2. ผู้เป็นสุข

พระองค์ตรัสสอนเหล่าสาวกว่า “บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา”—(มัทธิว 5:2–3 TH1971)

ถ้อยคำเหล่านี้แปลกใหม่สำหรับฝูงชนที่รอฟัง เป็นคำสอนซึ่งขัดแย้งกับทุกสิ่งที่พวกเขาเคยได้ยินจากปุโรหิตหรือธรรมาจารย์คนไหนมาก่อน คำสอนของพระองค์ไม่ยกย่องความหลงทะนงตน หรือสนับสนุนความมักใหญ่ใฝ่สูง พวกเขารู้สึกว่าอาจารย์คนใหม่สอนด้วยพลัง จึงฟังต่อเหมือนต้องมนตร์สะกด ความรักอันหวานชื่นหลั่งไหลมาจากพระโอษฐ์ของพระเยซูประหนึ่งกลิ่นหอมของดอกไม้ ถ้อยคำของพระองค์เหมือน “ฝนที่ตกบนหญ้าซึ่งตัดแล้ว เหมือนห่าฝนที่รดแผ่นดินโลก” (สดุดี 72:6) ทุกคนรู้สึกได้โดยสัญชาตญาณว่าพระองค์ทรงล่วงรู้ถึงความลับในใจตน กระนั้นพระองค์ยังเข้าใกล้พวกเขาด้วยความเมตตาเอ็นดู ในขณะที่พวกเขาเปิดใจรับฟังพระองค์อยู่นั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยให้เห็นถึงบทเรียนที่มนุษย์ทุกยุคสมัยควรจะได้รู้ {MB 6.1}

ในสมัยพระเยซูผู้นำศาสนาต่างรู้สึกว่าตนมีดีที่จะอวดในด้านจิตวิญญาณ ชนชั้นนำและคนส่วนใหญ่ในชาติมีความรู้สึกร่วมในคำอธิษฐานของฟาริสีคนนั้นที่ทูลพระเจ้าว่า “ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์ ที่ข้าพระองค์ไม่เหมือนคนอื่น” (ลูกา 18:11) แต่ในฝูงชนที่ห้อมล้อมพระเยซูอยู่นั้น มีบางคนที่สำนึกในความบกพร่องฝ่ายจิตวิญญาณ เหมือนกับเปโตรเมื่อพระเยซูสำแดงฤทธิ์อำนาจในการบันดาลให้สาวกจับปลาได้มากมาย เปโตรทรุดตัวลงที่เข่าของพระผู้ช่วยให้รอดและร้องขึ้นว่า “นายเจ้าข้า ขอท่านไปให้ห่างจากข้าพเจ้าเถิด เพราะว่าข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลูกา 5:8) เช่นเดียวกัน ท่ามกลางมหาชนที่รวมตัวกันนั้นมีบางคนซึ่งเห็นความบริสุทธิ์ของพระองค์แล้วสำนึกตนขึ้นได้ว่า “เป็นคนแร้นแค้นเข็ญใจ เป็นคนขัดสน เป็นคนตาบอด และเปลือยกายอยู่” (วิวรณ์ 3:17 TH1971) พวกเขาปรารถนาพระคุณของพระเจ้าที่จะช่วยเขาทั้งหลายให้รอด (ดู ทิตัส 2:11) คำขึ้นต้นปราศรัยของพระคริสต์ปลุกคนเหล่านั้นให้มีความหวังและทำให้พวกเขาเห็นว่าชีวิตของตนได้รับพระพรจากพระเจ้า {MB 6.2}

พระเยซูทรงหยิบยื่นถ้วยแห่งพระพรให้แก่บุคคลที่รู้สึกว่าตน “ร่ำรวย ได้ทรัพย์สมบัติมากมาย และไม่ขัดสนสิ่งใดเลย” (วิวรณ์ 3:17 TNCV) แต่พวกเขากลับไม่ยอมรับ และเมินหน้าเสียจากของประทานที่ทรงกรุณาให้นั้น บุคคลผู้ใดที่รู้สึกว่าตนมีความสมบูรณ์ดีพร้อม และมีความพอใจในสภาพของตัวเอง ผู้นั้นจะไม่แสวงหาพระคุณและความชอบธรรมของพระคริสต์ คนเย่อหยิ่งจะไม่ยอมรับว่าตนต้องการความช่วยเหลือ จึงปิดใจไม่ยอมรับเอาพระคริสต์กับพระพรอันเหลือคณานับที่พระองค์เสด็จมาเพื่อประทานให้นั้น จิตใจของคนเช่นนี้ไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับพระเยซู ผู้ที่มีเกียรติยศศักดิ์ศรีในสายตาของตนเองจะไม่ทูลขอด้วยความเชื่อ ฉะนั้นเขาจึงไม่ได้รับพระพรจากพระเจ้า พวกเขารู้สึกว่าตัวเองสมบูรณ์ดีพร้อมแล้ว จึงกลับบ้านทั้งที่ยังว่างเปล่าอยู่ ส่วนผู้ที่ตระหนักว่าตนไม่ใช่ที่พึ่งของตน คือรู้ว่าไม่มีทางที่จะช่วยตนให้รอด และไม่มีทางที่จะประพฤติชอบโดยลำพังตัวเองได้ ผู้นั้นจะซาบซึ้งในความช่วยเหลือของพระคริสต์ และจะรู้สึกบกพร่องฝ่ายจิตวิญญาณ พระองค์ตรัสว่า ผู้นั้นก็เป็นสุข {MB 7.1}

เมื่อพระคริสต์ทรงยกโทษให้ผู้ใด พระองค์ทรงให้เขาถ่อมใจลงก่อน นี่คืองานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ช่วยให้คนสำนึกในความบาป ผู้ที่มีใจตอบสนองต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเห็นว่าในตัวเขาไม่มีความดีใดๆ เลย เขาจะเห็นว่าทุกสิ่งที่เคยกระทำล้วนแล้วแต่มีความเห็นแก่ตัวและความบาปผสมอยู่ด้วย เหมือนคนเก็บภาษีที่ยืนอยู่แต่ไกลไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นฟ้า พวกเขาร้องออกมาว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเมตตาแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคนบาปเถิด” (ลูกา 18:13) แล้วพวกเขาก็ได้รับพระพร มีการอภัยบาปสำหรับบุคคลที่ถ่อมใจ เพราะพระคริสต์ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า “ผู้ทรงรับบาปของโลกไป” (ยอห์น 1:29) พระเจ้าทรงสัญญาว่า “ถึงบาปของเจ้าเป็นเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงเหมือนผ้าแดง ก็จะเป็นอย่างขนแกะ” “เราจะให้ใจใหม่แก่เจ้า…และเราจะบรรจุจิตวิญญาณใหม่ไว้ในเจ้า” (อิสยาห์ 1:18; เอเสเคียล 36:26, 27 TH1971) {MB 7.2}

พระเยซูกล่าวถึงผู้ที่รู้สึกบกพร่องฝ่ายจิตวิญญาณว่า “แผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา” แผ่นดินสวรรค์ที่พระเยซูกล่าวถึงไม่ได้เป็นอาณาจักรฝ่ายโลกอย่างที่ผู้ฟังใฝ่ฝัน พระองค์ทรงเปิดเผยให้ปวงชนได้สัมผัสอาณาจักรด้านจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยพระคุณ ความรัก และความชอบธรรมของพระองค์ สัญลักษณ์แห่งการครอบครองของพระเมสสิยาห์เห็นได้จากพระลักษณะนิสัยของบุตรมนุษย์ ประชากรของพระองค์คือคนอ่อนสุภาพ คนที่รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม แผ่นดินสวรรค์เป็นของคนเช่นนี้ ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่พระองค์ทรงประกอบพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของพวกเขา เพื่อให้ “เหมาะสมที่จะมีส่วนในกรรมสิทธิ์ของประชากรของพระเจ้าในอาณาจักรแห่งความสว่าง” (โคโลสี 1:12 TNCV) {MB 8.1}

ทุกคนที่รู้สึกว่า มีความบกพร่องในจิตใจ และไม่มีสิ่งดีใดๆ ในตัวเอง จะพบความชอบธรรม และกำลังใจด้วยการมองไปที่พระเยซู พระองค์ตรัสว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา” (มัทธิว 11:28) พระองค์ขอให้เราเอาความขัดสนของเราไปแลกกับพระคุณอันอุดมของพระองค์ เราไม่คู่ควรที่จะได้รับความรักจากพระเจ้า แต่พระเยซูผู้เป็นนายประกันของเราทรงสมควร พระองค์ทรงมีพระปรีชาเหลือล้นที่จะช่วยทุกคนที่มาหาพระองค์ให้รอดได้ ไม่ว่าชีวิตที่ผ่านมาจะเป็นเช่นไร หรือสถานการณ์ปัจจุบันจะย่ำแย่แค่ไหน แต่ถ้าเรามาหาพระเยซูในสภาพที่เป็นอยู่ ขณะที่ยังอ่อนแอ และสิ้นหวังเพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พระผู้ช่วยให้รอดของเราผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระคุณจะทรงต้อนรับเราขณะที่เรายังอยู่ไกล พระองค์จะโอบกอดเราด้วยความรัก และเอาเสื้อคลุมแห่งความชอบธรรมของพระองค์มาสวมใส่ให้ ฉะนั้นเมื่อพระองค์ทูลเรื่องของเราต่อหน้าพระบิดา ภาพที่ปรากฏคือเราได้สวมใส่เสื้อคลุมสีขาว คือพระอุปนิสัยของพระองค์เอง พระองค์ทูลขอพระบิดาแทนเรา ตรัสว่า ‘ข้าพระองค์ได้แทนที่คนบาปแล้ว ขออย่าทรงมองไปที่ลูกคนนี้ที่หลงผิด แต่ให้มองที่ข้าพระองค์’ ซาตานฟ้องว่าเราเป็นคนบาป และอ้างว่าเราเป็นเหยื่อของมัน แต่พระโลหิตของพระเยซูเป็นคำตอบที่หนักแน่นกว่า {MB 8.2}

แล้ว “เขาจะพูดถึงเราได้ว่า ในพระเจ้าเท่านั้นมีความชอบธรรมและอานุภาพ…เผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นของอิสราเอลจะมีชัยและสดุดีภูมิใจในพระเจ้า” (อิสยาห์ 45:24, 25 TH1971) {MB 9.1}

“บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม”—(มัทธิว 5:4 TH1971)

ความโศกเศร้าในที่นี้หมายถึงความเศร้าเสียใจเพราะความผิดบาป พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเราถูกยกขึ้นจากแผ่นดินโลกแล้ว เราก็จะชักนำคนเป็นอันมากให้มาหาเรา” (ยอห์น 12:32 TH1971) เมื่อมีใครพิจารณาถึงพระเยซูขณะถูกตรึงบนไม้กางเขน เขาจะตระหนักถึงความผิดบาปของมนุษยชาติ และจะเห็นว่า ที่พระเจ้าแห่งพระสิริต้องถูกโบยตีและถูกตรึงที่ไม้กางเขนก็เป็นเพราะความผิดบาปของมนุษย์ เขาจะสำนึกว่า ถึงแม้เขาได้รับความรักและการเอาใจใส่อย่างสุดซึ้ง แต่เขาก็ยังเป็นคนเนรคุณที่ทรยศอย่างต่อเนื่องต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นมิตรสหายที่ดีที่สุด เขาได้ดูหมิ่นของประทานอันล้ำค่าที่สุดของสวรรค์ การที่พระเยซูต้องสิ้นพระชนม์นั้น เป็นเพราะความบาปผิดของเขาเอง และที่พระองค์ทรงฟกช้ำก็เพราะเขาและเพื่อเขา ความผิดบาปเป็นเหวลึกที่มืดดำ กั้นกลางระหว่างเขากับพระเจ้า เมื่อพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตใจเขาจะสลายไปด้วยความโศกเศร้า {MB 9.2}

ความโศกเศร้าลักษณะนี้จะได้รับการทรงปลอบประโลม พระเจ้าทรงนำให้เราต้องเผชิญหน้ากับความผิดบาปของตนเอง เพื่อเราจะได้เข้าไปลี้ภัยในพระคริสต์ และรับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของความบาป เราจึงชื่นชมยินดีในอิสรภาพแห่งบุตรของพระเจ้า สามารถถ่อมใจลงที่เชิงไม้กางเขน และวางบรรดาภาระใจลงที่นั่น {MB 10.1}

ถ้อยคำของพระผู้ช่วยให้รอดยังปลอบใจผู้ที่กำลังทนทุกข์หรือสูญเสียคนที่เขารัก ความทุกข์ของเราไม่ได้เกิดขึ้นเอง “พระองค์มิได้ตั้งพระทัยทำให้ผู้ใดทุกข์ใจ หรือทำให้มนุษย์โศกเศร้า” (เพลงคร่ำครวญ 3:33) พระองค์ทรงอนุญาตให้ความทุกข์ยากลำบากเข้ามาในชีวิตของเรา “เพื่อประโยชน์ของเรา เพื่อเราจะมีส่วนในความบริสุทธิ์ของพระองค์” (ฮีบรู 12:10) ถ้าเราตอบสนองด้วยความเชื่อ ภายหลังเราจะพบว่าความยากเข็ญและความทุกข์ที่ขมขื่นนั้น แท้จริงแล้วเป็นพระพร ความทุกข์ที่ประดังเข้ามาดับความสุขสันต์จะเป็นเหตุให้เราแหงนหน้าขึ้นหาสวรรค์ คงมีคนมากมายที่ไม่ได้รู้จักพระเยซู ถ้าไม่ใช่เพราะความทุกข์โศกในชีวิตนำพาให้พวกเขาแสวงหาการปลอบประโลมจากพระองค์ {MB 10.2}

ความทุกข์ในชีวิตเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่ขัดเกลาอุปนิสัยของเราให้ปราศจากตำหนิ กระบวนการทุบตีและสกัดขัดถู เป็นกระบวนการที่เจ็บปวด เป็นการยากที่จะทนต่อกระบวนการเจียระไน แต่เมื่อมันผ่านไปแล้ว เราจะเป็นดั่งเพชรเม็ดงาม พร้อมที่จะเข้าไปในพระวิหารแห่งสวรรค์ พระเจ้าจะไม่ทรงเสียเวลาเพื่อเจียระไนของปลอมราคาถูก มีแต่อัญมณีเท่านั้นที่จะได้รับการขัดเกลาจนมันวาวเหมือนสมบัติในราชวัง {MB 10.3}

พระเจ้าจะทรงช่วยเหลือทุกคนที่ไว้วางใจในพระองค์ ผู้ที่ซื่อสัตย์จะได้รับชัยชนะ บทเรียน และประสบการณ์อันล้ำค่า {MB 11.1}

พระบิดาของเราไม่เคยเมินพระพักตร์หนีจากผู้ที่ประสบความโศกเศร้า พระองค์ทอดพระเนตรด้วยความเอ็นดูสงสาร ขณะที่ “ดาวิดเสด็จขึ้นไปตามทางขึ้นภูเขามะกอกเทศ เสด็จพลางทรงกันแสงพลาง มีผ้าคลุมพระเศียร เสด็จโดยพระบาทเปล่า” (2 ซามูเอล 15:30) ภายนอกดาวิดสวมใส่ผ้ากระสอบแสดงถึงการถ่อมใจ ส่วนภายในนั้น จิตใจที่สำนึกผิดฟ้องร้องอยู่ตลอดเวลา ดาวิดทูลเรื่องราวของตนต่อพระเจ้าด้วยน้ำตาและถ้อยคำที่ออกมาจากจิตใจอันฟกช้ำ พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งผู้รับใช้ของพระองค์ ไม่มีครั้งไหนที่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงโปรดปรานดาวิดเท่ากับครั้งที่บุตรชายยุแหย่ศัตรูให้กบฏ จนท่านต้องหนีเอาชีวิตรอดพร้อมกับใจที่สำนึกผิด องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “เรารักผู้ใด เราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น เหตุฉะนั้นจงมีความกระตือรือร้น และกลับใจเสียใหม่” (วิวรณ์ 3:19 TH1971) พระคริสต์ทรงยกชูจิตใจที่ถ่อมลง และทรงชำระใจที่โศกเศร้า จนได้เป็นที่ประทับของพระองค์ {MB 11.2}

แต่เมื่อความทุกข์ยากลำบากโหมกระหน่ำเข้ามา คนเรามักจะมีปฏิกิริยาไม่ต่างกับยาโคบ ที่ปล้ำสู้กับบุคคลที่มาจับไหล่ในความมืดจนอ่อนแรง ทั้งไม่ได้รับการปลอบประโลมหรือการช่วยกู้ เพราะคิดว่าผู้นั้นเป็นศัตรู ยาโคบปล้ำสู้จนเช้าตรู่ แต่เมื่อบุรุษผู้นั้นเพียงแค่แตะที่ข้อต่อสะโพก สะโพกก็เคล็ด ยาโคบจึงรู้ว่าผู้ที่เขาปล้ำสู้อยู่นั้น ที่แท้คือองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นทูตแห่งพันธสัญญา ยาโคบสิ้นท่า ร้องไห้ฟุบตัวลงที่พระทรวงของพระองค์ เพื่อรับพระพรที่ตนต้องการ (ดู ปฐมกาล บทที่ 32) เช่นเดียวกัน เราต้องการเรียนรู้ว่าความทุกข์ต่างๆ ในชีวิตเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของเรา เราไม่ควรดูหมิ่นการตีสอนของพระองค์ หรือย่อท้อเมื่อพระองค์ทรงตักเตือน {MB 11.3}

“มนุษย์คนใดที่พระเจ้าทรงตักเตือนก็เป็นสุข…พระองค์ทรงให้บาดเจ็บ แต่พระองค์ทรงพันแผลให้ พระองค์ทรงโบยตี แต่พระหัตถ์ของพระองค์ก็รักษา พระองค์จะทรงช่วยกู้ท่านจากความทุกข์ยากหกประการ เออ เจ็ดประการ จะไม่มีเหตุร้ายมาแตะต้องท่าน” (โยบ 5:17–19) พระเยซูจะประทานพรแห่งการเยียวยาให้ทุกคนที่มีความบอบช้ำ ชีวิตที่ทนต่อการสูญเสีย ความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมาน จะได้รับการยกชูขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เองให้แก่ชีวิตนั้น {MB 12.1}

พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้เราดำเนินชีวิตภายใต้ความรันทดหรือความเจ็บปวดรวดร้าวใจ แต่พระองค์ให้เราแหงนหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของพระองค์ที่เปี่ยมด้วยความรัก พระผู้ช่วยให้รอดผู้แสนประเสริฐทรงยืนอยู่เคียงข้างคนมากมายที่ตาพร่ามัวไปด้วยน้ำตาจนมองไม่เห็นพระองค์ พระองค์ปรารถนาที่จะจับมือของเราไว้ เพื่อให้เรามองไปยังพระองค์ด้วยความเชื่อแบบว่าง่าย และยอมให้พระองค์ทรงนำในชีวิต พระทัยของพระองค์เปิดรับฟังถึงความโศกเศร้าและความทุกข์ยากลำบากของเรา พระองค์ทรงรักเราด้วยความรักนิรันดร์และทรงโอบล้อมเราไว้ด้วยความรักมั่นคง เราสามารถคิดใคร่ครวญถึงความรักมั่นคงของพระองค์ตลอดทั้งวัน พระองค์จะทรงยกชูจิตใจให้พ้นจากความสับสนวุ่นวายในชีวิตประจำวันจนจิตใจเต็มด้วยสันติสุข {MB 12.2}

บรรดาผู้ที่ตรากตรำเพราะความทุกข์โศก จงพิจารณาข้อนี้และชื่นชมยินดีด้วยความหวัง “เพราะทุกคนที่เกิดจากพระเจ้าย่อมชนะโลก และความเชื่อของเรานี่แหละคือชัยชนะที่พิชิตโลก” (1 ยอห์น 5:4 TNCV) {MB 12.3}

นอกจากนั้น ความสุขก็ยังเป็นของคนที่ร่วมร่ำไห้กับพระเยซู เพราะเห็นใจในความทุกข์ของชาวโลก และโศกเศร้าเนื่องจากความบาปของมนุษย์ ไม่มีความเห็นแก่ตัวระคนอยู่ในความโศกเศร้าประเภทนี้ พระเยซูทรงคุ้นเคยกับความโศกเศร้าดี และทรงปวดร้าวในพระทัยสุดที่จะพรรณนา พระองค์เจ็บช้ำในพระทัยเพราะความผิดบาปของมนุษย์ พระเยซูทรงงานหนักโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพระองค์เอง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้มวลมนุษย์ แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นคนมากมายที่ไม่ยอมมาหาพระองค์เพื่อจะได้ชีวิต พระองค์จึงเศร้าพระทัยอย่างหนัก ทุกคนที่ติดตามพระเยซูจะมีประสบการณ์เช่นนี้ เมื่อได้สัมผัสความรักของพระองค์ เขาจะเข้าส่วนในพระราชกิจของพระองค์เพื่อนำคนที่หลงผิดมาสู่ความรอด พวกเขามีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์ และจะได้รับส่วนในสง่าราศีที่จะเปิดเผยภายหลังด้วย พวกเขาร่วมใจกับพระองค์ในการทำงาน จนได้ดื่มจากถ้วยแห่งความทุกข์นั้นด้วยกันกับพระองค์ แล้วจะได้รับส่วนในความสุขของพระองค์อย่างแน่นอน {MB 12.4}

พระเยซูได้รับพันธกิจแห่งการปลอบโยน ด้วยการต้องทนต่อความทุกข์ทรมาน พระองค์ทุกข์พระทัยในความทุกข์ทั้งหมดของมนุษย์ “เพราะพระองค์เองได้ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้” (ดู อิสยาห์ 63:9; ฮีบรู 2:18) ทุกคนที่ร่วมทุกข์กับพระองค์ได้รับเกียรติในการมีส่วนร่วมในพันธกิจนี้ “เพราะเรามีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์มากมายเพียงไร การหนุนใจของเราโดยพระคริสต์ก็มากมายเพียงนั้น” (2 โครินธ์ 1:5 ตามเชิงอรรถของฉบับ THSV) พระองค์ทรงมีพระคุณพิเศษสำหรับผู้ที่โศกเศร้า ซึ่งพระคุณนั้นมีฤทธิ์ทำให้ใจของคนอ่อนลงและพิชิตจิตวิญญาณ ความรักของพระองค์เปิดทางเข้าสู่จิตใจที่ฟกช้ำ และเป็นยารักษาผู้ที่เศร้าใจ “พระบิดาผู้ทรงพระเมตตากรุณา พระเจ้าแห่งการหนุนใจทุกอย่าง พระองค์ผู้ทรงหนุนใจเราในความยากลำบากทั้งหมดของเรา เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลายที่มีความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยการหนุนใจ ซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” (2 โครินธ์ 1:3, 4) {MB 13.1}

“คนที่สุภาพอ่อนโยนก็เป็นสุข”—(มัทธิว 5:5)

ในคำเทศนาของพระเยซูเรื่อง ‘ผู้เป็นสุข’ พระองค์ได้วางการพัฒนาการของชีวิตคริสเตียนที่ก้าวขึ้นตามลำดับเป็นขั้นบันได บุคคลที่ต้องการพระคริสต์ มีความเศร้าเสียใจเพราะความผิดบาป และได้บทเรียนชีวิตจากการร่วมทุกข์กับพระองค์ จะได้เรียนรู้ถึงความอ่อนสุภาพจากพระองค์ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ {MB 13.2}

ความอดทนและความอ่อนโยนเป็นคุณสมบัติที่ทั้งคนยิวและคนต่างชาติไม่นิยม โดยเฉพาะในกรณีที่ตนเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย ฉะนั้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจให้โมเสสเขียนถึงตัวท่านเองว่า ท่านเป็น “คนถ่อมใจยิ่งกว่าคนทั้งหมดบนพื้นแผ่นดิน” (กันดารวิถี 12:3) คนในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเป็นคำชม แต่ตรงกันข้าม เป็นที่น่ารังเกียจและน่าสมเพชเวทนามากกว่า แต่พระเยซูทรงสอนเรื่องความอ่อนสุภาพว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับอาณาจักรของพระองค์ คุณลักษณะนี้ได้ปรากฏในชีวิตและพระอุปนิสัยอันงดงามของพระองค์เอง {MB 14.1}

พระเยซูผู้ทรงเป็นแสงสว่างแห่งพระสิริของพระบิดา “ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้ แต่ทรงสละพระองค์เอง และทรงรับสภาพทาส” (ฟีลิปปี 2:6, 7) พระองค์ทรงยอมผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ลำบาก ทรงดำเนินท่ามกลางมนุษย์ ไม่เหมือนกษัตริย์ที่ประสงค์ให้คนเทิดทูน แต่ในฐานะผู้มีภารกิจรับใช้คนอื่น พระองค์ไม่เคยยกตนข่มท่านหรือมีท่าทางอวดดื้อถือดีแต่อย่างใด พระผู้ไถ่ของโลกทรงมีธรรมชาติที่สูงกว่าทูตสวรรค์ กระนั้นสง่าราศีของพระเจ้าได้ปรากฏร่วมกับความอ่อนสุภาพและความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งชักนำคนทั้งหลายมาหาพระองค์ {MB 14.2}

พระเยซูทรงสละพระองค์เอง ในบรรดาพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์ไม่มีความเห็นแก่ตัว ทุกอย่างทรงมอบไว้ภายใต้น้ำพระทัยของพระบิดา เมื่อใกล้เสร็จสิ้นภารกิจของพระองค์ในโลกนี้แล้ว พระองค์สามารถตรัสได้ว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายเกียรติสิริแด่พระองค์ในโลก โดยกระทำกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้แก่ข้าพระองค์จนสำเร็จครบถ้วน” (ยอห์น 17:4 TNCV) พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราว่า “จง…เรียนรู้จากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม” “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง” (มัทธิว 11:29; 16:24) จงปลดความเห็นแก่ตัวออกไปจากบัลลังก์หัวใจ อย่าให้มันครอบครองจิตใจอีกต่อไป {MB 14.3}

คนที่พิจารณาถึงพระคริสต์ผู้ทรงสละพระองค์เองและทรงมีพระทัยที่อ่อนโยน จะเป็นอย่างดาเนียลเมื่อท่านเห็นผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์ และจะมีจิตใจเร่งเร้าให้อดไม่ได้ที่จะพูดว่า “หน้าตาสุกใสของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนเป็นหน้าซีด” (ดาเนียล 10:8 TH1971) เขาจะเห็นว่าอิสรภาพและการตามใจตัวเองที่มนุษย์เรานิยมกันนัก ที่แท้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเพราะเป็นสัญลักษณ์ของการรับใช้ซาตาน โดยธรรมชาติของความเป็นมนุษย์แล้ว คนเราต้องการที่จะแสดงออก พร้อมที่จะแข่งขัน แต่ผู้ที่เรียนรู้จากพระคริสต์จะมีจิตใจที่สงบนิ่งเพราะเขาได้สละความเห็นแก่ตัว ความหยิ่งและการยกตนข่มท่านออกไปแล้ว ถ้าทั้งชีวิตกายใจได้มอบให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใช้แล้ว เราจะไม่ทะเยอทะยานเพื่อคว้าตำแหน่งสูงส่ง จะไม่รู้สึกว่าต้องตะเกียกตะกายเพื่อเป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่จะถือว่าตำแหน่งสูงสุดคือที่พระบาทของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะมองไปที่พระเยซู รอให้พระหัตถ์ของพระองค์นำทาง และคอยฟังพระสุรเสียงของพระองค์ชี้แนะ อัครสาวกเปาโลมีประสบการณ์เช่นนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป พระคริสต์ต่างหากทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า ชีวิตที่ข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในกายนี้ ข้าพเจ้าดำเนินด้วยความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้าและประทานพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า” (กาลาเทีย 2:20 TNCV) {MB 15.1}

เมื่อเรารับพระคริสต์ให้มาประจำอยู่ในใจ สันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของเราไว้ในพระเยซูคริสต์ (ฟีลิปปี 4:7) ถึงแม้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะดำเนินชีวิตท่ามกลางความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาท แต่ชีวิตของพระองค์ก็เป็นชีวิตแห่งสันติสุข ขณะที่ศัตรูผู้โกรธเคืองตามไล่ล่าพระองค์ไม่หยุดยั้ง พระองค์ตรัสว่า “พระองค์ผู้ทรงใช้เรามาก็สถิตอยู่กับเรา พระองค์ไม่ได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพัง เพราะว่าเราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ” (ยอห์น 8:29) มรสุมจากมนุษย์หรือความเกรี้ยวกราดของซาตานไม่สามารถกระทบต่อความสงบสุขของพระเยซูที่ติดสนิทกับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และพระองค์ตรัสกับเราว่า “เรามอบสันติสุขไว้แก่ท่านทั้งหลาย สันติสุขของเรา เราให้แก่ท่าน” “จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก” (ยอห์น 14:27 TH1940/TKJV; มัทธิว 11:29 TH1971) จงรับเอาแอกแห่งการรับใช้ร่วมกับเรา เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และพัฒนาส่งเสริมมนุษย์ แล้วท่านจะพบว่าแอกนั้นพอเหมาะ และภาระนั้นก็เบา {MB 15.2}

ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุทำลายสันติสุขของเรา ตราบใดที่อัตตายังคงอยู่ เราก็จะคอยปกป้องตัวเองไม่ยอมให้ใครดูถูกเหยียดหยาม แต่เมื่อเราตายแล้ว และชีวิตของเราซ่อนไว้ในพระเจ้ากับพระคริสต์ เราจะไม่ใส่ใจเมื่อมีคนดูถูกหรือทอดทิ้งเรา เราจะเป็นเหมือนคนหูหนวกตาบอดที่ไม่รับรู้ถึงการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม “ความรักนั้นก็อดทนนาน และมีใจปรานี ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม แต่ชื่นชมยินดีในความจริง ความรักทนได้ทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ มีความหวังและความทรหดอดทนอยู่เสมอ ความรักไม่มีวันเสื่อมสูญ” (1 โครินธ์ 13:4–8) {MB 16.1}

ความสุขที่ได้จากฝ่ายโลกแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่วนสันติสุขในพระคริสต์เป็นสันติสุขที่มั่นคงถาวร ไม่ขึ้นกับสถานการณ์ใดๆ ในชีวิต ไม่ว่าทรัพย์สมบัติหรือจำนวนญาติมิตรจะมีมากน้อยเพียงใด แต่มาจากพระคริสต์ผู้ทรงเป็นบ่อน้ำพุแห่งชีวิต ความสุขที่มาจากพระองค์จะไม่มีวันเหือดแห้งไป {MB 16.2}

สมาชิกครอบครัวจะมีความสุขเมื่อความสุภาพอ่อนโยนของพระคริสต์ได้ปรากฏอยู่ในบ้าน จะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง หรือการตอบโต้กันด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อน แต่อารมณ์ร้อนนั้นจะสงบลงเมื่อสัมผัสกับความอ่อนโยนของพระองค์ ทำให้ทุกคนในบ้านรู้สึกอบอุ่น ครอบครัวไหนเอาใจใส่ต่อความอ่อนสุภาพของพระคริสต์จะมีส่วนในครอบครัวใหญ่แห่งสวรรค์ด้วย {MB 16.3}

ที่จะทนทุกข์เพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีก็ยังดีกว่าการทรมานตนเองด้วยการแก้แค้นศัตรู ความจงเกลียดจงชังและการแก้แค้นล้วนแต่เริ่มต้นมาจากซาตาน และใครก็ตามที่ยึดมันไว้จะพบกับความเลวร้าย แต่เคล็ดลับแห่งความสุขคือ จิตใจที่อ่อนสุภาพ ซึ่งเป็นผลของการเข้าสนิทในพระคริสต์ “พระองค์จะตกแต่งผู้ถ่อมใจด้วยความรอด” (สดุดี 149:4 TH1940) {MB 17.1}

คนที่สุภาพอ่อนโยน “จะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก” ความต้องการที่จะยกตัวเองขึ้นเป็นเหตุให้ความบาปเข้ามาในโลก ทำให้บรรพบุรุษคู่แรกของเราต้องสูญเสียสิทธิในการครอบครองโลกอันงดงามใบนี้ซึ่งเป็นอาณาจักรของเขา แต่พระคริสต์ทรงไถ่สิ่งที่สูญเสียเหล่านั้นกลับคืนมาด้วยการปฏิเสธความเห็นแก่ตัว พระองค์ตรัสว่า ให้เรามีชัยชนะเหมือนที่พระองค์ทรงมี (ดู วิวรณ์ 3:21) เมื่อคนอ่อนสุภาพได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก เราจะเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ ถ้าเราถ่อมใจลงและสละความปรารถนาส่วนตัว (ดู สดุดี 37:11) {MB 17.2}

แผ่นดินโลกที่ทรงสัญญาไว้ให้คนใจถ่อมนั้น จะไม่เหมือนโลกปัจจุบันที่มืดดำด้วยเงาแห่งความตายและการถูกสาปแช่ง “แต่ว่าตามพระสัญญาของพระองค์นั้น เราจึงคอยท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ที่ความชอบธรรมจะดำรงอยู่” “จะไม่มีสิ่งใดถูกสาปแช่งอีกต่อไป พระที่นั่งของพระเจ้าและของพระเมษโปดกจะตั้งอยู่ในเมืองนั้น และบรรดาผู้รับใช้ของพระองค์จะปรนนิบัติพระองค์” (2 เปโตร 3:13 TH1971; วิวรณ์ 22:3 TKJV) {MB 17.3}

ในสวรรค์ไม่มีความผิดหวัง ไม่มีความเศร้าหรือความบาป ไม่มีใครพูดว่า ‘ฉันไม่สบาย’ ไม่มีการแห่ศพ การไว้ทุกข์หรือความตาย ไม่มีการพลัดพรากจากกัน หรือความช้ำใจ แต่พระเยซูทรงอยู่ที่นั่น และจะมีสันติสุขอยู่ที่นั่น “เขาจะไม่หิวหรือกระหาย แสงอาทิตย์แรงกล้าและลมทะเลทรายอันร้อนระอุจะไม่แผดเผาเขาอีกต่อไป พระองค์ผู้ทรงเอ็นดูสงสารเขาจะนำเขา และพาเขามายังริมธารน้ำพุ” (อิสยาห์ 49:10 TNCV) {MB 17.4}

“บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์”—(มัทธิว 5:6 TH1971)

ความชอบธรรมคือความบริสุทธิ์ คือชีวิตที่สะท้อนถึงพระลักษณะของพระเจ้า และ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยอห์น 4:16) ความชอบธรรมคือการทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า เพราะ “พระบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์ก็ชอบธรรม” (สดุดี 119:172) และ “ความรักจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธรรมบัญญัติสำเร็จอย่างครบถ้วน” (โรม 13:10) ความชอบธรรมคือความรัก และความรักคือแสงสว่างและชีวิตของพระเจ้า ความชอบธรรมของพระเจ้าได้ธำรงอยู่ในพระคริสต์ เราจึงรับความชอบธรรมได้ด้วยการรับเอาพระองค์ {MB 18.1}

ความชอบธรรมไม่ได้มาด้วยการเพียรพยายาม การดิ้นรน การให้ทาน หรือการเสียสละ แต่สำหรับทุกคนที่หิวกระหายความชอบธรรม พระองค์จะประทานให้โดยไม่คิดมูลค่า “โอ้ ทุกคนที่กระหาย จงมายังน้ำ และผู้ไม่มีเงิน จงมาหาซื้อและรับประทาน…โดยไม่ต้องเสียเงินและค่าใช้จ่าย” “ความชอบธรรมของเขามาจากเรา” “และนี่จะเป็นนามซึ่งเราจะเรียกท่าน คือ พระเยโฮวาห์เป็นความชอบธรรมของเรา” (อิสยาห์ 55:1; 54:17 TKJV; เยเรมีย์ 23:6 TKJV) {MB 18.2}

ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเติมจิตวิญญาณที่ว่างเปล่าให้เต็มอิ่มได้ แต่พระเยซูตรัสว่า “นี่แน่ะ เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขาและจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา” “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต คนที่มาหาเราจะไม่หิว และคนที่วางใจในเราจะไม่กระหายอีกเลย” (วิวรณ์ 3:20; ยอห์น 6:35) {MB 18.3}

เราต้องการอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงฉันใด เราก็ต้องการพระคริสต์ผู้ทรงเป็นอาหารจากสวรรค์เพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและเสริมกำลังในการทำพระราชกิจของพระเจ้าฉันนั้น ร่างกายมีชีวิตชีวาด้วยสารอาหารที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกัน จิตวิญญาณจะต้องติดสนิทกับพระคริสต์ตลอดเวลา ยอมเชื่อฟังพระองค์ และพึ่งพาพระองค์อย่างสิ้นเชิง {MB 19.1}

นักเดินทางที่เหนื่อยล้าและคอแห้งผากแสวงหาแหล่งน้ำในทะเลทราย เมื่อพบก็ดื่มเพื่อดับกระหายฉันใด ผู้ที่เป็นคริสเตียนจะกระหายน้ำบริสุทธิ์แห่งชีวิต และจะหาจนพบฉันนั้น ซึ่งพระคริสต์ทรงเป็นบ่อน้ำพุนั้น {MB 19.2}

ในขณะที่เราสังเกตพระอุปนิสัยที่สมบูรณ์แบบของพระเยซู เราจะมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองทั้งหมด และอยากถูกสร้างขึ้นใหม่ตามพระลักษณะอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ยิ่งเรารู้จักพระเจ้า เราจะยิ่งมีอุดมคติเรื่องอุปนิสัยที่สูงขึ้น และจะยิ่งมีใจปรารถนาที่จะให้ชีวิตของเราสะท้อนถึงพระลักษณะของพระองค์ เมื่อเราแสวงหาพระองค์ด้วยใจ พระองค์จะทรงเสริมกำลัง และเราจะพูดด้วยใจที่ปรารถนาพระองค์ได้ว่า “จิตใจของข้าพเจ้าสงบคอยพระเจ้าเท่านั้น เพราะความหวังของข้าพเจ้ามาจากพระองค์” (สดุดี 62:5) {MB 19.3}

ถ้าท่านรู้สึกถึงความขาดแคลนในจิตใจ และมีความหิวกระหายความชอบธรรม ก็แสดงว่าพระคริสต์ทรงทำงานในใจของท่าน เพื่อให้ท่านแสวงหาพระองค์และรับเอาพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะช่วยทำในสิ่งที่ท่านไม่มีทางทำเองได้ เราไม่จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำตื้นๆ เพื่อดับกระหาย เนื่องจากว่าเหนือขึ้นไปไม่ไกลมีน้ำพุที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเราสามารถดื่มได้โดยไม่เสียเงิน เพียงแต่ให้เราเดินขึ้นไปตามหนทางแห่งความเชื่ออีกเล็กน้อย {MB 19.4}

พระวจนะของพระเจ้าเป็นตาน้ำแห่งชีวิต ซึ่งเมื่อเราแสวงหาตาน้ำแห่งชีวิตนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำให้เราสามัคคีธรรมกับพระคริสต์ เราจะเข้าใจหลักความจริงที่เราคุ้นเคยในมุมมองใหม่ และความหมายใหม่ของข้อพระคัมภีร์ต่างๆ จะสว่างวาบเข้ามาในใจราวกับเปิดไฟขึ้นอย่างฉับพลัน เราจะเห็นว่าหลักความจริงต่างๆ เชื่อมโยงกับกระบวนการทรงไถ่ จะรู้ว่าพระคริสต์ทรงนำ และทรงเป็นพระอาจารย์ผู้สถิตเคียงข้างเรา {MB 20.1}

พระเยซูตรัสว่า “น้ำที่เราจะให้เขานั้น จะกลายเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:14) ขณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยให้เข้าใจหลักความจริง เราจะมีประสบการณ์อันล้ำค่า ปรารถนาที่จะเล่าให้คนอื่นฟังถึงสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงหนุนใจเรา และจะให้ข้อคิดใหม่เกี่ยวกับพระอุปนิสัยหรือพระราชกิจของพระคริสต์แก่คนที่เราคบหาด้วย เราจะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับความรักของพระองค์ที่ทรงเมตตาทั้งคนที่รักและคนที่ไม่รักพระองค์ {MB 20.2}

“จงให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับ” (ลูกา 6:38) เพราะพระวจนะของพระเจ้าเป็น “น้ำพุแห่งอุทยาน เป็นธารน้ำอันไหลริน หลั่งไหลลงมาจากเลบานอน” (เพลงซาโลมอน 4:15 TNCV) หัวใจที่เคยลิ้มรสความรักของพระคริสต์ จะร้องหาต่อไปเพื่อจะได้รับมากขึ้น และเมื่อเราแบ่งปันให้คนอื่น เราจะได้รับเพิ่มเติม ทุกครั้งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ให้กับคนใด เขาก็จะสามารถรับรู้และรู้จักรักมากยิ่งขึ้น หัวใจจะร้องเรียกตลอดเวลาว่า ‘ขอให้ได้รับเอาพระองค์มากขึ้น’ และพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงตอบว่า ‘มากยิ่งกว่านั้นอีก’ (ดู โรม 5:9, 10) พระเจ้าของเราทรงพอพระทัยที่จะ “กระทำเกินกว่าที่เราจะทูลขอหรือคาดคิดได้” (เอเฟซัส 3:20 TNCV) สำหรับพระเยซูผู้ทรงสละพระองค์เองเพื่อความรอดของมวลมนุษย์ที่หลงผิด พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยไม่จำกัด ทุกคนที่ติดตามพระคริสต์และมอบหัวใจทั้งหมดเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระองค์ก็จะได้รับเช่นกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ตรัสสั่งด้วยพระองค์เองว่า “จงเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณ” (เอเฟซัส 5:18) คำสั่งนี้ยังเป็นพระสัญญาว่าพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จตามที่ทรงสัญญาไว้ พระบิดา “ทรงพอพระทัยที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งหมดดำรงอยู่ใน” พระคริสต์ “และพวกท่านได้รับความครบบริบูรณ์ในพระองค์” (โคโลสี 1:19; 2:10) {MB 20.3}

พระเจ้าประทานความรักของพระองค์โดยไม่จำกัด เหมือนดังห่าฝนที่รดแผ่นดินให้ชุ่มฉ่ำ ตรัสว่า “ให้ท้องฟ้าหลั่งความชอบธรรมลงมา ให้แผ่นดินโลกเปิดออก และความรอดงอกเงยขึ้น” “เมื่อคนจนและคนขัดสนแสวงหาน้ำและไม่มี และลิ้นของเขาก็แห้งผากเพราะความกระหาย เราคือพระเยโฮวาห์จะได้ยินเขาเอง เรา พระเจ้าของอิสราเอลจะไม่ละทิ้งเขา เราจะเปิดแม่น้ำบนที่สูงทั้งหลาย และน้ำพุที่ท่ามกลางหุบเขา เราจะทำถิ่นทุรกันดารให้เป็นสระน้ำ และที่ดินแห้งเป็นน้ำพุ” (อิสยาห์ 45:8; 41:17, 18 TKJV) {MB 21.1}

“เพราะเราได้รับพระคุณซ้อนพระคุณจากความบริบูรณ์ของพระองค์” (ยอห์น 1:16) {MB 21.2}

“คนที่มีใจเมตตาก็เป็นสุข เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับพระเมตตาตอบ”—(มัทธิว 5:7)

ตามธรรมชาติแล้ว ใจมนุษย์มีความเย็นชา มัวหมองและไม่มีความรัก ทุกครั้งที่มีคนแสดงถึงใจเมตตาและการให้อภัย คนๆ นั้นไม่ได้ทำเอง แต่ทำเพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลบันดาลใจเขา “เรารัก ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยอห์น 4:19) {MB 21.3}

พระเจ้าเองทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความเมตตากรุณาทั้งปวง พระนามของพระองค์คือ “พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและพระคุณ” (อพยพ 34:6 TNCV) พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิบัติต่อเราตามที่เราสมควรได้รับ พระองค์ไม่ได้ถามว่าเราคู่ควรกับความรักของพระองค์หรือไม่ แต่พระองค์ทรงเทความรักของพระองค์อย่างเหลือล้นเพื่อทำให้เราคู่ควร พระองค์ไม่ทรงแก้แค้น พระองค์ไม่ทรงหาทางลงโทษ แต่ทรงหาทางไถ่มนุษย์ให้รอด แม้แต่ในการทรงนำที่ใช้เหตุการณ์รุนแรง พระองค์ทรงทำเพื่อความรอดของคนที่หลงทาง พระองค์ทรงปรารถนาอย่างสุดซึ้งที่จะบรรเทาความทุกข์ของมนุษย์และรักษาบาดแผลของเขา จริงอยู่ว่า พระองค์ “จะไม่ทรงละเว้นการลงโทษอย่างแน่นอน” (อพยพ 34:7) แต่พระองค์จะทรงลบล้างความผิดที่จะต้องลงโทษนั้น {MB 22.1}

คนที่มีใจเมตตา “มีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า” (2 เปโตร 1:4) เขาแสดงออกถึงความรักของพระองค์ด้วยใจที่กรุณา ทุกคนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก จะพยายามฟื้นฟูคนผิด ไม่ใช่ประณามซ้ำเติม พระคริสต์อยู่ในใจเป็นน้ำพุที่ไม่มีวันเหือดแห้ง เพราะพระองค์อยู่ที่ใด ที่นั่นจะมีพระกรุณาเอ่อล้นอย่างท่วมท้น {MB 22.2}

สำหรับคนที่หลงผิดและตกเป็นเหยื่อแห่งความบาป ผู้ที่เป็นคริสเตียนไม่ควรถามว่า ‘เขาคู่ควรแล้วหรือ’ แต่จะถามว่า ‘ฉันจะช่วยเขาอย่างไรดี’ เมื่อมองเหยื่อเคราะห์ร้ายและคนที่อัตคัดขัดสน เขาจะถือว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อช่วยให้รอด คือพระเจ้าทรงมอบพันธกิจแห่งการคืนดีกันให้คนของพระองค์เพื่อช่วยเหลือคนเช่นนี้ {MB 22.3}

บุคคลที่มีใจกรุณาคือผู้ที่เมตตาสงสารคนทุกข์ยากและผู้ที่ถูกบีบบังคับ ท่านโยบกล่าวว่า “ข้าช่วยคนยากจนที่ร้องให้ช่วย และเด็กกำพร้าที่ไม่มีผู้ใดอุปถัมภ์ พรของคนที่กำลังจะตายก็มาถึงข้า และข้าทำให้จิตใจของหญิงม่ายร้องเพลงด้วยความชื่นบาน ข้าสวมความชอบธรรม มันก็ห่อหุ้มข้าไว้ ความยุติธรรมของข้าเหมือนเสื้อคลุมและผ้าโพกศีรษะ ข้าเป็นดวงตาให้คนตาบอด และเป็นเท้าให้คนง่อย ข้าเป็นบิดาให้คนขัดสน และข้าเป็นธุระคดีความให้ผู้ที่ข้าไม่รู้จัก” (โยบ 29:12–16) {MB 22.4}

มีหลายคนที่ต้องดิ้นรนอย่างระทมทุกข์ในชีวิต พวกเขารู้ซึ้งในความทุกข์และความบกพร่องของตน ไม่กล้าเชื่อและไม่กล้ารู้สึกว่าจะมีเรื่องที่น่ายินดีในโลกนี้ ถ้อยคำที่เกื้อกูล สายตาที่ปรานีและเห็นความสำคัญของเขา คงช่วยคนที่เหงาหงอย บากบั่นสู้ทน ประหนึ่งน้ำเย็นสักแก้วที่ช่วยดับกระหาย ถ้อยคำที่ประกอบด้วยความเมตตาและการกระทำที่แสดงออกถึงความกรุณาจะช่วยเสริมกำลังให้กับหลังที่ค้อมลงเพราะภาระที่หนักอึ้ง ทุกถ้อยคำและทุกการกระทำที่ทำด้วยใจกรุณาไม่เห็นแก่ตัว คือการแสดงออกถึงความรักของพระคริสต์ที่มีต่อมวลมนุษย์ที่หลงผิด {MB 23.1}

คนที่มีใจกรุณา “จะได้รับพระกรุณาตอบ” “คนใจกว้างย่อมเจริญรุ่งเรือง คนที่ให้น้ำคนอื่นย่อมได้น้ำตอบแทน” (สุภาษิต 11:25) คนที่มีใจเมตตาเอ็นดูมีสันติสุขแท้ ผู้ที่รับใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่นจนลืมตนเองจะได้รับความพึงพอใจในชีวิต เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในใจและแสดงออกด้วยการกระทำ คนที่มีใจที่แข็งกระด้างจะอ่อนลงและเขาเองจะได้รับความกรุณาตอบ เพราะคนเราหว่านสิ่งใดก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น “ความสุขมีแก่ผู้ที่ใส่ใจคนอ่อนแอ…องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปกปักรักษาและสงวนชีวิตของเขา พระองค์จะทรงอวยพรเขาในแผ่นดิน และจะไม่ทรงปล่อยให้ศัตรูทำกับเขาตามใจชอบ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประคับประคองเขาในยามเจ็บป่วย และจะทรงช่วยให้เขาหายเป็นปกติ” (สดุดี 41:1–3 TNCV) {MB 23.2}

คนที่ถวายชีวิตให้พระเจ้าเพื่อรับใช้คนของพระองค์จะเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์ผู้ทรงครอบครองทรัพยากรในจักรวาลอย่างครบบริบูรณ์ พระสัญญาที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นดังสายทองสัมพันธ์ที่ผูกชีวิตเขาไว้กับพระเจ้า พระองค์จะไม่ทอดทิ้งเขาในเวลาที่ทนทุกข์หรือขัดสน “พระเจ้าของข้าพเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่พวกท่านจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ในพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 4:19) ในยามวิกฤตครั้งสุดท้าย ผู้ที่มีใจกรุณาจะพบที่ลี้ภัยอยู่ในพระเมตตากรุณาของพระผู้ช่วยให้รอด และจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่ที่พำนักนิรันดร์ {MB 24.1}

“คนที่มีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข เพราะเขาทั้งหลายจะได้เห็นพระเจ้า”—(มัทธิว 5:8)

ชาวยิวเคร่งครัดและพิถีพิถัน เพื่อไม่ให้ตนเป็นมลทินในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ จนเป็นเหตุให้พวกเขากำหนดข้อบังคับหยุมหยิมมากมาย กลายเป็นภาระที่หนักหน่วง พวกเขามัวแต่คิดถึงระเบียบข้อบังคับ และระวังความสะอาดภายนอก แต่ไม่รู้ว่าความเห็นแก่ตัวและความมุ่งร้ายได้สร้างรอยเปรอะเปื้อนในใจ {MB 24.2}

พระเยซูไม่ได้เอ่ยถึงความถูกต้องทางพิธีกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่จะเข้าแผ่นดินของพระองค์ แต่ทรงชี้ไปยังความจำเป็นที่จะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะ “ปัญญาจากเบื้องบนนั้นบริสุทธิ์เป็นประการแรก” (ยากอบ 3:17) สิ่งใดที่เป็นมลทินจะไม่เข้าไปในเมืองสวรรค์ของพระเจ้า ทุกคนที่จะอาศัยอยู่ที่นั่น ล้วนแต่ได้รับใจที่บริสุทธิ์เมื่อเขายังอยู่ในโลก คนที่กำลังเรียนรู้จากพระเยซู ยิ่งนับวันยิ่งจะไม่ชอบกิริยาที่ประมาทเลินเล่อ ภาษาที่ไม่เหมาะสมและความคิดที่หยาบคาย เมื่อพระคริสต์ประทับในใจ ความคิดจะบริสุทธิ์และกิริยาท่าทางจะสุภาพเรียบร้อย {MB 24.3}

แต่ถ้อยคำที่พระเยซูตรัสว่า “คนที่มีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข” มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าการรักษาใจให้บริสุทธิ์จากโลกีย์และราคะตัณหาเพียงอย่างเดียว แต่แรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต้องปราศจากความหยิ่งและความเห็นแก่ตัว มีความจริงใจและอ่อนน้อมถ่อมตน {MB 25.1}

มีแต่คนที่มีคุณลักษณะเหมือนกันที่จะเข้าใจกันได้ ความรักที่เสียสละเป็นคำสรุปพระลักษณะอุปนิสัยของพระเจ้า ถ้าขาดสิ่งนี้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิต เราก็ไม่มีทางรู้จักพระองค์ คนที่ถูกซาตานหลอกลวงจะมองพระเจ้าว่าเป็นเผด็จการที่ไม่รู้จักปรานี เขาจะโยนลักษณะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์และแม้กระทั่งของซาตานเองให้พระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรักและความเอ็นดู ตรงกับคำสรุปของพระเจ้าว่า “เจ้าคิดว่าเราเป็นเหมือนเจ้า” (สดุดี 50:21) พวกเขาสรุปว่าพระเจ้าไม่มีเหตุผลและทรงเจตนาร้ายในการทรงนำของพระองค์ ส่วนพระคัมภีร์ก็เช่นกัน เป็นหีบสมบัติแห่งพระคุณ แต่คนส่วนมากกลับไม่รับรู้ถึงหลักความจริงอันรุ่งโรจน์ที่สูงเท่าฟ้าสวรรค์และยาวไกลถึงนิรันดร์กาล มหาชนถือว่าพระคริสต์เอง “เหมือนรากที่แตกหน่อมาจากพื้นดินแห้งแล้ง…ไม่มีความงามหรือความสง่าที่จะให้พวกเรามองดู และไม่มีรูปลักษณ์ซึ่งจะให้เราพึงปรารถนา” (อิสยาห์ 53:2) เมื่อพระเยซูประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์พระองค์เปิดเผยพระเจ้าในสภาพมนุษย์ แต่พวกฟาริสีกับธรรมาจารย์กล่าวถึงพระองค์ว่า “ท่านเป็นชาวสะมาเรียและมีผีสิง” (ยอห์น 8:48) แม้แต่ใจสาวกของพระองค์เองก็บอดเพราะความเห็นแก่ตัว จนทำให้พวกเขาช้าในการเข้าใจพระเยซูผู้เสด็จมาเพื่อเปิดเผยความรักของพระบิดา เพราะเหตุนี้เองที่พระเยซูมีความโดดเดี่ยวขณะที่ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางมนุษย์ มีแต่ที่สวรรค์เท่านั้นที่เข้าใจพระองค์อย่างแท้จริง {MB 25.2}

เมื่อพระคริสต์เสด็จมาด้วยพระสิริของพระองค์ คนอธรรมจะทนดูพระองค์ไม่ได้ แสงรัศมีของพระองค์ซึ่งให้ชีวิตแก่คนที่รักพระองค์ เป็นเหตุให้คนชั่วต้องตาย พวกเขา “รอคอยด้วยความหวาดกลัวถึงการพิพากษาและไฟร้อนแรง” (ฮีบรู 10:27 TNCV) เมื่อพระองค์จะปรากฏ คนอธรรมจะอ้อนวอนขอซ่อนตัวเพื่อให้พ้นจากพระพักตร์พระองค์ผู้สิ้นพระชนม์ไถ่บาปของพวกเขา {MB 26.1}

แต่ไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับคนที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในใจ คนเหล่านี้รู้จักพระเจ้าได้ เช่นเดียวกับโมเสสที่ถูกซ่อนไว้ในซอกหินขณะที่พระสิริของพระเจ้าทรงสำแดงแก่ท่าน และเมื่อเราถูกซ่อนไว้ในพระคริสต์เราจะได้เห็นความรักของพระองค์ {MB 26.2}

“ผู้ที่รักจิตใจอันบริสุทธิ์และมีวาจาอ่อนโยนจะได้เป็นมิตรกับกษัตริย์” (สุภาษิต 22:11 TNCV) ด้วยความเชื่อเราจึงมองเห็นพระองค์ในชีวิตนี้ เราจะเห็นพระคุณความดีของพระองค์ปรากฏผ่านประสบการณ์การทรงนำของพระองค์ในชีวิตประจำวัน เรารู้จักพระบิดาผ่านพระลักษณะนิสัยของพระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยและช่วยให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและพระบุตรที่พระองค์ทรงใช้มา คนที่มีใจบริสุทธิ์จะตระหนักถึงสายสัมพันธ์แห่งความรักที่ผูกพันเขาไว้กับพระผู้ไถ่ เมื่อเขาเห็นพระอุปนิสัยอันบริสุทธิ์งดงามของพระคริสต์ เขาก็จะปรารถนาที่จะสะท้อนถึงพระลักษณะของพระองค์ พวกเขานับถือพระเจ้าในฐานะพระบิดาผู้เฝ้ารอที่จะโอบกอดบุตรที่กลับใจ จึงเปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดีสุดที่จะพรรณนา (ดู 1 เปโตร 1:8 TNCV) {MB 26.3}

คนที่มีใจบริสุทธิ์จะสังเกตถึงฝีพระหัตถ์อันวิจิตบรรจงของพระผู้สร้างที่ปรากฏอยู่ในความงดงามของธรรมชาติ พวกเขาอ่านถึงพระเมตตาและพระคุณความดีของพระองค์ในพระคัมภีร์ที่สำแดงพระลักษณะของพระองค์ให้เห็นชัดกว่าที่ปรากฏในธรรมชาติเสียอีก หลักความจริงที่ปิดซ่อนไว้จากปัญญาชนและผู้รอบรู้ก็ทรงสำแดงแก่ผู้รู้น้อย ความงดงามแห่งสัจธรรมอันประเสริฐล้ำค่า ซึ่งถูกละเลยโดยผู้ที่มีความฉลาดฝ่ายโลกนั้น ได้ถูกเปิดเผยให้กับผู้ที่มีความไว้วางใจ ผู้ปรารถนาที่จะรู้จักและทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า เราเข้าใจความจริงนี้ก็โดยการมีส่วนในพระลักษณะของพระองค์ {MB 26.4}

ตลอดเวลาที่ทรงกำหนดให้พวกเขา คนใจบริสุทธิ์ดำรงชีวิตเฉพาะพระพักตร์ประหนึ่งได้เห็นพระเจ้าด้วยตา และเมื่อเขารับสภาพอมตะจะเห็นพระพักตร์พระองค์เหมือนอาดัมผู้ดำเนินและสนทนากับพระองค์ในสวนเอเดน “เวลานี้เราเห็นสลัวๆ เหมือนดูในกระจก แต่ในเวลานั้นจะเห็นแบบหน้าต่อหน้า” (1 โครินธ์ 13:12) {MB 27.1}

“บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร”—(มัทธิว 5:9 TH1971)

ความบาปได้ทำลายสันติสุข แต่พระคริสต์ทรงเป็น “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6) พระองค์ทรงมีพันธกิจเพื่อนำสันติสุขนั้นกลับคืนมาสู่โลกและสวรรค์ “เหตุฉะนั้นเมื่อเราได้ถูกนับเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อแล้ว เราจึงมีสันติสุขกับพระเจ้าโดยทางองค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา” (โรม 5:1 TNCV) ใครก็ตามที่ยอมละทิ้งความบาปและเปิดใจรับความรักของพระคริสต์จะมีส่วนในความสุขแห่งสวรรค์ดังกล่าว {MB 27.2}

ไม่มีทางอื่นที่จะมีสันติสุขนอกจากทางนี้ พระคุณของพระคริสต์ที่รับเข้ามาในใจจะสยบความเคียดแค้น ระงับการทะเลาะวิวาท และเติมหัวใจให้เต็มเปี่ยมด้วยความรัก คนที่มีสันติสุขกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะไม่มีอะไรทำให้เขาเป็นทุกข์ร้อนใจได้ จะไม่อิจฉาริษยา หรือมีความระแวงแคลงใจ ความเกลียดชังจะไม่ผุดขึ้นในใจของผู้นั้น เพราะจิตใจที่ประสานกลมเกลียวกับพระเจ้ามีส่วนในสันติสุขแห่งสวรรค์และจะแผ่ความสงบสุขนั้นเป็นพรให้กับคนรอบข้าง ฉะนั้นผู้เหน็ดเหนื่อยเพราะแบกปัญหาชีวิตจะได้รับสันติสุขเหมือนน้ำค้างที่รดแผ่นดิน {MB 27.3}

พระคริสต์ทรงใช้สาวกออกไปเพื่อประกาศข่าวแห่งสันติสุข ผู้ใดก็ตามที่สำแดงความรักของพระคริสต์ผ่านอิทธิพลเงียบของชีวิตบริสุทธิ์ หรือนำผู้อื่นให้ละทิ้งความบาปและยอมมอบใจให้พระเจ้าด้วยคำพูดหรือการกระทำก็เป็นผู้สร้างสันติทั้งสิ้น {MB 28.1}

“คนที่สร้างสันติก็เป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาทั้งหลายว่าเป็นลูก” (มัทธิว 5:9) ใจสันติเป็นหลักฐานของสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อเขาไว้กับสวรรค์ พวกเขาถูกห่อหุ้มด้วยบรรยากาศที่น่าชื่นชมยินดีที่อยู่รอบองค์พระคริสต์ เขามีชีวิตชีวา และอุปนิสัยงดงาม พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขาเป็นลูกของพระเจ้า คนทั่วไปจึงระลึกขึ้นได้ว่า คนเหล่านั้นเคยอยู่กับพระเยซู (ดู กิจการ 4:13) “ทุกคนที่รักก็เกิดจากพระเจ้า” “ใครไม่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ คนนั้นก็ไม่เป็นของพระองค์” แต่ “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำใคร คนนั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า” (1 ยอห์น 4:7; โรม 8:9, 14) {MB 28.2}

“คนหยิบมือที่เหลือของยาโคบ จะอยู่ท่ามกลางชนชาติทั้งหลาย เหมือนน้ำค้างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า เหมือนสายฝนโปรยปรายลงบนหญ้า ซึ่งไม่ต้องรอคอย หรือพึ่งพามนุษย์” (มีคาห์ 5:7 TNCV) {MB 28.3}

“คนที่ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรมก็เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขาทั้งหลาย”—(มัทธิว 5:10)

เมื่อพระเยซูทรงสอนสาวก พระองค์ไม่ได้ให้ความหวังว่าจะร่ำรวยในโลกนี้หรือมีชีวิตที่ปราศจากความยากลำบาก แต่พระองค์ทรงชี้ไปยังสิทธิพิเศษที่พวกเขาจะได้ร่วมดำเนินกับพระอาจารย์ตามหนทางแห่งการเสียสละ ทั้งจะถูกประณามเพราะชาวโลกไม่รู้จัก {MB 29.1}

พระองค์ผู้เสด็จมาเพื่อไถ่โลกมนุษย์ที่หลงผิด ถูกบรรดาศัตรูของพระเจ้าและมนุษย์ขัดขวาง ทั้งคนชั่วและทูตของมารร่วมกันเป็นสหพันธ์อธรรมต่อสู้องค์สันติราชอย่างไม่ปรานี ถึงแม้ทุกคำและทุกการกระทำของพระองค์ได้สำแดงให้เห็นถึงพระเมตตากรุณาของพระเจ้าก็ตาม แต่เพราะพระองค์ไม่เหมือนชาวโลก ชาวโลกจึงเกลียดชังและมุ่งร้ายต่อพระองค์ มีคนต่อสู้พระองค์อย่างร้ายกาจเพราะพระองค์ไม่ยอมให้ทางแก่พวกเขาเพื่อสนองกิเลสในรูปแบบต่างๆ แท้จริงทุกคนที่ปรารถนาดำรงชีวิตตามแบบของพระคริสต์ก็จะเป็นอย่างนั้น ระหว่างความชอบธรรมกับความบาป ความรักกับความชัง ความจริงกับความเท็จ มีความขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีคนสำแดงความรักของพระคริสต์และความงดงามแห่งชีวิตบริสุทธิ์ เขากำลังชักนำพลเมืองของซาตานให้ออกจากอาณาจักรของมัน แล้วเจ้าแห่งความชั่วก็จะลุกขึ้นต่อต้าน มีการกดขี่ข่มเหงและการตำหนิติเตียนรออยู่ข้างหน้าผู้ที่มีพระวิญญาณของพระคริสต์ ลักษณะและวิธีการกดขี่ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หลักการและวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังก็เป็นอันเดียวกันกับที่ฆ่าผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรตั้งแต่สมัยอาเบลเรื่อยมา {MB 29.2}

คนที่พยายามนำชีวิตให้สอดคล้องประสานกลมเกลียวกับพระเจ้าจะพบว่าไม้กางเขนยังถูกต่อต้านอยู่ มีทั้งเทพเจ้า ศักดิเทพและวิญญาณชั่วที่ครอบครองในโมหะความมืดแห่งโลกนี้รวมกันต่อสู้ทุกคนที่มอบชีวิตเพื่อปฏิบัติตามกฎแห่งสวรรค์ ฉะนั้นแทนที่จะรู้สึกโศกเศร้าเมื่อถูกกดขี่ข่มเหง สาวกของพระคริสต์ควรชื่นชมยินดี เพราะการกดขี่นั้นเป็นหลักฐานยืนยันว่า เขากำลังดำเนินตามรอยพระบาทของพระอาจารย์อยู่ {MB 29.3}

พระองค์ไม่เคยสัญญาว่าคนของพระองค์จะไม่ประสบความทุกข์ยากลำบาก แต่พระองค์สัญญาสิ่งที่ดียิ่งกว่านั้น คือ “พลังวังชาของท่านจะอยู่คู่คืนวันของท่าน” “การมีพระคุณของเราก็เพียงพอกับเจ้า เพราะว่าความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น” (เฉลยธรรมบัญญัติ 33:25 TNCV; 2 โครินธ์ 12:9) ถ้าเราถูกเรียกให้ผ่านเตาหลอมที่มีไฟลุกโพลงเพื่อเห็นแก่พระองค์ พระเยซูจะอยู่เคียงข้างเราเหมือนที่พระองค์ทรงอยู่กับชาวฮีบรูที่ซื่อสัตย์สามคนนั้นในกรุงบาบิโลน (ดู ดาเนียล บทที่ 3) คนที่รักพระผู้ไถ่จะชื่นชมยินดีทุกครั้งที่มีโอกาสทนต่อการถูกดูหมิ่นดูแคลนร่วมกับพระองค์ เนื่องจากความรักที่พวกเขามีต่อพระองค์ ความทุกข์นั้นจึงกลายเป็นเรื่องที่หวานชื่นเพื่อเห็นแก่พระองค์ {MB 30.1}

ซาตานได้ข่มเหงคนของพระเจ้าในทุกยุคทุกสมัย ด้วยการทรมานบ้าง ฆ่าทิ้งบ้าง แต่การตายของพวกเขาคือชัยชนะ เพราะด้วยความเชื่อมั่น พวกเขาได้สำแดงให้เห็นพระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่กว่าซาตาน ซาตานอาจทรมานคนของพระเจ้าและฆ่าได้แต่ร่างกาย แต่ชีวิตที่ซ่อนไว้ในพระคริสต์ไม่อาจแตะต้องได้เลย มันอาจจับคนของพระเจ้าคุมขังในเรือนจำ แต่มันไม่อาจคุมขังจิตวิญญาณได้ เพราะพวกเขาสามารถจินตนาการทะลุความมืดทึบที่อยู่รอบตัวไปยังสง่าราศีที่จะได้รับ พร้อมกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ลำบากแห่งสมัยปัจจุบัน ไม่ควรจะเอาไปเปรียบกับศักดิ์ศรีซึ่งจะเผยให้แก่เราในอนาคต” “เพราะว่า ความยากลำบากชั่วคราวและเล็กน้อยของเรา จะทำให้เรามีศักดิ์ศรีนิรันดร์มากมายอย่างไม่มีที่เปรียบ” (โรม 8:18; 2 โครินธ์ 4:17) {MB 30.2}

พระสิริของพระเจ้า คือพระอุปนิสัยของพระองค์ และพระสิรินั้นจะได้รับการเปิดเผยในชีวิตของผู้ที่ถูกเลือกสรรผ่านความทุกข์ยากลำบากและการกดขี่ข่มเหง คริสตจักรของพระเจ้าเป็นที่เกลียดชังแก่ชาวโลกที่คอยแต่จะรังควาน แต่คริสตจักรนั้นได้รับการศึกษาและฝึกวินัยในโรงเรียนของพระคริสต์ ในโลกนี้คนของพระองค์ต้องเดินตามหนทางที่คับแคบ แต่พวกเขาถูกชำระให้บริสุทธิ์ในเตาหลอมแห่งความทุกข์ระทม (ดู อิสยาห์ 48:10) พวกเขาติดตามพระคริสต์ท่ามกลางบรรยากาศที่ขัดแย้งอย่างรุนแรง และปฏิเสธความต้องการส่วนตัว ทั้งประสบกับความผิดหวังอย่างขมขื่น แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นสอนให้พวกเขาตระหนักว่าความบาปเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง พวกเขามีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์และจะได้รับส่วนในพระสิริของพระองค์แน่นอน พระเจ้าทรงให้นิมิตแก่อัครสาวกยอห์นได้เห็นถึงชัยชนะของประชากรของพระเจ้า ท่านจึงเผยพระวจนะว่า “ข้าพเจ้าเห็นสิ่งที่เป็นเหมือนอย่างทะเลแก้วปนไฟ และเห็นบรรดาคนที่มีชัยชนะ…ยืนอยู่ริมทะเลแก้วและถือพิณของพระเจ้า เขาร้องเพลงของโมเสสผู้รับใช้ของพระเจ้า และร้องเพลงของพระเมษโปดกว่า ‘ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด พระราชกิจของพระองค์ยิ่งใหญ่ และอัศจรรย์ ข้าแต่องค์พระมหากษัตริย์ของบรรดาประชาชาติ บรรดามรรคาของพระองค์ยุติธรรมและสัตย์จริง’” “คนเหล่านี้เป็นคนที่มาจากความยากลำบากครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาชำระล้างเสื้อผ้าของเขาด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดกจนขาวสะอาด เพราะเหตุนี้ เขาทั้งหลายจึงได้อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า และปรนนิบัติพระองค์ในพระวิหารของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน และพระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งจะทรงคุ้มครองพวกเขา” (วิวรณ์ 15:2, 3; 7:14, 15) {MB 31.1}

“เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเรา ท่านก็เป็นสุข”—(มัทธิว 5:11 TH1971)

นับตั้งแต่การอัปยศอดสูของซาตาน มันทำงานเคลื่อนไหวโดยอาศัยการล่อลวง มันใส่ร้ายพระเจ้า และใช้คนของมันใส่ร้ายคนของพระองค์ แต่พระเยซูตรัสว่า “คำเยาะเย้ยของผู้ที่เยาะเย้ยพระองค์ ตกแก่ข้าพระองค์” (สดุดี 69:9) แล้วสาวกของพระคริสต์ก็ถูกเยาะเย้ยเช่นเดียวกัน {MB 31.2}

ตั้งแต่มีมนุษย์อยู่บนโลกนี้ ไม่เคยมีคนถูกใส่ร้ายป้ายสีรุนแรงเท่ากับพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระองค์ถูกเยาะเย้ยและเหยียดหยามเพราะพระองค์ทรงยึดถือหลักการแห่งพระบัญญัติอย่างไม่เบี่ยงเบน มีคนเกลียดพระองค์โดยใช่เหตุ แต่พระองค์ทรงยืนหยัดต่อหน้าศัตรูอย่างสงบสุขุม ตรัสว่าการที่จะถูกประณามเป็นส่วนหนึ่งของมรดกคริสเตียน ทรงสอนให้สาวกต้านการมุ่งร้ายของคนอื่นเอาไว้ อย่าย่อท้อเมื่อถูกข่มเหง {MB 32.1}

การใส่ร้ายป้ายสีอาจทำลายชื่อเสียง แต่มันไม่อาจทำลายอุปนิสัยได้ เพราะพระเจ้าทรงรักษาอุปนิสัยเอาไว้ ตราบใดที่เราไม่ยินยอมต่อความบาป ไม่มีอำนาจใดจากมนุษย์หรือผีมารซาตานจะสร้างจุดด่างพร้อยในใจเราได้ คนที่ปักใจเชื่อในพระเจ้าจะมีความมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งในยามทุกข์ยากเหลือเข็ญ เมื่อแวดล้อมด้วยสถานการณ์ที่น่าผิดหวัง เท่าๆ กับช่วงที่เจริญรุ่งเรืองราวกับมีแสงรัศมีจากพระเจ้าส่องมายังเขา ถึงแม้อาจมีคนบิดเบือนคำพูด การกระทำหรือเหตุผลของเขา แต่เขาไม่ใส่ใจ เพราะมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นมากที่ควรเอาใจใส่ เหมือนกับโมเสส เขา “สู้ทนประหนึ่งได้เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา” (ฮีบรู 11:27) เพราะ “เราไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งที่มองเห็น แต่เอาใจใส่ในสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ยั่งยืน แต่สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นถาวรนิรันดร์” (2 โครินธิ์ 4:18) {MB 32.2}

พระเยซูทรงเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่มนุษย์บิดเบือนและเข้าใจผิด การที่ลูกๆ ของพระองค์จะเพียรรอคอยพระองค์ด้วยความไว้วางใจเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ถึงแม้คนรอบข้างมีแต่รังเกียจและประสงค์ร้ายก็ตาม เพราะไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้นที่จะไม่ได้รับการเปิดเผย และผู้ที่ให้เกียรติพระเจ้าต่อหน้ามนุษย์ พระองค์จะทรงให้เกียรติผู้นั้นต่อหน้ามนุษย์และทูตสวรรค์ {MB 32.3}

พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหง และนินทาว่าร้ายท่านทั้งหลาย” “จงชื่นชมยินดี” (มัทธิว 5:11–12 TH1971) พระองค์ทรงให้ผู้ฟังพิจารณาบรรดาผู้เผยพระวจนะที่กล่าวในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า เป็นตัวอย่างของการ “ทนทุกข์และการอดทน” (ยากอบ 5:10) อาเบลเป็นลูกคนแรกของอาดัมที่เป็นคริสเตียน1 และท่านก็ถูกฆ่าเพราะเหตุความเชื่อของท่าน ส่วนเอโนคดำเนินกับพระเจ้าและชาวโลกไม่รู้จักท่านเลย ต่อมาโนอาห์ถูกเย้ยหยันว่าบ้าคลั่ง และเป็นคนประเภทกระต่ายตื่นตูม “บางคนพบกับการเยาะเย้ยและการโบยตี และยังถูกล่ามโซ่และถูกขังคุกด้วย” “บางคนถูกทรมาน แต่ก็ไม่ยอมรับการปลดปล่อย เพื่อจะได้เป็นขึ้นมาสู่ชีวิตที่ดีกว่า” (ฮีบรู 11:36, 35) {MB 33.1}

ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกให้ประกาศข่าวสารของพระองค์ในทุกยุคสมัยเป็นที่รังเกียจของคนอื่นและถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในการทนทุกข์ของพวกเขานั้น ข่าวประเสริฐของพระเจ้าได้แพร่กระจายออกไป ให้สาวกของพระคริสต์ทุกคนเข้าประจำที่ แล้วมุ่งหน้าทำงานต่อไป เพราะฝ่ายศัตรูนั้นไม่อาจสร้างความเสียหายให้กับความจริงของพระเจ้าได้ มีแต่จะส่งเสริมความจริงให้ชัดเจนขึ้น พระเจ้าทรงปรารถนาให้หลักความจริงปรากฏชัดจนกลายเป็นประเด็นสำคัญของการสนทนา และเป็นเหตุให้คนทั้งหลายพินิจพิจารณา แม้ว่าจะเป็นเพราะการถูกดูหมิ่นก็ตาม ต้องมีการปลุกคนให้ตื่น ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการขัดแย้งเรื่องความจริง ทุกครั้งที่คนของพระเจ้าถูกประณาม และทุกครั้งที่มีการพยายามจำกัดเสรีภาพของการเชื่อถือ ล้วนเป็นวิธีการของพระเจ้าที่จะปลุกคนให้ตื่น ซึ่งถ้าหากไม่ใช้วิธีเหล่านี้แล้วเขาคงหลับใหลต่อไปอีก {MB 33.2}

ที่ความทุกข์ของผู้ประกาศของพระเจ้านำมาซึ่งผลลัพธ์นี้ก็เห็นอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ของผู้รับใช้เหล่านั้น สเทเฟนมีความสง่าผ่าเผยและมีวาทศิลป์ เมื่อท่านถูกสภาแซนเฮดรินปลุกปั่นประชาชนให้ขว้างท่านด้วยก้อนหินให้ตายนั้น ข่าวประเสริฐไม่ได้เสียประโยชน์ ใบหน้าของสเทเฟนเปล่งรัศมีจากสวรรค์ และคำอธิษฐานก่อนสิ้นใจเต็มด้วยพระเมตตากรุณาของพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เสมือนลูกศรอันแหลมคมที่แทงทะลุหัวใจของเซาโล ฟาริสีผู้ดื้อรั้นและเป็นนักข่มเหงคริสเตียน พระเจ้าทรงเลือกเซาโลให้เป็นพยานเพื่อพระนามของพระคริสต์ต่อหน้าคนต่างชาติ กษัตริย์หลายองค์ และชาวอิสราเอล เซาโลเปลี่ยนชื่อมาเป็นเปาโล แล้วต่อมาหลายปีท่านเขียนจากที่ถูกคุมขังในกรุงโรมว่า “จริงอยู่ที่มีบางคนประกาศพระคริสต์ด้วยความอิจฉาและการวิวาท…จงใจจะเพิ่มความยากลำบากแก่ข้าพเจ้าในระหว่างถูกคุมขัง…ไม่ว่าจะประกาศด้วยการเสแสร้งหรือด้วยความจริงใจ พระคริสต์ก็ถูกประกาศไป” (ฟีลิปปี 1:15–18) ข่าวประเสริฐได้ประกาศให้แพร่กระจายเนื่องจากการถูกคุมขังของเปาโล จนกระทั่งมีคนในพระราชวังของจักรพรรดิกลับใจเชื่อในพระคริสต์ พระวจนะของพระเจ้าเป็น “เมล็ดพันธุ์ที่ไม่เสื่อมสลาย” (1 เปโตร 1:23) เพราะการที่ซาตานพยายามทำลายเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ความจริงจึงได้ถูกหว่านลงไปในใจมนุษย์ และด้วยการประณามและข่มเหงคนของพระคริสต์ พระนามของพระองค์จึงได้รับการเชิดชู และมีคนได้รับความรอด {MB 33.3}

คนที่เป็นพยานเพื่อพระคริสต์ท่ามกลางการถูกข่มเหงและการประณามจะได้รับบำเหน็จยิ่งใหญ่ในสวรรค์ ขณะที่คนทั้งหลายกำลังหาประโยชน์และสิ่งที่ดีในโลก พระเยซูทรงชี้ไปยังบำเหน็จในสวรรค์ ไม่ใช่ว่าจะต้องรอให้ไปถึงสวรรค์ก่อนที่จะได้รับ เพราะบำเหน็จนั้นเริ่มได้รับในชีวิตนี้ พระเจ้าปรากฏแก่อับราฮัมในสมัยโบราณและตรัสกับท่านว่า “เราเป็นโล่ของเจ้าและเป็นบำเหน็จยิ่งใหญ่ของเจ้า” (ปฐมกาล 15:1 TKJV) นี่เป็นบำเหน็จของทุกคนที่ติดตามพระคริสต์ คือ พระเยโฮวาห์ อิมมานูเอล เพราะพระองค์ทรงเป็นมรดกของผู้รับใช้ของพระองค์ “คลังสติปัญญาและความรู้ทุกอย่างซ่อนอยู่ในพระองค์” “ความเป็นพระเจ้าที่ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้นดำรงอยู่ในพระกายของพระองค์” (โคโลสี 2:3, 9) ที่จะรับรู้ถึงความทุกข์สุขของพระองค์ ที่จะรู้จักพระองค์อย่างแท้จริง รับพระองค์มาเป็นของเรา เปิดใจรับพระลักษณะของพระองค์มากขึ้นๆ และรู้ซึ้งในความรักและฤทธานุภาพของพระองค์ ที่จะได้รับ “ความไพบูลย์อันสุดจะหยั่งได้ของพระคริสต์” และ “สามารถหยั่งถึงความรักของพระคริสต์ว่ากว้างยาวสูงลึกปานใด และซาบซึ้งในความรักนี้ซึ่งเหนือกว่าความรู้” (เอเฟซัส 3:8, 18, 19 TNCV) “นี่เป็นมรดกของบรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้า และการให้ความยุติธรรมต่อเขาจากเรา พระเจ้าตรัสดังนี้” (อิสยาห์ 54:17 TH1971) {MB 34.1}

ความสุขนี่แหละที่เปี่ยมล้นอยู่ในหัวใจของเปาโลกับสิลาสในเที่ยงคืนวันนั้นขณะที่อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่คุกแห่งเมืองฟีลิปปี พระคริสต์สถิตอยู่เคียงข้างเขา ความมัวหมองในใจจึงถูกกำจัดออกไปด้วยรัศมีภาพแห่งสวรรค์ เช่นเดียวกัน เปาโลเห็นว่าการที่ท่านถูกล่ามโซ่อยู่ในกรุงโรมนั้นเป็นเหตุให้ข่าวประเสริฐได้แพร่กระจาย ท่านจึงกล่าวว่า “สิ่งนี้ทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดี และข้าพเจ้าจะชื่นชมยินดีต่อไป” (ฟีลิปปี 1:18 TNCV) ถ้อยคำของเปาโลที่ส่งไปยังคริสตจักรในเมืองฟีลิปปีที่ว่า “จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด” สะท้อนถึงพระดำรัสของพระคริสต์ในคำเทศนาบนภูเขา (ฟีลิปปี 4:4) {MB 35.1}

“ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งโลก”—(มัทธิว 5:13)

คุณค่าของเกลืออยู่ที่คุณสมบัติในการถนอมอาหารไม่ให้บูด พระเจ้าทรงเรียกคนของพระองค์เป็นเกลือเพื่อสอนให้เขารู้ว่า พวกเขาได้รับพระคุณเพื่อช่วยคนอื่นให้ได้รับความรอด พระเจ้าทรงเรียกชนชาติอิสราเอลไม่ใช่เพียงเพื่อจะรับพวกเขามาเป็นลูกของพระองค์อย่างเดียว แต่เพื่อชาวโลกจะได้รับพระคุณที่นำมาซึ่งความรอดผ่านพวกเขาด้วย (ดู ทิตัส 2:11) พระเจ้าไม่ได้ทรงเรียกอับราฮัมเพื่อมาเป็นมิตรสหายของพระองค์เท่านั้น แต่เพื่อให้อับราฮัมเป็นคนกลางในการนำสิทธิพิเศษบางประการให้แก่บรรดาประชาชาติ ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงบนไม้กางเขนพระองค์ทรงอธิษฐานกับสาวกเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ข้าพระองค์แยกตัวให้บริสุทธิ์เพราะเห็นแก่เขาทั้งหลาย เพื่อให้เขารับการแยกให้บริสุทธิ์ด้วยความจริง” (ยอห์น 17:19) เช่นเดียวกัน คริสเตียนที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยความจริงเป็นเสมือน ‘สารกันบูด’ ที่ช่วยรักษาโลกไว้ไม่ให้เสื่อมคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง {MB 35.2}

เกลือต้องถูกผสมคลุกเคล้ากับอาหารถึงจะถนอมอาหารนั้นได้ เช่นเดียวกัน ชาวโลกมารู้จักฤทธิ์อำนาจของข่าวประเสริฐที่จะช่วยให้รอดโดยผ่านการติดต่อสัมพันธ์กับคริสเตียน มนุษย์ไม่ได้รับความรอดเป็นหมู่คณะ แต่รอดเป็นรายบุคคล อิทธิพลของชีวิตคนๆ หนึ่งมีพลังในการโน้มน้าว ฉะนั้นเราจะต้องขยับเข้าใกล้คนที่เราอยากช่วยเหลือ {MB 36.1}

รสเค็มของเกลือเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังชีวิตคริสเตียน คือมีความรักของพระเยซูอยู่ในใจ และมีความชอบธรรมของพระองค์ซึมซาบอยู่ในทุกอณูของชีวิต ความรักของพระคริสต์แพร่กระจายในเชิงรุก เมื่อความรักของพระองค์อยู่ในใจของเรา มันจะหลั่งไหลออกไปสู่ผู้อื่น แล้วเราจะเข้าใกล้ชิดคนอื่นจนกระทั่งจิตใจพวกเขาอบอุ่นด้วยความรักและการเอาใจใส่อย่างไม่เห็นแก่ตัว คนที่เชื่อพระเจ้าอย่างจริงใจจะกระจายพลังชีวิตที่ซึมซาบไปถึงคนที่เขาช่วยเหลือให้มีพลังคุณธรรม พลังนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่เป็นฤทธานุภาพของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต {MB 36.2}

พระเยซูทรงฝากคำเตือนที่หนักแน่นว่า “ถ้าเกลือนั้นหมดรสเค็มไปแล้ว จะทำให้กลับเค็มอีกได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นไปก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร มีแต่จะถูกทิ้งเสียให้คนเหยียบย่ำ” (มัทธิว 5:13) {MB 36.3}

ขณะที่พระองค์ตรัสอยู่นั้น ผู้ฟังเหลือบไปดูเศษเกลือต้องแสงตะวันระยิบระยับ เป็นเศษเกลือที่คนทิ้งไปเพราะหมดรสเค็ม จึงใช้ประโยชน์ไม่ได้2 นี่เป็นการบรรยายสภาพของพวกฟาริสีและผลลัพธ์ของคำสอนของพวกเขาต่อสังคมแบบตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตทุกคนที่สูญเสียพลังแห่งพระคุณของพระเจ้า และมีชีวิตที่เย็นชาปราศจากพระคริสต์ ไม่ว่าคนนั้นจะแอบอ้างอย่างไร แต่ทั้งคนและทูตสวรรค์มองเห็นว่า เขาเป็นคนเฉื่อยชา ไม่มีความเป็นมิตร พระเยซูกล่าวถึงคนเช่นนี้ว่า “เราอยากให้เจ้าเย็นหรือร้อน เพราะว่าเจ้าเป็นแต่อุ่นๆ ไม่ร้อนและไม่เย็น เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา” (วิวรณ์ 3:15, 16) {MB 36.4}

ถ้าปราศจากความเชื่ออันมีชีวิตในพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของเราแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะโน้มน้าวชาวโลกให้มาเชื่อ ในเมื่อเขามีความสงสัยเป็นทุนอยู่แล้ว เราจะให้คนอื่นในสิ่งที่เราเองไม่มีก็ไม่ได้ เรามีการอุทิศถวายชีวิตให้พระคริสต์เพียงไร เราก็จะมีอิทธิพลเอื้อประโยชน์และพัฒนาเพื่อนมนุษย์เพียงนั้น ถ้าไม่มีการรับใช้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่มีความรักแท้ และขาดประสบการณ์จริง ก็จะไม่มีพลังที่จะช่วยเหลือคนอื่น ไม่มีกลิ่นอายแห่งความรักของพระคริสต์ในชีวิต ถ้าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใช้เราเพื่อสื่อสารความจริงของพระเยซูให้ชาวโลกไม่ได้แล้ว เราก็เป็นดั่งเกลือที่หมดรสเค็มที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เมื่อความสง่างามของพระคริสต์ไม่ปรากฏในชีวิต ก็เท่ากับเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าสิ่งที่เราอวดอ้างว่าเชื่อนั้น ไม่มีประสิทธิภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ เราจึงทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นโมฆะกับคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย (ดู มาระโก 7:13 TNCV) “แม้ข้าพเจ้าพูดภาษาแปลกๆ ได้ทั้งภาษามนุษย์และภาษาทูตสวรรค์ แต่ถ้าปราศจากความรัก ข้าพเจ้าก็เป็นแค่ฆ้องหรือฉิ่งฉาบที่กำลังส่งเสียง หากข้าพเจ้ามีของประทานในการเผยพระวจนะ สามารถหยั่งถึงข้อล้ำลึกทั้งปวงและความรู้ทั้งสิ้น และถ้าข้าพเจ้ามีความเชื่อที่เคลื่อนภูเขาได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไร แม้ข้าพเจ้ายกทรัพย์สินทั้งหมดให้คนยากไร้และยอมพลีกายให้เอาไปเผาไฟ แต่ไม่มีความรัก ก็เปล่าประโยชน์” (1 โครินธ์ 13:1–3 TNCV) {MB 37.1}

เมื่อมีความรักเต็มหัวใจ ความรักนั้นจะไหลล้นออกไปสู่ผู้อื่น ไม่ใช่เพราะเราเป็นหนี้บุญคุณคนอื่นหรือเคยได้ประโยชน์จากเขา แต่เพราะความรักเป็นพลังธรรมะที่ขับเคลื่อนการทำดี ความรักช่วยแก้ไขดัดแปลงอุปนิสัย คอยควบคุมอารมณ์ สยบความเกลียดชังและเสริมสร้างชีวิตให้มีความสง่างาม ความรักนั้นกว้างใหญ่ดังจักรวาล และสอดคล้องกับการทำงานของเหล่าทูตสวรรค์ เมื่อเรายึดความรักไว้ในใจ ทั้งชีวิตจะมีความหวานชื่น และถ่ายเทพระพรให้คนรอบข้าง มีแต่สิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเป็นเกลือแห่งโลกได้ {MB 38.1}

“ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก”—(มัทธิว 5:14)

การสอนของพระเยซูน่าสนใจ พระองค์ยกตัวอย่างจากธรรมชาติที่อยู่รอบๆ เพื่อให้บทเรียนเป็นที่จับใจผู้ฟัง ฝูงชนมารวมกันแต่เช้า ดวงอาทิตย์เจิดจ้าป่ายปีนขึ้นไปในท้องฟ้าสีคราม ขับไล่เงามืดที่ซุกซ่อนตามหุบเขาและซอกหิน สีสันยามรุ่งอรุณยังไม่จางหายไปจากฟากฟ้าตะวันออก ดวงสุรีย์สาดแสงไปทั่วแผ่นดิน ทะเลสาบสงบนิ่งสะท้อนแสงสีทองและเมฆสีแดงยามอรุณเบิกฟ้า ดอกไม้ใบหญ้าพรมด้วยน้ำค้างระยิบระยับ ธรรมชาติยิ้มรับวันใหม่ นกผิวปากร้องเพลงไพเราะอยู่ตามหมู่ไม้ ขณะนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรฝูงชน ทรงเหลียวมองไปยังดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นอยู่นั้น ก่อนตรัสกับสาวกว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก” ดวงอาทิตย์โคจรตาม ‘หน้าที่แห่งรัก’ เพื่อขจัดปัดเป่าความมืดยามค่ำคืนออกไปและปลุกชีวิตในโลกให้ตื่นขึ้นใหม่ ฉันใดก็ฉันนั้น สาวกของพระคริสต์มีหน้าที่ออกไปประกอบพันธกิจ และส่องแสงแห่งสวรรค์แก่ทุกคนที่อยู่ใต้ความมืดทึบแห่งความผิดบาป {MB 38.2}

แสงอาทิตย์ยามเช้าส่องไปยังหมู่บ้านน้อยใหญ่ตามเนินเขาโดยรอบ ช่วยสร้างบรรยากาศให้น่าดู พระเยซูทรงชี้ไปยังหมู่บ้านเหล่านั้น ตรัสว่า “เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะซ่อนไว้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน เมื่อคนจุดตะเกียงแล้วย่อมไม่เอาฝาครอบ แต่จะตั้งไว้บนเชิงตะเกียงให้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน” (มัทธิว 5:14–15 TNCV) ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาและชาวประมง อาศัยอยู่ในกระท่อมห้องเดียว มีตะเกียงไว้กลางห้องเพื่อส่องแสงให้บ้านสว่าง พระเยซูจึงตรัสว่า “ทำนองเดียวกันพวกท่านจงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาทั้งหลายได้เห็นความดีที่ท่านทำ พวกเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:16) {MB 39.1}

ไม่เคยมีแสงสว่างอันใดที่ส่องมายังมนุษย์หรือที่จะส่องมาในภายหน้า นอกจากแสงสว่างที่มาจากพระคริสต์ พระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นความสว่างเดียวที่สามารถฉายเข้าไปในความมืดของโลกที่กำลังจมอยู่ในความบาป ตามข้อพระคัมภีร์ที่เขียนถึงพระคริสต์ว่า “พระองค์ทรงเป็นแหล่งชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์” (ยอห์น 1:4) สาวกจึงกลายเป็นผู้ถือไฟส่องทาง ด้วยการรับชีวิตของพระองค์ และเขาจะเป็นความสว่างของโลก เมื่อมีพระคริสต์ประทับอยู่ในใจ และมีความรักของพระองค์สำแดงออกในอุปนิสัย {MB 39.2}

มนุษย์ไม่มีความสว่างในตัวเอง ถ้าแยกจากพระคริสต์แล้ว เราก็เหมือนดุ้นฟืนที่ยังไม่จุดไฟ เหมือนดวงจันทร์ที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์ เราไม่มีลำแสงในตัวเองที่จะส่องเข้ามาในความมืดแห่งโลก แต่เมื่อเราหันหน้าไปยังพระคริสต์ผู้ทรงเป็น “ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม” คือเมื่อเราสัมผัสกับพระองค์แล้ว ทั้งชีวิตจะสว่างไสวเพราะพระองค์สถิตอยู่ด้วย {MB 40.1}

สาวกของพระคริสต์ไม่ใช่แสงสว่างอันหนึ่งของโลกท่ามกลางแสงอื่น แต่เป็นแสงสว่างเดียวของโลก พระเยซูตรัสกับทุกคนที่รับพระนามของพระองค์ว่า ‘เจ้าได้มอบชีวิตให้เราแล้ว เราจึงใช้เจ้าไปเป็นตัวแทนของเราในโลก พระบิดาทรงใช้เรามาในโลกอย่างไร เราใช้พวกเจ้าออกไปในโลกอย่างนั้น’ (ยอห์น 17:18) พระคริสต์ทรงเป็นสื่อกลางที่เปิดเผยให้เห็นพระบิดาอย่างไร เราก็ต้องเป็นสื่อกลางที่เปิดเผยพระคริสต์อย่างนั้น ถึงแม้พระคริสต์ทรงเป็นดวงประทีป แต่อย่าลืมว่าพระองค์ทรงสำแดงพระองค์ผ่านมนุษย์ พระพรของพระเจ้าประทานลงมาผ่านมนุษย์ พระคริสต์เองเสด็จมาเป็น “บุตรมนุษย์” และคนที่ติดสนิทกับพระเจ้าต้องช่วยเหลือคนอื่น คริสตจักรของพระคริสต์ประกอบด้วยสาวกของพระองค์ทุกคน แต่ละคนได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์เพื่อเป็นสื่อกลางให้มนุษย์รู้จักพระเจ้า ทูตสวรรค์รอคอยที่จะใช้เราเป็นสื่อเพื่อส่องแสงสว่างและฤทธิ์อำนาจของสวรรค์ไปยังผู้คนที่จวนจะพินาศ แล้วเราผู้รับใช้จะล้มเหลวไม่ทำงานที่ทรงมอบหมายนี้หรือ คงเป็นการเสียหายยิ่งนัก เพราะโลกจะขาดอิทธิพลโน้มน้าวของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงสัญญาไว้ ตามสัดส่วนที่เราบกพร่องต่อหน้าที่นี้ {MB 40.2}

พระเยซูไม่ได้ขอสาวก ว่า ‘จงเพียรพยายามส่องสว่าง’ แต่ตรัสว่า “จงให้ความสว่างของท่านส่องไป” (TKJV) ถ้าพระคริสต์ประทับในใจแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดบังแสงสว่างของพระองค์ ถ้าคนที่อ้างตนว่าเป็นสาวกของพระคริสต์ไม่ได้เป็นแสงสว่างของโลก ก็เป็นเพราะว่าฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่ให้ชีวิตได้พรากไปจากเขาแล้ว ถ้าเขาไม่มีแสงสว่างก็เป็นเพราะเขาไม่มีการเชื่อมต่อกับพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความสว่างทั้งปวง {MB 41.1}

ในทุกยุคสมัย พระวิญญาณของพระคริสต์สถิตอยู่ในคนของพระองค์ (ดู 1 เปโตร 1:11) กระทำให้คนที่เป็นลูกของพระเจ้าอย่างแท้จริงเป็นแสงสว่างให้กับคนร่วมสมัย โยเซฟส่องสว่างอยู่ในประเทศอียิปต์ โดยการมีความเมตตากรุณา ความบริสุทธิ์ และด้วยความรักที่มีต่อบิดา สิ่งเหล่านี้สำแดงพระคริสต์ท่ามกลางชนชาติที่ไหว้รูปเคารพ ต่อมาเมื่อคนอิสราเอลออกจากอียิปต์มุ่งหน้าไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา คนที่ซื่อสัตย์ได้เป็นแสงสว่างให้กับชนชาติที่อยู่รอบข้าง ชาวโลกจึงรู้จักพระเจ้าผ่านพวกเขา ดาเนียลกับเพื่อนๆ ในบาบิโลน และโมรเดคัยในเปอร์เซียได้ส่องแสงอันเจิดจ้าท่ามกลางความมืดมัวแห่งราชสำนักของกษัตริย์ เช่นเดียวกัน สาวกของพระคริสต์ได้รับมอบหมายให้ส่องทางไปสวรรค์ พวกเขาสำแดงพระเมตตาและพระคุณความดีของพระบิดาให้ชาวโลกที่อยู่ในความมืดเพราะไม่เข้าใจพระองค์ เมื่อคนเห็นความดีที่พวกเขากระทำ จึงสรรเสริญพระบิดาในสวรรค์ เพราะเรื่องนี้พิสูจน์ว่ามีพระเจ้าประทับอยู่บนพระที่นั่งผู้ทรงครอบครองจักรวาล ที่สมควรได้รับการสรรเสริญและเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ความรักของพระเจ้าที่เปล่งประกายอยู่ในหัวใจ และชีวิตที่สำแดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวกับพระคริสต์ เป็นสิ่งสะท้อนภาพสวรรค์ให้มนุษย์ชื่นชม {MB 41.2}

ฉะนั้นคนจึงเรียนรู้ที่จะวางใจใน “ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา” (1 ยอห์น 4:16) และใจที่เคยเปรอะเปื้อนมลทินบาปได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะถูกนำมาอยู่ “เบื้องหน้าพระสิริของพระองค์ โดยปราศจากตำหนิและมีความร่าเริงยินดี” (ยูดา 24) {MB 42.1}

ถ้อยคำของพระเยซูที่ตรัสไว้ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก” แสดงว่าพระองค์ทรงมอบพันธกิจที่ครอบคลุมโลกทั้งโลกให้แก่สาวกของพระองค์ ในสมัยพระคริสต์ ความเห็นแก่ตัว ความหยิ่งและการดูถูกชาติอื่นได้เป็นกำแพงสูงที่กั้นอยู่ระหว่างผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพระวจนะของพระเจ้า และชนชาติอื่นๆ ทั่วโลก แต่พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพนี้ ถ้อยคำของพระเยซูแตกต่างไปจากที่เคยได้ยินจากปุโรหิตหรือธรรมาจารย์คนใดมาก่อน พระเยซูทรงรื้อกำแพงที่ขวางกั้นลง คือความเห็นแก่ตัวและความเป็นชาตินิยม ทรงสอนให้เรารักมวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงยกมนุษย์ขึ้นจากวงแคบที่มีตัวเขาเองเป็นศูนย์กลาง ทรงเลิกล้มการแบ่งอาณาเขตและชนชั้นทางสังคม พระองค์ไม่แบ่งแยกระหว่างเพื่อนบ้านกับคนแปลกหน้า เพื่อนหรือศัตรู แต่ทรงสอนให้เราถือว่ามนุษย์ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือคือเพื่อนบ้านของเรา และอาณาเขตการทำงานของเราก็คือโลกทั้งใบ {MB 42.2}

แสงอาทิตย์ส่องลงมาทั่วถึงทุกพื้นที่ในโลกแม้กระทั่งที่ห่างไกลความเจริญอย่างไร พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เรานำแสงแห่งข่าวประเสริฐไปยังมนุษย์ทุกคนในโลกด้วยอย่างนั้น ถ้าคริสตจักรได้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์แล้ว ทุกคนที่นั่งในความมืดทึบ และถูกเงาแห่งความตายครอบงำอยู่จะได้รับแสงสว่าง แทนที่คริสเตียนจะย้ายมารวมอยู่ในที่เดียวกันหมด ปฏิเสธหน้าที่และไม่ยอมแบกไม้กางเขน สมาชิกคริสตจักรควรจะกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เพื่อส่องแสงแห่งพระคริสต์ และทำงานตามแบบอย่างของพระองค์ในการนำคนมารับความรอด แล้ว “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า” จะได้ประกาศไปทั่วโลกในไม่ช้า {MB 42.3}

พระประสงค์ของพระเจ้าในการทรงเรียกประชากรของพระองค์นับตั้งแต่อับราฮัม ณ ที่ราบเมโสโปเตเมียจนถึงสมัยพวกเราจะสำเร็จอย่างนี้แหละ พระองค์ตรัสว่า “เราจะอวยพรเจ้า…แล้วเจ้าจะเป็นพร” (ปฐมกาล 12:2) ข่าวประเสริฐที่พระคริสต์ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ และต่อมาตรัสอีกในคำเทศนาบนภูเขา มีความหมายพิเศษสำหรับเราในยุคสุดท้าย “จงลุกขึ้นส่องสว่าง เพราะว่าความสว่างของเจ้ามาแล้ว และพระเกียรติสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้าปรากฏขึ้นเหนือเจ้า” (อิสยาห์ 60:1 TNCV) ถ้าพระสิริของพระเจ้าฉายขึ้นเหนือท่าน ถ้าท่านได้พิจารณาความงดงามของผู้ที่ “โดดเด่นท่ามกลางคนนับหมื่น” (เพลงซาโลมอน 5:10) ถ้าหัวใจสว่างไสวด้วยพระสิริของพระองค์ผู้ประทับอยู่ข้างในแล้ว ก็แสดงว่าพระเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้แก่ท่าน ท่านเคยมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับพระคริสต์เสมือนยืนอยู่กับพระองค์บนภูเขาจำแลงพระกายหรือไม่ อย่าลืมว่าในที่ราบข้างล่างมีคนมากมายที่ตกเป็นทาสของซาตาน พวกเขารอฟังถ้อยคำที่ประกอบด้วยความเชื่อ และคอยให้ท่านอธิษฐานขอให้พวกเขาได้รับอิสรภาพอยู่ {MB 43.1}

เราควรพิจารณาและคิดคำนึงถึงพระสิริของพระคริสต์เอาไว้ แต่นั่นไม่พอ เราควรพูดถึงความประเสริฐของพระองค์ด้วย อิสยาห์ไม่เพียงแต่มองเห็นพระสิริของพระคริสต์ แต่ท่านได้กล่าวถึงพระองค์เช่นกัน ดาวิดคิดรำพึงถึงพระองค์ ดังไฟที่เผาผลาญในหัวใจ ท่านจึงพูดด้วยปาก ขณะที่คิดคำนึงถึงความรักของพระเจ้าที่แสนประเสริฐ ท่านรู้สึกว่าไม่พูดไม่ได้ แต่ต้องกล่าวถึงสิ่งที่ท่านได้พบเห็น ใครเล่าสามารถมองด้วยตาแห่งความเชื่อและเห็นแผนการทรงไถ่ และพระสิริของพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้าแล้วกลับไม่พูดถึงเลย พระเยซูคริสต์ทรงสำแดงความรักอันสุดจะหยั่งได้ด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเราจะไม่พินาศแต่มีชีวิตนิรันดร์ แล้วใครเล่าเมื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้วจะไม่มีคำพูดที่จะสรรเสริญพระองค์ {MB 43.2}

“ในพระวิหารของพระองค์ทุกคนกล่าวถึงสง่าราศีของพระองค์” (สดุดี 29:9 TKJV) ผู้ประพันธ์เพลงสดุดีได้ดีดพิณขับร้องเพลงสรรเสริญว่า “ข้าพเจ้าจะตรึกตรองถึงพระบารมีอันโอ่อ่าตระการของพระองค์ และถึงพระราชกิจอันอัศจรรย์ของพระองค์ พวกเขาจะเล่าขานถึงฤทธานุภาพแห่งพระราชกิจอันน่าเกรงขามของพระองค์ และข้าพระองค์จะประกาศพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์” (สดุดี 145:5, 6 TNCV เชิงอรรถ) {MB 44.1}

จงเทิดทูนไม้กางเขนของพระคริสต์ให้สูงเด่น เพื่อให้คนทั้งหลายพิจารณาอยู่ตลอดเวลา แล้วสติปัญญาและความสามารถด้านจิตวิญญาณจะได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจที่มาจากพระเจ้า และผู้รับใช้ของพระองค์จะทุ่มเทกำลังมุ่งหน้าในการทำงานเพื่อพระอาจารย์ของพวกเขา คนงานจะตื่นตัวในการส่องแสงให้โลกสว่าง {MB 44.2}

พระคริสต์ทรงมีความยินดีที่จะยอมรับทุกคนที่มอบชีวิตให้พระองค์ พระองค์ทรงนำคนให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เพื่อพระองค์จะประกาศความลี้ลับแห่งความรักที่ประทานให้โลกเมื่อพระเจ้าทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ จงพูด อธิษฐานและร้องเพลงถึงสิ่งเหล่านี้ จงป่าวประกาศข่าวประเสริฐเรื่องพระสิริของพระเจ้า และบากบั่นไปข้างหน้าจนที่ห่างไกลได้ยิน {MB 44.3}

การอดทนรับความลำบาก การแสดงความขอบคุณต่อพระพรที่ได้รับ การต้านการทดลอง การแสดงถึงความเมตตากรุณาและความรักเป็นประจำ ทั้งหมดนี้คือแสงสว่างที่ฉายออกจากอุปนิสัย ซึ่งตรงกันข้ามกับจิตใจที่มัวหมองเห็นแก่ตัวที่ความสว่างแห่งชีวิตไม่เคยส่องเข้าไปถึง {MB 44.4}

Footnotes

  1. คือเป็นลูกคนแรกที่มีความเชื่อในพระผู้ไถ่ที่ทรงสัญญาไว้

  2. เกลือในสมัยนั้นไม่สะอาด วิธีการทำอาหารอย่างหนึ่งคือเอาเกลือใส่ผ้าจุ่มลงไปในแกง พอทำหลายครั้งเข้าสุดท้ายเกลือก็หมดไปเหลือแต่เศษแร่ธาตุที่ไม่เค็ม ซึ่งจะถูกนำไปทิ้งตามทาง