บรรพชนกับผู้เผยพระวจนะเล่ม 326. จากทะเลแดงสู่ภูเขาซีนาย

26. จากทะเลแดงสู่ภูเขาซีนาย

กระหายหาน้ำ

คนอิสราเอลออกเดินทางอีกครั้งจากทะเลแดงมุ่งไปข้างหน้าภายใต้การนำของเสาเมฆ ทิวทัศน์รอบข้างชวนรู้สึกวังเวง มีแต่เทือกเขาหัวโล้น ที่ราบแห้งแล้งปราศจากพืชผล และทะเลซึ่งทอดยาวออกไปไกล มีศพของศัตรูเกลือนกลาดบนชายฝั่ง ถึงกระนั้นพวกเขาเต็มไปด้วยความยินดีในอิสรภาพ การพร่ำบ่นต่างๆ ก็เงียบไป {PP 291.1}

พวกเขาเดินทางได้ 3 วันแต่ไม่พบแหล่งน้ำ และน้ำที่นำมาด้วยก็หมด ไม่มีอะไรดับกระหายให้ประชาชนขณะที่ถ่อร่างอันอิดโรยผ่านที่ราบอันแห้งแล้งเพราะแดดแผดเผา โมเสสคุ้นเคยกับดินแดนแห่งนี้และรู้ดีกว่าใครว่าที่มาราห์ซึ่งเป็นจุดพักแรมที่ใกล้ที่สุดมีตาน้ำอยู่ แต่เป็นน้ำที่ใช้ดื่มไม่ได้ ท่านมองเสาเมฆด้วยใจกระสับกระส่าย ขณะที่กำลังกังวลอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงตะโกนขึ้นตามๆ กันด้วยความดีใจว่า ‘เจอน้ำแล้ว เจอน้ำแล้ว’ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ต่างรีบกรูเข้าไปที่ตาน้ำด้วยความตื่นเต้นดีใจ แต่อยู่ๆ ก็มีเสียงโอดครวญดังโพล่งออกมาจากฝูงชนเพราะน้ำที่พบนั้นขม {PP 291.2}

คนทั้งหลายต่างรู้สึกหวาดหวั่นและสิ้นหวังจึงด่าทอโมเสสที่นำพวกตนมาตกระกำลำบากเช่นนี้ โดยลืมไปว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในเมฆอัศจรรย์ที่นำทางพวกเขา และเมฆนั้นก็นำทางท่านเช่นกัน โมเสสโศกเศร้าที่ประชาชนยุ่งยากใจ แต่ท่านไม่ได้ลืมร้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยความร้อนรนอย่างที่คนอื่นๆ ลืม “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงให้เขาเห็นไม้ท่อนหนึ่ง เขาโยนมันลงไปในน้ำ น้ำก็หายขม” (อพยพ 15:25 TNCV) พระเจ้าทรงสัญญาแก่คนอิสราเอลผ่านโมเสสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าของเจ้า และกระทำสิ่งที่ชอบในสายพระเนตรของพระองค์ เงี่ยหูฟังพระบัญญัติของพระองค์ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ทุกประการ แล้วโรคต่างๆ ซึ่งเราบันดาลให้เกิดแก่ชาวอียิปต์นั้น เราจะไม่ให้บังเกิดแก่พวกเจ้าเลย เพราะเราคือพระเจ้าแพทย์ของเจ้า” {PP 291.3}

ตั้งค่ายในถิ่นทุรกันดาร

ประชาชนเดินทางออกจากมาราห์มุ่งไปยังเอลิมแล้วพบ “บ่อน้ำพุ 12 บ่อ มีต้นอินทผลัม 70 ต้น” พวกเขาตั้งค่ายอยู่ที่นั่นหลายวันก่อนที่จะเข้าไปในถิ่นทุรกันดารสีน พอเดินทางออกจากอียิปต์ครบ 1 เดือนก็ตั้งค่ายเป็นครั้งแรกในถิ่นทุรกันดาร เสบียงที่นำมาก็เริ่มร่อยหรอ ต้นไม้ใบหญ้าก็หายากในสถานที่เช่นนี้ ฝูงสัตว์ของพวกเขาจึงลดจำนวนลง จะหาอาหารให้เพียงพอสำหรับเลี้ยงคนจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไร คนอิสราเอลเกิดความสงสัยแล้วพร่ำบ่นอีกครั้ง แม้กระทั่งบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ก็พากันต่อว่าผู้นำที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง “พวกข้าพเจ้าตายเสียด้วยพระหัตถ์ของพระเจ้าตั้งแต่อยู่ในประเทศอียิปต์ ขณะเมื่อนั่งอยู่ใกล้หม้อเนื้อและรับประทานอาหารอิ่มหนำจะดีกว่า นี่ท่านกลับนำพวกข้าพเจ้าออกมาในถิ่นทุรกันดารอย่างนี้ เพื่อจะให้ชุมนุมชนทั้งหมดหิวตายเท่านั้น” {PP 292.1}

พวกเขายังไม่ถึงกับต้องทนหิว เพราะยังคงมีอาหารเหลืออยู่เพียงพอในตอนนี้ แต่ประชาชนวิตกกังวลไปก่อน เพราะไม่เข้าใจว่าคนจำนวนมากมายเช่นนี้จะประทังชีวิตระหว่างเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารได้อย่างไร อีกทั้งนึกถึงภาพเด็กๆ อดอยากหิวโหย พระเจ้าทรงให้ความลำบากรายล้อมคนอิสราเอล และทรงยอมให้เสบียงอาหารร่อยหรอลง เพื่อประชาชนจะได้หันมาหาพระองค์ผู้ทรงช่วยกู้พวกเขามาจนถึงขณะนี้ ถ้าหากว่าพวกเขาร้องทูลต่อพระองค์ในยามขาดแคลน พระองค์คงสำแดงให้เห็นเครื่องหมายแห่งความรักและความห่วงใย พระองค์ทรงสัญญาไว้แล้วว่าหากคนอิสราเอลเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ โรคภัยก็จะไม่บังเกิดกับพวกเขา ดังนั้นการคาดเดาล่วงหน้าว่าตนและลูกหลานอาจล้มตายเพราะความอดอยากนั้นถือว่าเป็นความบาปเพราะขาดความเชื่อ {PP 292.2}

พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะเป็นพระเจ้าของคนอิสราเอล จะทรงรับไว้เป็นคนของพระองค์ และจะทรงนำพวกเขาไปสู่แผ่นดินอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ แต่คนอิสราเอลยอมแพ้ต่ออุปสรรคทุกอย่างตลอดการเดินทาง พระองค์ทรงช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ด้วยวิธีการอัศจรรย์ เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นและทำให้เป็นที่ยกย่องในสายตาชาวโลก แต่คนอิสราเอลจำเป็นต้องเผชิญกับความยากลำบากและทนต่อความขัดสน พระเจ้าทรงนำชาวฮีบรูออกมาจากสภาพที่ต่ำต้อยที่สุดเพื่อจัดเตรียมพวกเขาให้เป็นชนชาติที่มีเกียรติท่ามกลางชนชาติทั้งหลาย และเพื่อพระองค์จะทรงมอบหมายหน้าที่อันสำคัญแก่พวกเขา หากคนอิสราเอลวางใจในพระเจ้าและสำนึกในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงช่วยเหลือ พวกเขาคงอดทนต่อความยากลำบาก ความขาดแคลน และแม้แต่ความทุกข์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจริงได้ด้วยใจร่าเริงยินดี แต่พวกเขากลับไม่ยอมไว้วางใจในพระองค์นอกจากว่าจะได้เห็นหลักฐานแห่งฤทธิ์อำนาจของพระองค์อย่างต่อเนื่อง พวกเขาลืมงานอันขมขื่นในอียิปต์ ลืมพระคุณและฤทธานุภาพของพระเจ้าที่ช่วยกู้ให้พ้นจากความเป็นทาส ลืมว่าลูกๆ ของพวกเขาได้รับการไว้ชีวิตอย่างไรเมื่อทูตมรณะประหารบุตรหัวปีทุกคนในอียิปต์ ลืมเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เผยให้เห็นอำนาจของพระเจ้าที่ทะเลแดง ลืมว่าขณะที่เดินข้ามฝั่งอย่างปลอดภัยบนเส้นทางที่ถูกเปิดให้นั้น กองทัพศัตรูที่พยายามไล่ตามกลับถูกน้ำทะเลกลืนลงไป พวกเขามองเห็นและรู้สึกแต่ความลำบากยากเย็นตรงหน้า แทนที่จะพูดว่า ‘พระเจ้าได้ทรงกระทำการใหญ่ยิ่งเพื่อเรา แม้ว่าเราเคยเป็นทาส พระองค์ก็ทรงกระทำให้เราเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่’ พวกเขากลับพร่ำบ่นถึงความยากลำบากของหนทาง และสงสัยว่าเมื่อไหร่การเดินทางอันแสนเหน็ดเหนื่อยจะสิ้นสุดลงเสียที {PP 292.3}

ประสบการณ์เป็นบทเรียน

เรื่องราวชีวิตในถิ่นทุรกันดารของคนอิสราเอลถูกบันทึกไว้เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับประชากรของพระเจ้าในยุคสุดท้าย คืออิสราเอลฝ่ายจิตวิญญาณ ท่าทีของพระเจ้าที่ทรงปฏิบัติต่อคนอิสราเอลตลอดช่วงเวลาที่เดินขบวนวนเวียนไปมาในถิ่นทุรกันดาร เมื่อพวกเขาประสบความหิวกระหาย ความเหนื่อยล้า และได้รับการบรรเทาด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์อย่างประจักษ์แจ้ง ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยคำตักเตือนสั่งสอนเพื่อคนของพระองค์ในทุกสมัย ประสบการณ์หลากหลายที่คนฮีบรูได้รับเป็นเหมือนสถานศึกษาที่ฝึกฝนพวกเขาให้พร้อมสำหรับบ้านที่ทรงสัญญาไว้ในแผ่นดินคานาอัน พระเจ้าทรงปรารถนาให้คนของพระองค์ในวันนี้ถ่อมใจลงและเปิดใจทบทวนบทเรียนจากความลำบากต่างๆ ที่คนอิสราเอลพบเจอในอดีตเพื่อให้พวกเขาเตรียมพร้อมสำหรับแผ่นดินคานาอันเบื้องบน {PP 293.1}

เมื่อหลายคนมองย้อนกลับไปที่เรื่องราวของคนอิสราเอล ก็นึกประหลาดใจที่ชนชาตินี้ขาดความเชื่อและมักบ่นเป็นประจำ โดยคิดว่าถ้าเป็นตนคงไม่ลืมพระคุณอย่างนั้นเป็นแน่ แต่เมื่อคนที่คิดเช่นนั้นต้องเผชิญกับการทดลองแม้เป็นความลำบากเพียงน้อยนิด กลับแสดงให้เห็นว่าตนขาดความเชื่อและความอดทนยิ่งกว่าคนอิสราเอลในสมัยก่อนเสียอีก เมื่อมาถึงทางแคบ เขาต่อว่าวิธีการที่พระเจ้าทรงเลือกเพื่อชำระตน ถึงแม้ว่าจะได้รับสิ่งจำเป็นในปัจจุบันก็ตาม แต่มีหลายคนที่ยังไม่ยอมมอบอนาคตให้พระเจ้าและยังไม่ไว้วางใจในพระองค์ แถมยังกังวลอยู่เนืองๆ ว่าความยากจนจะมาเยือนพวกเขา และลูกๆ จะถูกทอดทิ้งให้ทนทุกข์ บางคนมักคาดการณ์ถึงเหตุร้ายหรือจดจ่ออยู่กับความยากลำบากที่เกิดขึ้นจริง จนมองไม่เห็นพระพรมากมายที่ควรนำมาขอบพระคุณ อุปสรรคที่เผชิญกลับทำให้พวกเขากระวนกระวายและโอดครวญจนเป็นเหตุให้แยกตัวห่างจากพระเจ้า แทนที่จะทำให้พวกเขาเสาะหาความช่วยเหลือจากพระองค์ผู้ประทานกำลังแต่พระองค์เดียว {PP 293.2}

สมควรแล้วหรือที่เราจะขาดความเชื่ออยู่เช่นนี้ เหตุใดจึงไม่ขอบพระคุณและไว้วางใจในพระองค์ พระเยซูทรงเป็นมิตรสหาย ทั้งสวรรค์ใส่ใจในความเป็นอยู่ของเรา นอกจากนั้นความวิตกกังวลของเราทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เสียพระทัย เราไม่ควรเอาแต่กลุ้มใจเพราะมีแต่จะทำให้จิตใจห่อเหี่ยว และไม่ได้ช่วยให้ทนความลำบากได้มากขึ้นแต่อย่างใด ไม่ควรสงสัยพระเจ้าจนเป็นเหตุให้เรามองการรับมือกับความขัดสนในอนาคตเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ราวกับว่าความสุขของเราขึ้นอยู่กับสิ่งของในโลกนี้ พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ให้คนของพระองค์แบกรับความกังวล แต่ก็ไม่ได้ตรัสว่าหนทางข้างหน้าจะไม่มีอันตราย พระองค์ไม่ทรงช่วยให้คนของพระองค์ออกจากโลกแห่งความบาปชั่ว แต่ทรงชี้หนทางสู่ที่กำบังเข้มแข็ง ทรงเชื้อเชิญทุกคนที่เหนื่อยล้าและแบกรับความทุกข์กังวลว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” จงเอาแอกที่ท่านรับมาแบกนั้นวางลง คือความพะวักพะวนในชีวิตนี้ และ “จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28–29 THSV) คนเราจะพบสันติสุขและการพักใจในพระเจ้า เมื่อมอบความกังวลทั้งหมดให้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงห่วงใยเรา (ดู 1 เปโตร 5:7) {PP 294.1}

บ่นต่อผู้รับใช้พระเจ้า

อัครทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “นี่แน่ะ พี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี เพื่อจะไม่มีคนหนึ่งคนใดในพวกท่านมีใจชั่วและไม่เชื่อ คือใจที่พาท่านหลงไปจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์” (ฮีบรู 3:12 THSV) เมื่อพิจารณาดูทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงช่วยเราแล้ว เราควรมีความเชื่อที่เข้มแข็ง ร้อนรน และมั่นคง แทนที่จะพร่ำบ่นควรภาวนาว่า “จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า และทั้งสิ้นที่อยู่ภายในข้า จงถวายสาธุการแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์ จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า และอย่าลืมพระราชกิจอันมีพระคุณทั้งสิ้นของพระองค์” (สดุดี 103:1–2 TH1971) {PP 294.2}

พระเจ้าไม่ทรงเมินเฉยต่อสิ่งที่คนอิสราเอลต้องการ จึงตรัสแก่โมเสสผู้นำของพวกเขาว่า “เราจะให้อาหารตกลงมาจากท้องฟ้าดุจฝนสำหรับพวกเจ้า” พระองค์ทรงสอนให้ประชาชนเก็บอาหารให้เพียงพอในแต่ละวัน แต่ในวันที่หกให้เก็บเป็น 2 เท่า เพื่อพวกเขาจะได้รักษาวันสะบาโตสืบไปให้สมกับเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ {PP 294.3}

โมเสสรับรองกับประชาชนว่าพระเจ้าจะประทานสิ่งที่พวกเขาต้องการ “ในเวลาเย็นพระเจ้าจะประทานเนื้อให้ท่านรับประทาน และในเวลาเช้าพวกท่านจะมีอาหารรับประทานจนอิ่ม” ท่านกล่าวเสริมว่า “เราทั้งสองนี้เป็นผู้ใดเล่า พวกท่านมิได้บ่นต่อว่าเรา แต่ได้บ่นต่อว่าพระเจ้า” โมเสสได้ให้อาโรนกล่าวแก่ชุมนุมชนว่า “เข้ามาใกล้พระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสดับคำบ่นของท่านแล้ว” ขณะที่อาโรนกล่าวกับประชาชนอยู่นั้น “เขาทั้งหลายมองไปทางถิ่นทุรกันดาร ก็เห็นพระสิริของพระเจ้าปรากฏอยู่ในเมฆ” เป็นพระสิริเรืองรองอย่างที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อนซึ่งแสดงถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้า คนอิสราเอลได้เรียนรู้จักพระเจ้าผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทรงสำแดงให้พวกเขาเห็นนั้น ประสบการณ์เหล่านี้จำเป็นต่อการสอนประชาชนว่าผู้นำของตนไม่ใช่โมเสสซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ หากแต่เป็นองค์ผู้สูงสุด ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้ยำเกรงพระนามและเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ {PP 294.4}

เวลาโพล้เพล้ของวันนั้นมีนกคุ่มฝูงใหญ่บินวนรอบค่ายจำนวนมากพอที่จะเป็นอาหารเลี้ยงทุกคน ในเวลาเช้าก็มี “เกล็ดเล็กๆ เท่าเม็ดน้ำค้างแข็งอยู่ที่พื้นดิน” พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า “มานา” โมเสสกล่าวว่า “นี่แหละ เป็นอาหารที่พระเจ้าประทานให้พวกท่านรับประทาน” ประชาชนเก็บมานาแล้วพบว่ามีเหลือเฟือสำหรับทุกคน พวกเขา “เก็บมาโม่ด้วยหินโม่หรือตำในครก และใส่หม้อต้มทำขนม” (กันดารวิถี 11:8 THSV) รสของมานา “เหมือนขนมแผ่นประสมน้ำผึ้ง” โมเสสสั่งให้แต่ละคนเก็บวันละ 1 โอเมอร์ หรือประมาณ 2 ลิตร และไม่ให้เหลือไว้จนถึงเช้าวันถัดไป บางคนลองเก็บไว้จนถึงวันรุ่งขึ้นแต่ก็พบว่ามันบูดเน่าเสีย พวกเขาจะต้องเก็บมานาตอนเช้าทุกวัน เพราะเมื่อแดดส่องมาส่วนที่เหลืออยู่บนดินก็จะละลายไป {PP 295.1}

การเชื่อฟังในเรื่องมานา

ประชาชนพบว่าบางคนเก็บมานาได้มาก บางคนเก็บได้น้อยกว่าที่กำหนด “แต่เมื่อพวกเขาใช้เครื่องตวง คนที่เก็บได้มากก็ไม่มีเหลือ และคนที่เก็บได้น้อยก็ไม่ขาดแคลน” (อพยพ 16:18 THSV) อัครทูตเปาโลได้ยกข้อพระคัมภีร์นี้มาอธิบายถึงบทเรียนในชีวิตจริงว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความจะให้งานของคนอื่นเบาลง และของพวกท่านหนักขึ้น แต่เป็นเรื่องของความเสมอภาค คือที่พวกท่านมีอยู่อย่างเหลือล้นในเวลานี้ ก็เพื่อช่วยเขาทั้งหลายที่ขัดสน และในยามที่เขาทั้งหลายมีอย่างเหลือล้น เขาก็จะได้ช่วยพวกท่านเมื่อขัดสน ซึ่งจะทำให้มีความเสมอภาคกัน ตามที่เขียนไว้ว่า ‘คนที่เก็บได้มากนั้น ไม่มีเหลือ และคนที่เก็บได้น้อยก็ไม่ขาด’” (2 โครินธ์ 8:13–15 THSV) {PP 295.2}

ในวันที่หกประชาชนเก็บมานาเป็น 2 เท่า บรรดาหัวหน้าของชุมนุมชนรีบมารายงานต่อโมเสสถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และท่านตอบพวกเขาว่า “พระเจ้าทรงพระบัญชาว่า ‘พรุ่งนี้เป็นวันหยุดงาน เป็นสะบาโต วันบริสุทธิ์ของพระเจ้า จะปิ้งอะไรก็ให้ปิ้ง จะต้มอะไรก็ให้ต้มเสีย และส่วนที่เหลือทั้งหมด จงเก็บไว้จนถึงวันรุ่งขึ้น’” พวกเขากระทำตามและพบว่าอาหารไม่เหม็นบูด “โมเสสจึงบอกว่า ‘วันนี้จงกินอาหารนั้น เพราะว่าวันนี้เป็นวันสะบาโตของพระเจ้า วันนี้ท่านจะไม่พบอาหารอย่างนั้นในทุ่งเลย จงเก็บ 6 วัน แต่ในวันที่เจ็ดซึ่งเป็นสะบาโตจะไม่มีเลย” {PP 295.3}

มานากับวันสะบาโต

พระเจ้าทรงกำหนดให้คนในปัจจุบันรักษาวันสะบาโตให้บริสุทธิ์เหมือนกับคนอิสราเอลในสมัยนั้น คริสเตียนทุกคนควรรักษาพระบัญญัติที่ประทานแก่คนฮีบรู เสมือนว่าเป็นพระบัญชาโดยตรงจากพระเยโฮวาห์ วันก่อนวันสะบาโตควรเป็นวันตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังมาถึง ไม่ควรปล่อยให้การงานส่วนตัวล่วงล้ำเข้าไปในชั่วโมงอันบริสุทธิ์ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม พระเจ้าทรงสั่งให้เราเมตตาและใส่ใจคนเจ็บป่วยซึ่งงานช่วยเหลือเหล่านี้ไม่เป็นการละเมิดวันสะบาโต แต่เราควรละเว้นจากการงานทุกอย่างที่ไม่จำเป็น หลายคนผัดวันประกันพรุ่งโดยนำภาระงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรทำให้เรียบร้อยในวันเตรียมไปทำเมื่อเริ่มวันสะบาโต ซึ่งเป็นการไม่สมควร เมื่อเข้าสู่ช่วงวันสะบาโตแล้ว งานอะไรก็ตามที่ยังไม่เสร็จก็ควรวางไว้อย่างนั้นก่อนจนกว่าวันสะบาโตจะผ่านไป วิธีนี้จะช่วยเตือนความจำให้กับคนประมาทเลินเล่อเหล่านี้ว่าต้องสะสางการงานให้เรียบร้อยภายใน 6 วัน {PP 296.1}

ทุกสัปดาห์ตลอดระยะเวลาเดินทางอันยาวนานในถิ่นทุรกันดาร คนอิสราเอลได้เห็นการอัศจรรย์ 3 อย่างที่ตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวันสะบาโต การอัศจรรย์นั้นได้แก่ มีมานาตกลงมา 2 เท่าในวันที่หกของสัปดาห์ แต่ไม่ตกในวันที่เจ็ดเลย นอกจากนั้นมานาที่เก็บไว้เผื่อวันสะบาโตยังมีรสชาติดีรับประทานได้ แต่ถ้าเก็บไว้เผื่อวันอื่นก็จะบูดเน่าไป {PP 296.2}

จากเหตุการณ์ที่พระเจ้าประทานมานา มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าวันสะบาโตไม่ได้สถาปนาขึ้นพร้อมกับพระบัญญัติที่ภูเขาซีนายอย่างที่หลายคนอ้าง เพราะก่อนที่คนอิสราเอลจะมาถึงภูเขาซีนายพวกเขาเข้าใจอยู่แล้วว่าจะต้องรักษาวันสะบาโตให้บริสุทธิ์ พวกเขารู้ซึ้งในเรื่องวันพักผ่อนอันศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่เสมอเมื่อต้องเก็บมานาเป็น 2 เท่าในวันศุกร์เพื่อเตรียมไว้สำหรับวันสะบาโตซึ่งไม่มีมานาให้เก็บ เมื่อมีบางคนออกไปเก็บมานาในวันสะบาโต พระเจ้าจึงตรัสถามว่า “พวกเจ้าจะขัดขืนบัญญัติและกฎหมายของเรานานสักเท่าไร” {PP 296.3}

“ชนชาติอิสราเอลได้กินมานา 40 ปีจนพวกเขามาถึงแผ่นดินที่จะอาศัยอยู่ พวกเขากินมานาจนมาถึงชายแดนแผ่นดินคานาอัน” (อพยพ 16:35 THSV) การประทานอาหารอย่างอัศจรรย์ได้ย้ำเตือนพวกเขาทุกวันตลอด 40 ปีให้ระลึกถึงความรักมั่นคงและความห่วงใยของพระเจ้า ผู้ประพันธ์สดุดีเขียนไว้ว่า “พระองค์…ประทานอาหารจากฟ้าสวรรค์แก่เขา มนุษย์ได้กินอาหารของทูตสวรรค์” (สดุดี 78:24–25 THSV) คือทูตสวรรค์เป็นผู้โปรยมานาลงมา พวกเขาได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วย “อาหารจากฟ้าสวรรค์” ทุกวัน เพื่อเป็นบทเรียนว่า เมื่อมีพระสัญญาของพระเจ้า พวกเขาจะไม่ขาดสิ่งใด ราวกับถูกรายล้อมไปด้วยทุ่งนาอันกว้างใหญ่ที่มีรวงข้าวพลิ้วไหวอยู่บนดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งคานาอัน {PP 297.1}

อาหารแห่งชีวิต

มานาที่ตกลงมาจากสวรรค์เพื่อหล่อเลี้ยงคนอิสราเอลเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงพระคริสต์ผู้เสด็จมาจากพระเจ้าเพื่อประทานชีวิตให้แก่โลก พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต บรรพบุรุษของพวกท่านได้กินมานาในถิ่นทุรกันดารแล้วก็ยังเสียชีวิต แต่นี่เป็นอาหารที่ลงมาจากสวรรค์…ถ้าใครกินอาหารนี้ คนนั้นจะมีชีวิตนิรันดร์ และอาหารที่เราจะให้เพื่อชีวิตของโลกนั้น ก็คือเลือดเนื้อของเรา” (ยอห์น 6:48–51 THSV) และในบรรดาพระสัญญาเกี่ยวกับพระพรที่คนของพระเจ้าจะได้รับในชีวิตหน้า มีคำเขียนไว้ว่า “เราจะให้มานาที่ซ่อนอยู่แก่ผู้ที่มีชัยชนะ” (วิวรณ์ 2:17 TH1971) {PP 297.2}

หลังจากที่คนอิสราเอลออกจากถิ่นทุรกันดารสีน พวกเขาได้มาตั้งค่ายอยู่ที่เรฟีดิม ที่นั่นไม่มีน้ำ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาได้ขาดความเชื่อในการทรงนำของพระเจ้า ประชาชนเข้ามาหาโมเสสด้วยใจที่มืดบอดและไม่ยำเกรง เรียกร้องว่า “ให้น้ำพวกข้าดื่มซิ” แต่โมเสสยังคงอดทนต่อพวกเขาและตอบว่า “ทำไมพวกท่านไม่พอใจเรา ทำไมจึงลองดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อพยพ 17:2 TNCV) ประชาชนกลับตะโกนด้วยความโกรธเคืองว่า “ทำไมถึงพาพวกเรา ทั้งลูกเล็กเด็กแดงและฝูงสัตว์ของเราออกมาจากอียิปต์ ให้มาอดน้ำตายกันที่นี่” (อพยพ 17:3 TH1971 TNCV) ในคราวที่มีอาหารรับประทานเหลือเฟือ พวกเขาสำนึกผิดและละอายแก่ใจที่ขาดความเชื่อและเอาแต่พร่ำบ่น จึงสัญญากับพระเจ้าว่าจะวางใจในพระองค์ในครั้งต่อไป แต่ยังไม่ทันไรพวกเขาก็ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้ พอเจอเหตุการณ์ที่ทดสอบความเชื่ออีกก็ไม่ผ่าน โดยคิดไปว่าเสาเมฆที่กำลังนำทางดูเหมือนจะซ่อนความลึกลับอันน่าสะพรึงกลัวไว้ แล้วโมเสสเป็นใครเล่า มีจุดประสงค์อะไรกันแน่ถึงได้นำชุมนุมชนออกจากประเทศอียิปต์อย่างนี้ จิตใจของประชาชนเต็มไปด้วยความระแวงแคลงใจ จึงกล้ากล่าวร้ายต่อโมเสสว่ามีแผนที่จะฆ่าพวกเขากับลูกๆ ด้วยการให้ทนทุกข์และอดอยาก เพื่อตนจะได้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินของประชาชน พวกเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟจนเกือบจะเอาหินขว้างโมเสสเสีย {PP 297.3}

โมเสสร้องทูลพระเจ้าด้วยใจเป็นทุกข์ว่า “ข้าพระองค์จะทำอย่างไรกับชนชาตินี้ดี” พระเจ้าทรงบัญชาให้โมเสสนำผู้ใหญ่ของชุมชนอิสราเอล พร้อมกับไม้เท้าที่ใช้ทำการอัศจรรย์ต่างๆ ในอียิปต์ เดินล่วงหน้าประชาชนไป แล้วพระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราจะยืนอยู่ต่อหน้าเจ้าที่นั่น บนศิลาที่ภูเขาโฮเรบ จงตีศิลานั้น แล้วน้ำจะไหลออกมาให้ประชาชนดื่ม” โมเสสกระทำตาม แล้วน้ำก็พุ่งออกมาจากหินอย่างล้นเหลือ ไหลเป็นลำธารหล่อเลี้ยงคนทั้งค่าย แทนที่จะทรงบัญชาให้โมเสสยกไม้เท้าอย่างที่กระทำในอียิปต์เพื่อเรียกภัยพิบัติให้เกิดขึ้นแก่พวกผู้นำเพราะการพร่ำบ่นอันเลวร้ายครั้งนี้ พระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณกลับใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องมือช่วยเหลือพวกเขา {PP 298.1}

โมเสสตีศิลา

“พระองค์ทรงแยกศิลาเป็นช่องในถิ่นทุรกันดาร และทรงให้พวกเขาดื่มน้ำอย่างมากมายเหมือนมาจากที่ลึก พระองค์ทรงทำให้ลำธารออกมาจากหิน และทรงทำให้น้ำไหลลงมาเหมือนแม่น้ำ” (สดุดี 78:15–16 THSV) โมเสสใช้ไม้เท้าตีศิลา แต่ผู้ที่บันดาลให้น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตออกมาจากศิลานั้นคือพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงยืนอยู่ข้างโมเสส และทรงใช้เสาเมฆบังพระองค์ไว้ ไม่ใช่เพียงโมเสสและผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ชุมนุมชนทั้งหมดที่ยืนอยู่ห่างออกไปก็ได้เห็นพระรัศมีของพระเจ้าด้วย หากไม่มีเมฆช่วยบังไว้แล้วพวกเขาคงต้องตายเพราะแสงอันเจิดจ้าของพระองค์ {PP 298.2}

คนอิสราเอลลองดีกับพระเจ้าเพราะความกระหายน้ำ โดยกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตท่ามกลางพวกเราหรือไม่” (อพยพ 17:7 TNCV) ‘หากว่าพระเจ้าทรงนำพวกเรามาถึงที่นี่ เหตุใดจึงไม่ประทานน้ำให้ดื่มเหมือนที่ประทานอาหารเล่า’ การที่คนอิสราเอลไม่มีความเชื่อเช่นนี้เป็นความผิดอันใหญ่หลวง โมเสสกลัวว่าพระเจ้าจะทรงพิพากษาลงโทษคนเหล่านี้ จึงเรียกชื่อสถานที่แห่งนั้นว่า มัสสาห์ แปลว่า “การลองดี” และ เมรีบาห์ ซึ่งมีความหมายว่า “การวิวาท” เพื่อเตือนถึงบาปที่พวกเขาได้กระทำ {PP 298.3}

คนอามาเลขตีท้ายขบวน

แล้วอันตรายครั้งใหม่ก็มาคุกคามคนอิสราเอล เนื่องจากพวกเขาพร่ำบ่นต่อพระเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ศัตรูมาต่อสู้พวกเขา คนอามาเลขซึ่งอาศัยอยู่แถบนั้นเป็นเผ่านักรบที่โหดเหี้ยมอำมหิต ได้ออกมาฆ่าฟันคนอิสราเอลที่อ่อนระโหยโรยแรงอยู่ท้ายขบวน โมเสสรู้ว่าฝูงชนมหึมาไม่ได้ฝึกการสู้รบมา จึงบอกให้โยชูวาเลือกชายฉกรรจ์จากเผ่าต่างๆ ให้เป็นกองทหารและนำพวกเขาออกสู้ศัตรูในวันรุ่งขึ้น ขณะที่ตนจะยืนอยู่บนเนินเขาใกล้เคียงพร้อมกับไม้เท้าของพระเจ้าอยู่ในมือ วันต่อมาโยชูวากับกองทหารที่เลือกไว้ได้ออกไปต่อสู้กับคนอามาเลข ส่วนโมเสส อาโรน และเฮอร์ขึ้นไปประจำที่บนเนินเขาที่มองเห็นสนามรบเบื้องล่างได้ โมเสสชูแขนทั้งสองขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ มือขวาถือไม้เท้า ท่านร้องทูลขอให้พระเจ้าประทานชัยชนะแก่กองทัพอิสราเอล ขณะที่การสู้รบดำเนินไป จะสังเกตได้ว่าตราบใดที่โมเสสชูมือขึ้น คนอิสราเอลจะมีชัยเหนือศัตรู แต่เมื่อใดที่ท่านหย่อนมือลง ศัตรูจะได้เปรียบ เมื่อแขนทั้งสองของโมเสสเมื่อยล้า อาโรนกับเฮอร์ก็ช่วยกันพยุงขึ้นไว้จนดวงอาทิตย์ตกดิน และแล้วศัตรูก็พ่ายหนีไป {PP 298.4}

การที่อาโรนและเฮอร์พยุงแขนของโมเสสนั้น แสดงให้คนอิสราเอลรู้ว่าพวกเขามีหน้าที่คอยสนับสนุนโมเสสในงานตรากตรำของท่าน ขณะที่ท่านนำพระดำรัสของพระเจ้ามาบอกแก่ชุมนุมชน นอกจากนั้นการกระทำของโมเสสครั้งนี้มีความหมายอื่นด้วย คือแสดงให้คนอิสราเอลเห็นว่าชะตาของพวกเขาอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า เมื่อใดที่ประชาชนวางใจในพระองค์ พระองค์จะทรงต่อสู้แทนพวกเขาและทรงพิชิตศัตรู แต่เมื่อใดที่ละทิ้งพระองค์และอาศัยกำลังของตนเอง พวกเขาจะอ่อนแอลงยิ่งกว่าคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า แล้วศัตรูก็จะเอาชนะพวกเขาได้ {PP 299.1}

คนฮีบรูได้รับชัยชนะเมื่อโมเสสชูมือขึ้นสู่ฟ้าและวิงวอนแทนพวกเขาเช่นไร คนของพระเจ้าจะมีชัยเมื่อวางใจในพระกำลังของพระผู้ช่วยผู้ทรงฤทธิ์เข้มแข็งเช่นนั้น แต่กระนั้นมนุษย์จะต้องให้ความร่วมมือกับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าด้วย โมเสสไม่เชื่อว่าพระองค์จะทรงเอาชนะศัตรูหากคนอิสราเอลยังนิ่งเฉยอยู่ ขณะที่ท่านวิงวอนต่อพระเจ้า โยชูวากับเหล่าทหารผู้กล้าก็สู้ด้วยสุดกำลังเพื่อขับไล่ศัตรูของคนอิสราเอลและของพระเจ้าออกไป {PP 299.2}

คนอามาเลขจะสิ้นชื่อ

ภายหลังชนะคนอามาเลข พระเจ้าตรัสแก่โมเสสว่า “จงเขียนข้อความต่อไปนี้ลงในหนังสือเพื่อเตือนความจำ ทั้งเล่าให้โยชูวาฟัง คือเราจะล้างเผ่าพันธุ์อามาเลขให้สิ้น ไม่ให้ปรากฏในความทรงจำของประชาชนภายใต้ฟ้าเลย” (อพยพ 17:14 THSV) และก่อนที่โมเสสจะสิ้นใจท่านได้กำชับคนอิสราเอลว่า “จงระลึกถึงสิ่งที่คนอามาเลขทำต่อท่านระหว่างทางที่ท่านออกจากอียิปต์ ซึ่งเขาได้ออกโจมตีท่านตามทาง และตัดตอนพวกที่อ่อนแออยู่รั้งท้ายเมื่อท่านอ่อนเพลียเมื่อยล้า และเขาไม่ได้ยำเกรงพระเจ้า…ท่านจงลบคนอามาเลขเสียจากความทรงจำภายใต้ฟ้า ท่านอย่าลืมเสีย” (เฉลยธรรมบัญญัติ 25:17–19 THSV) พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับคนต่ำช้านี้ว่า “ชาวอามาเลขชูมือขึ้นต่อต้านบัลลังก์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (อพยพ 17:16 TNCV) {PP 299.3}

คนอามาเลขรู้จักพระลักษณะและอำนาจสูงสุดของพระเจ้าเป็นอย่างดี แต่แทนที่จะยำเกรง พวกเขากลับท้าทายพระองค์และมองการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำผ่านโมเสสต่อหน้าคนอียิปต์เป็นเรื่องน่าเยาะเย้ย อีกทั้งพูดจาเย้ยหยันชนชาติต่างๆ รอบข้างที่หวาดหวั่นต่อคนอิสราเอล พวกเขาสาบานต่อพระของตนว่าจะทำลายคนฮีบรูไม่ให้หนีรอดไปได้สักคนเดียว และโอ้อวดว่าพระเจ้าของคนอิสราเอลไม่มีอำนาจต้านทานพวกตนเลย พวกเขาไม่เคยถูกคนอิสราเอลโจมตีหรือขู่เข็ญ แต่กลับจู่โจมอย่างไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง และหมายจะแข็งข้อต่อพระเจ้าด้วยการทำลายคนของพระองค์เพื่อแสดงความเกลียดชังที่มีต่อพระองค์ คนอามาเลขได้กระทำการชั่วช้ามานาน และความบาปมหันต์ของพวกเขาก็ปรากฏต่อพระเจ้าประหนึ่งเรียกร้องให้พระองค์ทรงตอบแทน แต่พระองค์ผู้เปี่ยมด้วยพระคุณทรงเชื้อเชิญให้พวกเขากลับใจ ถึงกระนั้นเมื่อคนอามาเลขโจมตีคนอิสราเอลผู้อ่อนแอไม่มีทางสู้ ก็เท่ากับว่าพวกเขาได้ขีดเส้นตายให้กับชนชาติของตนเองไว้แล้ว พระเจ้าทรงห่วงใยประชากรของพระองค์ที่อ่อนแอที่สุด ไม่มีการร้ายหรือการกดขี่ต่อพวกเขาที่เล็ดลอดสายพระเนตรของพระเจ้าที่สอดส่องดูแลไปได้ พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์ออกดุจดังโล่ปกป้องทุกคนที่รักและยำเกรงพระองค์ ส่วนมนุษย์คนใดที่บังอาจฟาดฟันพระหัตถ์นั้น จะต้องระวังพระแสงแห่งการพิพากษาของพระองค์ {PP 300.1}

คำแนะนำของเยโธร

บ้านของเยโธรพ่อตาของโมเสสอยู่ไม่ไกลจากที่คนอิสราเอลตั้งค่ายมากนัก เขาได้ยินเรื่องราวการปลดปล่อยคนอิสราเอล จึงออกไปพบพวกเขา และพาภรรยากับลูกชาย 2 คนของโมเสสไปหาท่านด้วย เมื่อโมเสสได้รับข่าวว่าพวกเขากำลังเดินทางมาถึงจึงออกไปต้อนรับด้วยความยินดี หลังจากทักทายปราศรัยแล้วก็พาพวกเขาไปยังเต็นท์ของตน ท่านเคยส่งครอบครัวกลับบ้านระหว่างทางไปอียิปต์เพื่อความปลอดภัย แต่บัดนี้ท่านเกิดความอุ่นใจที่ได้อยู่กับครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง โมเสสได้เล่าเรื่องราวอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือคนอิสราเอลให้เยโธรฟัง ส่วนพ่อตาก็ฟังด้วยความยินดีและสรรเสริญพระเจ้า จากนั้นเยโธร โมเสส และพวกผู้ใหญ่ของอิสราเอลจึงได้ร่วมกันถวายเครื่องบูชาและจัดงานเลี้ยงเพื่อระลึกถึงพระคุณของพระองค์ {PP 300.2}

ไม่นานขณะที่เยโธรยังอาศัยอยู่ในค่าย เขาเห็นว่าภาระที่โมเสสกำลังแบกรับอยู่นั้นหนักเพียงไร การจัดระเบียบฝูงชนมหาศาลที่ขาดวินัยและความรู้ นับว่าเป็นงานที่หนักหนามากทีเดียว สำหรับประชาชนแล้วโมเสสคือผู้นำและผู้พิพากษา ไม่เพียงดูแลทุกข์สุขหรือหน้าที่ของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางชุมนุมชนอีกด้วย โมเสสยอมเหน็ดเหนื่อยในเรื่องนี้เพราะเป็นโอกาสที่ท่านจะได้สอนประชาชน ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้า…สอนเขาให้รู้จักกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและธรรมบัญญัติของพระองค์” (อพยพ 18:16 THSV) แต่เยโธรทัดทานว่า “ภาระนี้หนักเหลือกำลังของท่าน ท่านไม่สามารถทำคนเดียวได้” “ท่าน…คงจะอ่อนล้า” (อพยพ 18:18 THSV) แล้วเยโธรได้แนะนำโมเสสให้แต่งตั้งผู้ปกครองคนพันคนบ้าง ร้อยคนบ้าง และสิบคนบ้าง เป็น “คนที่มีความสามารถ ที่ยำเกรงพระเจ้า ที่ไว้ใจได้ และที่เกลียดสินบน” (อพยพ 18:21 THSV) คนเหล่านี้จะตัดสินความเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชน ส่วนคดีใหญ่ๆ และเรื่องสำคัญจะยกให้โมเสสเป็น “ผู้แทนของประชาชนเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า นำความกราบทูลพระเจ้า ท่านจงสั่งสอนพวกเขาให้รู้กฎเกณฑ์และธรรมบัญญัติ คือทำให้พวกเขารู้จักทางที่เขาต้องดำเนินชีวิตและสิ่งที่ต้องปฏิบัติ” (อพยพ 18:19–20 THSV) โมเสสกระทำตามคำแนะนำของพ่อตา และรู้สึกว่าวิธีนี้ไม่เพียงช่วยทำให้ภาระของท่านเบาลงเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชนดียิ่งขึ้นด้วย {PP 300.3}

พระเจ้าทรงให้เกียรติแก่โมเสสอย่างมาก และทรงกระทำการอัศจรรย์ผ่านตัวท่าน แต่การที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นผู้สั่งสอนประชาชนไม่ได้หมายความว่าท่านไม่จำเป็นต้องฟังคำแนะนำใดๆ โมเสสเปิดใจรับฟังปุโรหิตแห่งมิเดียนด้วยความยินดี และปรับวิธีการบริหารอย่างชาญฉลาดตามคำแนะนำที่ได้รับ {PP 301.1}

ถึงภูเขาซีนาย

ประชาชนเดินทางออกจากเรฟีดิมมุ่งหน้าต่อไปตามการเคลื่อนที่ของเสาเมฆ หนทางนั้นต้องข้ามที่ราบรกร้างเนินเขาลาดชัน และช่องหิน ในขณะที่เดินทางข้ามทะเลทราย มีหลายครั้งที่พวกเขามองไปเบื้องหน้าแล้วเห็นเทือกเขาขรุขระเหมือนป้อมประการมหึมาที่ขวางเส้นทางจนดูเหมือนไม่สามารถไปต่อได้ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ก็พบว่าที่ภูเขาใหญ่เหล่านั้นมีช่องทางลัดเลาะหลายแห่งที่เดินต่อไปได้ คนอิสราเอลเดินผ่านซอกผาลึกแห่งหนึ่งที่มีพื้นเป็นก้อนกรวดและมีผาหินสูงนับร้อยฟุตขนาบสองข้างทาง ทั้งมวลชนและฝูงสัตว์เลี้ยงต่างทยอยกันเข้าไปตามทางเป็นขบวนยาวสุดลูกหูลูกตา ช่างเป็นภาพที่งดงามตระการตายิ่งนัก พอผ่านช่องแคบเสร็จก็เห็นที่ราบอีกครั้ง และแล้วพวกเขาก็ได้เห็นภูเขาซีนายสูงใหญ่ระฟ้าอยู่เบื้องหน้า เสาเมฆได้มาหยุดอยู่บนยอดเขานั้น ส่วนประชาชนได้ตั้งเต็นท์ของตนบนที่ราบเชิงเขาอันเป็นที่ที่พวกเขาจะอาศัยอยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ปี เสาเพลิงในยามค่ำคืนทำให้พวกเขามั่นใจในการพิทักษ์ดูแลของพระเจ้า ในขณะที่พวกเขากำลังหลับใหล อาหารจากสวรรค์ได้โปรยปรายลงมายังค่ายพัก {PP 301.2}

แสงอรุณสีทองสาดส่องผ่านแนวสันเขาเข้าไปตามช่องแคบดั่งแสงแห่งพระคุณจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าแก่ฝูงชนที่เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ขุนเขาที่สูงตระหง่านอยู่รอบทิศดูเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความมั่นคงถาวรและความสง่างาม เมื่อประชาชนเห็นสิ่งเหล่านี้ความคร้ามเกรงได้ตราตรึงจิตใจ ทำให้เขาสำนึกถึงความอ่อนแอและความรู้น้อยของตนเมื่อเฝ้าอยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์ผู้ “ชั่งภูเขาทั้งหลายด้วยตาชั่ง และชั่งบรรดาเนินเขาด้วยตราชู” (อิสยาห์ 40:12 THSV) และที่แห่งนี้เองที่พระเจ้าจะทรงสำแดงสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแก่คนอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยสำแดงแก่มนุษย์มาก่อน พระองค์ทรงรวบรวมประชากรของพระองค์เพื่อให้พวกเขาตระหนักว่าข้อบังคับของพระองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ โดยตรัสพระบัญญัติด้วยพระสุรเสียงของพระองค์เอง คนอิสราเอลจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง เพราะอิทธิพลเสื่อมเสียที่ได้รับเมื่อครั้งเป็นทาสและการมีส่วนร่วมกับสังคมที่ไหว้รูปเคารพเป็นเวลานาน ได้ทิ้งรอยแผลไว้บนลักษณะนิสัยของพวกเขา พระเจ้าทรงช่วยให้คนอิสราเอลขึ้นไปสู่มาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้นโดยให้พวกเขารู้จักพระองค์ {PP 302.1}