อยู่ด้วยความเชื่อ34. ดำเนินชีวิตด้วยพระวจนะ

34. ดำเนินชีวิตด้วยพระวจนะ

“มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มัทธิว 4:4) ฝ่ายร่างกาย เราไม่สามารถดำรงชีวิตโดยอาศัยสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะแม้แต่ในอาหาร อากาศ และน้ำ ถ้าปราศจากองค์ประกอบของชีวิตก็มีแต่จะถ่ายทอดความตายไปสู่ผู้บริโภค เช่นเดียวกันถ้าจะดำรงชีวิตด้วยพระวจนะของพระเจ้า แสดงว่าพระวจนะนั้นต้องมีประกายชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกพระวจนะว่า “พระวาทะแห่งชีวิต” {LBF 105.1}

เนื่องจากพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้าอันประกอบด้วยชีวิต ชีวิตในพระวจนะจึงเป็นชีวิตของพระเจ้า ซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร์ ฉะนั้นถ้อยคำที่กล่าวว่าพระวจนะของพระเจ้าเป็น “ถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 6:68) จึงเป็นความจริง เมื่อพระวจนะของพระเจ้ามายังเรา ชีวิตนิรันดร์ก็มาพร้อมกันในพระวจนะนั้น เมื่อใครปฏิเสธไม่ยอมรับพระวจนะ ก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธชีวิตนิรันดร์ พระเยซูตรัสว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าใครฟังคำของเราและวางใจผู้ทรงใช้เรามา คนนั้นก็มีชีวิตนิรันดร์และไม่ถูกพิพากษา แต่ผ่านพ้นความตายไปสู่ชีวิตแล้ว” (ยอห์น 5:24) {LBF 105.2}

พระเยซูทรงยกตัวอย่างการดำรงชีวิตที่อาศัยอาหารการกินเพื่อเปรียบเทียบกับการดำรงชีวิตที่อาศัยพระวจนะของพระเจ้า พระองค์ไม่ได้ทรงเลือกตัวอย่างนี้โดยบังเอิญ แต่ทรงประสงค์ที่จะสื่อบทเรียนที่สำคัญยิ่ง ฝ่ายกายแล้วเราก็อยู่ได้เพราะอาหาร แต่อาหารจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรารับประทานเข้าไป เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะดำรงชีวิตด้วยพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะนั้นต้องเข้ามาในใจของเรา {LBF 105.3}

คงไม่มีใครคิดที่จะดำรงชีวิตด้วยการซื้ออาหารแพงๆ ไว้ดูเล่น หรือจะเอามาวิจัยเพื่อค้นดูความลึกลับแห่งกระบวนการโภชนาการว่าอาหารนั้นจะอำนวยชีวิตแก่เราอย่างไร แต่มีคนจำนวนมากที่คิดว่าเขาจะดำรงชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณด้วยพระวจนะของพระเจ้าโดยใช้วิธีนี้ หลายคนซื้อพระคัมภีร์ขนาดยักษ์ซึ่งมีเชิงอรรถอธิบายที่คลุมเคลือ แล้วก็เอาไปวางประดับที่โต๊ะกาแฟด้วยความภาคภูมิใจว่าเขา ‘เชื่อในพระคัมภีร์’ พวกเขาดูเหมือนจะเชื่อว่าโดยกระบวนการอันลึกลับ พระคัมภีร์ที่วางอยู่บนโต๊ะนั้นจะช่วยให้เขาดำรงชีวิตได้ การกระทำเช่นนั้นคงไม่ต่างกับการซื้ออาหารเพื่อสุขภาพอันน่ารับประทานมาเพียงเพื่อดูชม แล้วประกาศกับทุกคนว่า ‘ฉันเชื่อในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ’ {LBF 106.1}

คงไม่มีใครคิดจะดำรงชีวิตด้วยการมองดูอาหารเฉยๆ โดยไม่รับประทาน ในทำนองเดียวกัน เราไม่อาจดำรงชีวิตด้วยพระวจนะโดยไม่อ่าน ถ้าจะดำรงชีวิตด้วยอาหารก็ต้องรับประทานเข้าไป ต้องเคี้ยว และให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานของมัน ชีวิตที่อยู่ในอาหารจะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เช่นเดียวกับพระวจนะของพระเจ้า เราต้องรับพระวจนะในฐานะที่เป็นความจริง และเป็นพระวจนะของพระเจ้า เราต้องให้พระวจนะนั้นเข้ามาและมีที่รองรับในใจในฐานะที่เป็นพระวาทะแห่งชีวิต แล้วเราจะพบว่าพระวจนะคือพระวาทะแห่งชีวิตอย่างแท้จริง {LBF 106.2}

ในพระคัมภีร์มีอีกเรื่องหนึ่งที่เปรียบเทียบการดำรงชีวิตด้วยอาหารกับพระวจนะของพระเจ้าซึ่งเขียนไว้ว่า “‘ส่วนเจ้า บุตรมนุษย์เอ๋ย จงฟังสิ่งที่เรากล่าวกับเจ้า อย่าเป็นคนมักกบฏเหมือนพงศ์พันธุ์ที่มักกบฏนั้น จงอ้าปากของเจ้าและกินสิ่งที่เราให้เจ้า’ เมื่อข้าพเจ้ามองดู นี่แน่ะ พระหัตถ์ข้างหนึ่งเหยียดออกมายังข้าพเจ้า และดูสิ ในพระหัตถ์นั้นมีหนังสืออยู่ม้วนหนึ่ง แล้วพระองค์ทรงคลี่หนังสือนั้นออกต่อหน้าข้าพเจ้า มีตัวหนังสือเขียนอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีบทคร่ำครวญ คำไว้ทุกข์ และคำวิบัติเขียนอยู่บนนั้น และพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘บุตรมนุษย์เอ๋ย จงกินสิ่งที่เจ้าได้พบ จงกินหนังสือม้วนนี้ แล้วจงไปพูดกับพงศ์พันธุ์อิสราเอล’ ข้าพเจ้าจึงอ้าปาก และพระองค์ทรงให้ข้าพเจ้ารับประทานหนังสือม้วนนั้น และพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘บุตรมนุษย์เอ๋ย จงกินหนังสือม้วนนี้ซึ่งเราให้แก่เจ้า และบรรจุให้เต็มท้องของเจ้า’ แล้วข้าพเจ้าก็รับประทาน และเมื่อหนังสือม้วนนั้นอยู่ในปากข้าพเจ้ามันก็หวานเหมือนน้ำผึ้ง แล้วพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘บุตรมนุษย์เอ๋ย เจ้าจงไปยังพงศ์พันธุ์อิสราเอล และกล่าวถ้อยคำของเราแก่พวกเขา’…พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าอีกว่า ‘บุตรมนุษย์เอ๋ย จงรับถ้อยคำทั้งหมดของเราที่พูดกับเจ้าไว้ในใจของเจ้า และจงฟังด้วยหูของเจ้า’” (เอเสเคียล 2:8–3:4, 10) {LBF 106.3}

ก่อนที่ผู้เผยพระวจนะสามารถประกาศพระวจนะแก่ผู้อื่น เขาต้องตระหนักว่าถ้อยคำนั้นเป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ตรัสถึงเขา ก่อนที่จะถ่ายทอดพระวาทะแห่งชีวิตแก่คนอื่น เขาต้องรู้ซึ้งว่านั่นคือพระวาทะแห่งชีวิตสำหรับเขาเสียก่อน ฉะนั้นเพื่อเขาจะรู้ซึ้งเช่นนี้ พระเจ้าจึงสั่งให้เอเสเคียลรับประทาน กลืนเข้าไปจนเต็มอิ่มด้วยพระวจนะนั้น พระเจ้าให้เขาฟังและรับไว้ในใจ และที่เขียนไว้ก็เพื่อเราทุกคนจะได้ดำรงอยู่ด้วยชีวิตของพระเจ้า เมื่อเรารับพระนามของพระคริสต์ พระเจ้าทรงกำชับเราให้ “ยึดมั่นในพระวจนะแห่งชีวิต” (ฟีลิปปี 2:16) แต่เราต้องได้รับชีวิตภายในเราก่อนที่จะแบ่งปันพระวจนะแห่งชีวิตแก่ผู้อื่น {LBF 107.1}

ประเด็นนี้ยังมีการเขียนไว้ในที่อื่นอีกว่า “เมื่อพบพระวจนะของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ก็กินเสีย พระวจนะของพระองค์เป็นความชื่นบานแก่ข้าพระองค์ และเป็นความปีติยินดีแห่งจิตใจของข้าพระองค์” (เยเรมีย์ 15:16) ให้เราสังเกตว่าที่เยเรมีย์เขียนนั้น ไม่ได้เขียนว่า ข้าพเจ้ากินบางบท บางข้อ หรือว่ากินเป็นบางเรื่อง แต่เขียนว่า “เมื่อพบพระวจนะของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ก็กินเสีย” ตรงจุดนี้แหละที่คนนับหมื่นนับแสนพลาดไปจากการได้ประโยชน์อันแท้จริงแห่งพระวจนะของพระเจ้า พวกเขาคว้าเอาครั้งละมากๆ จนไม่ได้อะไรเลย เพราะถ้อยคำทั้งหลายจะไม่เกิดประโยชน์ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริงที่ถ้อยคำเหล่านั้นสื่อ ยิ่งผู้ที่กล่าวมีสติปัญญามากเท่าไร ถ้อยคำที่กล่าวนั้น ถึงจะเป็นคำที่เรียบง่ายแต่ก็มีความหมายที่ลึกซึ้งมากเท่านั้น พระเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสในพระคัมภีร์ด้วยพระสติปัญญาอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์ ฉะนั้นถึงแม้จะใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่ก็ลึกซึ้งไร้ขอบเขตเพราะเป็นการเปิดเผยถึง “พระประสงค์นิรันดร์ที่พระองค์ทรงทำแล้วในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (เอเฟซัส 3:11) {LBF 107.2}

ด้วยความคิดที่คับแคบและจำกัดของมนุษย์แล้ว เราไม่สามารถเข้าใจความหมายของหลายตอนในพระคัมภีร์ เราไม่สามารถเข้าใจทีละบทหรือแม้แต่ทีละข้อ แต่เราต้องพิจารณาทีละคำ เพราะเป็นปริมาณที่สมองของเราจะพิจารณาจนเกิดประโยชน์ได้ {LBF 107.3}

แน่นอนถ้ามีใครรับถ้อยคำในพระคัมภีร์ในฐานะที่เป็นพระวจนะของพระเจ้าองค์นิรันดร์ที่เปิดเผยพระประสงค์อันเนืองนิตย์ของพระองค์ และถ้าคนนั้นทึกทักไปว่าด้วยกำลังความคิดของตนแล้วเขาจะสามารถหยั่งถึงความหมายของพระวจนะทันทีที่ได้อ่านผ่านๆ คนนั้นก็คิดผิดเสียแล้ว {LBF 107.4}

“อย่าคิดว่าตนมีปัญญา” (สุภาษิต 3:7) “อย่าเย่อหยิ่งไปเลย แต่จงเกรงกลัว” (โรม 11:20) อย่าคิดว่าการพิจารณาพระวจนะของพระเจ้าทีละคำเป็นเรื่องเล็ก ให้พินิจพิเคราะห์และตรึกตรองใคร่ครวญด้วยการอธิษฐาน ให้รับพระวจนะนั้นเข้ามาในใจในฐานะเป็นพระวจนะแห่งชีวิตที่พระเจ้าตรัสมายังเรา ให้รับเอาเช่นนี้ แล้วจะพบว่าพระวจนะที่อ่านนั้นเป็นพระวจนะแห่งชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เรามีความชื่นบานและความปีติยินดีอยู่เสมอ อย่าคิดว่าการพิจารณาทีละคำเช่นนี้จะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ทั้งเล่มหรือบทใดบทหนึ่งล่าช้า เพราะด้วยวิธีนี้เราจะได้ประโยชน์มากกว่าการอ่านรวดเดียวแบบผ่านๆ โดยที่เราไม่เข้าใจอะไรเลย การค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณาจะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกคำ ซึ่งทุกคำนั้นคือชีวิตนิรันดร์สำหรับเรา เพราะพระคริสต์ตรัสว่า มนุษย์จะดำรงชีวิต “ด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” และแต่ละคำนั้นมีชีวิตอยู่ เมื่อเรารับพระวจนะคำหนึ่งเข้ามาในใจ คือในความคิดของเรา เราจะมีชีวิตนิรันดร์ในพระวจนะและเพราะพระวจนะนั้นอย่างแน่นอน {LBF 107.5}

ให้เราพิจารณาพระดำรัสของพระเยซูคริสต์อีกครั้งหนึ่ง “มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” เมื่อเรารับประทานอาหารนั้น เราไม่ได้ตักใส่ปากทีละเป็นกอบเป็นกำ แต่รับประทานทีละคำ ถ้าตักครั้งละเป็นกำก็คงจะมีผลเสียต่อสุขภาพและทำให้ชีวิตสั้นลง แต่เราต้องค่อยๆ รับประทาน ค่อยๆ เคี้ยวไปทีละคำ {LBF 108.1}

ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระเยซูยกตัวอย่างและใช้คำว่า “พระวจนะทุกคำ” ของพระเจ้า ความหมายของพระองค์คือวิธีดำรงชีวิตด้วยพระวจนะคือการรับพระวจนะทีละคำ เหมือนที่เรากินทีละคำ เหมือนบทเรียนที่พระคัมภีร์สอนว่า “เมื่อพบพระวจนะของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ก็กินเสีย” {LBF 108.2}

“บุตรมนุษย์…จง…กินสิ่งที่เราให้เจ้า” ให้กินพระวจนะของพระองค์ คือ “พระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” เราจึงจะดำรงชีวิตด้านจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง เหมือนร่างกายที่สมบูรณ์มีสุขภาพแข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ให้เรากินอาหารที่มาจากสวรรค์ซึ่งจะนำชีวิตแห่งสวรรค์มาสู่เรา เฉกเช่นเดียวกับการรับประทานอาหารฝ่ายกายที่นำชีวิตฝ่ายกายให้เรา {LBF 108.3}