24. ปัสกา

ภัยพิบัติครั้งสุดท้าย

ครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ฟาโรห์กษัตริย์แห่งอียิปต์ปลดปล่อยคนอิสราเอลนั้น ก็มีการเตือนให้รู้ถึงภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุด พระเจ้าทรงให้โมเสสทูลฟาโรห์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้ว่า อิสราเอลเป็นลูกชายหัวปีของเรา และเราบอกเจ้าว่า ‘จงปล่อยลูกชายของเราไป เพื่อเขาจะได้นมัสการเรา’ แต่เจ้าปฏิเสธไม่ยอมให้เขาไป ดังนั้นเราจะประหารลูกชายหัวปีของเจ้า” (อพยพ 4:22–23 TNCV) พระเจ้าทรงให้เกียรติคนอิสราเอลโดยทรงเลือกให้เป็นผู้รักษาและสืบทอดธรรมบัญญัติของพระองค์ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นที่รังเกียจของชาวอียิปต์ทั้งชาติก็ตาม แต่ยังได้รับพระพรและสิทธิพิเศษมากกว่าชนชาติทั้งหลาย เสมือนบุตรหัวปีที่ได้สิทธิเหนือกว่าน้องๆ ของตน {PP 273.1}

ภัยพิบัติที่พระเจ้าทรงเตือนประเทศอียิปต์ตั้งแต่ครั้งแรกนั้นก็เป็นภัยพิบัติสุดท้ายที่เกิดขึ้น พระเจ้าทรงอดทนนานและทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงรักและทรงห่วงใยมนุษย์ที่ทรงสร้างตามพระฉายาของพระองค์ หากคนอียิปต์กลับใจเมื่อคราวที่พวกเขาสูญเสียพืชผลและสัตว์เลี้ยง ลูกหัวปีของพวกเขาก็คงไม่ต้องตาย แต่คนอิยิปต์แข็งข้อขัดขืนต่อพระบัญชาของพระเจ้า หายนะครั้งสุดท้ายจึงพร้อมที่จะมาเยือนเต็มที {PP 273.2}

ฟาโรห์ห้ามไม่ให้โมเสสเข้าพบอีกโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นจะต้องตาย แต่มีข่าวสุดท้ายจากพระเจ้าที่จะต้องแจ้งให้กษัตริย์อียิปต์ผู้ดื้อด้านได้รับทราบ โมเสสจึงเข้าเฝ้าฟาโรห์และแถลงเรื่องที่ร้ายแรงว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘ประมาณเที่ยงคืนเราจะไปทั่วอียิปต์ แล้วลูกชายหัวปีทุกคนในอียิปต์จะต้องตาย ตั้งแต่โอรสหัวปีของฟาโรห์ผู้ประทับบนบัลลังก์ ไปจนถึงลูกชายหัวปีของทาสหญิงที่กำลังโม่แป้ง และแม้แต่ลูกหัวปีของสัตว์ด้วย เสียงร่ำไห้จะดังระงมไปทั่วแดนอียิปต์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและจะไม่มีเกิดขึ้นอีก แต่ท่ามกลางชนอิสราเอลจะไม่มีอะไรมากล้ำกราย ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ไม่มีแม้แต่เสียงสุนัขเห่า’ แล้วฝ่าพระบาทจะได้ทรงทราบว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดข้อแตกต่างระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ บรรดาข้าราชการของฝ่าพระบาทจะรีบมาหาข้าพระบาท และกราบกรานอ้อนวอนว่า ‘กรุณาออกไปเถิด พาผู้คนทั้งหมดไปกับท่านด้วย’ เมื่อนั้นข้าพระบาทจึงจะไป” (อพยพ 11:4–8 TNCV) {PP 273.3}

คนอิสราเอลรับการคุ้มกัน

ก่อนที่จะสำเร็จตามพระดำรัส พระเจ้าตรัสผ่านโมเสสถึงคนอิสราเอลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินทางออกจากอียิปต์ โดยเฉพาะวิธีการป้องกันตัวจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทุกครอบครัวต้องฆ่าลูกแกะหรือลูกแพะที่ “ปราศจากตำหนิ” แล้วเอาต้นหุสบกำหนึ่งจุ่มลงในเลือด แล้วป้ายไว้หน้าบ้านที่ “วงกบประตูทั้งด้านบนและด้านข้างทั้งสองข้าง” (อพยพ 12:7 THSV) เพื่อองค์เพชฌฆาตที่จะมาในเวลาเที่ยงคืนจะผ่านบ้านนั้นไป จะทำเป็นครอบครัวเดียวหรือร่วมมือกันทำหลายครอบครัวก็ได้ คืนนั้นพวกเขาต้องกินเนื้อปิ้ง ขนมปังไร้เชื้อ และผักรสขม ตามที่โมเสสกล่าวว่า “เจ้าทั้งหลายจงเลี้ยงกันดังนี้ คือให้คาดเอว สวมรองเท้า และถือไม้เท้าไว้ และรีบกินโดยเร็ว การเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระเจ้า” {PP 274.1}

พระเจ้าตรัสว่า “ในคืนวันนั้น เราจะผ่านไปในประเทศอียิปต์ และเราจะประหารลูกหัวปีทั้งหมดในอียิปต์ทั้งของมนุษย์และของสัตว์ และเราจะพิพากษาลงโทษพระทั้งปวงของอียิปต์…แต่เลือดที่บ้านที่เจ้าทั้งหลายอยู่นั้น จะเป็นหมายสำคัญสำหรับเจ้า เมื่อเราเห็นเลือดนั้น เราจะผ่านเว้นเจ้าทั้งหลายไป จะไม่มีภัยพิบัติบังเกิดแก่เจ้า ขณะที่เราประหารชาวอียิปต์” {PP 274.2}

เพื่อเป็นการระลึกถึงการปลดปล่อยครั้งยิ่งใหญ่นี้ คนอิสราเอลในยุคต่อๆ มาจะฉลองเทศกาลปัสกาปีละครั้ง “นี่คือวันที่เจ้าต้องรำลึก เจ้าจงถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นข้อปฏิบัติถาวรสืบไปทุกชั่วอายุ” (อพยพ 12:14 TNCV) ในการฉลองเทศกาลในเวลาต่อมา พวกเขาจะเล่าเรื่องราวของการปลดปล่อยอันใหญ่หลวงนี้ให้ลูกหลานฟัง ดังที่โมเสสสั่งไว้ว่า “เป็นการถวายสัตวบูชาปัสกาแด่พระเจ้า เพราะพระองค์ทรงผ่านเว้นบ้านของชนชาติอิสราเอลในอียิปต์ เมื่อพระองค์ทรงประหารคนอียิปต์ แต่ไว้ชีวิตครอบครัวของเราทั้งหลาย” {PP 274.3}

ยิ่งไปกว่านั้น ลูกหัวปีของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจะเป็นของพระเจ้า และจะต้องซื้อคืนด้วยค่าไถ่เท่านั้น เพื่อระลึกถึงครั้งเมื่อลูกหัวปีของคนอียิปต์ถูกประหาร ในขณะที่คนอิสราเอลได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยพระคุณของพระเจ้า แม้ว่าพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติอันเดียวกัน แต่ก็รอดพ้นเพราะเครื่องบูชาที่ไถ่พวกเขาไว้ พระเจ้าตรัสว่า “บรรดาบุตรหัวปีเป็นของเรา ในวันที่เราได้ประหารชีวิตลูกหัวปีทั้งหลายในประเทศอียิปต์นั้น เราได้เลือกบรรดาลูกหัวปีในอิสราเอล ทั้งมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานไว้เป็นของเรา ทั้งหลายเหล่านี้ต้องเป็นของเรา” (กันดารวิถี 3:13 TH1971) หลังจากที่ได้สร้างพลับพลาและกำหนดพิธีกรรมต่างๆ พระองค์ทรงเลือกเผ่าเลวีให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพลับพลาแทนบุตรหัวปีทั้งหลาย “เพราะเขาทั้งหมดถูกแยกออกจากคนอิสราเอลและมอบไว้แก่เรา เราได้รับเขามาเป็นของเราแล้วแทนทุกคนที่เกิดจากครรภ์มารดาก่อน คือแทนบุตรหัวปีของประชาชนอิสราเอล” (กันดารวิถี 8:16 TH1971) อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังต้องถวายค่าไถ่สำหรับบุตรหัวปีของตนเพื่อเป็นการน้อมรับพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงช่วยกู้พวกเขา (กันดารวิถี 18:15–16) {PP 274.4}

สัญลักษณ์แห่งการปลดปล่อยและการทรงไถ่

พิธีปัสกาเป็นทั้งอนุสรณ์รำลึกและสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่เล็งถึงการปลดปล่อยจากประเทศอียิปต์เท่านั้น แต่ยังชี้ไปถึงการปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นในภายภาคหน้า นั่นคือเวลาที่พระคริสต์จะทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์จากการเป็นทาสของความบาป ลูกแกะที่นำไปถวายเล็งถึง “ลูกแกะของพระเจ้า” คือพระผู้ทรงเป็นความหวังเดียวที่เราจะได้รับความรอด อัครทูตเปาโลกล่าวไว้ว่า “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเราถูกถวายบูชาแล้ว” (1 โครินธ์ 5:7 THSV) การที่ลูกแกะถูกฆ่าในพิธีปัสกานั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องพรมเลือดของแกะไว้ที่วงกบประตู ในทำนองเดียวกัน พระโลหิตของพระคริสต์หลั่งไหลเพื่อเรา แต่เราจะต้องรับเอาผลของการทรงไถ่นี้เข้ามาในชีวิตจิตวิญญาณของเราเอง เราต้องเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ไม่ได้สิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทั่วไปเท่านั้น แต่สิ้นพระชนม์เพื่อตัวเราเป็นรายบุคคล พระคริสต์ทรงเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปให้เรากลับคืนดีกับพระเจ้า แต่เราต้องรับเอาคุณประโยชน์ของการทรงไถ่ด้วยตัวเราเอง {PP 277.1}

ต้นหุสบที่ใช้พรมเลือดลูกแกะนั้นเป็นสัญลักษ์ที่เล็งถึงการชำระให้บริสุทธิ์ จึงมีการใช้ต้นหุสบนี้ชำระคนโรคเรื้อนและคนที่เป็นมลทินจากการสัมผัสกับซากศพ เรายังเห็นความสำคัญของต้นหุสบได้จากบทเพลงสดุดีที่กล่าวว่า “ขอทรงชำระข้าพระองค์ด้วยกิ่งหุสบเพื่อข้าพระองค์จะสะอาด ขอทรงล้างข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะขาวยิ่งกว่าหิมะ” (สดุดี 51:7 TNCV) {PP 277.2}

ลูกแกะที่จะถวายต้องไม่มีจุดด่างพร้อย และไม่ให้กระดูกหัก เฉกเช่นเดียวกับพระคริสต์ผู้ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้าที่ไม่มีกระดูกชิ้นใดหักเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อเราทั้งหลาย (ยอห์น 19:36) ทั้งนี้ก็ยังเล็งถึงพระคริสต์ผู้ทรงถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาที่ครบบริบูรณ์ {PP 277.3}

เนื้อแกะที่นำไปถวายจะต้องถูกกิน ซึ่งสอนเราว่าการเชื่อว่าพระคริสต์ทรงอภัยความบาปนั้นยังไม่พอ เราต้องได้รับกำลังและการบำรุงเลี้ยงฝ่ายจิตวิญญาณจากพระองค์ด้วยความเชื่อผ่านพระวจนะของพระองค์อยู่เป็นประจำ พระคริสต์ตรัสว่า “ถ้าท่านไม่ได้กินเนื้อและไม่ได้ดื่มโลหิตของบุตรมนุษย์ ก็จะไม่มีชีวิตในตัวท่าน คนที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของเราจะมีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 6:53–54 THSV) พระองค์ทรงอธิบายความหมายนั้นว่า “ถ้อยคำที่เรากล่าวกับพวกท่านมาจากพระวิญญาณและเป็นชีวิต” (ยอห์น 6:63 THSV) พระเยซูทรงรับเอาธรรมบัญญัติของพระบิดา และทรงดำเนินชีวิตตามหลักการเหล่านั้น ทรงสำแดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของหลักคำสอน และทรงพิสูจน์ว่าธรรมบัญญัติมีอำนาจชักนำจิตใจไปในทางที่ดี ยอห์นกล่าวไว้ว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา เราเห็นพระสิริของพระองค์ คือ พระสิริที่สมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง” (ยอห์น 1:14 THSV) ผู้ติดตามพระคริสต์ต้องได้รับประสบการณ์อย่างเดียวกันกับพระองค์ จะต้องซึมซับพระวจนะของพระเจ้าเพื่อให้พระวจนะนั้นเป็นกำลังขับเคลื่อนชีวิตและการกระทำ ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยฤทธิ์อำนาจของพระคริสต์ให้มีคุณลักษณะเหมือนกับพระองค์และสะท้อนถึงพระอุปนิสัยของพระเจ้า ต้องกินเนื้อและดื่มพระโลหิตของพระบุตร มิฉะนั้นจะไม่มีชีวิต สาวกทั้งหลายของพระคริสต์จะต้องมีจิตวิญญาณและแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับพระองค์ {PP 277.4}

คนยิวจะรับประทานเนื้อแกะพร้อมกับผักรสขม เพื่อรำลึกถึงความขมขื่นของการเป็นทาสในอียิปต์ ฉะนั้นเมื่อเราใคร่ครวญถึงพระคริสต์ประดุจการรับประทานอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต เราควรกระทำด้วยใจที่สำนึกและเสียใจในความบาปของเรา ขนมปังไร้เชื้อซึ่งกำหนดให้ใช้ในพิธีปัสกาก็มีความสำคัญเช่นกัน คนยิวจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือจะต้องไม่มีขนมปังที่มีเชื้อเก็บไว้ในบ้านช่วงงานเลี้ยงปัสกาเลย เช่นเดียวกันกับทุกคนที่ปรารถนาจะได้ชีวิตและการบำรุงเลี้ยงจากพระคริสต์ จะต้องกำจัดเชื้อแห่งความบาปไปเสีย เปาโลจึงเขียนจดหมายไปยังคริสตจักรในเมืองโครินธ์ว่า “จงชำระเชื้อเก่าเสีย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นแป้งดิบก้อนใหม่…เพราะพระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเราถูกถวายบูชาแล้ว เพราะฉะนั้นให้เราถือปัสกานั้น ไม่ใช่ด้วยเชื้อเก่าซึ่งเป็นเชื้อของความชั่วและความเลว แต่ด้วยขนมปังที่ไม่มีเชื้อ คือความจริงใจและสัจจะ” (1 โครินธ์ 5:7–8 THSV) {PP 278.1}

พิสูจน์ความเชื่อด้วยการเชื่อฟัง

ก่อนที่ทาสชาวอิสราเอลจะได้รับอิสรภาพ พวกเขาจะต้องแสดงถึงความเชื่อในการปลดปล่อยครั้งสำคัญนั้นที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องพรมเลือดไว้ที่วงกบประตูบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความเชื่อ ต้องแยกตัวและครอบครัวออกจากคนอียิปต์ และรวมตัวกันในบ้านเรือนของตัวเอง หากว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ให้ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ได้แยกลูกหลานออกมาจากคนอียิปต์ หรือฆ่าลูกแกะแล้วแต่ไม่ได้ทาเลือดไว้ที่วงกบประตู หรือไม่ได้เก็บตัวอยู่ในบ้านของตนก็จะไม่ปลอดภัยเลย พวกเขาอาจมีความเชื่อมั่นว่าได้ปฏิบัติตามทุกขั้นตอนแล้ว แต่ความเชื่อมั่นไม่ได้ช่วยให้พวกเขารอด ทุกคนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระดำรัสของพระเจ้าก็จะสูญเสียบุตรคนโตไปด้วยน้ำมือของผู้ทำลาย {PP 278.2}

ประชาชนได้พิสูจน์ความเชื่อของพวกเขาด้วยการเชื่อฟัง ดังนั้นทุกคนที่มีความหวังในความรอดโดยพระโลหิตของพระคริสต์ควรตระหนักว่ามีบางอย่างที่ตนต้องทำเพื่อยึดความรอดนั้นไว้ แม้ว่ามีพระคริสต์ผู้เดียวเท่านั้นที่ทรงสามารถไถ่เราให้พ้นจากโทษของการล่วงละเมิดพระบัญญัติ แต่เราก็ต้องหันจากความบาปมาเชื่อฟังพระองค์ มนุษย์รอดโดยความเชื่อไม่ใช่ด้วยการกระทำ ถึงกระนั้นความเชื่อก็ต้องแสดงออกด้วยการกระทำ พระเจ้าประทานพระบุตรมาสิ้นพระชนม์เพื่อลบล้างความบาป ทรงสำแดงแสงสว่างแห่งความจริง คือหนทางสู่ชีวิต และประทานความช่วยเหลือ กฎเกณฑ์ และโอกาสที่ดี บัดนี้มนุษย์จะต้องร่วมมือกับพระเจ้าด้วยการเห็นคุณค่าและรับเอาของประทานเหล่านั้น คือเชื่อและปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกข้อของพระองค์ {PP 279.1}

ขณะที่โมเสสทบทวนเรื่องการทรงช่วยกู้จากการเป็นทาสให้ชาวอิสราเอลฟัง “ประชากรทั้งปวงก็กราบลงนมัสการ” พวกเขาซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้ช่วยกู้ชีวิตจนไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นไปชั่วขณะหนึ่ง ทั้งความหวังที่พวกเขาจะได้รับการปลดปล่อย การที่ชาวอียิปต์ผู้บีบบังคับจะต้องรับโทษในไม่ช้า และภาระหน้าที่ที่พวกเขาต้องทำในการออกจากประเทศอียิปต์อย่างอย่างกะทันหัน คนอียิปต์หลายคนยอมรับว่าพระเจ้าของคนฮีบรูคือพระเจ้าเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว คนเหล่านั้นจึงอ้อนวอนขอลี้ภัยในบ้านของคนอิสราเอลก่อนที่องค์เพชฌฆาตจะผ่านมา พวกเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้ปฏิญาณตนว่านับจากนี้ไปจะรับใช้พระเจ้าของยาโคบ และจะออกจากอียิปต์พร้อมกับประชากรของพระองค์ {PP 279.2}

การสังหารบุตรหัวปี

คนอิสราเอลเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า และรีบเตรียมตัวออกเดินทางอย่างเงียบๆ ทุกคนในครอบครัวมารวมตัวกัน มีการฆ่าลูกแกะสำหรับปัสกาแล้วนำเนื้อไปปิ้ง ขนมปังไร้เชื้อกับผักรสขมถูกตระเตรียมไว้พร้อม พ่อซึ่งเป็นปุโรหิตประจำครอบครัวได้ประพรมเลือดที่วงกบประตู แล้วก็กลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวในบ้าน พวกเขารีบรับประทานเนื้อลูกแกะปัสกาอย่างเงียบๆ ประชาชนต่างอธิษฐานและเฝ้าดูด้วยความหวาดหวั่น หัวใจของผู้เป็นบุตรหัวปีตั้งแต่ชายฉกรรจ์จนถึงเด็กเล็กๆ ต่างก็เต้นระรัวด้วยความกลัวเกินบรรยาย พ่อแม่โอบกอดลูกคนโตที่รักไว้ในอ้อมแขนพลางคิดถึงเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่จะเกิดขึ้นในคืนนั้น องค์เพชฌฆาตไม่ได้แวะไปหาครอบครัวชาวอิสราเอลเลย เลือดแกะซึ่งทาไว้ที่วงกบประตูบ้านคือสัญลักษณ์แห่งการคุ้มครองของพระผู้ช่วยให้รอด ทูตมรณะจึงไม่ได้เข้าไปในบ้านเหล่านั้น {PP 279.3}

ในเวลาเที่ยงคืน “มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญดังทั่วทั้งอียิปต์ เนื่องด้วยไม่มีบ้านใดเลยที่ไม่มีคนตาย” บุตรหัวปีทั้งหมด “ตั้งแต่พระราชบุตรหัวปีของฟาโรห์ผู้ประทับบนพระที่นั่ง จนถึงบุตรหัวปีของเชลยที่อยู่ในคุกมืด ทั้งลูกหัวปีของสัตว์เลี้ยงทุกตัว” ล้วนถูกองค์เพชฌฆาตประหารสิ้น ความหยิ่งผยองของคนอียิปต์ทั่วทั้งประเทศต้องสยบลง เสียงกรีดร้องโอดครวญดังกังวานไปทั่วแผ่นดิน ทั้งฟาโรห์และพวกข้าราชการต่างมีใบหน้าซีดเผือด แขนขาสั่นเทา และยืนตกตะลึงต่อโศกนาฏกรรมที่เกินจะรับได้ ฟาโรห์จำถ้อยคำที่ตนเคยกล่าวไว้ว่า “พระเยโฮวาห์นั้นเป็นผู้ใดเล่าเราจึงจะต้องเชื่อฟังเสียงของพระองค์และปล่อยคนอิสราเอลไป เราไม่รู้จักพระเยโฮวาห์ ทั้งเราจะไม่ยอมปล่อยคนอิสราเอลไป” (อพยพ 5:2 TKJV) บัดนี้จิตใจผยองที่เคยลบหลู่พระเจ้ากลับถ่อมลงถึงธุลีดิน “ฟาโรห์จึงตรัสเรียกโมเสสกับอาโรนให้มาเฝ้าในคืนวันนั้น ตรัสว่า ‘เจ้าทั้งสองกับทั้งชนชาติอิสราเอล จงยกออกไปจากประชากรของเราเถิด ไปนมัสการพระเจ้าตามที่ได้พูดไว้นั้น เอาฝูงแพะแกะและฝูงโคของเจ้าไปด้วยตามที่เจ้าได้พูดไว้แล้ว ไป และอวยพรให้เราด้วย’” ข้าราชบริพารและประชาชนก็วิงวอนให้คนอิสราเอล “ออกจากแผ่นดินโดยเร็ว เพราะพวกเขาพูดว่า ‘พวกเราจะตายกันหมดแล้ว’” (อพยพ 12:33 THSV) {PP 279.4}