อยู่ด้วยความเชื่อ22. องค์พระผู้ช่วย

22. องค์พระผู้ช่วย

ก่อนที่พระเยซูเสด็จกลับสวรรค์ พระองค์ทรงสัญญาว่าจะส่ง “องค์ผู้ช่วย” คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้เป็นตัวแทนท่ามกลางประชากรของพระองค์ตลอดไป พระเยซูทรงสำเร็จพระราชกิจทุกอย่างในโลกนี้ก็ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงเจิมพระองค์ไว้ (ดู อิสยาห์ 61:1–3) ฉะนั้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ก็เท่ากับว่าพระเยซูทรงอยู่ด้วย พระธรรมคำสอน และพระราชกิจอันเปี่ยมด้วยความรักที่มาจากพระคริสต์ก็สืบต่อด้วยพระวิญญาณ {LBF 68.1}

เมื่อพระเยซูทรงสัญญาที่จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ตรัสว่า “เมื่อพระองค์เสด็จมาแล้ว พระองค์จะทรงทำให้โลกรู้แจ้งในเรื่องความบาป ความชอบธรรม และการพิพากษา” (ยอห์น 16:8) “เพราะว่าธรรมบัญญัตินั้นทำให้เรารู้จักบาป” (โรม 3:20) แต่ว่า “ธรรมบัญญัตินั้นเป็นเรื่องฝ่ายจิตวิญญาณ” (โรม 7:14) และเป็นพระลักษณะของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยว่าความชอบธรรมแห่งธรรมบัญญัตินั้นคือผลของพระวิญญาณ ฉะนั้นนอกจากการดลใจของพระวิญญาณแล้ว การสำนึกในความบาปก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ {LBF 68.2}

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้เรารู้แจ้งในความบาปในฐานะพระผู้ช่วย คือพระองค์ผู้ทรงชูใจเรานั้นเป็นผู้ที่ทำให้เราสำนึกในความบาป มีน้อยคนที่หยุดและคิดถึงประเด็นนี้ อย่าลืมว่าไม่มีข้อไหนในพระคัมภีร์ที่เขียนว่าพระวิญญาณทรงกล่าวโทษความบาป มีข้อแตกต่างระหว่างการสะกิดใจให้สำนึกกับการกล่าวโทษ การสะกิดใจนั้นคือการเปิดเผยให้เรารู้แจ้งในความบาปของตัวเอง แต่เราจะถูกกล่าวโทษหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองหลังจากที่เรารู้ซึ้งในความบาปแล้ว เพราะว่า “หลักการพิพากษามีอย่างนี้ คือความสว่างเข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม” (ยอห์น 3:19) การชี้แจงว่าเราเป็นคนบาป ไม่ใช่การกล่าวโทษ แต่การกล่าวโทษจะเกิดขึ้นกับคนที่ยึดถือความบาปเอาไว้หลังจากที่ได้รับการชี้แจงแล้วต่างหาก {LBF 68.3}

ให้เราพิจารณาว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียวกันที่ทำให้เราสำนึกในความบาปนั้น ทรงให้เรารู้แจ้งในความชอบธรรมด้วย คือองค์ผู้ช่วยผู้ทรงชูใจเราเสมอ พระองค์ไม่ได้ทรงพักภารกิจหนึ่งไว้ในขณะที่ทรงปฏิบัติภารกิจอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงทำให้เราสำนึกในบาปนั้น พระองค์ไม่ได้หยุดที่จะชี้แจงให้เรารู้แจ้งในความชอบธรรม ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพระองค์ทรงเตือนเราในเรื่องความชอบธรรม พระองค์ก็ยังสะกิดใจเราให้สำนึกในความบาปอย่างไม่หยุดหย่อน พระองค์ทรงกระทำทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป ซึ่งเรื่องนี้จะชูใจทุกคนที่รับไว้ พระองค์ทรงเตือนเราในเรื่องความบาปเพราะพระองค์ทรงเตือนเราในเรื่องความชอบธรรม แต่ขอให้เราพิจารณาและใคร่ครวญเรื่องนี้เพิ่มเติม {LBF 69.1}

พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระวิญญาณของพระเจ้า เป็นพระวิญญาณของพระบิดาและพระบุตร ฉะนั้นความชอบธรรมที่พระวิญญาณทรงสำแดงนั้นเป็นความชอบธรรมของพระเจ้า จริงอยู่ที่เราจะไม่รู้จักความบาปและจะไม่ซาบซึ้งถึงความเลวร้ายของมันถ้าเราไม่ได้พินิจพิจารณาถึงความชอบธรรม ธรรมบัญญัติไม่ใช่ความบาป หากแต่ทำให้เรารู้จักความบาป เพราะธรรมบัญญัตินั้นเป็นบทสะท้อนถึงความชอบธรรมของพระเจ้า เราอาจจะมองเห็นความบาป แต่ถ้าเราไม่เคยเห็นสิ่งที่ต่างไปจากนั้น เราก็คงคิดว่าที่เป็นอยู่นั้นก็ถูกต้องดีแล้ว แม้ว่าเราจะรู้จักความถูกต้อง แต่ถ้าเราจ้องมองไปที่ความบาปก็เป็นไปได้ที่จะสูญเสียความเข้าใจในเรื่องความถูกต้องนั้นไป ความบาปจึงเป็นตัวล่อลวงที่ร้ายกาจยิ่งนัก ดังนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงต้องเปิดเผยความชอบธรรมของพระเจ้าซึ่งปรากฏอยู่ในธรรมบัญญัติของพระองค์ก่อน เราจึงจะรู้ได้ว่าบาปก็คือบาป อัครทูตเปาโลกล่าวว่า “ถ้าไม่มีธรรมบัญญัติแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้จักบาป” (โรม 7:7) อย่างนี้แหละพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเตือนเราให้สำนึกในความบาปโดยทรงสำแดงความชอบธรรมอันสมบูรณ์แบบของพระเจ้า {LBF 69.2}

เพราะฉะนั้น ข้อนี้ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า ยิ่งเข้าใกล้พระเจ้ามากเท่าไหร่ เราก็จะเห็นพระองค์ชัดขึ้นมากเท่านั้น และจะยิ่งตระหนักในความบกพร่องของตนเองมากยิ่งขึ้น เราจะไม่เข้าใจความบาปด้วยการค้นหาตัวเอง แต่ด้วยการเพ่งพินิจไปที่พระเจ้า ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ใกล้ทะเลหรือภูเขาที่สูงตระหง่านและเปรียบเทียบตัวเองกับธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้าง ไม่จำเป็นต้องสำรวจใจหรือต้องมีคนบอก เราจะรู้สึกได้เองว่าตัวเราเล็กน้อยขนาดไหน เมื่อมองพระหัตถกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เราจะรู้ทันทีว่า ตัวเรานั้นช่างไม่มีอะไรเลย อย่างที่ผู้ประพันธ์สดุดีกล่าวไว้ว่า “เมื่อข้าพระองค์มองดูฟ้าสวรรค์อันเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ดวงจันทร์และดวงดาวซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาไว้ มนุษย์เป็นผู้ใดเล่า ที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตรของมนุษย์เป็นใครเล่า ที่พระองค์ทรงห่วงใยเขา” (สดุดี 8:3–4) {LBF 69.3}

ถ้าหากความรู้สึกนี้เกิดจากการสัมผัสและใคร่ครวญถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าแทนที่จะพิจารณาธรรมชาติ เรากลับใคร่ครวญถึงพระลักษณะนิสัยของพระองค์โดยตรง “พระเจ้าทรงเป็นดวงอาทิตย์” (สดุดี 84:11 TH1971) พระองค์ยิ่งใหญ่กว่าฟ้าสวรรค์ “ความชอบธรรมของพระองค์เหมือนภูเขาสูงตระหง่าน ความยุติธรรมของพระองค์เหมือนที่ลึกยิ่ง” (สดุดี 36:6) เมื่อมองไปที่ธรรมชาติที่พระเจ้าทรงสร้าง เรารู้สึกว่าตัวเองเล็กนิดเดียว ในทำนองเดียวกัน เมื่อพิจารณาความชอบธรรมของพระเจ้า เราจะรู้สึกถึงความขาดแคลนด้านจิตวิญญาณ ข่าวสารที่ปลอบโยนพลไพร่ของพระองค์ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่พระองค์ใกล้จะเสด็จกลับมาคือ “ดูเถิด พระเจ้าของพวกเจ้า” (อิสยาห์ 40:9; ดู อิสยาห์ 11:1–9) หมายความว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้เรามองไปที่ความชอบธรรมของพระองค์ เพื่อเราจะได้รู้ซึ้งว่าเราเองขาดความชอบธรรม นี่คือสิ่งที่จำเป็นในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาของพระองค์ {LBF 69.4}

สิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า การสำนึกในความบาปก็มาโดยการมองไปที่ความชอบธรรมของพระเจ้า และจะนำมาซึ่งสันติสุขในใจ เพราะเราจะตระหนักได้ว่าเราขาดความชอบธรรม ก็ต่อเมื่อเราเห็นความชอบธรรมของพระเจ้า นอกจากนั้นพระองค์ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงเตือนเราในเรื่องความบาปและความชอบธรรม พระคริสต์ตรัสว่า “เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง ซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้ เพราะแลไม่เห็นและไม่รู้จักพระองค์ ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่กับท่าน และจะประทับอยู่ในท่าน” (ยอห์น 14:16–17 TNCV) {LBF 70.1}

เมื่อรับเอาพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเตือนเราถึงความบาปด้วยการเปิดเผยความชอบธรรมของพระเจ้าแล้ว เราก็จะได้รับความชอบธรรมที่มาพร้อมกับพระวิญญาณ ความรู้สึกขาดตกบกพร่องเป็นพระสัญญาอยู่ในทีว่าเราจะได้รับในสิ่งที่ขาดเหลืออยู่นั้น พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ทำให้สำนึกได้ว่า แท้จริงเราไม่มีความชอบธรรมเลย นี่คือการเตือนในเรื่องความบาป แต่ที่พระองค์ทรงเตือนเราในเรื่องความบาปนั้นไม่ใช่เพื่อเย้ยหยันหรือซ้ำเติมให้เราท้อใจ แต่เพื่อให้รู้ว่าทุกสิ่งที่เราขาดอยู่นั้นพระองค์ทรงมีอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ และเมื่อพระองค์ประทานความชอบธรรมให้ เราจึงรู้ว่าเราเป็นคนบาป ฉะนั้นถ้าเพียงแต่เชื่อตามที่พระเจ้าตรัสไว้ทุกประการ เราก็ไม่ต้องถูกกล่าวโทษแม้แต่ชั่วขณะเดียว เราจะรู้สึกถึงความขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ แต่ทุกครั้งที่พระองค์ทรงชี้แจงความบกพร่องในด้านใหม่ เราจะสรรเสริญพระองค์ได้ว่า ‘ขอบคุณพระองค์ที่ประทานสิ่งใหม่แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอน้อมรับตามที่พระองค์ประทานนั้น’ เป็นความชื่นชมยินดีที่เรามีในองค์พระผู้เป็นเจ้า {LBF 70.2}

นี่คือความจริงที่พระเจ้าทรงสั่งสอนคนอิสราเอลในสมัยโบราณเมื่อประทานพระบัญญัติของพระองค์จากภูเขาซีนาย และเป็นเรื่องเดียวกันกับที่พระองค์ทรงปรารถนาให้เราเรียนรู้ตลอดมา พระบัญญัติได้รับการตั้งไว้ “โดยมือของคนกลาง” (กาลาเทีย 3:19) คือพระคริสต์ เพราะมีคนกลาง “แต่เพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์” (1 ทิโมธี 2:5) พระองค์ทรงเป็นคนกลางเพราะพระองค์ทรงนำให้เราคืนดีกับพระเจ้า ความขัดแย้งมีอยู่ว่า เราไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับของพระบัญญัติ แต่พระคริสต์ทรงให้เราคืนดีกับพระเจ้าโดยการใส่พระบัญญัติของพระองค์ไว้ในจิตใจและในการนึกคิดของเรา ฉะนั้นพระคริสต์ทรงเป็นคนกลางเพราะพระองค์ทรงเป็นสื่อกลางที่นำความชอบธรรมของพระเจ้ามาสู่เรา {LBF 71.1}

พระเจ้าทรงตอกย้ำกระบวนการนี้เมื่อพระองค์ประทานพระบัญญัติ ณ ภูเขาซีนาย ก่อนหน้านั้นคนอิสราเอลพากันล้มป่วยเพราะขาดแคลนน้ำ แล้วพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “จงเดินล่วงหน้าประชาชนไป และนำพวกผู้ใหญ่บางคนของอิสราเอลไปกับเจ้า จงถือไม้เท้าที่เจ้าใช้ตีแม่น้ำไนล์นั้นไปด้วย นี่แน่ะ เราจะยืนอยู่ต่อหน้าเจ้าที่นั่น บนศิลาที่ภูเขาโฮเรบ จงตีศิลานั้น แล้วน้ำจะไหลออกมาให้ประชาชนดื่ม” (อพยพ 17:5–6) ฝ่ายโมเสสก็กระทำตาม ประชาชนได้ดื่มจนชื่นใจ แต่พระคริสต์ทรงประทานน้ำนั้นแก่พวกเขาอย่างอัศจรรย์ คือน้ำนั้นมาจากพระองค์โดยตรง ต่อมาอัครทูตเปาโลจึงเขียนถึงเรื่องนี้ว่า “พวกเขาได้ดื่มจากพระศิลาฝ่ายจิตวิญญาณที่ติดตามเขาไป พระศิลานั้นคือพระคริสต์” (1 โครินธ์ 10:4) ศิลาที่ประชาชนเห็น และที่โมเสสตีนั้น เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ {LBF 71.2}

ภูเขาโฮเรบเรียกอีกชื่อหนึ่งก็คือภูเขาซีนายนั่นเอง ฉะนั้นพระเจ้าประทานพระบัญญัติบนภูเขาแห่งเดียวกันกับที่พระองค์ได้ประทานน้ำให้ประชาชนดื่มเพื่อดับกระหาย ที่พระเจ้าเสด็จมาประทับบนภูเขานั้น ประชาชนได้สัมผัสพระองค์และพระบัญญัติของพระองค์โดยไม่ต้องผ่านเงาสัญลักษณ์ คราวนั้นไม่มีใครอาจรุกล้ำเข้าไปแตะต้องภูเขาซีนายโดยไม่ตาย แต่ในขณะเดียวกัน น้ำซึ่งให้ชีวิตได้ไหลออกจากภูเขาที่ต้องห้ามนั้น น้ำเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ประทานแก่ทุกคนที่เชื่อ และน้ำนั้นมาจากพระคริสต์ (ดู ยอห์น 4:10, 13, 14; 7:37–39) พระเจ้าทรงสอนบทเรียนอันล้ำค่าผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้ว่าพระบัญญัติทำให้เรารู้จักความบาป และความบาปเป็นเหตุให้ต้องตาย แต่พระบัญญัติมาถึงเราโดยผ่านคนกลาง และมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำให้พระบัญญัติสัมฤทธิ์ผลในตัวเรา “เพราะว่ากฎของพระวิญญาณแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ได้ทำให้ท่านพ้นจากกฎแห่งบาปและความตาย” (โรม 8:2) ด้วยเหตุนี้พระบัญญัติของพระเจ้าจึงเป็นชีวิตนิรันดร์ {LBF 71.3}

เรื่องนี้น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะในทันทีที่เราสำนึกในความบาป ก็มีความชอบธรรมปรากฏขึ้นเพื่อปกปิดความบาปทั้งมวลของเรา “ที่ใดมีบาปมากขึ้น พระคุณก็มีมากขึ้นยิ่งกว่านั้น” (โรม 5:20 TNCV) พระบัญญัติที่ทำให้เราสำนึกในความบาปเป็นพระบัญญัติฝ่ายจิตวิญญาณ และพระวิญญาณเป็นน้ำแห่งชีวิตที่ทรงประทานแก่ทุกคนที่จะรับไว้โดยไม่คิดมูลค่า มีสิ่งใดประเสริฐกว่าพระคุณของพระเจ้าอีกเล่า พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาผู้ทรงพระเมตตากรุณา พระเจ้าแห่งการหนุนใจทุกอย่าง” (2 โครินธ์ 1:3) ให้เราเข้ามาดื่มน้ำแห่งชีวิตอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้รับการเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา {LBF 72.1}

ข้าได้ยินพระสุรเสียง
พระเยซูตรัสแก่ผู้กระหาย
จงดื่มน้ำชีวิตอันมีมากมาย
ตักขึ้นมาดื่มโดยไม่ต้องเสียค่า
แล้วรับชีวาจากเราเถิดเอย {LBF 72.2}

ข้าเข้าเฝ้าพระเยซู
ดื่มน้ำประเสริฐชุบเลี้ยงชีวา
ได้ดับกระหาย จิตใจเฟื่องฟู
ข้าจึงได้อยู่กับพระองค์สืบไป {LBF 72.3}