23B. ภาคผนวก 2

เมื่อศึกษาศาสนาอียิปต์โบราณก็จะพบว่า จุดประสงค์ของภัยพิบัติต่างๆ มุ่งที่จะทำลายความเชื่อมั่นของชาวอียิปต์ในอำนาจและการคุ้มครองของรูปเคารพที่พวกเขานับถือ และยังทำให้บรรดาพระเหล่านั้นดูเป็นผู้ทรมานคนที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ {PP 758.1}

ภัยพิบัติแรกคือการทำให้แม่น้ำไนล์กับลำคลองทุกสายให้กลายเป็นเลือด (อพยพ 7:19) ซึ่งภัยพิบัตินี้มุ่งไปที่ต้นกำเนิดของชาติอียิปต์ทีเดียว ชาวอียิปต์นับถือแม่น้ำไนล์เป็นพระเจ้า จึงได้จัดสถานที่ไว้บางแห่งเพื่อการถวายบูชาแก่แม่น้ำสายนี้โดยเฉพาะ {PP 758.2}

ภัยพิบัติที่สองนำฝูงกบมาทั่วแผ่นดินอียิปต์ (อพยพ 8:6) ชาวอียิปต์ถือว่ากบเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในเทพเจ้าของพวกเขาคือ เทวีเฮเคทซึ่งมีเศียรเป็นกบ และที่พวกเขาเชื่อกันว่า มีฤทธิ์อำนาจในการสร้าง ฉะนั้นเมื่อฝูงกบขึ้นมาและเพิ่มทวีจนเต็มแผ่นดินตามคำสั่งของโมเสส ชาวอียิปต์อาจสงสัยว่า ทำไมเทวีเฮเคทจึงทรมานพวกเขาที่กราบไหว้บูชาอย่างร้อนรน แทนที่จะได้รับการคุ้มครอง ภัยพิบัติครั้งที่สองนี้ไม่เพียงแต่เป็นการลงโทษชาวอียิปต์ แต่ในขณะเดียวกันทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นที่ดูแคลนจากเทพเจ้าที่ตนนับถือ (อพยพ 9:3) ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้ามากมาย ซึ่งบางองค์เชื่อกันว่ามีฤทธิ์อำนาจมาก ซึ่งที่จะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น พระโคเอปิสได้ถูกนำมาถวายแก่มหาเทพพทาห์ ผู้ถือว่าเป็นพระบิดาของเทพเจ้าทั้งหลาย ส่วนวัวนั้นเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเทพีฮาเธอร์ ผู้ซึ่งเป็นเทพีที่มีคนนับถือมากที่สุดองค์หนึ่งในเขตแดนแม่น้ำไนล์ ส่วนแกะตัวผู้ก็เป็นสัญลักษณ์ของหลายองค์เช่น เทพคนุม และเทวราชอาเมน ผู้ซึ่งมีเศียรเป็นแกะและเป็นเทพเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของอียิปต์ในสมัยอาณาจักรใหม่ ฉะนั้นโรคระบาดที่ฆ่าฝูงสัตว์ที่เป็นของถวายแก่เทพเจ้าทำให้ชาวอียิปต์ตระหนักว่าเทพเจ้าหล่านั้นไม่มีอำนาจเลยเมื่อเทียบกับพระเจ้าของชาวฮีบรูที่พวกเขาดูถูกดูแคลน {PP 758.3}

ภัยพิบัติที่เก้า (อพยพ 10:21) โจมตีหนึ่งในเทพเจ้าของอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุริยเทพรา ซึ่งเทพเจ้าองค์นี้ได้รับการกราบไหว้บูชาตั้งแต่ช่วงแรกของประวัติศาสตร์อียิปต์ ในดินแดนที่ไม่ค่อยเห็นเมฆคนอียิปต์เห็นว่าดวงอาทิตย์มีพลังอำนาจที่ไม่เคยขาดสายที่ให้ความอบอุ่น แสงสว่าง ชีวิต และ อำนวยให้มีการเจริญเติบโตในโลก กษัตริย์ของอียิปต์ทุกพระองค์ถือว่าตนเป็น “เทพบุตรของเทพรา” จึงรับมาเป็นส่วนหนึ่งของพระนาม ในราชวงศ์ที่ 18 เมื่อชาวอียิปต์พากันนับถือเทพเจ้าอาเมนแห่งนครธีบส์เป็นเทพเจ้าที่ใหญ่ที่สุด พวกเขายังเห็นว่าสุริยเทพราเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่มาก จึงแก้ปัญหาด้วยการรวมเทพเจ้าสององค์นี้เข้าด้วยกันเป็นเทพอาเมน-รา หลังจากการอพยพของชาวอิสราเอลไม่นานฟาโรห์แอเคนาเทนเปลี่ยนศาสนาของอียิปต์ให้นับถือเทพอาเตน คือวงสุริยะในระยะหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อเราเห็นว่าการกราบไหว้บูชาดวงอาทิตย์ฝังลึกอยู่ในศาสนาของอียิปต์ และที่พวกเขาเทิดทูนสุริยเทพ ไม่ว่าจะเป็นเทพรา เทพอาเมน-รา หรือ เทพเอเตน ทำให้เห็นว่าเพราะเหตุใดในช่วงปลายของการต่อสู้ระหว่างองค์พระผู้เป็นเจ้ากับบรรดาเทพเจ้าของอียิปต์จึงมีภัยพิบัติโจมตีสุริยเทพ {PP 758.4}

นอกจากนั้นภัยพิบัติที่สิบ คือการประหารบุตรหัวปี (อพยพ 12:29) โจมตีอย่างน้อยเทพเจ้าองค์หนึ่งของอียิปต์ คือฟาโรห์เอง ที่ชาวอียิปต์นับถือกันว่าเป็นเทพฮอรัส พระโอรสของโอไซริส ในฐานะที่ฟาโรห์ปกครองดินแดนแห่งแม่น้ำไนล์ บรรดาไพร่พลต่างพากันกราบทูลท่านเป็น “พระผู้ประเสริฐ” ฉะนั้นภัยพิบัติสุดท้ายนี้จึงตอกย้ำถึงฤทธานุภาพแห่งพระเจ้าของชาวฮีบรูที่กระทำหมายสำคัญเหล่านี้ ก่อนหน้านี้ภัยพิบัติต่างๆ โจมตีเทพเจ้าที่ชาวอียิปต์นับถือกันว่าควบคุมพลังของธรรมชาติหรือเป็นเทพเจ้าประจำสัตว์ต่างๆ จนเทพเจ้าเหล่านั้นเสื่อมเสีย แต่บัดนี้เทพเจ้าที่เป็นคนที่มีชีวิต คือฟาโรห์ถึงกับต้องอัปยศอดสูต่อพระพักตร์ของพระเจ้าของชาวฮีบรูที่พวกเขาดูแคลน คือพระเจ้าที่ฟาโรห์เคยกล่าวถึงว่า “พระยาห์เวห์นั้นเป็นใครเล่า เราจึงจะต้องฟังเสียงของพระองค์และปล่อยคนอิสราเอลไป เราไม่รู้จักพระยาห์เวห์ และยิ่งกว่านั้น เราจะไม่ปล่อยคนอิสราเอลไปเป็นอันขาด” (อพยพ 5:2) {PP 759.1}