป็นเวลาที่ควรอธิษฐาน เราอาจรู้สึกอับอายขายหน้า แต่เราต้องอธิษฐานและเชื่อ “คำกล่าวนี้สัตย์จริงและสมควรแก่การรับไว้อย่างยิ่ง คือว่าพระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลก เพื่อทรงช่วยคนบาปให้รอด และในพวกคนบาปนั้น ข้าพเจ้าเป็นตัวเอ้” (1 ทิโมธี 1:15) พระเจ้าทรงอภัยให้เรา และนำเราให้กลับคืนดีกับพระองค์ ไม่ใช่เพื่อตอบแทนการกระทำดีของเรา ไม่ใช่เพราะการสร้างบุญของคนบาป แต่เป็นของประทาน โดยอาศัยความชอบธรรมอันสมบูรณ์แบบของพระคริสต์ {MB 115.1}
เราไม่ควรลดความผิดของเราด้วยการแก้ตัว แต่ต้องยอมรับการประเมินค่าจากพระเจ้า ว่าบาปนั้นหนักมาก การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์บนไม้กางเขนเท่านั้นที่จะทำให้เราเห็นว่าความบาปนั้นร้ายแรงอย่างมหันต์ ถ้าเราต้องแบกรับความบาปของเราเอง มันก็คงกดทับเราตาย แต่พระองค์ผู้ไม่มีบาปได้แทนที่เราแล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่คู่ควร แต่พระองค์ทรงแบกรับเอาความบาปผิดของเรา “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” (1 ยอห์น 1:9 TH1971) โอ สัจธรรมอันประเสริฐล้ำ พระเจ้าทรงยุติธรรมต่อธรรมบัญญัติของพระองค์ และในขณะเดียวกันทรงชำระทุกคนที่เชื่อในพระเยซูให้เป็นคนชอบธรรม “ใครเล่าจะเป็นเหมือนพระองค์ผู้ทรงอภัยบาป และทรงมองข้ามการทรยศของคนที่เหลืออยู่อันเป็นมรดกของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านมิได้ทรงพระพิโรธเป็นนิตย์ เพราะพระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง” (มีคาห์ 7:18) {MB 116.1}
“ขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย”—(มัทธิว 6:13)
การทดลองคือการถูกล่อให้ทำบาป ซึ่งการทดลองนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้าแต่มาจากซาตานและความชั่วในใจเราเอง “พระเจ้าจะไม่ถูกความชั่วล่อลวง และพระองค์เองก็ไม่ทรงล่อลวงใครเลย” (ยากอบ 1:13) {MB 116.2}
ซาตานพยายามยั่วยุให้เราพ่ายแพ้ต่อการทดลอง เพื่อความชั่วของเราจะได้ปรากฏต่อมนุษย์และทูตสวรรค์ และซาตานจะได้อ้างสิทธิ์ในตัวเรา ดังคำพยากรณ์ของเศคาริยาห์ที่กล่าวเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า ซาตานยืนอยู่ขัดขวางทูตสวรรค์ของพระเจ้า เพื่อฟ้องโยชูวามหาปุโรหิต ซึ่งสวมเสื้อผ้าสกปรก นี่แสดงถึงท่าทีของซาตานที่มีต่อมนุษย์ทุกคนที่พระคริสต์ทรงนำให้มาหาพระองค์ มันหลอกล่อให้ทำบาป แล้วก็ฟ้องเราต่อชาวสวรรค์ ว่าเราไม่คู่ควรที่จะได้รับความรักจากพระเจ้า แต่ “พระเจ้าตรัสกับซาตานว่า ‘โอ ซาตาน พระเจ้าตรัสห้ามเจ้าเถอะ พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรกรุงเยรูซาเล็มทรงห้ามเจ้าเถิด นี่ไม่ใช่ดุ้นฟืนที่ฉวยออกมาจากไฟดอกหรือ’” และกับโยชูวาว่า “ดูเถิด เราได้เอาความผิดบาปออกไปเสียจากเจ้าแล้ว และเราจะประดับตัวเจ้าด้วยเสื้อผ้าอันสะอาด” (เศคาริยาห์ 3:1–4 TH1971) {MB 116.3}
พระเจ้าแห่งความรักทรงหาทางให้เราพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงามตามแบบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงยอมให้เราต้องประสบกับอุปสรรค การกดขี่ และความทุกข์ยาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การถูกสาปแช่ง แต่เป็นพระพรที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับชีวิตของเรา ทุกครั้งที่เราชนะการทดลองหรืออดทนต่อความยากลำบาก เราได้ประสบการณ์ใหม่และเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเสริมสร้างอุปนิสัย คนที่ชนะการทดลองด้วยอำนาจของพระเจ้า แสดงให้ชาวโลกและทั่วทั้งจักรวาลเห็นถึงประสิทธิผลแห่งพระคุณของพระคริสต์ {MB 117.1}
ถึงแม้ว่าเราไม่ควรสะทกสะท้านต่อความทุกข์ขมขื่นใดๆ แต่ในขณะเดียวกันเราควรอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า ขออย่าให้เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เราจะหลงไปตามกิเลสในใจเราเอง เมื่อเราอธิษฐานตามแบบคำอธิษฐานของพระคริสต์ ก็เท่ากับเป็นการยินยอมต่อการทรงนำของพระเจ้า และขอให้พระองค์ทรงนำเราในทางที่ปลอดภัย เราไม่สามารถอธิษฐานเช่นนี้จากใจจริงได้ ถ้าในขณะเดียวกันยังเลือกทางเดินตามใจปราถนาอยู่ แต่เราจะรอให้พระหัตถ์ของพระองค์นำทาง เราจะรอฟังพระสุรเสียงของพระองค์ตรัสว่า “นี่เป็นหนทาง จงเดินในทางนี้” (อิสยาห์ 30:21) {MB 117.2}
การมัวแต่พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับหากฟังคำของซาตานเป็นการไม่ปลอดภัย ทุกคนที่ติดตามความบาปจะเดินไปสู่ความอัปยศอดสูและความพินาศ ความบาปเป็นตัวหลอกลวง ทั้งเย้ายวนและสอพลอ ถ้าเราเสี่ยงไปในที่ของซาตาน ก็ไม่มีอะไรรับรองความปลอดภัยว่าเราจะได้รับการคุ้มครองจากอำนาจของมัน เท่าที่ขึ้นอยู่กับเรา เราควรปิดทุกทางที่ซาตานอาจใช้เพื่อเข้ามาทดลองได้ {MB 118.1}
คำอธิษฐาน “ขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง” เป็นพระสัญญาอยู่ในตัว ถ้าเราอุทิศชีวิตให้พระเจ้า เรามั่นใจในพระสัญญานี้ได้ว่า “ไม่มีการทดลองใดๆ มาถึงท่านนอกจากการทดลองที่เกิดกับมนุษย์ทั่วไป และพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้ท่านถูกทดลองเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อท่านถูกทดลอง พระองค์จะทรงให้ท่านมีทางออกด้วย เพื่อท่านจะยืนหยัดได้ภายใต้การทดลอง” (1 โครินธ์ 10:13 TNCV) {MB 118.2}
มีสิ่งเดียวที่จะปกป้องให้เราปลอดภัยจากความชั่ว นั่นคือการรับพระคริสต์เข้ามาสถิตในใจด้วยความเชื่อ คือเชื่อในความชอบธรรมของพระองค์ การทดลองมีอำนาจเหนือเราเพราะความเห็นแก่ตัวนั่นเอง แต่เมื่อเราพิจารณาถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแล้ว เราจะเกิดความขยะแขยงต่อความเห็นแก่ตัวที่เรามี และหวังที่จะให้มันถูกขจัดออกไปจากใจ ขณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยกชูพระคริสต์ ใจเราก็จะสงบลง การทดลองก็สิ้นฤทธิ์ และพระคุณของพระคริสต์จะเปลี่ยนอุปนิสัยของเรา {MB 118.3}
พระคริสต์จะไม่มีวันทอดทิ้งผู้ที่พระองค์ทรงไถ่ คนๆ นั้นอาจหันหลังให้กับพระองค์และพ่ายแพ้ต่อการทดลอง แต่พระคริสต์มิอาจเมินพระพักตร์จากผู้ที่พระองค์ทรงเสียค่าไถ่ด้วยพระชนม์ชีพได้ ถ้าตาใจเปิดออก เราก็จะเห็นหลายคนที่น้อมตัวลงภายใต้ภาระที่หนักอึ้ง จิตใจที่ท้อแท้และเศร้าสลดพร้อมจะสลาย แต่ในเวลาเช่นนี้เองเราก็จะเห็นด้วยตาใจว่า เหล่าทูตสวรรค์เร่งปีกโผบินไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นที่กำลังถูกทดลองประหนึ่งว่าเขายืนอยู่ที่ขอบหน้าผา ทูตสวรรค์ขับไล่หมู่มารที่ห้อมล้อมพวกเขาไว้ และนำย่างเท้าเขากลับมาให้ยืนบนศิลามั่นคง การสู้รบระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่ายนี้เป็นจริงเท่าๆ กับการรบสู้ของกองทัพมนุษย์ในภาวะสงคราม และชะตากรรมฉากสุดท้ายของมนุษย์แต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ฝ่ายจิตวิญญาณนี้ {MB 118.4}
ถ้อยคำที่พระคริสต์ตรัสกับเปโตรตกทอดมาถึงพวกเราว่า “ซาตานได้ขอไว้ที่จะฝัดร่อนท่านเหมือนข้าวสาลี แต่…เราได้อธิษฐานเผื่อท่าน เพื่อความเชื่อของท่านจะไม่ล้มเหลว” (ลูกา 22:31–32 TNCV) ขอบคุณพระเจ้าที่เราไม่ได้ถูกทอดทิ้ง พระเจ้า “ทรงรักโลกจนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศแต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 3:16 TNCV) พระองค์จะไม่ละทิ้งเราให้ต้องสู้กับมารศัตรูของพระเจ้าและมนุษย์แต่ลำพัง ตรัสว่า “นี่แน่ะ เราให้พวกท่านมีสิทธิอำนาจเหยียบงูร้ายและแมงป่อง และให้มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าฤทธานุภาพของศัตรูนั้น ไม่มีอะไรจะมาทำอันตรายพวกท่านได้เลย” (ลูกา 10:19) {MB 119.1}
จงดำเนินชีวิตให้ติดสนิทกับพระคริสต์ และพระองค์จะทรงจูงท่านไปด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ และจะไม่ทรงละท่านเลย จงรับรู้และเชื่อในความรักที่พระเจ้าทรงมีให้ท่าน และท่านจะอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย ความรักนั้นเป็นป้อมปราการที่จะคุ้มครองเราให้ปลอดภัยจากการถูกโจมตีและการหลอกลวงของซาตาน “พระนามของพระเจ้าเป็นป้อมเข้มแข็ง คนชอบธรรมวิ่งเข้าไปในนั้นและปลอดภัย” (สุภาษิต 18:10 TH1971) {MB 119.2}
“เหตุว่าอาณาจักรและฤทธิ์เดชและสง่าราศีเป็นของพระองค์สืบๆ ไปเป็นนิตย์”—(มัทธิว 6:13 TKJV)
ประโยคสุดท้ายของคำอธิษฐานที่พระเยซูสอนนั้นก็เหมือนประโยคแรก เพราะเป็นการเชิดชูพระบิดาไว้เหนืออำนาจทุกอย่างของมนุษย์และเทพ “และเหนือทุกนามที่เขาเอ่ยขึ้น” (เอเฟซัส 1:21 TNCV) พระเยซูทอดพระเนตรเห็นอนาคตอันยาวไกลของสาวก ว่าจะไม่เหมือนที่พวกเขาวาดฝันคือที่จะมีความเกษมสำราญทางฝ่ายโลก แต่ความชิงชังของมนุษย์และความแค้นเคืองของซาตานจะโหมกระหน่ำดังพายุที่ดำทะมึน ท่ามกลางความอลหม่านและหายนะในบ้านเมือง จะมีภยันตรายห้อมล้อมไปทุกย่างก้าว และใจพวกเขาจะหวาดหวั่นด้วยความกลัวอยู่บ่อยๆ พวกเขาจะได้เห็นตอนที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายให้ร้าง และพระวิหารถูกทำลายจนราบคาบ โดยจะไม่มีการนมัสการในนั้นอีก ชาวยิวจะถูกกระจัดกระจายไปยังชาติต่างๆ ทั่วโลก สิ้นเนื้อประดาตัว ไร้ที่พึ่งประดุจเรือซึ่งอับปางอยู่ที่ชายหาดเปลี่ยว พระเยซูตรัสว่า “ท่านจะได้ยินเสียงสงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม…ประชาชาติกับประชาชาติ และอาณาจักรกับอาณาจักรจะต่อสู้กัน ทั้งจะเกิดกันดารอาหารและแผ่นดินไหวในที่ต่างๆ แต่สิ่งทั้งหมดนี้เป็นการเริ่มต้นของความทุกข์เหมือนเริ่มคลอดลูก” (มัทธิว 24:6–8) แต่สาวกของพระคริสต์ไม่ควรสิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งโลก เพราะพระสิริและฤทธานุภาพเป็นของพระเจ้า พระประสงค์ของพระองค์ยังคงเคลื่อนไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จโดยไม่มีอะไรขัดขวางได้ พระเยซูทรงให้สาวกมองสูงขึ้นไปเหนืออำนาจการปกครองของฝ่ายมาร คือมองไปยังองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขา ผู้ทรงครอบครองเหนือทุกสิ่ง และยังเป็นพระบิดาของพวกเขาและเป็นมิตรสหายตลอดกาล {MB 120.1}
ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็มเป็นสัญลักษณ์ของความพินาศครั้งสุดท้ายที่จะทำลายโลกอย่างตั้งตัวไม่ทัน คำพยากรณ์ที่สำเร็จระดับหนึ่งในการล่มสลายของกรุงเยรูซาเล็มมีความหมายเจาะจงถึงสมัยยุคสุดท้ายด้วย เหตุการณ์ยิ่งใหญ่และเข้มข้นจวนจะถาโถมเข้ามาแล้ว มีวิกฤตการณ์รออยู่ข้างหน้าอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน แต่คำมั่นสัญญาที่พระเจ้าทรงครอบครองเหนือทุกสิ่งจะเสริมกำลังใจให้เราเช่นเดียวกับสาวกรุ่นแรก พระราชาแห่งสวรรค์ทรงควบคุมชะตากรรมของชนชาติทั้งหลายและภาระของคริสตจักร พระอาจารย์ทรงกล่าวแก่ทุกคนที่มีส่วนในการทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จอย่างเดียวกันกับที่เคยตรัสกับไซรัสว่า “เราคาดอาวุธให้เจ้า แม้เจ้าไม่รู้จักเรา” (อิสยาห์ 45:5) {MB 120.2}
ผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลเห็นในนิมิตว่า มีอะไรอย่างหนึ่งสัณฐานเหมือนมืออยู่ใต้ปีกของเหล่าเครูบ นิมิตนี้สอนผู้รับใช้ของพระองค์ว่า ความสำเร็จของพวกเขามาจากฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า อย่าให้ผู้ที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อประกาศข่าวของพระองค์รู้สึกว่า ถ้าเพียงแต่ขาดเขาแล้ว งานของพระองค์จะไปต่อไม่ได้ พระเจ้าไม่ทรงทิ้งภาระความรับผิดชอบไว้ให้มนุษย์ซึ่งมีขีดจำกัด พระองค์ผู้ไม่ทรงเคลิ้มหลับ แต่ทรงงานตลอดเวลาเพื่อให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่จะผลักดันงานของพระองค์เอง พระองค์จะทำลายความมุ่งหมายของคนชั่ว และจะทรงทำให้ผู้ที่กะแผนมุ่งร้ายต่อประชากรของพระองค์เกิดความสับสนปั่นป่วน พระมหากษัตริย์ พระเจ้าจอมโยธาผู้ประทับระหว่างเครูบทรงคุ้มครองรักษาลูกๆ ของพระองค์ท่ามกลางความอลหม่านของชนชาติทั้งหลาย พระองค์ผู้ที่ทรงครอบครองสวรรคสถานทรงชั่ง วัด ตวงความทุกข์ยากลำบากทุกอย่างของเรา พระองค์ทรงเฝ้าสังเกตเตาหลอมที่ใช้ทดสอบทุกคน เมื่อที่มั่นของเจ้านายทั้งหลายถูกคว่ำลง และลูกธนูแห่งพระพิโรธได้ทิ่มทะลุหัวใจบรรดาศัตรูของพระองค์ เมื่อนั้น ประชากรของพระเจ้าจะปลอดภัยอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ {MB 121.1}
“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ความยิ่งใหญ่ ฤทธานุภาพ เกียรติสิริ บารมี และเดชานุภาพเป็นของพระองค์ ทุกสิ่งในฟ้าสวรรค์และพิภพโลกเป็นของพระองค์…พลังอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ที่จะเชิดชู และประทานกำลังแก่ทุกคน” (1 พงศาวดาร 29:11–12 TNCV) {MB 122.1}
Footnotes
-
แปลว่าลูกแกะ หมายถึงพระคริสต์ เพราะพระองค์ทรงเป็นดังลูกแกะที่ไร้ตำหนิซึ่งนำไปเป็นเครื่องบูชาชำระบาป ↩