ปัญญาจากคำเทศนาบนภูเขา3. ธรรมบัญญัติสอนใจ

3. ธรรมบัญญัติสอนใจ

“เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ”—(มัทธิว 5:17)

ผู้ที่ประกาศธรรมบัญญัติบนภูเขาซีนายท่ามกลางเปลวเพลิงและเสียงฟ้าร้อง คือองค์พระคริสต์ พระสิริของพระเจ้าเหมือนไฟที่เผาผลาญอยู่บนยอดเขาซีนาย ทั้งภูเขาสั่นสะท้านจำเพาะพระพักตร์พระองค์ ส่วนประชาชนอิสราเอลหมอบลงกราบด้วยอาการกลัวเกรงขณะที่ฟังพระองค์ตรัสพระบัญญัติ บรรยากาศช่างผิดแผกไปจากวันที่พระเยซูเปิดเผยหลักการแห่งอาณาจักรของพระองค์อยู่ใต้ฟ้าฤดูร้อน มีแต่เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจของนกแทรกเข้ามาในความเงียบงัน ขณะที่พระองค์ตรัสกับประชาชนด้วยสำเนียงแห่งความรัก เพื่ออธิบายหลักสัจธรรมที่พระองค์เองได้ตรัสไว้บนภูเขาซีนาย {MB 45.1}

เมื่อครั้งที่ทรงประทานพระบัญญัตินั้น ประชาชนอิสราเอลกำลังอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ หลังจากที่เป็นทาสในอียิปต์มานาน พวกเขาต้องการเห็นถึงฤทธานุภาพและความโอ่อ่าตระการของพระองค์ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์ในฐานะพระเจ้าแห่งความรัก {MB 45.2}

“พระเยโฮวาห์เสด็จจากซีนาย และทรงรุ่งแจ้งจากเสอีร์มายังเขาทั้งหลาย พระองค์ทรงฉายรังสีจากภูเขาปาราน พระองค์เสด็จพร้อมกับวิสุทธิชนนับหมื่นๆ ที่พระหัตถ์เบื้องขวามีไฟเป็นพระราชบัญญัติแก่เขา แท้จริงพระองค์ทรงรักประชาชนของพระองค์ บรรดาวิสุทธิชนของพระองค์ก็อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และเขาทั้งหลายกราบลงที่พระบาทของพระองค์รับพระดำรัสของพระองค์” (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:2–3 TKJV) {MB 45.3}

พระเจ้าทรงสำแดงพระสิริของพระองค์แก่โมเสสด้วยพระดำรัสที่เป็นมรดกตกทอดให้คนทุกยุคสมัยได้ชื่นชมว่า “พระองค์เสด็จผ่านหน้าโมเสสไปพร้อมทั้งประกาศว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า พระยาห์เวห์ พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและพระคุณ ทรงกริ้วช้า บริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์ ผู้แสดงความรักมั่นคงต่อคนนับพันชั่วอายุ โดยให้อภัยความชั่วร้าย การกบฏ และบาป” (อพยพ 34:6–7 TNCV) {MB 46.1}

ธรรมบัญญัติที่ประกาศบนภูเขาซีนายเป็นการย้ำหลักการแห่งความรักที่เปิดเผยให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงกฎแห่งสวรรค์ ธรรมบัญญัติตั้งไว้ “โดยมือของคนกลาง” (กาลาเทีย 3:19) คือพระองค์ผู้ทรงตั้งธรรมบัญญัติเป็นผู้ที่มีอำนาจชักนำใจของคนให้สอดคล้องกับหลักการของธรรมบัญญัตินั้น พระเจ้าทรงสำแดงพระประสงค์ของพระองค์ในธรรมบัญญัติเมื่อตรัสกับชนชาติอิสราเอลว่า “พวกเจ้าต้องเป็นประชากรบริสุทธิ์ของเรา” (อพยพ 22:31 TNCV) {MB 46.2}

แต่ประชากรอิสราเอลไม่ตระหนักว่าธรรมบัญญัตินั้นเป็นกฎฝ่ายจิตวิญญาณ ส่วนมากพวกเขามีแต่แสร้งปฏิบัติภายนอก และทำตามพิธีกรรม แทนที่จะมอบใจไว้ภายใต้อธิปไตยแห่งความรัก พระอุปนิสัยและพระราชกิจของพระเยซูแสดงถึงความบริสุทธิ์ พระเมตตาคุณและคุณลักษณะการเป็นพระบิดาของพระเจ้า ทั้งยังแสดงว่าการที่จะถือปฏิบัติตามพิธีกรรมเท่านั้นเป็นการไร้ประโยชน์ ฉะนั้นผู้นำชาวยิวจึงไม่รับรู้ทั้งไม่เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ตรัสสอน พวกเขาคิดว่าพระองค์ไม่ให้ความสำคัญกับข้อบังคับของธรรมบัญญัติเท่าที่ควร และเมื่อพระองค์สอนถึงสัจธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพิธีกรรมทั้งหลาย คนที่มองแต่เปลือกนอก กลับกล่าวหาพระองค์ว่ามาเลิกล้มธรรมบัญญัติ {MB 46.3}

พระคริสต์ตรัสอย่างเรียบง่ายแต่มีน้ำหนักและความมุ่งมั่นจนประชาชนตื่นตัว พวกเขาคิดว่าพระองค์คงจะสาธยายถึงกฎธรรมเนียมหยุมหยิมที่ปราศจากชีวิตตามแบบพวกธรรมาจารย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น “ฝูงชนอัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ ไม่เหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มัทธิว 7:28–29) พวกฟาริสีสังเกตว่า วิธีการสอนของพระเยซูแตกต่างไปจากการสอนของพวกเขามาก คือหลักความจริงของพระองค์งดงามบริสุทธิ์ มีอิทธิพลที่ละมุนละไม จนมีหลายคนเริ่มที่จะเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ ความรักที่อ่อนโยนของพระผู้ช่วยให้รอดได้ชักนำคนมาหาพระองค์ พวกธรรมาจารย์เห็นว่าคำสอนของพระคริสต์กำลังทำให้เรื่องสำคัญๆ ที่พวกเขาสอนนั้นหมดความหมาย ผู้นำศาสนาหยิ่งผยองเพราะมีกำแพงกั้นอยู่ระหว่างพวกเขากับประชาชนทั่วไป บัดนี้พระเยซูกำลังพังกำแพงนั้นลง พวกผู้นำจึงกลัวว่า ถ้าไม่จัดการอะไรบางอย่างลงไป พระองค์จะชักนำคนทั้งปวงให้ละทิ้งพวกตนเสีย ฉะนั้นพวกธรรมาจารย์จึงติดตามพระองค์ด้วยอาการมุ่งร้าย หวังที่จะหาช่องทางปลุกปั่นประชาชนให้หมดความนิยมในพระองค์ สภาแซนเฮดรินจะได้ฉวยโอกาสตัดสินประหารชีวิตพระองค์เสีย {MB 46.4}

ขณะที่พระเยซูเผยหลักการแห่งความชอบธรรมอยู่บนภูเขานั้น มีคนคอยจับผิดพระองค์อยู่ ส่วนพวกฟาริสีได้ปล่อยข่าวว่าคำสอนของพระองค์ขัดต่อพระบัญญัติสิบประการที่พระผู้เป็นเจ้าประทานจากภูเขาซีนาย พระองค์ไม่ได้กล่าวสิ่งใดที่จะทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในศาสนาหรือระบบต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้พวกเขาโดยผ่านโมเสส เพราะทุกสิ่งที่โมเสสเคยสอนนั้นล้วนแต่เป็นลำแสงที่ท่านได้รับมาจากพระคริสต์ ในขณะที่ผู้ฟังหลายคนคิดในใจว่า พระองค์จะมายกเลิกธรรมบัญญัติ พระเยซูตรัสด้วยภาษาที่ชัดเจนตรงไปตรงมา แสดงถึงท่าทีของพระองค์ในเรื่องนี้ว่า “อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของบรรดาผู้เผยพระวจนะ” {MB 47.1}

พระผู้สร้างเองเป็นผู้ที่ประกาศว่าไม่มีพระประสงค์ที่จะเลิกล้มธรรมบัญญัติ และพระองค์คือผู้ที่ประทานธรรมบัญญัตินั้นเอง สรรพสิ่งในธรรมชาติจากผงธุลีในลำแสงจนกระทั่งดวงดาวบนท้องฟ้าล้วนแต่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่มีระบบระเบียบและประสานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน เพราะในธรรมชาติทุกอย่างดำเนินไปตามกฎของมัน ในทำนองเดียวกันมี ‘กฎศีลธรรม’ ที่ควบคุมทั้งมนุษย์และชาวสวรรค์ ความสงบสุขในจักรวาลขึ้นอยู่กับการทำตามกฎศีลธรรม ซึ่งกฎของพระเจ้ามีอยู่แล้วก่อนที่โลกของเราจะถูกสร้างขึ้นมา แม้แต่ทูตสวรรค์ก็ยังถูกปกครองอยู่ใต้กฎศีลธรรมนั้น และเพื่อให้โลกสอดคล้องกับสวรรค์ มนุษย์ก็ต้องปฏิบัติตามหลักการของพระเจ้า พระคริสต์ทรงชี้แจงให้มนุษย์คู่แรกทราบถึงกฎของพระองค์ “เมื่อเหล่าดาวรุ่งแซ่ซ้องสรรเสริญ และบรรดาบุตรพระเจ้าโห่ร้องด้วยความชื่นบาน” (โยบ 38:7) พันธกิจของพระคริสต์ไม่ใช่การเลิกล้มธรรมบัญญัติ แต่เป็นการนำให้มนุษย์กลับมาปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยอาศัยพระคุณของพระองค์ {MB 48.1}

อัครสาวกยอห์นเป็นผู้หนึ่งที่ฟังพระเยซูสอนบนภูเขา แล้วหลายปีต่อมาพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจให้ท่านเขียนถึงธรรมบัญญัติว่าเป็นข้อบังคับนิรันดร์ โดยกล่าวว่า “บาปเป็นสิ่งที่ผิดธรรมบัญญัติ” “ทุกคนที่ทำบาปก็ประพฤติผิดธรรมบัญญัติ” (1 ยอห์น 3:4) ยอห์นชี้ชัดว่าธรรมบัญญัติที่ท่านกล่าวถึงนั้น คือ “บัญญัติเก่าซึ่งท่านเคยมีอยู่ตั้งแต่เริ่มแรก” (1 ยอห์น 2:7) คือธรรมบัญญัติที่มีอยู่ตั้งแต่แรกสร้างโลกและที่พระเจ้าทรงย้ำบนภูเขาซีนาย {MB 48.2}

พระเยซูตรัสถึงธรรมบัญญัติว่า “เราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ” คำว่าสมบูรณ์ทุกประการในข้อนี้เป็นคำเดียวกันกับที่พระองค์ตรัสไว้กับยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่า พระประสงค์ของพระองค์คือ “ทำความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ” (มัทธิว 3:15) คือทำทุกอย่างตามมาตรฐานของธรรมบัญญัติจนครบบริบูรณ์ และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ชีวิตที่ดำเนินตามน้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ {MB 48.3}

พันธกิจของพระองค์คือ “ทำให้ธรรมบัญญัติยิ่งใหญ่และมีเกียรติ” (อิสยาห์ 42:21) พระองค์เสด็จมาเพื่อสำแดงถึงลักษณะด้านจิตวิญญาณของธรรมบัญญัติ ว่าเป็นหลักการที่ครอบคลุมทุกส่วนในชีวิตอย่างทั่วถึง และเป็นข้อบังคับนิรันดร์ {MB 49.1}

พระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ไถ่ที่ทรงเสียสละ ตลอดเวลาที่พระองค์ประกอบพันธกิจแห่งความรักในโลกนี้ชีวิตของพระองค์เป็นตัวอย่างถึงลักษณะที่แท้จริงของพระบัญญัติพระเจ้า คนที่จัดว่าดีที่สุดเป็นเพียงเงาสะท้อนถึงพระลักษณะของพระคริสต์ผู้สง่างามและสุภาพอ่อนโยน พระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจให้ซาโลมอนเขียนล่วงหน้าถึงพระเยซูว่า พระองค์ “โดดเด่นท่ามกลางคนนับหมื่น…เขาช่างน่าปรารถนา” (เพลงซาโลมอน 5:10–16) ส่วนดาวิดก็เห็นนิมิตถึงพระองค์จึงกล่าวว่า “พระองค์งามสง่ายิ่งกว่ามนุษย์คนใด” (สดุดี 45:2) พระเยซูคริสต์ทรงสะท้อนถึงพระลักษณะของพระบิดา ทรงฉายออกถึงพระสิริของพระองค์ ชีวิตของพระเยซูแสดงถึงหลักการและความรักที่มาจากสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของธรรมบัญญัติของพระเจ้าอันคงไว้ซึ่งความยุติธรรมเป็นนิตย์ {MB 49.2}

พระเยซูตรัสว่า “ถึงฟ้าและดินจะล่วงไป แม้อักษรหนึ่งหรือจุดๆ หนึ่งก็จะไม่สูญไปจากพระราชบัญญัติ จนกว่าจะสำเร็จทั้งสิ้น” (มัทธิว 5:18 TKJV) การที่พระเยซูปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเป็นหลักฐานว่าธรรมบัญญัตินั้นไม่เปลี่ยนแปลง และพิสูจน์ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถปฏิบัติตามธรรมบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์โดยอาศัยพระคุณของพระองค์ ในคำเทศนาของพระเยซูบนภูเขา พระองค์ประกาศว่า แม้อักษรที่เล็กที่สุดก็จะไม่สูญหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จสมบูรณ์ คือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแผนการทรงไถ่มนุษย์ให้รอด พระองค์ไม่เคยสอนว่าธรรมบัญญัตินั้นจะถูกลบล้าง แต่พระองค์มองไปไกลยังขอบฟ้าและตรัสว่า แม้วันที่โลกดับมลายลง ธรรมบัญญัติจะยังคงบังคับใชัอยู่ปานนั้น ฉะนั้นอย่าให้ใครคิดว่าพระเยซูมาเพื่อลบล้างข้อใดข้อหนึ่งของธรรมบัญญัติ ฟ้าและแผ่นดินยังคงอยู่ตราบใด หลักการอันบริสุทธิ์แห่งธรรมบัญญัติของพระเจ้าจะคงอยู่ตราบนั้น ความชอบธรรมของพระองค์ “เหมือนภูเขาสูงตระหง่าน” (สดุดี 36:6) จะยังคงอยู่เป็นแหล่งพระพรที่ไหลมารดแผ่นดินให้ชุ่มฉ่ำ {MB 49.3}

เนื่องจากธรรมบัญญัติของพระเจ้าสมบูรณ์แบบจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์คนบาปจะปฏิบัติให้ถึงมาตรฐานของธรรมบัญญัติด้วยกำลังของตัวเอง นี่คือสาเหตุที่พระเยซูเสด็จมาเป็นพระผู้ไถ่ พันธกิจของพระองค์คือนำมนุษย์ให้รับส่วนในสภาพของพระเจ้า ให้สอดคล้องกับหลักธรรมแห่งสวรรค์ เมื่อเราละทิ้งความผิดบาปและรับพระคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เป็นการให้เกียรติธรรมบัญญัติ อัครสาวกเปาโลถามว่า “เราลบล้างธรรมบัญญัติด้วยความเชื่อหรือ เปล่าเลย เรายังชูธรรมบัญญัติขึ้นอีก” (โรม 3:31) {MB 50.1}

พันธสัญญาใหม่คือ “เราจะบรรจุธรรมบัญญัติของเราไว้ในใจของพวกเขา และเราจะจารึกมันไว้ในจิตใจของพวกเขา” (ฮีบรู 10:16) จริงอยู่ระบบพิธีกรรมอันเป็นสัญลักษณ์เล็งถึงพระคริสต์ได้ยุติลงเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไถ่บาปของมนุษย์ในฐานะลูกแกะของพระเจ้า แต่หลักการแห่งความชอบธรรมที่มีอยู่ในพระบัญญัติสิบประการยังคงถาวรเป็นนิตย์เฉกเช่นพระที่นั่งของพระเจ้า ไม่มีพระบัญญัติข้อใดที่ถูกยกเลิกไป แม้แต่อักษรหรือขีดๆ หนึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากธรรมบัญญัติ แต่หลักการแห่งชีวิตที่ทรงเปิดเผยให้มนุษย์คู่แรกในสวนเอเดนในฐานะกฎแห่งชีวิตจะคงอยู่ในสภาพเดิมเมื่อแผ่นดินโลกถูกสร้างขึ้นใหม่ และทุกคนทั่วใต้ฟ้าสวรรค์จะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า {MB 50.2}

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระวจนะของพระองค์คงอยู่ตลอดไปมั่นคงนิรันดร์ในสวรรค์” “ข้อบังคับทั้งหมดของพระองค์เชื่อถือได้ สิ่งเหล่านี้ตั้งมั่นอยู่ชั่วนิรันดร์ กำหนดขึ้นจากความซื่อสัตย์และความเที่ยงธรรม” “พระองค์ทรงตั้งกฎเกณฑ์นั้นไว้เป็นนิตย์” (สดุดี 119:89 TNCV; 111:7–8 TNCV; 119:152 TNCV) {MB 51.1}

“ใครทำให้ข้อเล็กน้อยเพียงข้อหนึ่งในพระบัญญัตินี้มีความสำคัญน้อยลง และสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย คนนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์”—(มัทธิว 5:19)

คือถ้าหากใครทำเช่นนั้นเขาจะไม่มีส่วนในแผ่นดินสวรรค์เลย เพราะผู้ที่จงใจละเมิดต่อพระบัญญัติข้อเดียวก็ไม่รักษาข้ออื่นด้วยจิตวิญญาณและความจริงเช่นกัน “เพราะว่าใครที่รักษาธรรมบัญญัติทั้งหมด แต่ผิดอยู่ข้อเดียว คนนั้นก็ทำผิดธรรมบัญญัติทั้งหมด” (ยากอบ 2:10) {MB 51.2}

ไม่ใช่เพียงแต่การฝ่าฝืนอย่างใหญ่หลวงที่จะนับว่าเป็นความบาป แต่ความบาปคือการเบี่ยงเบนแม้เพียงเล็กน้อยจากน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ทรงเปิดเผยให้เรา เพราะการทำเช่นนั้นแสดงว่าใจคนนั้นยังติดพันอยู่กับความบาป เป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระเจ้า และตั้งตัวกบฏต่อการปกครองของพระองค์ {MB 51.3}

ถ้าปล่อยให้มนุษย์ตั้งมาตรฐานปฏิบัติกันเอง ก็คงมีมาตรฐานมากมายตามแต่ใจใครจะตั้งขึ้น แล้วการปกครองของพระเจ้าจะอยู่ที่ไหน ความปรารถนาของคนคงจะถูกยกชูไว้สูง และมนุษย์จะดูหมิ่นดูแคลนน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์และสูงส่งของพระเจ้าที่ทรงมุ่งหวังด้วยความรักต่อผู้ที่พระองค์ทรงสร้าง {MB 51.4}

ทุกครั้งที่มนุษย์เลือกทางเดินของเขาเอง ก็เท่ากับเป็นการขัดแย้งกับพระเจ้า เขาจะไม่มีส่วนในแผ่นดินสวรรค์ เพราะเขาต่อสู้หลักการสวรรค์นั่นเอง เมื่อเขาเพิกเฉยต่อน้ำพระทัยของพระเจ้า ก็เท่ากับเข้าไปอยู่ฝ่ายเดียวกับซาตานผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าและมนุษย์ ไม่ใช่คำใดคำหนึ่ง หรือพระวจนะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่มนุษย์จะดำรงซึ่งชีวิตโดยพระวจนะทุกคำที่พระเจ้าตรัส ที่จะเพิกเฉยต่อพระวจนะแม้แต่คำเดียวเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีพระบัญชาข้อใดในธรรมบัญญัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้มนุษย์มีความสุข ทั้งในโลกปัจจุบันและในชีวิตภายภาคหน้า เมื่อมนุษย์ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า เขาจะมีแนวป้องกันโดยรอบ ที่คอยคุ้มครองเขาจากความชั่วร้าย ถ้าใครรื้อแนวป้องกันที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นนี้ในจุดใดจุดหนึ่งออกไป มันก็ไม่อาจคุ้มกันเขาได้อีกแล้ว เพราะเขาได้เปิดช่องทางให้ศัตรูเข้ามาทำลายตัวเขาเอง {MB 52.1}

เมื่อมนุษย์คู่แรกได้พลาดพลั้ง ไม่ใส่ใจในเรื่องเดียวที่เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ความทุกข์จึงทะลักเข้ามาท่วมท้นโลกมนุษย์ ทุกคนที่ทำตามแบบอย่างนี้ก็จะได้เก็บเกี่ยวผลเดียวกัน ความรักของพระเจ้าเป็นบรรทัดฐานแห่งธรรมบัญญัติทุกข้อ ผู้ใดละทิ้งพระบัญญัติก็กำลังนำความทุกข์และหายนะมาสู่ตนเอง {MB 52.2}

“ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่มากกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี พวกท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์”—(มัทธิว 5:20)

พวกธรรมาจารย์กับพวกฟาริสีไม่ได้เพียงแต่กล่าวหาพระคริสต์เท่านั้น แต่ได้กล่าวหาเหล่าสาวกด้วยว่าเป็นคนบาปเพราะไม่เอาใจใส่ต่อข้อหยุมหยิมของพิธีกรรมต่างๆ ที่พวกเขากำหนดขึ้น มีบ่อยครั้งที่สาวกต้องถึงกับงงงันและเป็นทุกข์ใจเพราะถูกตำหนิโดยคนที่เขาเคยนับถือในฐานะผู้สอนศาสนา แต่พระเยซูทรงเปิดโปงผู้นำศาสนาเหล่านั้น ตรัสว่า สิ่งที่พวกฟาริสีตั้งค่าไว้สูงที่แท้ก็ไร้ค่า ชนชาติยิวได้อวดอ้างตนว่า เป็นชนชาติพิเศษเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพระเจ้าและพระองค์ทรงโปรดปรานเขาทั้งหลาย แต่พระคริสต์ทรงสอนว่าการนับถือศาสนาของชาวยิวนั้นขาดความเชื่อที่จะช่วยนำให้พวกเขารอดได้ การที่จะคุยโตโอ้อวดว่าตนธรรมะธัมโมเพราะได้เข้าสู่พิธีกรรมมากมายและถือปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด ก็ไม่สามารถช่วยให้เขาเป็นคนบริสุทธิ์ขึ้นมาได้ เพราะเขาทำแต่ภายนอก ใจนั้นไม่ได้บริสุทธิ์ ไม่มีความสง่างามตามแบบพระลักษณะนิสัยของพระเยซูคริสต์ {MB 53.1}

ศาสนาที่เพียงแต่ถือปฏิบัติตามศีลข้อบังคับอย่างเดียว ไม่อาจนำจิตวิญญาณให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ คนบาปทั้งหลายสะดุดเมื่อเห็นพวกฟาริสีถือตามกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัด แต่ไม่มีการสำนึกผิด ไม่มีความสุภาพอ่อนโยนหรือความรัก พวกฟาริสีเหมือนเกลือที่หมดรสเค็ม เพราะอิทธิพลของพวกเขาไม่ได้ช่วยผดุงโลกไว้จากความเสื่อมทราม แต่ความเชื่อที่แท้จริงเป็นความเชื่อ “อันแสดงออกด้วยความรัก” (กาลาเทีย 5:6 TNCV) เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นดังเชื้อแป้งที่คอยเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยทั้งหมด {MB 53.2}

ชาวยิวน่าจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากคำสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น ผู้เผยพระวจนะมีคาห์ได้สนองความปรารถนาที่จะมีความชอบธรรมจำเพาะพระเจ้าโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะนำอะไรเข้ามาเฝ้าพระเจ้า และกราบไหว้พระเจ้าเบื้องสูง ควรข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยเครื่องเผาบูชาหรือ ด้วยลูกวัวอายุหนึ่งขวบหลายตัวหรือ พระเจ้าจะทรงพอพระทัยการถวายแกะเป็นพันๆ ตัว และธารน้ำมันหลายหมื่นสายหรือ…มนุษย์เอ๋ย พระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่าอะไรดี และพระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรจากเจ้า นอกจากให้กระทำความยุติธรรมและรักสัจกรุณา และดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมใจไปกับพระเจ้าของเจ้า” (มีคาห์ 6:6–8 TH1971) {MB 53.3}

ผู้เผยพระวจนะโฮเชยาสรุปแก่นสารความเป็นฟาริสีว่า “อิสราเอลเป็นเถาองุ่นที่เปล่าประโยชน์ ซึ่งเกิดผลสำหรับตัวเขาเอง” (โฮเชยา 10:1 TKJV) ในภารกิจรับใช้ทั้งหมดที่ชาวยิวอ้างว่าทำเพื่อพระเจ้า ที่แท้พวกเขาทำเพื่อตัวเอง ความชอบธรรมที่เขามีเป็นผลของการพยายามรักษาธรรมบัญญัติตามความคิดและเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง ดังนั้นมันก็ไม่ได้ดีไปกว่าตัวเขาแต่อย่างใด ที่พวกเขาอุตส่าห์ทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ ก็ไม่ต่างกับการนำความบริสุทธิ์ออกจากสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ธรรมบัญญัติของพระเจ้ามีความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์เท่ากับพระองค์เอง มีความสมบูรณ์แบบเหมือนที่พระองค์ทรงสมบูรณ์แบบ ธรรมบัญญัตินั้นเปิดเผยให้มนุษย์เห็นถึงความชอบธรรมของพระเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์คนใดจะรักษาธรรมบัญญัติได้ด้วยลำพังตัวเอง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เสื่อมทราม มีจิตใจพิกลพิการ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพระอุปนิสัยของพระเจ้า ‘การกุศล’ ที่ทำมาจากใจที่เห็นแก่ตัว “เป็นเหมือนสิ่งที่เป็นมลทิน และความชอบธรรมทั้งหมดของพวกข้าพระองค์เหมือนเสื้อผ้าสกปรก” (อิสยาห์ 64:6) {MB 54.1}

ธรรมบัญญัตินั้นบริสุทธิ์ แต่ชาวยิวไม่อาจเข้าถึงความชอบธรรมได้ด้วยการเพียรพยายามรักษาธรรมบัญญัติ ถ้าจะเข้าแผ่นดินสวรรค์สาวกของพระคริสต์จะต้องมีความชอบธรรมที่แตกต่างไปจากความชอบธรรมของพวกฟาริสี พระเจ้าทรงประทานความชอบธรรมอันสมบูรณ์แบบแห่งธรรมบัญญัติโดยผ่านพระบุตร ถ้าพวกเขายอมเปิดหัวใจทั้งหมดรับเอาพระคริสต์ แล้วชีวิตและความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้าเองจะดำรงอยู่ในใจ คอยเปลี่ยนแปลงพวกเขาตามพระลักษณะของพระองค์ เหตุฉะนี้ โดยผ่านของประทานจากพระเจ้าที่ทรงให้โดยไม่คิดมูลค่า สาวกจึงมีความชอบธรรมตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ แต่พวกฟาริสีปฏิเสธพระคริสต์ “เพราะเขาไม่รู้จักความชอบธรรมของพระเจ้า แต่อุตส่าห์ตั้งความชอบธรรมของตนขึ้น พวกเขาจึงไม่ยอมอยู่ในความชอบธรรมของพระเจ้า” (โรม 10:3) {MB 54.2}

ต่อจากนั้นพระเยซูเริ่มอธิบายว่าการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้ามีความหมายอย่างไร คือการถอดแบบพระอุปนิสัยของพระคริสต์ เพราะเมื่อพระเยซูประทับท่ามกลางสาวก พวกเขาได้เห็นถึงพระลักษณะของพระเจ้าทุกวัน {MB 55.1}

“ถ้าผู้ใดโกรธเคืองพี่น้องของตนจะถูกตัดสินลงโทษ”—(มัทธิว 5:22 TNCV)

พระเจ้าตรัสผ่านโมเสสว่า “อย่ามีใจเกลียดชังพี่น้องของเจ้า…อย่าหาทางแก้แค้นหรืออาฆาตจองเวรคนใดในหมู่ประชากรของเจ้า แต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (เลวีนิติ 19:17–18 TNCV) สัจธรรมที่พระคริสต์สอนเป็นเรื่องเดียวกันกับที่บรรดาผู้เผยพระวจนะเคยสอน แต่จิตใจที่แข็งกระด้าง ลุ่มหลงในความบาป ได้บดบังสิ่งเหล่านี้ไว้ {MB 55.2}

ถ้อยคำของพระผู้ช่วยให้รอดได้สำแดงความเป็นจริงแก่ผู้ฟัง ขณะที่พวกเขากล่าวโทษคนอื่นว่าผิดธรรมบัญญัติ พวกเขาก็มีความผิดไม่ต่างกับคนที่ตนกล่าวหาเพราะในใจยังมีความอาฆาตมาดร้ายอยู่ {MB 55.3}

จากจุดนั้นที่ประชาชนชุมนุมกัน ฟากฝั่งทะเลตรงกันข้ามคือดินแดนบาชาน เป็นเขตเปลี่ยว มีช่องแคบคดเคี้ยวขรุขระสลับป่าเขา เป็นที่ซุกซ่อนของโจรอันธพาลทุกรูปแบบ ข่าวเรื่องฆาตกรรมและการปล้นชิงทรัพย์ที่นั่น เป็นที่ชินหูของประชาชน มีหลายคนที่กำลังฟังพระเยซูอยู่ในเช้าวันนั้นที่ชอบออกปากประณามคนทำชั่วเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาเองยังเป็นคนใจร้อนและชอบทะเลาะวิวาท ผูกพยาบาทชาวโรมันผู้กดขี่ และถือว่าตนเป็นอิสระที่จะเกลียดชังและดูถูกคนต่างชาติทั้งหมด และแม้แต่คนชาติเดียวกันที่ไม่เป็นไปตามใจของตน ในเรื่องเหล่านี้พวกเขาผิดธรรมบัญญัติที่กล่าวว่า “อย่าฆ่าคน” {MB 56.1}

ความจงเกลียดจงชังและการแก้แค้นเริ่มต้นจากซาตาน จนมันฆ่าพระบุตรของพระเจ้า ใครที่ผูกพยาบาทหรือคิดร้ายต่อคนอื่นกำลังเพาะพันธุ์ความชั่วแบบเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายคือความตาย การกระทำที่ชั่วร้ายปิดซ่อนอยู่ภายใต้ความเคียดแค้น เหมือนต้นพืชที่ซ่อนอยู่ในเมล็ด “ผู้ที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็เป็นผู้ฆ่าคน และพวกท่านก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ฆ่าคนนั้นไม่มีชีวิตนิรันดร์ดำรงอยู่ในตัวเขาเลย” (1 ยอห์น 3:15) {MB 56.2}

“ใครพูดกับพี่น้องอย่างเหยียดหยาม คนนั้นจะต้องถูกนำไปยังศาลสูงให้พิพากษา” เมื่อพระเจ้าประทานพระบุตรของพระองค์เพื่อไถ่เราให้พ้นโทษของความบาป พระองค์ได้สอนว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าสูงเพียงไรในสายพระเนตรของพระองค์ พระเจ้าไม่ได้ให้สิทธิ์มนุษย์ที่จะพูดดูถูกคนอื่นถึงแม้ว่าเราจะเห็นข้อบกพร่องและจุดด้อยของคนรอบข้างก็ตาม แต่พระเจ้าทรงถือว่า มนุษย์ทุกคนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ด้วยเหตุผลสองประการ คือหนึ่งเพราะพระองค์เป็นพระผู้สร้าง และสองเพราะพระองค์ทรงไถ่มนุษย์ทุกคนด้วยพระโลหิตอันประเสริฐของพระคริสต์ ทุกคนถูกสร้างมาตามพระฉายาของพระเจ้า และแม้แต่คนที่เสื่อมทรามที่สุด เราก็ยังควรให้เกียรติด้วยความสุภาพอ่อนโยน พระเจ้าจะพิพากษาเราในทุกคำที่เราดูถูกคนอื่นเพราะพระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เขาเช่นกัน {MB 56.3}

“เพราะใครเล่าทำให้ท่านผิดแผกจากคนอื่น สิ่งที่ท่านมีอยู่นั้นมีอะไรบ้างที่ท่านไม่ได้รับมา และถ้าท่านได้รับสิ่งเหล่านั้นมาจริงแล้ว ทำไมจึงพูดโอ้อวดราวกับว่าท่านไม่ได้รับมา” “ท่านเป็นใครเล่าที่จะตัดสินบ่าวของคนอื่น เขาจะได้ดีหรือล้มเหลวก็แล้วแต่นายของเขา และเขาจะได้ดีเพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้เขาได้ดี” (1 โครินธ์ 4:7 TNCV; โรม 14:4 TNCV) {MB 57.1}

“ถ้าผู้ใดพูดว่า ‘ไอ้โง่’ อาจจะต้องโทษถึงไฟนรก” (มัทธิว 5:22 TNCV) ในพระคัมภีร์เดิมคำว่า “คนโง่” หมายถึงคนนอกศาสนา หรือคนที่ปล่อยตัวในการทำบาป พระเยซูสอนว่าผู้ที่กล่าวโทษพี่น้องว่า ไม่มีศาสนาหรือว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า สมควรได้รับโทษเช่นเดียวกับคนที่ตนกล่าวหา {MB 57.2}

แม้แต่พระเยซูคริสต์ “เมื่อโต้แย้งกับมารเรื่องศพของโมเสสก็ยังไม่กล้าล่วงเกินกล่าวหามารเลย” (ยูดา 1:9 TNCV) หากพระองค์ได้ทำเช่นนั้น พระองค์ก็จะตกอยู่ฝ่ายซาตาน เพราะการกล่าวหาและการลบหลู่เป็นอาวุธของซาตาน พระคัมภีร์ได้ขนานนามให้ซาตานว่า “เป็นผู้กล่าวหาพี่น้องของเรา” (วิวรณ์ 12:10) แต่พระเยซูไม่ยอมใช้อาวุธของซาตาน เพียงแต่ตอบมารว่า “ให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขนาบเจ้าเถิด” (ยูดา 1:9 TH1971) {MB 57.3}

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้เรา เมื่อมีการขัดแย้งกับศัตรูของพระคริสต์ เราไม่ควรพูดอะไรที่เป็นการตอบโต้หรือมีลักษณะเหมือนการ “ล่วงเกินกล่าวหา” ในฐานะที่เป็นคนพูดแทนพระเจ้า เราไม่ควรใช้คำที่แม้แต่พระเจ้าสูงสุดไม่ยอมใช้เมื่อโต้แย้งกับซาตาน ขอให้หน้าที่การพิพากษากล่าวโทษเป็นของพระเจ้าเถิด {MB 57.4}

“จง…กลับคืนดีกับพี่น้อง”—(มัทธิว 5:24)

ความรักของพระเจ้าไม่ใช่พลังในเชิงลบ แต่เป็นหลักการที่ขับเคลื่อนในเชิงบวก เป็นน้ำพุที่มีชีวิต อำนวยพระพรให้ผู้อื่น ถ้าความรักของพระคริสต์ดำรงอยู่ในเราแล้ว เราจะไม่มีความเกลียดชังต่อเพื่อนมนุษย์ แต่เราจะหาทุกวิถีทางที่จะแสดงความรักแก่เขา {MB 58.1}

พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา และกลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน” (มัทธิว 5:23–24) เมื่อชาวยิวถวายบูชาตามแบบที่พระเจ้าทรงวางไว้ เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อว่า โดยผ่านพระคริสต์แล้ว ผู้ที่ถวายบูชานั้นได้รับพระเมตตาและความรักจากพระเจ้า แต่การที่จะแสดงออกถึงความเชื่อในความรักของพระเจ้าที่ทรงอภัยความบาปของเขา และในขณะเดียวกันยังเกลียดชังคนอื่นอยู่ ก็เหมือนการเสแสร้งหรือการเล่นละครเท่านั้นเอง {MB 58.2}

เมื่อคนที่แสดงตัวเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าทำผิดต่อพี่น้องคนหนึ่ง อาจเป็นเหตุให้คนนั้นเข้าใจพระลักษณะของพระเจ้าผิดไป เขาต้องสารภาพความผิดนั้นและยอมรับว่านั่นเป็นความบาป เพื่อเขาจะมีความสอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระเจ้าได้ พี่น้องคนนั้นอาจจะทำผิดต่อเราหนักกว่าที่เราทำต่อเขา แต่นั่นไม่ได้ลดความรับผิดชอบของเราแต่อย่างใด เมื่อเรามาหาพระเจ้าและระลึกได้ว่า มีคนที่มีเหตุขัดเคืองใจกับเรา เราก็ควรหยุดอธิษฐาน การขอบคุณหรือการถวายเอาไว้ก่อน และไปหาพี่น้องคนนั้น สารภาพความผิดและขอการอภัยจากเขา {MB 58.3}

ถ้าเราได้โกงพี่น้องหรือทำให้เขาได้รับความเสียหาย เราก็ควรชดใช้ ถ้าเคยบิดเบือนคำพูดของพี่น้อง หรือใส่ร้ายเขาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ควรไปหาคนๆ นั้น และถอนคำพูดทุกคำที่สร้างความเสียหายให้หมดสิ้น {MB 59.1}

คงป้องกันความชั่วไว้ได้ไม่น้อยทีเดียว ถ้าเมื่อไหร่ที่พี่น้องมีปัญหากัน แทนที่จะติฉินนินทาหรือแพร่งพรายปัญหานั้นอยู่ลับหลัง ก็หันหน้าเข้าหากันและคุยกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยความรักของคริสเตียน รากขมขื่นที่ “ทำให้คนเป็นอันมากแปดเปื้อนมลทิน” (ฮีบรู 12:15 TNCV) จะถูกถอนขึ้นเป็นจำนวนมาก และสาวกของพระคริสต์จะกลมเกลียวกันในความรักของพระองค์ {MB 59.2}

“ผู้ใดมองดูผู้หญิงด้วยใจกำหนัดก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจของเขาแล้ว”—(มัทธิว 5:28 TNCV)

ชาวยิวมีความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในศีลในธรรมและรู้สึกรังเกียจเมื่อเห็นคนต่างชาติประพฤติผิดในกาม พวกเขามีความขุ่นเคืองที่เห็นธรรมเนียมของคนต่างชาติซึ่งเสพสุขตามราคะตัณหาทะลักเข้ามาพร้อมกับพวกทหารชาวโรมันที่มาปกครองปาเลสไตน์ในนามจักรพรรดิ ณ เมืองคาเปอรนาอุม ภาพนายทหารโรมันกับชู้รักเคล้าเคลียเดินอวดตัวกันไปมาอยู่ต่อหน้าพวกเขาทุกเมื่อเชื่อวัน บ่อยครั้งจะได้ยินเสียงเฮฮาเข้ามากระทบความเงียบสงบของทะเลสาบขณะที่เรือท่องเที่ยวของคนพวกนั้นลอยผ่านไปบนผิวน้ำที่ราบเรียบสงบนิ่ง ฉะนั้นประชาชนคาดว่าพระเยซูจะประณามคนเหล่านี้อย่างรุนแรง แต่ก็ต้องตกใจเมื่อพระองค์เผยให้เห็นความชั่วในใจของพวกเขาเอง {MB 59.3}

พระเยซูตรัสว่า เมื่อคนใดฝักใฝ่อยู่กับความคิดที่ชั่วร้าย ถึงจะเป็นความลับก็ตาม ก็ยังแสดงว่าความบาปยังครองใจเขาอยู่ จิตใจที่ขมขื่นยังเป็นทาสของความผิดบาป คนที่ชอบคิดจินตนาการในสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์และมองคนอื่นด้วยใจกำหนัดในกาม จะสำนึกถึงธาตุแท้ของความชั่วที่ซุกซ่อนในใจ เมื่อมีคนที่คิดแบบเดียวกับเขาถูกเปิดโปงความชั่วนั้นออกมาให้อับอายขายหน้าและระทมทุกข์ การทดลองที่อยู่เบื้องหลังของการทำบาปร้ายแรง ไม่ได้เป็นเหตุก่อความชั่วที่ปรากฏนั้น มันเพียงแต่เปิดโปงสิ่งที่ซ่อนเร้นในใจ ด้วยว่ามนุษย์ “คิดในใจอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น” “จงรักษาใจของเจ้าด้วยความระวังระไวรอบด้าน เพราะแหล่งแห่งชีวิตเริ่มต้นออกมาจากใจ” (สุภาษิต 23:7 TKJV; 4:23 TKJV) {MB 60.1}

“ถ้ามือข้างขวาของท่านทำให้ตัวท่านหลงผิด จงตัดทิ้งเสีย”—(มัทธิว 5:30)

เพื่อป้องกันไม่ให้โรคร้ายขยายจนทำลายไปทั้งชีวิต คนเราคงยอมตัดแม้กระทั่งมือขวาทิ้ง ยิ่งกว่านั้นเราก็ควรสละทิ้งสิ่งที่ทำให้จิตวิญญาณเข้าสู่อันตรายเสียด้วย {MB 60.2}

คนที่เสื่อมทรามและเป็นทาสของความบาปจะได้รับการไถ่เพื่อมีส่วนในอิสรภาพอันรุ่งโรจน์แห่งลูกของพระเจ้าโดยผ่านข่าวประเสริฐ ผลของความบาปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความทุกข์ พระเจ้าไม่เพียงแต่ประสงค์ที่จะช่วยกู้เราให้พ้นจากความทุกข์เท่านั้น แต่ช่วยเราให้รอดพ้นจากความบาปที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้นด้วย จิตใจที่แปดเปื้อนมลทินจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์และจะเปลี่ยนแปลงตาม “ความงามของพระเยโฮวาห์” “ให้เป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์” “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (สดุดี 90:17 TKJV; โรม 8:29 TNCV; 1 โครินธ์ 2:9) มีแต่ที่ชีวิตนิรันดร์เท่านั้น ที่จะเปิดเผยศักดิ์ศรีซึ่งพระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้คนของพระองค์ เมื่อนั้นมนุษย์จะกลับสู่สภาพที่เป็นไปตามพระฉายาของพระองค์ {MB 60.3}

เราต้องสละละทิ้งทุกอย่างที่เป็นเหตุให้หลงผิดเพื่อให้เราไปถึงมาตรฐานอันสูงส่งนี้ ความบาปเข้ามาครอบงำเราโดยผ่านเจตจำนงของเราเอง ส่วนตัวอย่างที่พระเยซูให้ไว้คือการควักตาและการตัดมือทิ้ง เป็นสัญลักษณ์ของการมอบเจตจำนงของเราให้พระเจ้า บ่อยครั้งคนเรารู้สึกว่า ถ้ามอบความปรารถนาให้พระเจ้าแล้ว ชีวิตคงพิกลพิการ ไม่สมบูรณ์ แต่พระเยซูตรัสว่า ที่จะมีชีวิตไม่สมประกอบก็ยังดีกว่า ถ้าด้วยเหตุนั้นทำให้เราได้เข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ คือว่าสิ่งที่เราถือว่าย่ำแย่ที่สุด อาจกลับเป็นประตูสู่พระพรอันสูงสุด {MB 61.1}

พระเจ้าคือน้ำพุแห่งชีวิต และเราจะมีชีวิตอยู่ได้ตราบเท่าที่เราติดสนิทกับพระองค์ ถ้าแยกจากพระเจ้าแล้ว เราอาจอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เป็นการอยู่แบบปราศจากชีวิต เหมือนข้อความที่บรรยายถึงคนที่ “อยู่เพื่อหาความสนุกเพลิดเพลินก็ตายทั้งเป็น” (1 ทิโมธี 5:6 TNCV) มีแต่การมอบเจตจำนงและความปรารถนาให้พระเจ้าเท่านั้น พระองค์จึงสามารถประทานชีวิตให้เราได้ พระเยซูสอนว่ามีทางเดียวที่จะชนะความบาปที่ซ่อนเร้น นั่นคือการรับเอาชีวิตของพระองค์ด้วยการมอบเจตจำนงนั่นเอง เราอาจปิดซ่อนความบาปไว้ในใจส่วนลึก ห่างไกลจากสายตามนุษย์ แต่เราจะยืนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าได้อย่างไร {MB 61.2}

ถ้าเรายังยึดถือตนเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมมอบเจตจำนงให้พระเจ้า ก็เท่ากับเป็นการเลือกความตาย เพราะพระเจ้าทรงเป็นไฟที่เผาผลาญต่อบาปไม่ว่าบาปจะอยู่ที่ใด ถ้าเราเลือกความบาปและไม่ยอมแยกจากมัน พระเจ้าผู้ทรงเผาผลาญบาปจะทรงเผาผลาญเราด้วยเมื่อพระองค์เสด็จมา {MB 62.1}

การที่จะมอบทั้งใจกาย ชีวิต จิตวิญญาณให้พระเจ้านั้น ต้องเสียสละ แต่เป็นการสละสิ่งเล็กเพื่อแลกเอาสิ่งที่ใหญ่กว่า และเป็นการแลกสิ่งของฝ่ายโลกเพื่อรับเอาสิ่งที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณ ทั้งเป็นการแลกสิ่งที่เน่าเปื่อยได้กับสิ่งที่ถาวรนิรันดร์ พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะทำร้ายเจตจำนงของเรา เพราะมีแต่ทางเดียวที่เราจะทำในสิ่งที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราทำ นั่นคือด้วยการฝึกเจตจำนงของเรา เมื่อเรามอบเจตจำนงให้พระเจ้า พระองค์จะทรงชำระให้สะอาดบริสุทธิ์แล้วคืนให้แก่เราอีก และเมื่อเจตจำนงของเราเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์แล้ว พระองค์จะประทานความรักและฤทธานุภาพของพระองค์มากมายผ่านเราไปยังผู้อื่น ถึงแม้ใจที่ดื้อรั้นอาจรู้สึกว่าการเสียสละนั้นเจ็บปวดและขมขื่นมากก็ตาม แต่ก็ยังเป็น “ประโยชน์แก่ท่านมาก” (มัทธิว 5:29 TKJV) {MB 62.2}

ยาโคบไม่รู้จักชัยชนะแห่งความเชื่อและไม่ได้รับชื่ออิสราเอล จนกระทั่งท่านฟุบตัวลงที่ทรวงอกของทูตแห่งพันธสัญญาด้วยอาการอ่อนแรงและพิการ เมื่อท่าน “เดินโขยกเขยก” นั่นแหละ กองกำลังของเอซาวจึงหยุดเคลื่อนพลต่อหน้าท่าน และกษัตริย์ฟาโรห์ พระราชาผู้เกรียงไกรได้ก้มคำนับเพื่อรับเอาพรของท่าน (ปฐมกาล 32:31; 47:10) เช่นเดียวกัน พระเจ้าทรงทำให้พระคริสต์ “ผู้ลิขิตความรอดของเขาทั้งหลายนั้นสมบูรณ์พร้อมโดยการทนทุกข์” (ฮีบรู 2:10 TNCV) ความอ่อนแอของลูกแห่งความเชื่อกลับเป็นความเข้มแข็ง พวกเขา “ได้ไล่ล่ากองทัพจากต่างแดน” (ดู ฮีบรู 11:34 TNCV) ฉะนั้น “คนง่อยก็จะเอาเหยื่อไป” (อิสยาห์ 33:23) “คนที่อ่อนแอท่ามกลางเขาในวันนั้นจะเป็นเหมือนดาวิด และราชวงศ์ของดาวิดจะเป็นเหมือน…ทูตสวรรค์ของพระเยโฮวาห์” (เศคาริยาห์ 12:8 TKJV) {MB 62.3}

“ผิดบัญญัติหรือไม่ที่ผู้ชายจะขอหย่าภรรยา”—(มัทธิว 19:3 TNCV)

ในสังคมชาวยิวผู้ชายสามารถหย่าภรรยาได้ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง และผู้หญิงก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานใหม่ได้ แต่ธรรมเนียมนี้นำไปสู่บาปที่ต่ำช้า ในคำเทศนาบนภูเขาพระเยซูประกาศอย่างชัดเจนว่า จะต้องไม่มีการหย่าร้างเกิดขึ้นนอกจากว่าคู่สมรสคนใดคนหนึ่งนอกใจ “ทุกคนที่หย่าภรรยาเว้นเสียแต่เพราะการผิดศีลธรรมทางเพศ ทำให้ภรรยาผิดประเวณี และผู้ที่รับหญิงที่ถูกหย่าร้างก็ผิดประเวณี” (มัทธิว 19:9 แปลตามฉบับ RV) {MB 63.1}

ต่อมาเมื่อพวกฟาริสีไต่ถามพระองค์ถึงความผิดความชอบเรื่องการหย่าร้าง พระเยซูทบทวนการสมรสที่สถาปนาตั้งแต่เริ่มแรกสร้างโลกว่า “โมเสสอนุญาตให้ท่านหย่าภรรยาของท่านเพราะใจของท่านทั้งหลายแข็งกระด้าง แต่ไม่ได้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น” (มัทธิว 19:8 TNCV) สมัยที่บรรพบุรุษสุขสำราญในสวนเอเดนและพระเจ้าตรัสว่า ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่ “ดีนัก” พระเจ้าสถาปนาการสมรสและวันสะบาโต เป็นสถาบันที่ควบคู่กันมาเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าและอำนวยพรแก่มนุษย์ ในปฐมกาลพระผู้สร้างทรงประกอบพิธีให้คู่สมรสคู่แรกและตรัสว่า “เพราะเหตุนี้ผู้ชายจะละจากบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และพวกเขาจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐมกาล 2:24 TNCV) นี่เป็นกฎสมรสให้กับลูกหลานอาดัมตั้งแต่นั้นมาจนอวสานกาล สิ่งที่องค์พระบิดานิรันดร์ประกาศว่าดีคือสัจธรรมที่อำนวยพระพรและช่วยพัฒนามนุษย์อย่างดีที่สุด {MB 63.2}

ความบาปได้บิดเบือนความหมายของชีวิตสมรส เหมือนพระพรทั้งหลายที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์ แต่จุดประสงค์ของข่าวประเสริฐคือนำการสมรสให้กลับมาสู่ความบริสุทธิ์และสวยงามเหมือนเมื่อครั้งเริ่มแรก ทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ได้ยกตัวอย่างการสมรสมาเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างพระคริสต์กับประชากรของพระองค์ คือผู้ที่พระองค์ทรงไถ่ไว้ด้วยการสิ้นพระชนม์ ณ เนินเขาคาลวารี พระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เจ้าจะไม่ต้องทนอับอาย อย่ากลัวเลย เจ้าจะไม่ต้องขายหน้า เจ้าจะลืมความอัปยศในวัยสาว และไม่จดจำคำถากถางเรื่องความเป็นม่ายของเจ้าอีก เพราะพระผู้สร้างของเจ้าเป็นสามีของเจ้า” “พระนามของพระองค์คือพระเยโฮวาห์จอมโยธา และองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอลเป็นผู้ไถ่ของเจ้า” “‘หันกลับมาเถิด ประชากรที่ไม่ซื่อสัตย์’ องค์พระผู้เป็นเจ้าประกาศดังนี้ ‘เพราะเราเป็นสามีของเจ้า’” (อิสยาห์ 54:4, 5 TNCV/TH1971; เยเรมีย์ 3:14 TNCV) และในบทเพลงไพเราะของซาโลมอนเราได้ยินเสียงผู้เป็นภรรยากล่าวว่า “ที่รักของดิฉันเป็นกรรมสิทธิ์ของดิฉัน และตัวดิฉันก็เป็นของเขา” ส่วนผู้ที่ “โดดเด่นท่ามกลางคนนับหมื่น” กล่าวแก่ผู้ที่ท่านเลือกไว้ว่า “โอ ที่รักของฉันเอ๋ย เธอช่างงามหมดจดปราศจากตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น” (เพลงซาโลมอน 2:16; 5:10; 4:7) {MB 64.1}

ต่อมาอัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟซัสว่า พระเจ้าทรงกำหนดให้สามีเป็นศีรษะของภรรยา เพื่อป้องกันและผูกพันสมาชิกครอบครัวเข้าด้วยกันเหมือนพระคริสต์ทรงเป็นศีรษะและพระผู้ช่วยให้รอดของคริสตจักรอันเปรียบเสมือนร่างกายของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า “คริสตจักรยอมเชื่อฟังพระคริสต์อย่างไร ภรรยาก็ควรยอมเชื่อฟังสามีทุกประการอย่างนั้น ส่วนสามีก็จงรักภรรยาของตน เหมือนพระคริสต์ทรงรักคริสตจักร และประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร เพื่อจะทำให้คริสตจักรบริสุทธิ์โดยการชำระด้วยน้ำและพระวจนะ เพื่อพระองค์จะได้คริสตจักรที่มีศักดิ์ศรี ไม่มีด่างพร้อย ริ้วรอยหรือมลทินใดๆ แต่บริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ ในทำนองเดียวกัน สามีต้องรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตัวเอง คนที่รักภรรยาของตัวเองก็รักตัวเองด้วย” (เอเฟซัส 5:24–28) {MB 64.2}

มีแต่พระคุณของพระคริสต์เท่านั้นสามารถทำให้ชีวิตสมรสเป็นไปตามที่พระองค์ทรงวางแผนไว้ คือเป็นสถาบันที่จะนำพระพรและเสริมสร้างมนุษยชาติ ฉะนั้นครอบครัวที่มีความสมัครสมานสามัคคี เปี่ยมด้วยความสงบสุขและความรักจึงเป็นตัวแทนของครอบครัวสวรรค์ {MB 65.1}

ปัจจุบันไม่ต่างกับสมัยของพระคริสต์ สภาพสังคมเสื่อมไปมากจากอุดมการณ์ของสวรรค์ในเรื่องชีวิตคู่ กระนั้นข่าวประเสริฐของพระคริสต์ยังเป็นกำลังใจให้แม้แต่คนที่พบความขมขื่นและผิดหวัง แทนที่จะพบความสุขสำราญที่เขาฝากความหวังไว้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะประทานความอดทนและความสุภาพอ่อนโยนเพื่อบรรเทาความชอกช้ำระกำใจให้เกิดความชื่นฉ่ำ คนที่มีพระคริสต์สถิตในใจจะรู้สึกเอมอิ่ม มีความพึงพอใจในความรักของพระองค์ และจะไม่หมกมุ่นอยู่กับการเรียกร้องความสนใจ นอกจากนั้น เมื่อมีการมอบใจให้พระเจ้าแล้ว พระองค์จะประทานสติปัญญาให้เขา เพื่อจะสามารถทำให้สำเร็จได้ในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ถ้าพึ่งสติปัญญาของมนุษย์ เมื่อพระคุณของพระเจ้าปรากฏ ใจคนที่เคยเฉยเมยต่อกันอาจประสานเข้ากันด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่าสายสัมพันธ์ของมนุษย์ คือสายสัมพันธ์แห่งความรักที่จะทนต่อความทุกข์ยากลำบากได้ {MB 65.2}

“อย่าสาบานเลย”—(มัทธิว 5:34)

เหตุผลของพระบัญชาข้อนี้อยู่ในคำอธิบาย พระองค์ไม่ให้เราสบถสาบาน “โดยอ้างถึงสวรรค์ เพราะสวรรค์เป็นที่ประทับของพระเจ้า หรืออ้างถึงแผ่นดินโลก เพราะแผ่นดินโลกเป็นที่รองพระบาทของพระเจ้า หรืออ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะกรุงเยรูซาเล็มเป็นราชธานีของพระมหากษัตริย์ อย่าสาบานโดยอ้างถึงศีรษะของตน เพราะท่านจะทำให้ผมขาวหรือดำไปสักเส้นหนึ่งก็ไม่ได้” (มัทธิว 5:34–36) {MB 66.1}

ทุกสิ่งล้วนแต่มาจากพระเจ้า ไม่มีอะไรที่เราไม่ได้รับมา และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีอะไรที่เราได้มาโดยไม่ผ่านการทรงไถ่ด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ ทุกสิ่งที่เรามีล้วนแต่มาถึงเราด้วยตราประทับจากไม้กางเขนของพระคริสต์ และซื้อด้วยพระโลหิตของพระองค์ที่มีค่าเหลือประมาณเพราะเป็นชีวิตของพระเจ้า แล้วเราจะอ้างอะไรมาเพื่อรับประกันการสาบานของเราได้ในเมื่อของที่เรามีไม่ได้เป็นของเรา {MB 66.2}

พระบัญญัติข้อที่สามได้ห้ามไว้ “อย่าออกพระนามพระเจ้าของเจ้าอย่างไม่สมควร” (อพยพ 20:3 TH1971) ส่วนชาวยิวเข้าใจว่า ข้อนี้ห้ามไม่ให้ออกพระนามของพระเจ้าในการอุทานหรือการพูดหยาบโลน แต่ถือว่าพวกเขามีสิทธิ์อ้างพระนามของพระองค์ได้ในการให้คำสัตย์ปฏิญาณ ในสมัยนั้นการสาบานถือเป็นเรื่องปกติ กฎของโมเสสเคยห้ามไว้ไม่ให้สาบานเท็จ แต่พวกเขาหาช่องโหว่ที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ปฏิญานไว้ พวกเขาไม่กลัวที่จะกล่าวจาบจ้วง อ้างฟ้าอ้างดิน แม้จะโป้ปดมดเท็จหรือปั้นน้ำให้เป็นตัวก็ไม่กลัวตราบใดที่มีช่องโหว่ให้หลบหลีก {MB 66.3}

พระเยซูทรงประณามพฤติกรรมของชาวยิว ทรงอธิบายว่า การสาบานนั้นเป็นการทำผิดต่อพระบัญญัติของพระเจ้า ในเรื่องนี้พระเยซูไม่ได้ห้ามการสาบานตนในชั้นศาล ที่มีการน้อมขอให้พระเจ้าทรงเป็นพยานว่าสิ่งที่จะกล่าวนั้นล้วนแต่เป็นความจริง พระเยซูเองเมื่ออยู่ต่อหน้าสภาแซนเฮดรินไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้การภายใต้คำสาบาน มหาปุโรหิตกล่าวต่อพระองค์ว่า “เราให้เจ้าสาบานโดยอ้างพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ให้บอกเราว่าเจ้าเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าหรือไม่” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ใช่อย่างที่ท่านพูด” (มัทธิว 26:63–64 THSV/TNCV) ถ้าในคำเทศนาบนภูเขาพระเยซูไม่ให้สาบานในศาล พระองค์คงได้ตำหนิมหาปุโรหิตที่ให้สาบาน เพื่อประโยชน์แก่สาวกของพระองค์ และเพื่อเป็นการย้ำถึงคำสอนของพระองค์ {MB 66.4}

มีคนมากมายที่ไม่กลัวที่จะหลอกลวงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันเคยถูกสอนว่าการโกหกพระเจ้าผู้ทรงสร้างเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งนัก ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจเขาในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เมื่อสาบานในศาลเขาจึงมีความเกรงกลัวต่อบาป เพราะไม่ได้ให้การต่อหน้ามนุษย์อย่างเดียว แต่ต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าจะให้การเท็จ พระองค์ทรงล่วงรู้ถึงส่วนลึกของจิตใจ และทรงทราบข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ นอกจากนั้นก็ยังมีตัวอย่างของคนที่ ‘กรรมตอบสนอง’ ที่ช่วยรั้งเขาไว้จากบาปของการให้การเท็จ {MB 67.1}

แต่ถ้ามีใครกลุ่มใดที่สามารถให้การในศาลภายใต้คำสาบานอยู่ในทุกสถานการณ์ คนเหล่านั้นคงจะเป็นคริสเตียน เพราะเขาดำรงชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า โดยตระหนักว่า ทุกความคิดเปิดแจ้งต่อพระองค์ “ผู้ซึ่งเราทั้งหลายต้องกราบทูลรายงาน” (ฮีบรู 4:13 TNCV) เมื่อต้องให้การตามกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะขอให้พระเจ้าเป็นพยานว่า สิ่งที่จะพูดเป็นความจริงทั้งสิ้น {MB 67.2}

หลังจากนั้นพระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่าการสาบานเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ถ้าเราเพียงแต่พูดเฉพาะความจริง โดยตรัสว่า “จริงก็ว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ คำพูดที่เกินกว่านี้มาจากความชั่ว” (มัทธิว 5:37) {MB 67.3}

พระดำรัสของพระเยซูในข้อนี้ได้ประณามว่า คำสบถ คำอุทาน และคำไร้สาระที่แฝงการหมิ่นประมาทเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการประจบสอพลอ การยกยอปอปั้น การโอ้อวด การพูดเกินจริง การเบี่ยงประเด็น และการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางการค้าที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมและโลกธุรกิจล้วนแล้วแต่ทำผิดข้อนี้ พระดำรัสของพระเยซูในพระธรรมมัทธิว 5:37 สอนว่าใครก็ตามที่ปั้นเรื่องหรือพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนสุจริต {MB 68.1}

ถ้าคนทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระคริสต์ในเรื่องนี้ คงป้องกันการกล่าวร้ายและการระแวงต่อกัน เพราะมีใครบ้างเมื่อพูดถึงการกระทำหรือเหตุผลของคนอื่น แล้วแน่ใจว่าเขาพูดแต่ความเป็นจริงเท่านั้น มีบ่อยครั้งที่เรารู้สึกได้ถึงความเย่อหยิ่งและอคติของเราเองจึงเป็นเหตุบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะการเลือกถ้อยคำ การใช้สายตาหรือน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเท็จ แม้แต่ข้อเท็จจริงก็สามารถกล่าวในวิธีที่จะทำให้คนฟังเข้าใจผิดได้ เพราะ “คำพูดที่เกินกว่า” ความจริง “ก็มาจากมาร” (มัทธิว 5:37 THSV/TNCV) {MB 68.2}

การกระทำของคริสเตียนทุกอย่างควรโปร่งใสเหมือนแสงอาทิตย์ ความจริงมาจากพระเจ้า การหลอกลวงที่มาในหลากหลายรูปแบบล้วนมาจากซาตาน ใครก็ตามที่เบี่ยงเบนไปจากทางแห่งความจริงที่ซื่อตรงก็ตกเป็นเหยื่อของมารร้าย แต่การที่จะพูดแต่ความจริงนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มันไม่ง่ายที่จะพูดอย่างถูกต้องแม่นยำ เพราะเราจะพูดความจริงไม่ได้ถ้าเราไม่รู้ความจริง บ่อยครั้งเราสรุปไปล่วงหน้า หรือมีอคติไปก่อน ได้ข้อมูลไม่ครบและตัดสินผิดพลาด จึงไม่สามารถเข้าใจอย่างถูกต้องแม้แต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา เราจะพูดความจริงไม่ได้ นอกเสียจากว่าพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริงนั้นทรงนำความคิดของเราตลอดเวลา {MB 68.3}

พระคริสต์ทรงกำชับเราผ่านอัครสาวกเปาโลว่า “จงให้ถ้อยคำของท่านทั้งหลายประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ” “อย่าให้คำเลวร้ายออกจากปากของท่านทั้งหลาย แต่จงกล่าวคำดีๆ ที่เสริมสร้างและที่เหมาะกับความต้องการ เพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยิน” (โคโลสี 4:6; เอเฟซัส 4:29) เมื่อเราพิจารณาคำเทศนาบนภูเขาด้วยคำสอนของข้อพระคัมภีร์สองข้อนี้แล้ว แสดงว่าพระคริสต์ทรงห้ามไม่ให้ล้อเล่นไม่เป็นเรื่อง พูดไร้สาระหรือคำหยาบคาย แต่ให้คำพูดนั้นบริสุทธิ์และเป็นความจริง {MB 68.4}

ผู้ที่ได้เรียนรู้จากพระคริสต์จะไม่ “มีส่วนในกิจการของความมืดที่ไร้ผล” (เอเฟซัส 5:11) ชีวิตและคำพูดจะเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเป็นความจริง เพราะเขากำลังเตรียมที่จะอยู่ท่ามกลางผู้บริสุทธิ์ ซึ่ง “ไม่พบความเท็จ” ในปากของพวกเขา (วิวรณ์ 14:5) {MB 69.1}

“อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย”—(มัทธิว 5:39)

มีเหตุขุ่นเคืองใจเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะการที่ชาวยิวต้องเกี่ยวข้องกับทหารโรมัน มีกองกำลังตั้งเป็นจุดๆ กระจายอยู่ทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นกาลิลี เมื่อประชาชนเห็นทหารโรมันก็ระลึกถึงความตกต่ำของประเทศชาติบ้านเมือง เมื่อมีการเป่าแตรเรียกทหารเข้าประจำการใต้ธงชาติโรมและก้มคำนับต่อสัญลักษณ์ของอำนาจจักรพรรดิโรมนั้นสร้างความขุ่นเคืองใจไม่น้อย เกิดเหตุพิพาทขึ้นระหว่างประชาชนกับทหารบ่อยๆ ซึ่งปลุกเร้าให้ประชาชนเกิดความจงเกลียดจงชัง บ่อยครั้งที่นายทหารโรมันพร้อมด้วยพรรคพวกบริวารเดินทางไปเพื่อจะจับและเกณฑ์ให้ชาวนาแบกหามสัมภาระขึ้นเขา หรือทำงานตรากตรำอื่นๆ ตามแต่นายต้องการ นี่ก็เป็นไปตามกฎและธรรมเนียมของชาวโรมัน ซึ่งถ้าขืนขัดข้องก็คงโดนทำร้ายและถูกเยาะเย้ย ความรู้สึกของประชาชนที่อยากหลุดพ้นจากแอกของโรมก็เพิ่มทวีขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางชาวกาลิลีใจกล้าที่พร้อมจะกบฏอยู่แล้ว เมืองคาเปอรนาอุมตั้งอยู่ชายแดนและเป็นที่ตั้งของกองทหารรักษาการของโรม ขณะที่พระเยซูสอนอยู่นั้น ประชาชนก็สามารถมองเห็นกองทหารอยู่แต่ไกลซึ่งทิ่มแทงใจให้ระลึกถึงความอับอายที่แสนระทมของชาติอิสราเอล ประชาชนหันไปมองพระคริสต์ ใจจดจ่อหวังว่าพระองค์จะเป็นผู้กำราบปราบปรามความหยิ่งยโสของพวกโรมัน {MB 69.2}

พระเยซูทรงสลดพระทัยเมื่อทอดพระเนตรใบหน้าประชาชนที่เงยขึ้นหาพระองค์ สีหน้าแต่ละคนประทับรอยความชั่วอยู่ พระองค์ทรงรู้ว่าแต่ละคนต้องการอำนาจเพื่อจะไปบดขยี้ผู้ที่บีบบังคับพวกเขา แต่พระองค์ตรัสด้วยน้ำเสียงที่เป็นทุกข์ว่า “อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าใครตบแก้มขวาของท่านก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย” {MB 70.1}

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นเพียงการทบทวนคำสอนจากพระคัมภีร์เดิม จริงอยู่ที่มีกฎของโมเสสข้อหนึ่งว่า “ตาแทนตา ฟันแทนฟัน” (เลวีนิติ 24:20) แต่นั่นเป็นกฎฝ่ายพลเรือน จะไม่สามารถอ้างข้อนี้เพื่อทำการแก้แค้น เพราะมีพระธรรมของพระเจ้าหลายข้อที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เช่น “อย่าพูดว่า ‘ข้าจะแก้แค้นความชั่ว’” “อย่ากล่าวว่า ‘ข้าจะทำแก่เขาอย่างที่เขาได้ทำแล้วแก่ข้า’” “อย่าเปรมปรีดิ์เมื่อศัตรูของเจ้าล้ม” “ถ้าศัตรูของเจ้าหิว จงให้อาหารเขากิน และถ้าเขากระหาย จงให้น้ำเขาดื่ม” (สุภาษิต 20:22; 24:29, 17; 25:21–22) {MB 70.2}

ชีวิตทั้งหมดของพระเยซูบนโลกนี้ได้แสดงออกถึงหลักการดังกล่าว พระผู้ช่วยให้รอดได้ออกจากสวรรค์เพื่อแบ่งปันอาหารแห่งชีวิตให้ศัตรูของพระองค์ แม้มีคนกดขี่ข่มเหงและใส่ร้ายป้ายสีตั้งแต่แรกที่เกิดมา แต่พระองค์ตอบสนองเขาด้วยความรักและการให้อภัยเท่านั้น พระองค์ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า “ข้าพเจ้าเปิดหลังให้ผู้โบยตีข้าพเจ้า และหันแก้มแก่คนดึงเคราข้าพเจ้าออก ข้าพเจ้าไม่ได้ซ่อนหน้าจากการเยาะเย้ยและการถ่มน้ำลายรด” “ท่านถูกบีบบังคับและถูกข่มใจ ถึงกระนั้นท่านก็ไม่ปริปาก เหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า และเหมือนแกะที่เป็นใบ้ต่อหน้าผู้ตัดขนของมันเช่นใด ท่านก็ไม่ปริปากของท่านเช่นนั้น” (อิสยาห์ 50:6; 53:7) นอกจากนั้นคำอธิษฐานของพระองค์บนไม้กางเขน ที่อธิษฐานขอให้พระเจ้ายกโทษผู้ที่ปลงพระชนม์พระองค์ กับความหวังที่พระองค์ให้โจรผู้นั้นก็ยังเป็นบทเรียนที่สืบทอดกันมาจนถึงพวกเรา {MB 71.1}

การสถิตอยู่ของพระบิดาโอบล้อมพระผู้ไถ่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพระเยซูนอกจากที่พระเจ้าแห่งความรักทรงอนุญาตให้เกิดเพื่อเป็นพระพรให้แก่ชาวโลก พระคริสต์พอพระทัยเมื่อทรงพิจารณาถึงข้อนี้ และเราก็ควรจะมีความสุขเช่นกัน ผู้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระคริสต์ก็เข้าสนิทกับพระองค์ สิ่งเลวร้ายที่จะมากระทบเขาก็ไปกระทบพระผู้ช่วยให้รอดแทน เพราะพระองค์ระแวดระวังเขาอยู่ทั้งหน้าทั้งหลัง ทุกสิ่งที่กระทบเขาก็มาจากพระคริสต์ เขาไม่จำเป็นต่อสู้กับความชั่วร้าย เพราะพระคริสต์ทรงเป็นแนวป้องกันของเขา ไม่มีอะไรที่จะแตะต้องเขาได้นอกจากที่พระองค์จะอนุญาต และ “ทุกอย่าง” ที่ทรงอนุญาตนั้น ล้วนแต่ “ก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า” (โรม 8:28) {MB 71.2}

“ถ้าใครต้องการจะฟ้องศาล เพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไป จงสละเสื้อคลุมให้เขาด้วย ถ้าใครจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตร ก็ให้เลยไปกับเขาถึงสองกิโลเมตร” (มัทธิว 5:40–41) {MB 71.3}

พระเยซูทรงสอนสาวกว่า เมื่อผู้มีอำนาจสั่งประการใด แทนที่จะขัดขืน ให้ทำยิ่งกว่าที่เขาสั่ง และเท่าที่เป็นไปได้ให้ทำหน้าที่พลเรือนมากกว่าที่กฎหมายบังคับ ส่วนบัญญัติโมเสสนั้นสอนให้เอาใจใส่คนยากจน เมื่อคนจนเอาเสื้อผ้าเป็นค่าประกันหรือค่ามัดจำ เจ้าหนี้ไม่ได้รับอนุญาตที่จะบุกเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเสื้อผ้าตัวนั้น แต่ต้องรออยู่ข้างนอกที่ถนนให้ลูกหนี้เข้าไปเอามาให้ และไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เจ้าหนี้จะต้องคืนค่ามัดจำดังกล่าวก่อนค่ำคืนนั้น (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 24:10–13) ในสมัยพระคริสต์ประชาชนไม่ได้ใส่ใจในข้อบังคับต่างๆ ที่สอนเรื่องความเมตตาเท่าใดนัก ฝ่ายพระเยซูสอนให้สาวกยอมต่อคำตัดสินของศาล แม้จะต้องทำในสิ่งที่มากกว่าที่บัญญัติของโมเสสสั่งไว้ แม้กระทั่งจะต้องเสียเสื้อผ้าปกคลุมกายส่วนหนึ่งไปก็ให้ยอม และยิ่งไปกว่านั้น ให้คืนเจ้าหนี้ตามที่เขาควรจะได้รับ ถ้าจำเป็นก็ให้ยอมเสียมากกว่าที่ศาลอนุญาตให้เขายึด “ถ้าใครต้องการจะฟ้องศาล เพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่านไป จงสละเสื้อคลุมให้เขาด้วย ถ้าใครจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตร ก็ให้เลยไปกับเขาถึงสองกิโลเมตร” (มัทธิว 5:40–41) {MB 72.1}

พระเยซูทรงเพิ่มเติมว่า “ถ้าเขาจะขอสิ่งใดจากท่าน ก็จงให้ อย่าเมินหน้าจากผู้ที่ต้องการขอยืมจากท่าน” อันนี้เป็นบทเรียนเดียวกับที่โมเสสเคยสอน “ท่านอย่ามีใจแข็ง อย่าหดมือของท่านไว้เสียจากพี่น้องของท่านที่ยากจนนั้น แต่ท่านจงยื่นมือของท่านให้เขา และให้เขายืมจนพอแก่ความต้องการของเขาที่เขาขาดอยู่นั้น” (เฉลยธรรมบัญญัติ 15:7–8) ข้อนี้ช่วยอธิบายความหมายที่พระเยซูสอนได้อย่างชัดเจน พระองค์ไม่ได้สอนให้เราบริจาคเรื่อยเปื่อยแก่ทุกคนที่ขอ แต่ตรัสว่า “ให้เขายืมจนพอแก่ความต้องการของเขาที่เขาขาดอยู่นั้น” และควรเป็นการให้ไม่ใช่เป็นการยืม เพราะพระองค์สอนเราว่า “ให้เขายืมโดยไม่หวังจะได้อะไรคืนมา” (ลูกา 6:35 TNCV) {MB 72.2}

เมื่อสละ ตนช่วย ผู้ยากไร้ จะทำให้ สามฝ่าย ได้สุขศรี หนึ่งพระคริสต์ สองเพื่อนบ้าน สามผู้ดี สิ่งเหล่านี้ จะมาหา ผู้ทำเอง {MB 73.1}

“จงรักศัตรูของท่าน”—(มัทธิว 5:44)

บทเรียนของพระเยซูว่า “อย่าต่อสู้คนชั่ว” เป็นถ้อยคำที่ฟังยากสำหรับชาวยิวที่มีความเคียดแค้น เมื่อได้ยินพระองค์ตรัสดังนั้นพวกเขาจึงบ่นพึมพำกัน แต่บัดนี้พระเยซูสั่งสอนสิ่งที่หนักกว่านั้นอีก {MB 73.2}

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านของท่าน และเกลียดชังศัตรูของท่าน’ แต่เราบอกพวกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน เพื่อว่าพวกท่านจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:43–44) {MB 73.3}

นี่คือเจตนารมย์โดยแท้ของธรรมบัญญัติที่พวกธรรมาจารย์ได้บิดเบือน กฎข้อบังคับของพวกเขาเข้มงวดปราศจากชีวิต ผู้นำศาสนาเหล่านั้นถือว่าตนดีกว่าคนอื่นและสมควรได้รับการโปรดปรานจากพระเจ้าเพราะโชคดีที่เกิดมาเป็นชนชาติอิสราเอล แต่พระเยซูตรัสว่า ใจที่มีความรักและรู้จักให้อภัยจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เขานั้นมีความดีความชอบมากกว่าพวกเก็บภาษีและคนบาปที่พวกเขาดูหมิ่นเหยียดหยาม {MB 73.4}

พระเยซูทรงแนะนำให้ผู้ฟังรู้จักพระเจ้าผู้ทรงครอบครองจักรวาลด้วยพระนามใหม่ คือ “พระบิดาของเรา” เพื่อให้เข้าใจว่าพระเจ้าทรงรักทรงเอ็นดูพวกเขา พระเจ้าทรงห่วงใยคนที่หลงผิดทุกคน ตามที่กล่าวอ้างในพระคัมภีร์ว่า “บิดาสงสารบุตรของตนฉันใด พระเจ้าทรงสงสารบรรดาคนที่ยำเกรงพระองค์ฉันนั้น” (สดุดี 103:13 TH1971) มนุษยชาติไม่เคยได้รับรู้ภาพลักษณ์ของพระเจ้าเช่นนี้จากศาสนาอื่นนอกจากคำสอนในพระคัมภีร์ มีลัทธิคำสอนมากมายที่สอนให้นับถือพระเจ้าผู้สูงสุดเนื่องด้วยความกลัวแทนที่จะยำเกรงพระองค์เพราะความรัก ต้องคอยหมั่นสังเวย ทำพิธีบวงสรวงถวายบูชาพระของเขา ซึ่งภาพนี้ตรงกันข้ามกับคำสอนของพระคัมภีร์ที่เราเห็นพระบิดาผู้ทรงประทานแก่บุตรทั้งหลายของพระองค์ด้วยความรัก แม้แต่ชนชาติอิสราเอลเองก็ตาบอดไม่เข้าใจคำสอนอันประเสริฐของผู้เผยพระวจนะว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก จนคำสอนของพระองค์เหมือนเรื่องใหม่ เป็นของประทานใหม่ให้กับมนุษย์ {MB 74.1}

ชาวยิวถือว่าพระเจ้าทรงรักผู้ที่รับใช้พระองค์ด้วยการทำตามข้อบังคับของพวกธรรมาจารย์ ส่วนมนุษย์คนอื่นล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้คำสาปแช่ง แต่พระเยซูสอนว่า มิใช่เช่นนั้น มนุษย์ทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ได้รับแสงแห่งความรักของพระองค์เช่นกัน ดังบทเรียนนี้ที่น่าจะได้รับจากธรรมชาติ “เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม” (มัทธิว 5:45) {MB 74.2}

ไม่ใช่ว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจในตัวมันเอง โลกจึงโคจรรอบดวงอาทิตย์และอำนวยผลผลิตมากมายทุกปี ฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าต่างหากที่ทรงนำการโคจรของดวงดาว ทรงจัดทางเดินไว้ให้ดาวแต่ละดวงอย่างเป็นระเบียบ ด้วยฤทธานุภาพของพระองค์จึงมีฤดูกาลต่างๆ มีร้อนมีหนาว มีฝนมีแล้ง กลางวันกลางคืน มีฤดูหว่านและฤดูเกี่ยว สลับกันไปตามลำดับ พืชผักงอกงามด้วยพระดำรัสสั่ง ใบผลิและดอกบานก็ด้วยพระวจนะของพระองค์ สิ่งดีทั้งปวงที่เรามี ฝนที่โปรยลงมารดแผ่นดิน ลำแสงทั้งมวล อาหารทุกคำ เวลาทุกนาทีของชีวิต ล้วนเป็นของประทานแห่งความรัก {MB 74.3}

ในขณะที่เราเองไม่มีความน่ารัก ทั้งยังไม่รักคนอื่น “ใช้ชีวิตอย่างชั่วร้าย และอิจฉาริษยา ถูกชิงชังและเกลียดกัน” ขณะนั้นเองพระบิดาของเราก็ยังทรงเมตตาเรา “เมื่อพระกรุณาและความรักของพระเจ้าองค์พระผู้ช่วยให้รอดของเราปรากฏ พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดไม่ใช่เพราะความชอบธรรมที่เราได้ทำ แต่เพราะพระเมตตาของพระองค์” (ทิตัส 3:3–5 THSV/TNCV) เมื่อเรารับความรักของพระองค์แล้ว เราก็จะมีความสุภาพอ่อนโยนต่อคนอื่น ไม่เพียงแต่ต่อคนที่เราถูกใจ แต่ต่อคนที่หลงผิด ใช้ชีวิตในความบาปด้วย {MB 75.1}

บุตรของพระเจ้าคือคนที่รับเอาพระลักษณะนิสัยของพระองค์ไป ยศฐาบรรดาศักดิ์ เชื้อชาติ ศาสนาไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ว่าเราเป็นสมาชิกครอบครัวของพระเจ้า หากเป็นความรักที่มีต่อมวลมนุษย์ แม้แต่คนบาปที่ยังไม่เปิดใจรับฟังเสียงของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ยังตอบสนองต่อความกรุณา แม้คนที่ถือโทษโกรธแค้นก็ยังรู้จักแสดงความรักต่อคนที่รักเขา มีแต่พระวิญญาณของพระเจ้าเท่านั้นที่ตอบสนองความเกลียดชังด้วยความรัก เมื่อมีคนทำดีต่อคนชั่วที่ไม่รู้คุณด้วยใจกรุณา คือทำดีโดยไม่หวังการตอบแทน นั่นแหละคือตราประทับหลวงแห่งสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาคือราชบุตรของพระเจ้าสูงสุด {MB 75.2}

“เพราะฉะนั้น…จงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม (มัทธิว 5:48)

คำว่า ‘เพราะฉะนั้น’ แสดงถึงการสรุปข้อความที่สอนไว้ก่อนหน้านั้น ที่พระเยซูทรงบรรยายให้ผู้ฟังทราบถึงพระเมตตาคุณและความรักมั่นคงของพระเจ้า พระเยซูสอนว่า เนื่องจากพระบิดาของท่าน “ทรงพระกรุณาทั้งต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว” (ลูกา 6:35) พระองค์ทรงน้อมพระองค์ลงเพื่อยกเราขึ้น ฉะนั้นเราก็สามารถมีอุปนิสัยที่เปลี่ยนไปตามพระลักษณะของพระองค์ และสามารถยืนต่อหน้ามนุษย์และทูตสวรรค์โดยปราศจากตำหนิได้ {MB 76.1}

โดยพระคุณแล้ว เงื่อนไขชีวิตนิรันดร์ทุกวันนี้ไม่ต่างกับสมัยสวนเอเดนเลย นั่นคือความชอบธรรมที่สมบูรณ์แบบ การประสานเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และชีวิตที่สอดคล้องไม่เบี่ยงเบนจากหลักการแห่งธรรมบัญญัติของพระองค์ นี่คือมาตรฐานของอุปนิสัยที่สอนไว้ทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะในพระบัญชาทุกข้อของพระเจ้า มีพระสัญญารองรับ พระเจ้าทรงจัดเตรียมทุกสิ่งไว้เพื่อเราจะได้เป็นเหมือนพระองค์ และสำหรับทุกคนที่ไม่ดื้อรั้นขัดขวางพระคุณ พระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ {MB 76.2}

พระเจ้าทรงรักเราด้วยความรักที่เกินบรรยาย เมื่อเราเข้าใจส่วนหนึ่งของความรักที่กว้างใหญ่ไพศาล คือความรักที่เกินความเข้าใจ ก็จะจุดประกายให้เรามีความรักต่อพระองค์ เมื่อคนบาปรู้ถึงความรักของพระคริสต์ที่ทรงรักเขาในขณะที่ยังเป็นคนบาป ใจที่ดื้อรั้นจะอ่อนลงและเขาจะรับการเปลี่ยนแปลงเป็นบุตรของสวรรค์ พระเจ้าไม่ใช้วิธีการบังคับ ความรักต่างหากที่เป็นเครื่องมือของพระองค์ในการกำจัดความบาปออกจากหัวใจ ด้วยความรักพระองค์เปลี่ยนคนเย่อหยิ่งให้เป็นคนใจถ่อม ทั้งเปลี่ยนความเกลียดชังและความสงสัยให้เป็นความรักและความเชื่อ {MB 76.3}

ชาวยิวบากบั่นเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ แต่ก็ล้มเหลว พระคริสต์ได้บอกไว้แล้วว่า ความชอบธรรมของพวกเขาจะเข้าแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้ บัดนี้พระองค์ทรงอธิบายถึงลักษณะความชอบธรรมซึ่งคนที่จะเข้าแผ่นดินสวรรค์พึงมี ตลอดคำเทศนาบนภูเขาพระองค์สอนถึงผลแห่งความชอบธรรม แต่ในข้อนี้พระองค์สรุปที่มาและลักษณะของความชอบธรรมนั้น คือให้เราสมบูรณ์ดีพร้อม เพราะพระองค์ทรงสมบูรณ์ดีพร้อม ธรรมบัญญัติเป็นเพียงการถอดแบบพระลักษณะนิสัยของพระเจ้า หลักการอันเป็นรากฐานของการปกครองของพระองค์ได้ปรากฏแจ้งในพระบิดาของเรา จงให้เราพิจารณาถึงเรื่องนี้ {MB 77.1}

พระเจ้าทรงเป็นความรัก ดวงอาทิตย์ฉายลำแสงออกมาฉันใด ความรัก แสงสว่างและความสุขก็ไหลมาจากพระองค์สู่ชีวิตทั้งหลายที่พระองค์ทรงสร้างฉันนั้น การให้เป็นคุณลักษณะโดยธรรมชาติของพระองค์ ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวฉายออกจากชีวิตของพระองค์ {MB 77.2}

พระเจ้าทรง ได้รับ เกียรติมากหลาย เมื่อบุตรชาย บุตรสาว ได้ศักดิ์ศรี พระองค์ทรง ชื่นชม และยินดี ทรงปรานี ดั่งบิดา รักบุตรตน {MB 77.3}

เช่นเดียวกัน พระองค์ให้เราสมบูรณ์ดีพร้อมเหมือนอย่างพระองค์ คือให้เราเป็นดวงสว่างที่จะส่องแสงและอำนวยพรให้คนที่อยู่รอบข้างเหมือนที่พระองค์ทรงเป็นให้กับจักรวาล เราไม่มีอะไรในตัวเราเอง แต่เมื่อแสงแห่งความรักของพระองค์ส่องต้องเรา เราก็ต้องสะท้อนแสงนั้นต่อให้ผู้อื่น ด้วยการรับความดีจากพระองค์ แล้วเราจะสามารถเป็นคนดีพร้อมในขอบเขตของเราเหมือนที่พระองค์ทรงสมบูรณ์ดีพร้อมในส่วนของพระองค์ {MB 77.4}

พระเยซูตรัสว่า จงสมบูรณ์ดีพร้อมอย่างที่พระบิดาของท่านทรงสมบูรณ์ดีพร้อม ถ้าเราเป็นลูกของพระเจ้า เรามีส่วนในพระลักษณะของพระองค์ แล้วเราก็ต้องเป็นเหมือนพระองค์อย่างแน่นอน คนที่เป็นลูกทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยชีวิตที่รับมาจากผู้เป็นพ่อ ถ้าเราเป็นลูกของพระเจ้าที่บังเกิดใหม่โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะดำรงอยู่ด้วยชีวิตที่ได้รับมาจากพระเจ้า ในพระคริสต์ “ความเป็นพระเจ้าที่ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่” (โคโลสี 2:9) และชีวิตของพระเยซูจะปรากฏอยู่ “ในร่างกายเนื้อหนังที่ต้องตายของเรา” (2 โครินธ์ 4:11) เมื่อเป็นเช่นนั้นชีวิตของเราจะมีลักษณะเดียวกันและเราจะประกอบกิจแบบเดียวกันกับพระองค์ และชีวิตของเราจะสอดคล้องกับธรรมบัญญัติทุกข้อ เพราะ “บทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ไร้ที่ติ ฟื้นฟูจิตวิญญาณ” (สดุดี 19:7 TNCV) และเพราะความรัก “ความชอบธรรมของพระราชบัญญัติจะได้สำเร็จในพวกเรา ผู้ไม่ดำเนินตามฝ่ายเนื้อหนัง แต่ตามฝ่ายพระวิญญาณ” (โรม 8:4 TKJV) {MB 77.5}